พ่อรู้มั้ย พ่อลูบท้องแม่ บ่อย ๆ มีแต่ดีกับดี! งานวิจัยจากหลายสถาบันในต่างประเทศ เผยออกมาอย่างน่าสนใจว่า การที่ “พ่อ” มีปฏิสัมพันธ์กับลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เช่น การลูบหน้าท้อง พูดคุย หรือแม้แต่จุ๊บท้องเบา ๆ ล้วนมีผลดี ต่อพัฒนาการของสมองทารกอย่างไม่น่าเชื่อ!

ทำไมการที่ พ่อลูบท้องแม่ ถึงสำคัญ?
การสัมผัส ไม่ได้เป็นแค่เรื่องความรัก ความผูกพัน แต่ในทางวิทยาศาสตร์แล้ว “สัมผัส” เป็นประตูสำคัญ ที่เชื่อมโยงสมองกับโลกภายนอก โดยเฉพาะในช่วงที่ทารกกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วในครรภ์ การกระตุ้นผ่านระบบประสาทสัมผัส เช่น เสียง สัมผัส แสง และแรงกดเบา ๆ สามารถส่งผลต่อเส้นทางการสร้างใยประสาทในสมองได้

วิจัยเผย พ่อลูบท้องแม่ บ่อย ๆ ช่วยให้ลูกฉลาดตั้งแต่ในท้อง!
บทบาทของพ่อในช่วงตั้งครรภ์ มักถูกลดทอน เหลือเพียงผู้ขับรถไปโรงพยาบาล และคนจ่ายเงินค่าฝากครรภ์ แต่วันนี้เราจะพาทุกคน มาขยายมุมมองใหม่ ๆ ที่ทั้งอบอุ่น น่ารัก และ “มีผลจริง” กับสมองของลูกในท้องกัน!
1. ทารกรู้จัก “มือพ่อ” จริงไหม?
งานวิจัยจาก มหาวิทยาลัยดันดี (University of Dundee, UK) ใช้ภาพอัลตราซาวนด์ 4D สังเกตพฤติกรรมของทารกในครรภ์ เมื่อสัมผัสจากมือพ่อและแม่ โดยพบว่า:
- ทารกจะมีการเคลื่อนไหว และตอบสนองต่อสัมผัสของพ่อมากขึ้น เวลา พ่อลูบท้องแม่ เมื่อเทียบกับสัมผัสของคนแปลกหน้า
- เด็กบางคน “ดิ้น” ตอบสนองทันทีที่พ่อแตะพุงแม่
2. เสียงของพ่อ “ไม่เหมือนใคร” และลูกจดจำได้
ทารกในครรภ์ มีการพัฒนาประสาทรับเสียงอย่างรวดเร็ว ในไตรมาสที่ 2–3 การพูดคุยของพ่อ เช่น การทักทายทุกเช้า เล่านิทานตอนเย็น หรือร้องเพลงสั้น ๆ ให้ฟัง มีผลต่อพัฒนาการของสมองส่วน Auditory Cortex และช่วยให้ลูกจดจำเสียงของพ่อได้ ตั้งแต่ยังไม่เกิด
งานวิจัยในวารสาร Infant Behavior and Development พบว่า เด็กที่เคยได้ยินเสียงพ่อบ่อย ๆ ในครรภ์ จะสงบลง เมื่อได้ยินเสียงเดียวกันหลังคลอด
3. ฮอร์โมนของ “พ่อ” เปลี่ยนได้ด้วย!
เมื่อพ่อมีปฏิสัมพันธ์กับลูกในครรภ์ เช่น ลูบหน้าท้องแม่ หรือพูดคุยกับลูก ฮอร์โมนในร่างกายของพ่อ จะเปลี่ยนแปลง ได้แก่:
- ออกซิโตซิน (Oxytocin): ฮอร์โมนแห่งความรัก ซึ่งช่วยเพิ่มความผูกพันกับลูก
- โดพามีน (Dopamine): ฮอร์โมนแห่งความสุข
- โปรแลคติน (Prolactin): กระตุ้นความรู้สึกอยากดูแล
ผลการศึกษาระบุว่า พ่อที่มีฮอร์โมนเหล่านี้สูงกว่าปกติ จะมีแนวโน้มให้ความสนใจลูกมากขึ้น และลูกเองก็จะตอบสนองทางอารมณ์ได้ดี
4. พัฒนาการทางสมองที่เปลี่ยนไป
การกระตุ้นจากพ่อจะมีผลต่อสมองของลูกในครรภ์โดยเฉพาะส่วน:
- Auditory Cortex: เสริมการจดจำเสียง
- Amygdala: พัฒนาความสามารถด้านอารมณ์
- Prefrontal Cortex: ส่วนคิดวิเคราะห์และการมีสมาธิ ซึ่งเริ่มเชื่อมต่อกันตั้งแต่ไตรมาสสุดท้าย
5. พ่อที่ใกล้ชิดตั้งแต่ในท้อง = พ่อที่ลูกไว้ใจ
งานวิจัยจากยุโรปพบว่า เด็กที่ได้รับการสัมผัส และฟังเสียงพ่อบ่อย ๆ ในครรภ์ จะมีแนวโน้มจดจำพ่อหลังคลอดได้ดีกว่า แสดงพฤติกรรมหันหา เมื่อได้ยินเสียง และมีการจ้องตา หรือยิ้มเร็วกว่าเด็กที่ไม่เคยได้ยินเสียงพ่อ

