ขนาดของขวดนมมีให้เลือกมากมาย ตั้งแต่ไซส์เล็กจิ๋วสำหรับทารกแรกเกิด ไปจนถึงไซส์ใหญ่จุใจ แต่ละช่วงวัยของลูกน้อยก็ต้องการขวดนมที่มีขนาดแตกต่างกันออกไป คำถามยอดฮิตที่คุณแม่สงสัย คือ ขวด 8 ออนซ์ ใช้ตอนกี่เดือน ? เมื่อไหร่ถึงจะเปลี่ยนเป็นขวดไซส์ใหญ่ขึ้นได้? บทความนี้จะช่วยไขข้อข้องใจให้คุณแม่ เช็กสัญญาณ! เมื่อไหร่ควรเปลี่ยนขวดนมลูก พร้อมวิธีเลือกขวดนมให้เหมาะกับลูกน้อยค่ะ
ขวดนมมีกี่ขนาด
โดยทั่วไปแล้ว ขวดนมในท้องตลาดจะแบ่งออกเป็น 4 ขนาดหลักๆ ได้แก่
- ขวดนมขนาด 2-4 ออนซ์ ขวดจิ๋ว เหมาะสำหรับทารกแรกเกิด – 3 เดือน ข้อดีคือ น้ำหนักเบา จับถนัดมือ เหมาะกับปริมาณนมที่ลูกน้อยต้องการในช่วงแรกเกิด และช่วยลดปัญหาการสำลักได้
- ขวดนมขนาด 4-5 ออนซ์ ขวดไซส์กลาง เหมาะสำหรับเด็กอายุ 3-6 เดือน ข้อดีคือ จุน้ำนมได้มากขึ้น รองรับปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้นของลูกน้อย และยังคงมีน้ำหนักเบา พกพาสะดวก
- ขวดนมขนาด 8 ออนซ์ ขวดไซส์ใหญ่ เหมาะสำหรับเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป ข้อดีคือ จุน้ำนมได้ปริมาณมาก ลดการป้อนนมบ่อยครั้ง ประหยัดเวลา เหมาะสำหรับเด็กที่กินเก่ง และเริ่มหัดจับขวดเอง
- ขวดนมขนาด 10 ออนซ์ขึ้นไป: ขวดไซส์ใหญ่พิเศษ เหมาะสำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป ที่ต้องการดื่มนมในปริมาณมาก หรือ ใช้สำหรับใส่น้ำผลไม้
วิธีเลือกขวดนมสำหรับเด็กแรกเกิด
การเลือกขวดนมให้ลูกน้อยแรกเกิด เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะในช่วงเดือนแรกๆ ลูกน้อยยังมีระบบย่อยอาหารที่บอบบาง และกำลังปรับตัวกับการดูดนม ควรเลือกขวดนมช่วยให้ลูกน้อยดื่มนมได้อย่างสบายท้อง และลดปัญหาต่างๆ เช่น ท้องอืด สำลัก หรือ ปวดท้อง
สำหรับขวดนมของเด็กแรกเกิด มีหลักการเลือกดังนี้ค่ะ
- ขนาด ควรเลือกขวดนมขนาดเล็ก จุประมาณ 2-4 ออนซ์ เพราะทารกแรกเกิด ยังดื่มนมได้ในปริมาณน้อย การใช้ขวดนมขนาดเล็ก จะช่วยให้ลูกน้อยดูดนมได้หมดเร็วขึ้น ลดโอกาสที่นมจะเหลือตกค้าง ซึ่งอาจเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคได้ และยังช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ ควบคุมปริมาณนมที่ลูกดื่มได้ง่ายขึ้นด้วยค่ะ
- วัสดุ แนะนำให้เลือกขวดนมที่ทำจากวัสดุ BPA Free เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย ปัจจุบัน ขวดนมมีให้เลือกหลายวัสดุ เช่น
- ขวดแก้ว มีความแข็งแรง ทนทาน ทำความสะอาดง่าย ไม่เป็นรอยขีดข่วน ซึ่งอาจเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรีย แต่มีข้อเสียคือ มีน้ำหนักมาก และแตกง่าย ต้องระมัดระวังในการใช้งาน
- ขวดพลาสติก มีน้ำหนักเบา พกพาสะดวก ราคาไม่แพง แต่ควรเลือกชนิดที่ทนความร้อนสูง และ BPA Free เช่น ขวด PP, ขวด PES, ขวด PPSU เพื่อป้องกันสารเคมีปนเปื้อนในน้ำนม เมื่อต้องนำขวดไปผ่านการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน
