เคล็ดลับการให้นมลูกหลังผ่าคลอด
เคล็ดลับการให้นมลูกหลังผ่าคลอด
คุณแม่หลายคนมีความกังวลว่าหลังผ่าคลอดบุตร หรือ C-section น้ำนมจะน้อยกว่าคนที่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติ ทำตามเคล็ดลับนี้แล้วคุณแม่ที่ผ่าคลอดจะมีน้ำนมอย่างเต็มที่ได้เหมือนกัน
1. วางลูกไว้แนบอกให้เร็วที่สุด
การโอบกอดลูกแบบเนื้อแนบเนื้อช่วยเชื่อมสัมพันธ์แม่ลูกได้อย่างดีเยี่ยม ช่วยกระตุ้นความผูกพันและยังช่วยกระตุ้นให้ร่างกายคุณแม่เตรียมน้ำนมให้ลูกด้วย หลังจากการผ่าคลอดบุตร คุณหมอมักจะนำลูกมาวางไว้แนบหน้าอกของคุณก่อนที่จะนำลูกไปห้องปรับอุณหภูมิ เมื่อลูกอยู่ในห้องเนอสเซอรี่ หากคุณพ่อสามารถเข้าไปอุ้มลูกได้ ให้คุณพ่อเข้าไปกอดแบบเนื้อแนบเนื้อ เพื่อให้ลูกเกิดความผูกพัน และให้ลูกพร้อมที่จะเชื่อมสัมพันธ์กับคุณแม่อีกเมื่อมีโอกาส
2. ผ่อนคลาย เดี๋ยวนมก็มาเอง
คนที่ผ่าคลอดบุตรทั่วไปอาจจะรู้สึกว่าน้ำนมมาช้ากว่าคนที่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติเล็กน้อย แต่อย่ากังวลไป เดี๋ยวน้ำนมก็มาเอง ให้เอาลูกเข้าเต้าไว้เมื่อมีโอกาส เพื่อกระตุ้นการผลิตน้ำนม เด็กแรกเกิดจะต้องการกินนม 8-12 ครั้งใน 24 ชั่วโมงแรกของชีวิต ช่วงแรก ๆ นี้ร่างกายคุณจะผลิตนมเหลืองออกมาก่อน ถึงแม้จะมีปริมาณน้อย แต่มันคือสุดยอดอาหารที่ร่างกายน้อย ๆ ต้องการอย่างยิ่ง เพราะมีทั้งภูมิคุ้มกันและสารอาหารสำคัญที่เด็กต้องการ
หลังจากนี้ 3-5 วันคุณจะสังเกตได้ว่าน้ำนมเปลี่ยนสีและปริมาณก็มากขึ้นด้วย นั่นเป็นเพราะว่าลูกเริ่มต้องการนมมากขึ้นแล้ว
3. ระวังแผลผ่าคลอดหน่อยนะ
ช่วงนี้ต้องฝึกอุ้มลูกกันดี ๆ นะ เพราะอาจจะทำให้เจ็บแผลได้ ท่าวางลูกแบบลูกฟุตบอลหรืออุ้มลูกจากด้านข้างก็ดีนะ การใช้หมอนก็ช่วยได้เหมือนกัน ในวันแรก ๆ หลังผ่าคลอด คุณอาจจะรู้สึกเจ็บแผลเวลาต้องลุกออกจากเตียงไปอุ้มลูกมากินนม แต่การลุกเดินจะช่วยให้ร่างกายคุณแม่ฟื้นตัวเร็วขึ้น
4. ลูกกำลังตื่นอยู่ตอนที่กินนมใช่มั้ย?
เพราะเด็กที่เกิดมาจากการผ่าคลอดอาจจะมีอาการง่วงนอนเป็นพิเศษเพราะผลของยาที่ใช้ช่วงที่ผ่าคลอด บางทีเด็กอาจต้องใช้เวลาหลายวันเพื่อปรับตัว ลูกอาจจะหลับไปกินนมไป ให้คุณสังเกตให้ดี หากลูกหลับงัวเงียและอ่อนแรงตลอดช่วงการกินนมแม่ และกินนมได้น้อยกว่า 8 ครั้งต่อวัน ต้องปรึกษาแพทย์ทันที
5. ปลุกลูกขึ้นมากินนมด้วยหลากหลายวิธี
ช่วงแรกของชีวิต เด็กจะนอนมากเป็นพิเศษ ให้คุณปลุกลูกขึ้นมากินนมด้วยวิธีการสัมผัส หรือพูดเบา ๆ นอกจากนั้นยังมีวิธีถอดเสื้อผ้าลูก เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศและทำให้เด็กตื่น ต้องเข้าใจว่าบางทีอาจจะต้องรอถึง 10 นาทีกว่าเด็กแรกเกิดจะหายจากอาการงัวเงีย และพร้อมจะดื่มนมอย่างเต็มที่