อุทาหรณ์! โดนญาติเห่อทั้งอุ้มทั้งหอม ลูกป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด

บทเรียนราคาแพง! อุทาหรณ์ของการสัมผัสทารก จากคนมากหน้าหลายตา จนเป็นสาเหตุให้ลูกป่วยหนักถึงขัั้นติดเชื้อในกระแสเลือด

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับหนูน้อยแรกเกิด อายุได้เพียง 4 วันเท่านั้น โดยคุณแม่ Ppsp Naka ได้เล่าเรื่องราวอาการป่วยของลูกชาย ซึ่งแพทย์ตรวจพบและระบุว่า เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด โดยน่าจะมาจากการสัมผัสกับผู้ป่วยที่มีไข้หรือเป็นหวัด  ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างที่คุณแม่กำลังอยู่ไฟ และต้องฝากลูกชายไว้กับญาติ ซึ่งในตอนนั้นญาติ ๆ หลายคนกำลังเห่อหลาน ต่างเข้าอุ้มและหอมลูกชายเธอกันนับไม่ถ้วน ทำให้สันนิษฐานว่า นั่นอาจเป็นสาเหตุที่มาของอาการป่วยของลูกชายเธอในครั้งนี้

ข้อความจากคุณแม่ Ppsp Naka ที่ร่วมแชร์ประสบการณ์เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับครอบครัวอื่น ๆ ในกลุ่มคนท้องคุยกัน ว่า…

มาแชร์ประสบการณ์ค่ะ เราคลอดน้องวันที่ 19 ก.พ ออกจากโรงพยาบาล 22 ก.พ ปกติทุกอย่าง พอกลับถึงบ้าน มีญาติและผู้คนมากมาย ทั้งเป็นไข้ คนเมา และอื่นๆ ที่เราไม่รู้ มากอด สัมผัสลูกเรา เราโดนแยกให้อยู่ไฟ ลูก ญาติๆ เอามาอุ้ม มาเล่นอยู่ต่างหาก วันต่อมา 23 ก.พ ช่วงบ่ายลูกเรามีอาการไข้ขึ้นสูง 39 (เราซื้อที่วัดไข้) พร้องเสียงหายใจครืดคราด เร็วบ้าง ช้าบ้าง เรารีบนำลูกส่งโรงพยาบาลต่างอำเภอ เพราะบ้านอยู่ต่างอำเภอ โรงพยาบาลก็รีบส่งตัวลูกเราไปยังโรงพยาบาลตัวเมือง พร้อมใส่ออกซิเจน น้ำเกลือ เจาะเลือด วัดการเต้นหัวใจบอกว่าเต้นเร็วเกิน พอมาถึงตัวเมืองก็เจาะเลือดอีก เอ็กซเรย์ดู ส่งมาห้องเด็ก ก็เจาะเลือดอีก บอกลูกติดเชื้อในกระแสเลือด เพราะสัมผัสคนเป็นไข้ เป็นหวัด ลูกต้องนอนฉีดยา 7 วัน วันละ 6 เข็ม วันไหนตรงเข็มที่แทงไว้ฉีดยาบวม ก็ต้องเปลี่ยนใหม่ เจาะทั้งเท้า 2 ข้าง ทั้งมือ 2 ข้าง กว่าจะครบ 7 วัน ใจแม่แทบขาด น้ำนมก็ไม่มีเครียดด้วย
(ดีที่มาทัน ไม่งั้นคนที่บ้านคิดว่าลูกเราเป็นไข้ธรรมดาเพราะฉีดวัคซีน) บทเรียนราคาแพง เพราะความเห่อ *ต้องหวงลูกมาก ๆ ๆ อย่าเพิ่งให้ใครกอด อุ้ม หอม ทุกวันนี้เราไม่ไว้ใจใครค่ะ

ลูกป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด
ที่มาจาก คุณแม่ Ppsp Naka

ทั้งนี้เราจะได้ยินเรื่องราวในลักษณะนี้บ่อย ๆ อ่าน แชร์ประสบการณ์ ลูกโดนหอมแก้มจนติดเชื้อแบคทีเรีย  , ป้องกันลูกเป็นเริม ห้ามคนอื่น “จูบลูก” อย่างเดียวคงไม่พอ ซึ่งทางที่ดีที่สุดในการป้องกัน คือ การรักษาความสะอาดของผู้มาเยี่ยมหรือผู้ที่จะสัมผัสกับเด็กทารก เพราะผิวหนังของทารกนั้นบอบบาง และไวต่อสิ่งสกปรกและเชื้อโรค หากมีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้าใกล้เด็ก ควรล้างมือทำความสะอาดให้เรียบร้อย หรือใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก แต่ทางที่ดีควรอยู่ให้ไกลจากเด็กทารกมากกว่า เพื่อความปลอดภัยของลูก ๆ หลาน ๆ

โรคที่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น แบคทีเรียนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรงและแพร่กระจาย หรือ โรคไอพีดี โดยปกติแล้วเชื้อนิวโมคอคคัส สามารถพบได้ในโพรงจมูกและลำคอของคนทั่วไปโดยเฉพาะในเด็กเล็ก ซึ่งนอกจากอาจจะก่อโรคแก่ตัวเองได้แล้วยังอาจจะแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้อีกด้วย โดยโรคนี้สามารถแพร่กระจายถึงกันได้ เพียงแค่ ไอ จาม หรือไปสัมผัสเข้ากับสารคัดหลั่ง ทั้งนี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี มักพบว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไอพีดีได้ง่ายกว่าในเด็กในช่วงวัยอื่น ๆ อีกด้วย

ต้องขอขอบคุณคุณแม่ Ppsp Naka ที่ร่วมแชร์ประสบการณ์เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับครอบครัวอื่น ๆ และขอให้น้องหายจากอาการป่วยไว ๆ ด้วยค่ะ

หากคุณพ่อคุณแม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นด้านล่างได้เลยค่ะ

 

ที่มาจาก คุณแม่ Ppsp Naka

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เพราะการป้องกันสำคัญกว่าการแก้ไข โอปอลล์ ปาณิสรา ชวนคุณแม่ร่วมปกป้องลูกรักจากโรคไอพีดี (IPD)

เฝ้าระวัง! โรคปอดอักเสบ ภัยเงียบคร่าชีวิตเด็กอันดับ 1

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!