แม่ท้องล้ม อันตรายกับทารกมากน้อยเพียงใด
ขึ้นชื่อว่าท้อง คุณแม่ทุกคนย่อมระวังเป็นอย่างยิ่งเพื่อไม่ให้ตัวเองลื่นล้ม แต่ถ้าหากแม่ท้องล้มขึ้นมาละ จะเป็นอันตรายกับทารกในครรภ์มากน้อยขนาดไหน
สิ่งที่แม่ท้องทุกคนระวังกันมากที่สุดในช่วงตั้งครรภ์ก็คือ การป้องกันไม่ให้ตัวเองลื่นล้ม ซึ่งสาเหตุของการลื่นล้มในระหว่างตั้งครรภ์นั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเพราะฮอร์โมน โลหิตจาง ความดันต่ำ หรือแม้แต่อุบัติเหตุ และถ้าหากแม่ท้องล้มขึ้นมา สิ่งที่เรากังวลใจมากที่สุดก็คือชีวิตของทารกในครรภ์
ในความเป็นจริง ถ้าหากแม่ท้องลื่นล้มเพียงเล็กน้อย ก็ไม่สามารถส่งผลอันตรายกับทารกในครรภ์ได้ค่ะ เพราะธรรมชาติได้สร้างสิ่งวิเศษที่สุดที่คอยช่วยปกป้องทารกให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุเล็กน้อยต่าง ๆ ไว้ให้แล้ว และสิ่งวิเศษที่ว่าก็คือ ผนังท้องและไขมันที่หนา กระดูกเชิงกราน และถุงน้ำคร่ำที่มีของเหลวคอยห่อหุ้มทารกอยู่นั่นเอง
แต่ในมุมกลับกันนั้น ก็มีอีกหลายองค์ประกอบที่สามารถเป็นอันตรายกับทารกในครรภ์ได้เช่นกันนะคะ ยกตัวอย่างเช่น
- อายุของคุณแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ท้องที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ย่อมมีความเสี่ยงมาก ไม่ว่าจะลื่นล้มเพียงเล็กน้อย เลือดออกหรือไม่นั้น ก็ควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจเช็คให้อย่างละเอียด
- ท่าล้ม ตราบใดก็ตามที่คุณแม่ท้องไม่ได้เอาหน้าหรือเอาท้องลง ทารกในครรภ์ก็ยังจัดได้ว่าปลอดภัยค่ะ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการกระแทกขึ้น จงจำไว้ว่า ทุกครั้งที่รู้สึกว่าตัวเองจะเป็นลม หน้ามืด หรือเกิดลื่นล้มขึ้นมาจริง ๆ ให้ใช้มือทั้งสองข้างลงก่อน เพื่อเป็นการช่วยประคองน้ำหนักของคุณแม่
จากรายละเอียดที่กล่าวมาในข้างต้นนั้น องค์ประกอบอื่นที่ว่านี้ก็ยังรวมถึง พื้นผิวที่คุณแม่ท้องล้ม และอายุครรภ์ของคุณแม่ด้วยเช่นกันนะคะ ดังนั้น คุณแม่ควรให้ความระมัดระวังให้มากนะคะ ซึ่งวิธีป้องกันไม่ให้ลื่นล้มก็ได้แก่
- หากคุณแม่รู้สึกว่าจะเป็นลม หน้ามืดแล้วละก็ ให้ค่อย ๆ หาที่นั่ง หรือยืนพิงพนักที่มีความแข็งแรงก่อน
- หลีกเลี่ยงการสวมใส่รองเท้าส้นสูง เพื่อไม่ให้น้ำหนักตัวโน้มไปข้างหน้ามากเกินไป เพราะถ้าหากเกิดล้มขึ้นมาจริง ๆ โอกาสที่จะเอาด้านหน้าลงกระแทกพื้นนั้นมีสูง
- พยายามหลีกเลี่ยงเดินบริเวณที่มีน้ำขัง และมีพื้นผิวที่ลื่นเปียก ไม่ว่าจะเป็นในครัวหรือห้องน้ำ หากจำเป็นต้องเข้าไปจริง ๆ ควรระมัดระวังให้มาก เพราะอาจจะมีคราบน้ำมัน หรือคราบสบู่ ยาสระผม ครีมอาบน้ำหลงเหลืออยู่ที่พื้นก็เป็นได้
- ทุกครั้งที่ต้องขึ้นบันได ควรจับราวบันไดด้วยทุกครั้ง และค่อย ๆ ก้าวขึ้นลงอย่างระมัดระวัง
ที่มา: Mom Junction