- จุกนม ควรเลือกจุกนมไซส์ SS แบบรูกลม และไม่มีวาล์วเปิดปิด เพื่อให้เด็กดูดนมได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเด็กในวัยนี้ยังมีแรงดูดน้อย จึงต้องให้น้ำนมไหลจากขวดนมเอง โดยไม่ต้องออกแรงดูดมาก ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการสำลักได้ และควรเลือกจุกนมที่ทำจากซิลิโคน เพราะมีความนุ่ม ยืดหยุ่น ใกล้เคียงกับเต้านมแม่มากที่สุด
- รูปทรง ควรเลือกขวดนมทรงตรง หรือทรงโค้งมนเล็กน้อย เพื่อให้จับถนัดมือ และทำความสะอาดง่าย หลีกเลี่ยงขวดนมที่มีซอกมุมเยอะ เพราะอาจทำความสะอาดได้ยาก และเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค
- การออกแบบ ควรเลือกขวดนมที่มีระบบป้องกันอาการโคลิค เช่น ระบบระบายอากาศ หรือ ระบบ Anti-Colic เพื่อช่วยลดปัญหาท้องอืด และ ปวดท้อง ในเด็กทารก
เมื่อไหร่ที่ควรเปลี่ยนขวดนม
ขวดนมก็เหมือนกับของใช้เด็กอ่อนอื่นๆ ที่มีอายุการใช้งาน และถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยน เพื่อสุขอนามัยที่ดีของลูกน้อยค่ะ มาดูกันว่า สัญญาณที่บ่งบอกว่าถึงเวลาเปลี่ยนขวดนม มีอะไรบ้าง
1. เปลี่ยนขนาดตามวัย
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ว่าขวดนมมีหลายขนาด โดยทั่วไป เราจะเปลี่ยนขนาดขวดนมให้ใหญ่ขึ้น ตามช่วงวัยของลูก เช่น
- แรกเกิด – 3 เดือน: ขวดนมขนาด 2-4 ออนซ์
- 3 – 6 เดือน: ขวดนมขนาด 4-5 ออนซ์
- 6 เดือนขึ้นไป: ขวดนมขนาด 8 ออนซ์
แต่การเปลี่ยนขนาดขวดนม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุเพียงอย่างเดียว คุณพ่อคุณแม่ ต้องสังเกตพฤติกรรมการกินของลูกน้อยประกอบด้วย เช่น ลูกดูดนมหมดเร็ว ร้องงอแง แสดงว่าลูกอาจต้องการนมในปริมาณที่มากขึ้น หรือ ลูกดูดนมไม่ทัน สำลักบ่อย อาจเป็นสัญญาณว่า ควรเปลี่ยนเป็นขวดนมขนาดเล็กลง
2. ขวดนมเสื่อมสภาพ
ขวดนม โดยเฉพาะขวดพลาสติก เมื่อใช้งานไปนานๆ อาจเสื่อมสภาพ เกิดรอยขีดข่วน รอยร้าว สีขุ่น หรือ มีกลิ่น ซึ่งเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรีย และเชื้อโรค แม้จะผ่านการฆ่าเชื้อแล้วก็ตาม ดังนั้น เมื่อพบว่าขวดนมมีลักษณะดังกล่าว ควรเปลี่ยนขวดนมใหม่ทันที เพื่อสุขภาพของลูกน้อยค่ะ
อายุการใช้งานของขวดนม
- ขวดแก้ว มีอายุการใช้งานนาน 1-2 ปี หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา แต่ หากมีรอยร้าว หรือ บิ่น ควรเปลี่ยนใหม่ทันที
- ขวดพลาสติก มีอายุการใช้งานประมาณ 6 เดือน – 2 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดของพลาสติก และ ความถี่ในการใช้งาน เช่น
- PP (Polypropylene): มีอายุการใช้งานประมาณ 6 เดือน
- PES (Polyethersulfone): มีอายุการใช้งานประมาณ 6 เดือน – 1 ปี
- PPSU (Polyphenylsulfone): มีอายุการใช้งานประมาณ 1-2 ปี
ขวด 8 ออนซ์ ใช้ตอนกี่เดือน
ถึงแม้โดยทั่วไปแล้ว ขวดนมขนาด 8 ออนซ์จะแนะนำสำหรับเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีคำตอบตายตัว ว่าต้องใช้ตอนกี่เดือนนะคะ คุณพ่อคุณแม่ต้อง สังเกตพฤติกรรมและความต้องการของลูกน้อยเป็นหลักค่ะ โดยปัจจัยที่ควรพิจารณาในการเลือกใช้ขวดนม 8 ออนซ์ ได้แก่
