พัฒนาการทารก 6 เดือน ลูกเรียนรู้อะไรบ้าง ควรเสริมพัฒนาการเด็ก 6 เดือนอย่างไร

undefined

พัฒนาการทารก 6 เดือน เด็ก ๆ เริ่มมีเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นอีกขั้น ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่คล่องแคล่วขึ้น คงจะทำให้พ่อแม่เริ่มปวดหัวไม่ใช่น้อย อีกทั้งยังมีความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ ภาษา และโภชนาการ เป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรเรียนรู้ รวมถึงการกระตุ้นพัฒนาการด้วย วันนี้ TAP มีสาระความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ พัฒนาการทารก 6 เดือน ลูกเรียนรู้อะไรบ้าง และควรเสริมพัฒนาการเด็ก 6 เดือนอย่างไรมาฝาก ตามไปอ่านกันเลย

 

พัฒนาการทารก 6 เดือน ด้านร่างกาย

 

พัฒนาการทารก 6 เดือน

 

หากคุณได้เฝ้าดูลูกน้อยมาตลอดจนถึงเดือนที่ 6 จะเห็นว่าตอนนี้ลูกน้อยสามารถพลิกคว่ำหน้าหรือพลิกนอนหงายได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว เพราะกล้ามเนื้อและกระดูกมีความแข็งแรงมากขึ้น แถมยังเริ่มไม่อยู่นิ่งคลานไปคลานมาเล่นเอาคนเลี้ยงเหนื่อยไปตาม ๆ กัน นอกจากนี้ เด็กบางคนยังชอบที่จะให้พ่อแม่ประคองพาเดินสำรวจไปรอบ ๆ

 

ช่วงวัยนี้ลูกน้อยจะเริ่มมีฟันซี่แรกขึ้นแล้ว ทำให้น้อง ๆ มักจะมีอาการคันเหงือกบ้าง บางคนร้องไห้งอแงอย่างไม่รู้สาเหตุ บางคนก็ชอบหาอะไรเข้าปาก คุณพ่อคุณแม่ต้องหายางกัดหรือผลไม้มาให้ลูกน้อยได้ขบกัดเล่น เพื่อเป็นการกระตุ้นฟันของลูกน้อย

 

เด็กวัยนี้จะนอนกลางคืนได้ยาวนานขึ้น เฉลี่ยประมาณ 6-8 ชั่วโมง น้ำหนักตัวจะอยู่ที่ประมาณ 5.5 – 9 กก. และมีส่วนสูงอยู่ที่ประมาณ 59 – 71 ซม.

 

พัฒนาการเด็ก 6 เดือน ด้านความรู้ความเข้าใจ

พ่อแม่เคยสังเกตบ้างไหมว่าเวลาที่เด็ก ๆ ได้ฟังเพลงที่ชอบ ลูกน้อยจะเริ่มแสดงความสนใจออกมา โดยการหยุดนิ่งตั้งใจฟังแล้วจะค่อยเคลื่อนไหวร่างกายไปตามเสียงเพลง พร้อมกับเปล่งเสียงหัวเราะชอบใจ สีสันของสิ่งของรอบกายก็เป็นอะไรที่สะดุดตาเด็กมาก ๆ บ่อยครั้งที่เขาอยากจะสัมผัสอยากจะจับเอามาเล่น อีกสิ่งหนึ่งที่เด็ก ๆ วัยนี้ชื่นชอบเช่นกัน จะเป็นการสัมผัสพื้นผิวต่าง ๆ เช่น ขนนุ่ม ๆ ขนแบบหยาบ รอยขีดข่วน พ่อแม่ควรจะหาหนังสือเกี่ยวกับการสัมผัสพื้นผิวให้น้อง ๆ ได้ลองสัมผัสดู

 

พัฒนาการทารก 6 เดือน

พัฒนาการเด็ก6เดือน พัฒนาการทางด้านสังคมและอารมณ์

ทารกตัวน้อยของคุณยังคงมีอาการตื่นเต้น ตื่นกลัวไปบ้างเมื่อเจอคนที่ไม่คุ้นเคย หรือคนแปลกหน้าที่พยายามเข้าใกล้ แต่กับพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดหนูน้อยจะแสดงอาการต่างกันออกไป โดยที่เขาจะพยายามที่จะเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ของเขาให้มากที่สุด และน้อง ๆ จะชอบให้คุณหยอกล้อเล่นหูเล่นตาไปด้วย ช่วงนี้เองที่พ่อแม่สามารถให้การเลียนแบบเสียงลูกน้อย หรือเสียงสัตว์ เพื่อเป็นการพัฒนาภาษาของลูกน้อยไปพร้อม ๆ กัน

บทความที่เกี่ยวข้อง : พัฒนาการเด็ก 6 ขวบ 6 เดือน ลูกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร มีอะไรที่เราควรรู้บ้าง?

