อาการแพ้ท้องในแต่ละเดือน อาการของคนท้อง พร้อมวิธีรับมือ บรรเทาอาการ

อาการแพ้ท้องในแต่ละเดือน สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่แล้วมักมี อาการคลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลียมากกว่าปกติ และจะเริ่มแสดงอาการแพ้ท้องมากขึ้นเมื่ออายุครรภ์เข้าสู่เดือนที่ 3  สำหรับสาเหตุของการแพ้ท้องนั้น ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด แต่หลายคนเชื่อว่าเป็นผลมาจากร่างกายมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนเอชซีจี (HCG – Human chorionic gonadotropin) ที่รกสร้างสูงขึ้นนั่นเองค่ะ

 

 

คนท้องส่วนใหญ่จะรู้สึกแพ้ท้องมากช่วงตื่นนอนตอนเช้า และจะยิ่งหนักขึ้นเรื่อย ๆ หากปล่อยให้ท้องว่างมากเป็นพิเศษ ซึ่งคุณแม่แต่ละคนเวลาแพ้ท้องจะมีอาการรุนแรงไม่เท่ากัน บางคนก็แค่พะอืดพะอม บางคนก็อาเจียนออกมาเป็นบางครั้ง ในขณะที่บางคนแพ้รุนแรงมากถึงขั้นทานอะไรไม่ได้เลย จนดูโทรม ตาลึกโบ๋ ปากแห้ง ปัสสาวะน้อย หรือปัสสาวะสีเหลืองเข้ม ซึ่งถ้าเป็นกรณีหลังคุณแม่ต้องรีบไปพบคุณหมอด่วนเลยนะคะ

 

อาการแพ้ท้องในแต่ละเดือน

อาการแพ้ท้องในแต่ละเดือน เป็นอย่างไร

  1. น้ําลายเยอะ คลื่นไส้ คุณแม่จะรู้สึกอึดอัดท้องและหน้าอกมากจนต้องอาเจียนออกมา เมื่ออาเจียนออกมาตอนท้องว่างและไม่มีอะไรออกมา คุณแม่จะรู้สึกทรมานมาก (บางคนถึงกับต้องยอมกินทั้งที่ไม่อยากกิน เพราะหากไม่มีอะไรตกถึงท้องก็จะรู้สึกคลื่นไส้อยู่ตลอดเวลา)
  2. เหม็นไปหมด อาการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากระบบประสาทอัตโนมัติไม่มั่นคง ทำให้คุณแม่อาจรู้สึกไม่สบายในทันทีเมื่อได้กลิ่นเหม็น ๆ เช่น บางคนอาจรู้สึกไม่ชอบกลิ่นอาหาร เช่น เนื้อ กลิ่นกระเทียม กาแฟ กลิ่นน้ำหอมที่เคยชอบกลับไม่ชอบ บางทีก็รู้สึกเหมือนกลิ่นคุณพ่อ แต่บางทีก็รู้สึกหอมมากกับบางสิ่ง เช่น กลิ่นหุงข้าว กลิ่นไอน้ำจากของต้ม
  3. เหนื่อยง่าย รู้สึกเหน็ดเหนื่อย อยากนอนหลับตลอดเวลา เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สูงขึ้นมีผลทำให้กล้ามเนื้อในร่างกายคลายตัวเหมือนยากล่อมประสาท ภายในร่างกายมีการเผาไหม้อาหารสำหรับทารกตัวน้อยมากขึ้น ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงและสูญเสียพลังงานมากขึ้น ถ้าคุณแม่ได้พักผ่อนก็จะสบายขึ้น
  4. อยากกินอะไรแปลก ๆ บางครั้งคุณแม่อาจอยากกินอาหารแปลก ๆ เช่น อาหารที่มีรสเปรี้ยวอย่างมะม่วง มะกอก มะดัน ฯลฯ หรือจู่ ๆ ก็ไม่สามารถกินของที่ตัวเองเคยชอบได้ และบางครั้งก็อยากกินของที่ไม่เคยชอบอย่างมาก แต่คุณแม่บางรายก็ไม่อยากจะกินอะไรเลยก็มี ซึ่งอาจเป็นเพราะมีอาการขมเฝื่อนในปาก เพราะร่างกายเปลี่ยนไป ทำให้กินอาหารไม่อร่อย
  5. ปวดแสบลิ้นปี่ ในช่วงที่คุณแม่มีอาการแพ้ท้องและอาเจียนบ่อย ๆ อาจมีอาการแสบบริเวณลิ้นปี่เกิดขึ้นตามมาได้ เพราะน้ำย่อยที่อาเจียนออกมาทำให้แสบหลอดอาหารและคุณแม่อาจมีความรู้สึกขมที่ลิ้น รู้สึกเจ็บปวดในอก และอาจกระจายถึงคอ จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการเจ็บคอและมีอาการไอเรื้อรังได้ นอกจากนี้อาการปวดแสบลิ้นปี่ยังอาจเกิดจากการที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารได้รับผลกระทบ จึงอาจมีน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารและระคายเคืองหลอดอาหารจนทำให้คุณแม่รู้สึกแสบที่ลิ้นปี่ได้
  6. อารมณ์แปรปรวน รู้สึกหงุดหงิด และอาจปวดศีรษะบ่อยขึ้น แต่ไม่รุนแรงมากนัก
  7. ง่วงนอนตลอดเวลา คุณแม่บางคนอาจจะรู้สึกว่าร่างกายเหนื่อยล้า นอนเท่าไรก็ไม่เต็มอิ่ม