บทบาทของพ่อในขณะที่แม่ตั้งครรภ์
หลายคนอาจคิดว่า “ช่วงท้องเป็นเรื่องของแม่” แต่ในความจริงแล้ว พ่อคือผู้เล่นสำคัญ ที่มีผลทั้งทางตรง และทางอ้อมต่อแม่และลูก บทบาทของพ่อ ไม่ได้มีแค่หาเงิน หรือพาไปฝากครรภ์ แต่พ่อมีพลัง “สนับสนุน” ที่สำคัญต่อสุขภาพใจแม่ และพัฒนาการลูกมากกว่าที่หลายคนเคยรู้
1. พ่อคือเกราะกันความเครียดของแม่
การตั้งครรภ์ เป็นช่วงที่ร่างกาย และอารมณ์ของแม่ปั่นป่วนจากฮอร์โมน ความเครียดเล็ก ๆ ที่พ่ออาจไม่เห็น เช่น “ไม่รู้จะกินอะไรดี” หรือ “เสื้อผ้าไม่พอดีตัว” อาจส่งผลต่อสมดุลจิตใจของแม่ พ่อจึงต้องเป็นคนรับฟัง เข้าใจ และอยู่ตรงนั้นเมื่อแม่ต้องการ พ่อที่แค่พูดว่า “เหนื่อยไหมจ๊ะ” หรือช่วยนวดเบา ๆ ก็เท่ากับเติมพลังใจให้แม่แบบเต็มแม็กซ์!
2. พ่อมีผลต่อพัฒนาการลูกโดยตรง
การที่ พ่อลูบท้องแม่ เบา ๆ วันละ 5–10 นาที ช่วยให้ลูกในครรภ์รู้จักสัมผัส และเพิ่มความผูกพัน รวมไปถึงการพูดคุย หรือเล่านิทานให้ลูกฟัง ก็ช่วยพัฒนาการสมองส่วนฟัง เสริมการจดจำ และช่วยสร้างภาษาตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์
3. พ่อคือแรงขับเคลื่อนเบื้องหลังการเตรียมคลอด
พ่อคือคนที่คอยจัดการงานต่าง ๆ ที่แม่อาจไม่มีแรงทำ เช่น หาข้อมูลโรงพยาบาลและคุณหมอ เตรียมกระเป๋าคลอด คอยพาแม่ไปฝากครรภ์ วางแผนการเงินระยะยาว ซื้อของใช้เด็กแรกเกิด แม้จะดูเล็กน้อย แต่ทุกอย่างคือ “การเตรียมบ้านให้พร้อมต้อนรับชีวิตใหม่”
4. พ่อคือแรงใจ และเพื่อนร่วมฝัน
แม่ที่ตั้งครรภ์ มักมีความกลัวอยู่ลึก ๆ เช่น กลัวคลอด กลัวลูกไม่สมบูรณ์ กลัวเปลี่ยนแปลงรูปร่าง การที่พ่ออยู่ข้าง ๆ และพูดว่า “ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะผ่านมันไปด้วยกัน” มันไม่ใช่แค่คำพูดค่ะ แต่มันคือ “ยาใจ” ชั้นดี ที่ทำให้แม่มีกำลังใจ และมั่นคงกับบทบาทใหม่ ที่กำลังจะมาถึง
5. พ่อไม่ต้องสมบูรณ์ แต่ต้อง “มีอยู่”
พ่อไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่าง ไม่ต้องเข้าใจฮอร์โมน ไม่ต้องรู้จักคำว่าไตรมาส แต่สิ่งที่แม่ต้องการที่สุด คือ พ่อที่พยายามอยู่ตรงนี้กับเธอ ไม่ต้องเป็นพ่อที่ดีที่สุดในโลก แค่เป็นพ่อที่ “อยู่ตรงนี้” และพร้อมเรียนรู้ไปด้วยกัน
การมีส่วนร่วมของพ่อ ไม่ใช่แค่เรื่องหวานชื่น แต่คือ “การสร้างสมองลูก” แบบไม่ใช้เงินเลยสักบาท! แค่ลูบ พูด ร้องเพลง หรือวางมือเบา ๆ บนหน้าท้อง ก็เพียงพอจะจุดประกายการพัฒนาในสมองลูก ได้อย่างมหาศาล บทบาทของพ่อไม่ใช่เรื่องช่วยแม่ แต่คือการเลี้ยงลูกไปพร้อมกัน ให้คิดไว้เสมอว่า พ่อไม่ได้อยู่แค่ข้างสนาม แต่พ่อแม่คือทีมเดียวกัน ที่สามารถช่วยซัพพอร์ตกันได้ ตั้งแต่ตอนแม่ตั้งครรภ์เลยค่ะ
ที่มา: pubmed , wikipedia
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เลี้ยงลูกเอง VS ฝากปู่ย่าตายายเลี้ยง แบบไหนดีกว่ากัน?
แม่ท้องต้องรู้ สัญญาณบอกเหตุว่า คุณแม่ใกล้คลอดเต็มทีแล้ว
ถามถูกจุด ลูกฉลาดได้จริง: เคล็ดลับ ตั้งคำถามกระตุ้นสมองตามวัย
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!