หากลูกน้อยเริ่มดื่มนมได้มากขึ้นในแต่ละมื้อ จนขวดนมขนาดเดิมไม่เพียงพอ เช่น ดื่มนมหมดขวด 4-5 ออนซ์แล้ว แต่ยังดูไม่อิ่ม ร้องงอแงอยากกินต่อ ก็อาจถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนเป็นขวด 8 ออนซ์แล้วค่ะ เพื่อที่ลูกจะได้ดื่มนมจนอิ่มในครั้งเดียว และคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องเสียเวลาป้อนนมหลายรอบ
หากลูกน้อยต้องการดื่มนมบ่อยๆ เช่น ทุก 2-3 ชั่วโมง การใช้ขวด 8 ออนซ์ อาจทำให้ลูกอิ่มนานขึ้น ลดความถี่ในการป้อนนม ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลา และทำให้ลูกน้อย และคุณพ่อคุณแม่ ได้พักผ่อนมากขึ้น
อย่างที่บอกไป ว่าโดยทั่วไป เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป มักจะเริ่มใช้ขวด 8 ออนซ์ แต่ก็ขึ้นอยู่กับพัฒนาการ และความต้องการของแต่ละคนด้วย เด็กบางคนอาจเริ่มใช้ขวด 8 ออนซ์ ตั้งแต่ 4-5 เดือน หากดื่มนมเก่ง และต้องการนมในปริมาณมาก ในขณะที่เด็กบางคน อาจยังใช้ขวด 4-5 ออนซ์ ต่อไป จนถึงอายุ 7-8 เดือน
เด็กแต่ละคนมีพฤติกรรมการกินที่แตกต่างกัน เช่น ดูดนมเร็ว ดูดนมช้า ชอบขวดแบบไหน มีปัญหาเรื่องการสำลักหรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนมีผลต่อการเลือกขนาดขวดนม หากลูกดูดนมเร็ว และกินจุ อาจใช้ขวด 8 ออนซ์ ได้เร็วกว่าเด็กที่ดูดนมช้า และกินน้อย
ข้อดีของการใช้ขวดนม 8 ออนซ์
- ลดความถี่ในการป้อนนมบ่อยๆ ช่วยประหยัดเวลา และ ลดความเหนื่อยล้า ให้กับคุณพ่อคุณแม่
- เหมาะสำหรับเด็กที่กินจุ ช่วยให้ลูกน้อย ได้รับนมในปริมาณที่เพียงพอ ต่อความต้องการ
- ฝึกให้ลูกน้อย หัดจับขวดเอง ขวดนม 8 ออนซ์ มักมีขนาด และน้ำหนักที่เหมาะมือ สำหรับเด็กวัย 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงฝึกพัฒนาการ ด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก และการประสานงานของมือและตา การให้ลูกน้อย หัดจับขวดเอง จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของลูก
ข้อควรระวัง
อย่าบังคับให้ลูกดื่มนมจนหมดขวด หากลูกแสดงอาการอิ่ม เช่น หันหน้าหนี หรือ ผลักขวดนมออก ควรหยุดป้อนนม แม้ว่านมจะยังเหลืออยู่ในขวด เพื่อป้องกัน การกินมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้ลูกท้องอืด อาเจียน หรือ น้ำหนักเกินได้
สรุปแล้ว ขวด 8 ออนซ์ ใช้ตอนกี่เดือน โดยทั่วไปคือ 6 เดือน แต่อาจช้าหรือเร็วกว่านี้ก็ได้ ไม่มีถูก หรือ ผิด ขอแค่เหมาะสมกับพฤติกรรม และปลอดภัยสำหรับลูกน้อย ก็เพียงพอแล้วค่ะ
ที่มา : https://th.my-best.com/16335 , pobpad
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
9 ขวดนมป้องกันโคลิค เพื่อลูกน้อยสบายท้อง ไม่ร้องงอแง
ขวดนมคอแคบ ขวดนมคอกว้าง ต่างกันอย่างไร เลือกแบบไหนให้ลูกดี
ประโยชน์ของขวดนมสีชา ขวดนมคอกว้าง ขวดนมคอแคบ ดีอย่างไร
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!