อาการแพ้ท้อง จะเริ่มพบในช่วงไตรมาสแรก ประมาณสัปดาห์ที่ 6 บางคนอาจจะรู้สึกเร็วกว่านั้นค่ะ หรือไม่ก็กว่าจะรู้อีกทีในช่วงสัปดาห์ที่ 12-16 ของการตั้งครรภ์ก็ได้ ส่วนใหญ่คุณแม่จะรู้สึกแพ้ท้องหนักมากในช่วงสัปดาห์ที่ 8-9 ของการตั้งครรภ์ แต่ก็ไม่แน่เสมอไป เพราะคุณแม่บางคนกลับไม่รู้สึกแพ้ท้องเลยก็มีค่ะ หรือไม่ก็แพ้ท้องยาวไปจนคลอดเลยก็มี

บทความที่เกี่ยวข้อง : เริ่มแพ้ท้องตอนไหน จะรู้ได้เมื่อไร อาการแพ้ท้องเป็นอย่างไร?

 

อาหารคุณแม่ตั้งครรภ์

 

วิธีการรับมือ อาการแพ้ท้อง

  1. ดื่มน้ำมาก ๆ ในช่วงที่ท้องควรดื่มน้ำมาก ๆ หรือว่าเท่าที่จะมากได้ เพราะว่าการดื่มน้ำนั้นจะช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งน้ำที่แนะนำนั่นอาจจะเป็นน้ำเปล่า น้ำผลไม้ จะดีที่สุดค่ะ และควรดื่มน้ำก่อนและหลังรับประทานอาหารประมาณ 30 นาที และไม่ควรดื่มน้ำร่วมกับการรับประทานอาหารหรือหลังอาหารในทันที
  2. ไม่ควรปล่อยให้ท้องว่าง คุณแม่อาจจะหาวิธีการโดยนำขนมติดตัว และกินไปเรื่อย ๆ เช่น ขนมจำพวกถั่ว ขนมที่ทำจากถั่วเหลือง เพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนที่จะเกิดขึ้นขณะท้องได้
  3. พักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพออาจทำให้เกิดอาการแพ้ท้องได้ง่าย เพราะอาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้คุณแม่รู้สึกเวียนหัวได้ง่าย ทางที่ดีควรเข้านอนตั้งแต่หัวค่ำ เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ดีกว่าค่ะ
  4. หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด คุณแม่ควรพยายามอย่าเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่ร้อนอบอ้าว อากาศไม่ถ่ายเท เพราะจะทำให้คุณแม่เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ง่าย ถ้าคุณแม่ต้องออกไปทานข้าวนอกบ้านก็พยายามหลบแดดหน่อยค่ะ หรืออาจจะพกร่ม พัด ยาดม และลูกอมติดตัวไว้ก็ได้
  5. หลีกเลี่ยงอาหารมัน ทอด และรสจัด อาหารบางประเภทที่อาจไปกระตุ้นระบบการย่อยอาหารให้ผิดปกติ และทำให้รู้สึกอยากอาเจียนได้ง่ายขึ้น เช่น อาหารไขมันสูง อาหารทอด อาหารรสจัด หรือมีกรดสูง เปลี่ยนมาเป็นการรับประทานอาหารที่อุดมด้วยโปรตีนสูง และวิตามินบี 6 ที่มีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการแพ้ท้องให้น้อยลง