 

พัฒนาการเด็ก6เดือน ด้านภาษา

 

เสริมพัฒนาการเด็ก 6 เดือน

 

การออกเสียงของลูกน้อยสามารถทำได้ดีขึ้น ออกเสียงลากยาวได้ดี แต่ก็จะพูดได้แต่คำง่าย ๆ และพูดซ้ำ ๆ บางครั้งลูกน้อยก็พูดไปหัวเราะไปเพราะอยากจะอ้อนพ่อแม่เท่านั้นเอง ซึ่งพ่อแม่ก็ควรพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ เด็ก ๆ จะได้จดจำการพูด การแสดงอารมณ์จากพ่อแม่ได้ หรือคุณแม่จะทำงานไปด้วยคุยกับลูกได้ด้วยก็ได้ เพราะสิ่งเล็ก ๆ น้อยๆ ที่คุณทำ เจ้าตัวเล็กจะพยายามจดจำและทำความเข้าใจกับมัน

 

เด็ก 6 เดือน พัฒนาการทางด้านโภชนาการ

เด็กวัยนี้เป็นวัยที่คุณหมอส่วนใหญ่แนะนำให้เริ่มทานอาหารเสริมได้แล้ว คุณแม่อาจจะเริ่มให้ลูกทานอาหารแข็งที่ทำมาจากผักหรือผลไม้ผสมกับนมแม่ โดยที่ให้เริ่มอาหารเสริม 1 เมนู หลาย ๆ ครั้ง เพื่อดูว่าลูกน้อยมีอาการแพ้อาหารหรือไม่

 

หากมีอาการท้องเสีย ท้องร่วง อาเจียน มีผื่นขึ้นตามตัว ให้หยุดอาหารนั้นทันที แต่ถ้าลูกไม่ยอมกินหรือว่ารู้สึกไม่ชอบใจ อย่าเพิ่งล้มเลิก ให้คุณแม่ลองปรับรสชาติก่อน แล้วนำไปป้อนลูกประมาณ 2-3 ครั้งดูว่าลูกน้อยมีท่าทีอย่างไร สำหรับอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับเด็ก 6 เดือน คือ น้ำผึ้ง นมวัว

 

พัฒนาการทารก 6 เดือน

เสริมพัฒนาการ 6 เดือน กิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการ

1.เอื้อมให้ถึง

  • ทักษะที่ลูกควรทำได้: ลูกสามารถเอื้อมมือหยิบ และถือวัตถุไว้ขณะอยู่ในท่านอนหงาย
  • อุปกรณ์ในการกระตุ้นพัฒนาการ: กรุ๋งกริ๋ง
  • วิธีส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อย:
    1. จัดลูกอยู่ในท่านอนหงาย
    2. คุณแม่เขย่าของเล่นให้ห่างจากตัวลูก ประมาณ 20-30 ซม. (1 ไม้บรรทัด) ที่จุดกึ่งกลางลํำตัว
    3. ถ้าลูกไม่เอื้อมมือออกมาคว้าของเล่น ให้ใช้ของเล่นแตะเบา ๆ ที่หลังมือลูกและ ขยับของเล่นถอยห่างในระยะที่ลูกเอื้อมถึง
    4. ถ้าลูกยังคงไม่เอื้อมมือมาคว้า ให้คุณแม่ ช่วยเหลือด้วยการจับมือลูกให้เอื้อม มาหยิบของเล่น
    5. อาจแขวนโมบายในระยะที่ลูกเอื้อมถึง เพื่อให้ลูกสนใจคว้าหยิบ

 

2.เลียนเสียงแสนสนุก

  • ทักษะที่ลูกควรทำได้: ลูกเลียนแบบ การเล่นทําเสียงได้
  • อุปกรณ์ในการกระตุ้นพัฒนาการ: กรุ๋งกริ๋ง
  • วิธีส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อย:
    1. คุณแม่อยู่ตรงหน้าลูก สบตาและพูดคุย กับลูก ทำเสียง “จุ๊บจุ๊บ” หรือ “วา..วา..” ให้ลูกดู หลาย ๆ ครั้ง แล้วรอให้ลูกทำตาม
    2. ถ้าลูกยังทำไม่ได้ คุณแม่ทำปากออกเสียง จุ๊บให้ลูกทำตามหรือ คุณแม่จับมือลูก มาไว้ที่ปากแล้วขยับตีปากเบา ๆ กระตุ้นให้ ออกเสียง “วา..วา..”

 

เสริมพัฒนาการเด็ก 6 เดือน

 

จบไปแล้วกับสาระดี ๆ เกี่ยวกับพัฒนาของเจ้าตัวน้อยวัย 6 เดือน แล้วลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่ มีพัฒนาการเหล่านี้บ้างไหมคะ ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่เด็กน้อยกำลังเรียนได้รู้ และเติบโตไปอีกขั้น หรือหากคุณพ่อคุณแม่ มีข้อสงสัยเกี่ยวกับพัฒนาการทางด้านร่างกายของลูกไม่ว่าจะเป็นด้านอะไร เข้าไปปรึกษาคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญจะได้ช่วยคลายกังวลไม่มากก็น้อยเลยค่ะ

 

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ฉีดวัคซีน ลูกแรกเกิด-6 เดือนแรก วัคซีนทารกแรกเกิด จำเป็นต้องฉีดวัคซีนตัวไหนบ้าง

ลูกกินน้ำได้เท่าไหร่ต่อวัน แม่สงสัยกันไหม (อายุ 6 เดือน – 4 ปี)

ของเล่นเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด – 6 เดือน ซื้ออะไรให้ลูกเล่นแล้วฉลาดสมวัยดีนะ?

ที่มา : theasianparent, คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด – 5 ปี

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!