  6. เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเน้น วิตามินบี 6 อาหารที่มีแร่ธาตุสังกะสี ซึ่งพบมากในอาหารประเภทผลิตภัณฑ์นม เนื้อสัตว์ตับ ไข่ ปลา สัตว์น้ำประเภทมีเปลือก ถั่ว พืชประเภทถั่ว ข้าวโพด ผลไม้ผักสด และอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น ขนมปัง หรือขนมปังกรอบ เป็นต้น
  7. พยายามอย่าเครียด คุณแม่ควรหาเวลาผ่อนคลาย ว่าง ๆ คุณอาจจะนอนแช่น้ำอุ่นในอ่าง หรือนอนนิ่ง ๆ ฟังเพลงสบาย ๆ ลองเปิดใจพูดคุยกับสามีถึงเรื่องที่คุณกังวล หรือลองหากิจกรรมเพลิน ๆ ทำ เช่น อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ เล่นเกม ปลูกต้นไม้ เป็นต้น
  8. สวมเสื้อผ้าที่สบายตัว การสวมใส่เสื้อผ้าที่ทำให้รู้สึกอึดอัดไม่สบายตัว อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ง่ายขึ้น ดังนั้น คุณแม่ควรเลือกสวมใส่เสื้อที่สบายตัว เนื้อผ้าระบายอากาศได้ดี

บทความที่เกี่ยวข้อง : แพ้ท้อง ทำอย่างไรดี แม่อาเจียนจนเหนื่อย กินอะไรก็ไม่ได้ มีวิธีแก้แพ้ท้องไหม?

 

อาการคนท้อง อาการแพ้ท้องในแต่ละเดือน

เนื่องจาก อาการแพ้ท้องในแต่ละเดือน ของแม่ท้องแต่ละท่านมีความแตกต่างกันออกไป โดยไม่สามารถหาสาเหตุได้อย่างแน่ชัด  เพราะฉะนั้นเรามาดูอาการคนท้องในแต่ละเดือนกันดีกว่าค่ะ มาดูกันว่าแม่ท้องในแต่ละเดือนมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

อาการคนท้อง 1 เดือน

  1. เต้านมเริ่มเปลี่ยน: ร่างกายของคุณจะแสดงอาการคล้ายกับก่อนมีประจำเดือน เช่น เจ็บเต้านม ปัสสาวะบ่อย แต่จะมีอาการเพิ่มหน่อย เช่น อ่อนเพลีย ง่วงนอน และอาจมีเส้นเลือดขึ้นบริเวณเต้านม
  2. มีมูกเหนียวข้น: ในช่วงนี้ ร่างกายจะเริ่มผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนให้เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการผลิตมูกข้นเพื่อมาปิดช่องปากมดลูกไว้ ไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าไปถึงตัวลูกค่ะ แต่ว่าพอใกล้คลอดปากมดลูกก็จะบางและเริ่มเปิดขึ้นทำให้อาจเกิดเป็นมูกเลือดได้
  3. ประจำเดือนหยุด: หลังจากที่ตัวอ่อนฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูก ถุงน้ำรังไข่จะสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพื่อดูแลครรภ์ ทำให้รังไข่หยุดผลิตไข่ คุณแม่จึงขาดประจำเดือนในรอบถัดมานั่นเอง
  4. อารมณ์แปรปรวน: คุณแม่จะเริ่มรู้สึกว่าหงุดหงิดง่าย ร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ รู้สึกหวาดกลัวต่าง ๆ นานา บางคนอาจเป็นทันที แต่บางคนอาการจะแสดงช้ากว่านี้

 

อาการคนท้อง 2 เดือน

  1. เจ็บเต้านม: ในช่วงนี้ คุณแม่จะรู้สึกถึอาการคัดเต้า เจ็บตึงบริเวณเต้านม หากสังเกตจะเห็นว่าฐานของหัวนมจะมีขนาดกว้าง และนุ่มมากขึ้น
  2. มีตกขาว: คุณแม่จะมีตกขาวมากกว่าปกติ เนื่องจากจะมีเลือดไปเลี้ยงช่องคลอดและอวัยวะเพศภายนอกมากขึ้นถึงร้อยละ 25 รวมถึงใช้ในระบบหมุนเวียนของรก ทำให้คุณแม่บางครั้งคุณแม่จะเห็นว่าอัยวะเพศสีคล้ำขึ้น
  3. มีอาการแพ้ท้อง: คุณแม่จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหม็นไปหมดทุกอย่าง บางครั้งก็อยากลองกินอาหารแปลก ๆ หรือบางคนก็กินอะไรไม่ได้เลย หากคุณแม่มีอาการเหล่านี้ แนะนำให้ดื่มน้ำขิงจะช่วยลดอาการแพ้ท้องได้
  4. อารมณ์แปรปรวน: คุณแม่ยังคงมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาอยู่ แต่บางคนยังรู้สึกเหนื่อยล้า หรือเหนื่อยง่ายมากขึ้น ซึ่งสาเหตุอาจมาจากการขาดพวกธาตุเหล็กและโปรตีน ดังนั้น คุณแม่ควรทานอาหารให้ครบถ้วนมากขึ้น
  5. หิวบ่อย: สำหรับคุณแม่บางคนจะรู้สึกว่าช่วงนี้ตัวเองจะกินเก่ง หิวบ่อย นั่นเป็นเพราะว่าร่างกายเกิดการเผาพลาญอาหารมากขึ้น เพราะร่างกายต้องการพลังงานมากขึ้น ดังนั้น คุณแม่ควรทานโปรตีนและแป้งให้เพียงพอให้แต่ละมื้อ

 

อาการคนท้องในเดือนที่ 3

  1. หลอดเลือดขยายตัว: ในเดือนนี้คุณแม่บางคนจะรู้สึกว่าตัวเองอาจมีอาการบวมที่แขนหรือขาเล็กน้อย ซึ่งสาเหตุมาจากการฮอร์โมนส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว ทำให้ปริมาณเลือดไหลเข้าสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกายมากขึ้น ในช่วงนี้คุณแม่อาจมีความดันต่ำ ให้ระวังอาการหน้ามืดไว้
  2. น้ำหนักตัวที่เปลี่ยนแปลง: คุณแม่บางคนอาจมีน้ำหนักตัวที่ลดลงเนื่องจากอาการแพ้ท้อง ส่วนบางคนก็อาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจากการเติบโตของทารก หากน้ำหนักที่เพิ่มไม่เกิน 2 กก. อาจมาจากทารก 48 กรัม ที่เหลือเป็นน้ำหนักของมดลูก เต้านม รก น้ำคร่ำ และปริมาณเลือด
  3. เจอยอดมดลูก: หากคุณแม่ไปตรวจครรภ์จะเห็นว่าคุณหมอจะตรวจร่างกายเพื่อดูขนาดของทารกในครรภ์ ซึ่งถ้าคุณแม่คลำจะเจอยอดมดลูกบริเวณหัวหน่าว ซึ่งเป็นตัวการันตีได้ว่าคุรแม่ตั้งครรภ์แน่นอน
  4. อารมณ์แปรปรวน: คุณแม่อาจยังมีอารมรณ์ที่ไม่แน่นอน แต่หลังจากเดือนนี้คุณแม่จะรับมือต่าง ๆ ได้ดีขึ้น อารมณ์แปรปรวนจะน้อยลง

 

อาการแพ้ท้องในแต่ละเดือน

อาการคนท้อง 4 เดือน

  1. หน้าท้องเริ่มออก: คุณแม่หลายคนกังวลว่าทำไมท้องไม่ออกเลย ในเดือนนี้จะเริ่มเห็นบ้างแล้วค่ะ เพราะมดลูกจะเริ่มเข้าสู่ช่วงท้องแล้ว เนื่องจากทารกในครรภ์เริ่มโตขึ้น และเริ่มเห็นเส้นดำ ๆ กลางหน้าท้องด้วย
  2. หัวใจเต้นเร็วขึ้น: ร่างกายของคุณแม่ต้องสูบฉีดเลือดให้เพียงพอต่อการล่อเลี้ยงของร่างกาย ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น
  3. หัวนมคล้ำ: หากคุณแม่สังเกตที่เต้านมจะรู้สึกว่าหัวนมเริ่มดำขึ้น และเห็นเส้นเลือดเป็นสีเขียว ๆ ชัดขึ้น อีกทั้งเวลาที่สัมผัสก็จะรู้สึกเจ็บ
  4. เริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้น: คุณแม่จะรู้สึกว่าลูกตอดเป็นคลื่ชน ๆ ในช่วงต้น ๆ เดือน พอปลายเดือนคุณแม่จะเริ่มรู้สึกถึงลูกดิ้นครั้งแรกแล้ว

 

อาการคนท้อง 5 เดือน

  1. เริ่มเป็นตะคริว: คุณแม่บางคนจะเริ่มรู้สึกว่าช่วงนี้ทำไหมตัวเองรู้สึกขาชา ตัวชาบ่อย บ้างก็เปนตะคริวนาน ซึ่งสาเหตุอาจมาจากการได้รับแคลเซียมที่ไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม อาการนี้พบบ่อยในคนท้องมาก
  2. เริ่มเกิดท้องลาย: คุณแม่จะเริ่มมีอาการเปลี่ยนแปลงตามร่างกายทั้งเห็นเส้นเลือดฝอยขึ้นตามส่วนต่าง ๆ เช่น ใบหน้า และแขน บางคนขึ้นเป็นริ้ว ๆ ที่หน้าท้อง และมีอาการคันเพราะหน้าท้องเริ่มขยาย และอาจเริ่มมีอาการท้องลายได้
  3. ลูกดิ้น: หากเดือนที่แล้วคุณแม่ยังไม่รู้สึกถึงลูกดิ้น เดือนนี้คุณแม่จะรู้สึกถึงลูกดิ้นแน่ ๆ ไม่ต้องกังวลใจไป
  4. ร้อนง่าย: เนื่องจากการทำงานของต่อมไทรอยด์ที่ทำงานหนักมากขึ้น คุณแม่จะรู้สึกว่าช่วงนี้ตัวเองกลายเป็นคนขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย และหายใจหอบด้วย เพราะฉะนั้นพยายามหลีกเลี่ยงในที่ที่มีคนเยอะ ๆ หรือที่แออัด
  5. เกิดอาการต่าง ๆ : คุณแม่จะเริ่มรู้สึกถึงอาการต่าง ๆ เช่น ปัสสาวะอักเสบ เป็นกรดไหลย้อน อาหารไม่ย่อย และท้องผูก

 

อาการคนท้องในเดือนที่ 6

  1. อาการปวดเมื่อยตามชายโครง: เนื่องจากขนาดของครรภ์คุณแม่ใหญ่ขึ้น ทำให้เกิดการเสียดสีที่ชายโครงคุณแม่จึงรู้สึกปวด และบางครั้งอาจไปกดทับเอากระเพาะอาหารและเกิดแสบร้อนได้
  2. มดลูกหดเกร็ง: ให้ช่วงนี้คุณแม่อาจรู้สึกปวดท้องบ้าง ซึ่งสาเหตุมากจากการหดเกร็งของมดลูกและเกิดการเสียดท้องน้อย ในขณะที่คุณแม่เปลี่ยนอิริยาบถในทันที
  3. เป็นตะคริวบ่อย: อีกสิ่งหนึ่งมาจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อช่วงน่อง ต้นขา และปลายเท้า ทำให้เกิดตะคริวขึ้นบ่อยๆ
  4. น้ำหนักเพิ่มขึ้น: โดยปกติแล้วคุณแม่จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอาทิตย์ละประมาณครึ่งกิโลกรัม หากคุณแม่ยังรู้สึกว่าท้องเล็กอยู่ก็ไม่ต้องกังวลเพราะไม่ได้แปลว่าลูกในท้องจะตัวเล็กไปด้วย
  5. เกิดโรคแทรกซ้อน: คุณแม่ควรระมัดระวังในเรื่องของอาหารการกิน และหมั่นดูแลสุขภาพให้ดี เพราะคุณแม่อาจเกิดภาวะเสี่ยงต่างๆ เช่น เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น

 

อาการคนท้องในเดือนที่ 7

  1. นอนลำบาก: ตอนนี้ท้องคุณแม่ใหญ่แล้วจะนอนก็ลำบาก นอนก็ไม่ค่อยหลับ ไม่สบายตัว หากคุณแม่รู้สึกแบบนี้ อนะนำให้นอนตะแคงซ้ายแล้วใช้หมอสอดระหว่างขา เพื่อให้นอนได้สบายตัวมากขึ้น
  2. อาการปวดหลัง: มาในเดือนนี้คุณแม่หลายท่านมักจะมีอาการปวดหลัง เพราะว่าต้องพยุงน้ำหนักของครรภ์ที่มากขึ้น อีกทั้งกระดูกเชิงกรานเกิดการขยายตัวเพื่อรองรับน้ำหนักทำให้คุณแม่เกิดอาการปวดหน่วง ๆ ด้วยเช่นกัน
  3. ปัสสาวะบ่อย: แน่นอนว่าเมื่อหน้าท้องที่ใหญ่ ขนาดตัวของทารกที่โตขึ้น ทำให้เกิดการกดทับที่กระเพาะปัสสาวะ คุณแม่จึงเข้าห้องน้ำบ่อย บางคนก็ปัสสาวะเล็ดเพราะลูกดิ้นด้วย
  4. น้ำนมไหล: คุณแม่บางท่านอาจเกิดภาวะน้ำนมไหลซึม หากสังเกตดูจะเห็นว่าน้ำนมมีสีเหลืองใสค่ะ ซึ่งเกิดจากที่ร่างกายเริ่มเตรียมพร้อมก่อนที่จะคลอด
  5. น้ำหนักขึ้นเร็ว: คุณแม่จะรู้สึกว่าน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ รู้สึกอึดอัด บ่อยครั้งที่กินได้น้อยลง และเริ่มรู้สึกว่าอาหารไม่ย่อย ดังนั้น คุณแม่ควรแบ่งอาหารออกเป็นมื้อย่อย ๆ และเคี้ยวให้ละเอียดมากขึ้นก็จะช่วยได้

 

อาการคนท้อง 8 เดือน

  1. ปวดหน่วง ๆ : อาการนี้คุณแม่อาจเป็นมาตั้งแต่เดือนที่แล้ว แต่มาเดือนนี้จะรู้สึกมากขึ้น เนื่องจากบริเวณข้อต่อของกระดูกเชิงกรานเกิดการหย่อนตัว ทำให้คุณแม่รู้สึกปวดหน่วงๆ ระหว่างเปลี่ยนอิริยาบทไม่ว่าจะเดิน นั่ง หรือเปลี่ยนท่านอน
  2. เจ็บท้องเตือน: ช่วงนี้มดลูกของคุรแม่จะเกิดอาการหดตัวเป็นระยะ เพื่อเตรียมพร้อมสู่การคลอดลูกจริงไ ทำให้คุณแม่รู้สึกปวดท้องและท้องแข็งเป็นระยะ โดยที่จะรู้สึกว่าท้องนูนแข็งครั้งละไม่เกิน 30 นาที
  3. เกิดอาการจุกเสียด: เมื่อยอดมดลูกเกิดการขยายตัวไปเบียดเอายอดอกและชายโครง ทำให้คุณแม่เกิดอาการจุกเสียดเอาได้ง่าย หากสังเกตจะเห็นว่าสะดือคุณแม่จะตื้นขึ้นและมีสีคล้ำลง อีกทั้งเส้นดำกลางลำตัวจะมีสีที่เข้มขึ้นด้วย
  4. เท้าบวม: ในเดือนนี้คุณแม่จะเห็นเท้าตัวเองบวมง่าย ซึ่งสาเหตุมากจาการที่น้ำหนักตัวที่กดทับหลอดเลือดดำใหญ่ด้านหลังลำตัว ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มีอาการเท้าบวมมาก ๆ แนะนำให้พบแพทย์

 

อาการคนท้อง 9 เดือน

  1. หน้าท้องลด: ทารกจะเริ่มกลับหัว ทำให้หน้าท้องลดลง ช่วงนี้คุณแม่จึงรู้สึกหายใจได้สะดวกมากขึ้น แต่ระยะเวลาที่ทารกเริ่มกลับหัวไม่แน่นอนค่ะ บางคนก็เกิดขึ้นเร็วบางคนก็ช้าคุณแม่ไม่ต้องกังวล
  2. นอนไม่ค่อยหลับ: ด้วยความที่ท้องโตมาก ๆ คุณแม่จึงนอนยาก ไหนจะลูกดิ้นแรง ไหนจะลุกเข้าห้องน้ำบ่อย และอาการปวดต่าง ๆ นาน ทำให้การนอนของคุณแม่เริ่มยากขึ้น ดังนั้น คุณแม่อาจจะอาศับการงีบหลับเพิ่มในระหว่างวัน และอย่าลืมหนุนเท่าให้สูงกว่าลำตัวเล็กน้อยเวลานอนด้วย
  3. กังวลมากขึ้น: ยิ่งใกล้กำหนดคลอดคุณแม่ก็จะยิ่งกังวล เพราะต้องกังวลว่าเตรียมของให้ลูกครบหรือยัง ลูกจะคลอดเมื่อไหร่ ปวดท้องบ่อย ๆ แบบนี้จะคลอดหรือยังนะ และอีกสารพัด ทำให้คุณแม่เครียด และอาการอารมณ์แปรปรวนอาจกลับมาได้

 

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

แพ้ท้องมาก อันตรายไหม วิจัยเผย แม่แพ้ท้องมีโอกาสที่จะไม่แท้ง! 

วิธีแก้อาการแพ้ท้อง แม่ตั้งครรภ์แพ้ท้องหนักมาก แก้อาการแพ้ท้องอย่างไร ?

ทำไมถึงแพ้ท้อง 5 เหตุผล สาเหตุที่ก่อให้เกิดการแพ้ท้องได้

แชร์ประสบการณ์หรือ เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอาการแพ้ท้อง ได้ที่นี่!

อาการแพ้ท้อง มีอาการยังไงบ้างคะ ที่นอกจากเหม็นกลิ่นฉุน อาเจียน อ่ะค่ะ

ที่มา : 1, 2

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!