โรค APS คนท้อง โรคลิ่มเลือดอุดตัน แม่ท้องเสี่ยงแท้งลูกได้จากอาการขาบวม

ในช่วงตั้งครรภ์ การดูแลรักษาตนเองให้มีสุขภาพแข็งแรงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหมายถึงสุขภาพของเจ้าตัวน้อยจะได้แข็งแรงตามไปด้วย แต่ถ้าคุณแม่เกิดเป็นโรค APS ขึ้นมาจะเป็นอย่างไร โรค APS คนท้อง มีอาการอย่างไร สามารถรักษาได้หรือไม่ ติดตามอ่านได้จากบทความนี้

 

บทความนี้ได้รับการตรวจสอบโดย นพ. วรณัฐ ปกรณ์รัตน์ (แพทย์จาก Good Doctor Technology แอปพลิเคชัน) | ตุลาคม 2565

 

โรค APS คนท้อง

 

โรค APS คนท้อง เสี่ยงแท้งลูกได้

โรค APS สามารถพบได้ทุกไตรมาสของการตั้งครรภ์ ทำให้การตั้งครรภ์ผิดปกติ การเจริญของทารกในครรภ์ต่ำกว่าปกติ การเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้ โดยที่ในช่วงต้นของการตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดการแท้งโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนดได้ อีกทั้งยังพบข้อมูลว่า อัตราการสูญเสียทารกในแม่ที่ไม่ได้รับการรักษาสูงถึง 90% มาทำความรู้กับกับโรค APS กันครับ

 

ผลที่เกิดขึ้นหากคนท้องเป็นโรค APS

โรค APS หรือ Antiphospholipid  Antibody Syndrome (โรคลิ่มเลือดอุดตัน) เป็นกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันเป็นสาเหตุทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือด ซึ่งอาจเป็นที่เส้นเลือดแดงหรือเส้นเลือดดำก็ได้ ถ้าพบโรคนี้ในหญิงตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดการแท้งลูก ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ยังน้อย ๆ นอกจากนี้อาจทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด หรือทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้

 

สาเหตุการเกิด APS

สาเหตุของการเกิด APS ยังไม่ทราบแน่ชัด  สามารถพบโรคนี้ได้ 2-4 % ของคนทั่วไป แต่สันนิษฐานกันว่าอาจเป็นผลของ Antiphospholipid Antibody ต่อเยื่อบุชั้นในของเกร็ดเลือด หรือส่วนประกอบการแข็งตัวของเลือด ทำให้เกิดความผิดปกติของผนังด้านในของหลอดเลือด โดยมีภูมิคุ้มกันในร่างกายมาเป็นตัวกระตุ้น ทำให้เกิดหลอดเลือดอุดตัน ความผิดปกตินี้มักเกิดตามหลังจากมีการติดเชื้อภายในร่างกาย

 

อาการโรค APS หรือ Antiphospholipid  Antibody Syndrome

  1. มีอาการขาบวมมากกว่าปกติ อาจจะบวมข้างเดียว หรือบวมทั้งสองข้างก็ได้ ซึ่งอาการบวมนี้แสดงว่าอาจมีการอุดตันเกิดขึ้น
  2. มีอาการปวดขามาก เดินไม่ไหว คือ ปกติแม่ท้องจะมีอาการขาบวมอยู่แล้ว แต่จะไม่ปวด
  3. กดแล้วปวด เมื่อเอามือกดบริเวณตำแหน่งที่บวมแดง จะรู้สึกปวดมาก

การมีลิ่มเลือดก็เหมือนเส้นเลือดมีก้อนเล็ก ๆ มาขวาง หากลิ่มเลือดก้อนนี้หลุดออกไปอุดเส้นเลือดใหญ่ภายในร่างกาย เช่น ไปอุดหลอดเลือดที่ปอด พบได้ประมาณร้อยละ 15-25 เมื่อไปอุดแล้วจะทำให้ปอดเกิดภาวะขาดออกซิเจน และมีโอกาสเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน ประมาณร้อยละ 12-15

 

การตรวจวินิจฉัย โรค APS และ โรคลิ่มเลือดอุดตัน ในคนท้อง

การวินิจฉัยโรค APS นั้นจะใช้ทั้งประวัติการตั้งครรภ์ของผู้ป่วย และ การตรวจเลือด มาประกอบกัน โดยผลเลือดจะพบว่ามี Antiphospholipid Antibody และอาจมีเกล็ดเลือดต่ำ สำหรับขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยอาการลิ่มเลือดอุดตันนั้นสำคัญมาก ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และไม่เป็นอันตรายกับแม่ท้อง คือ การทำดอปเลอร์  อัลตร้าซาวนด์ เป็นการตรวจการไหลเวียนเลือดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ทำให้เห็นการไหลเวียนของเลือดว่าไหลช้าหรือไม่  มีการอุดตันหรือไม่ ซึ่งมีความไวในการวินิจฉัย 95% และมีความแม่นยำถึง 99% เมื่อตรวจวินิจฉัยแล้วพบว่า มีแนวโน้มของโรค สิ่งที่จะต้องทำต่อไป คือ หาสาเหตุของการเกิดโรคด้วยเสมอเพื่อรักษาที่ต้นเหตุ

 

การรักษา APS

เมื่อคุณแม่เกิดเป็นโรคนี้ขณะที่กำลังตั้งครรภ์อยู่นั้น วิธีการรักษาคือ การให้ยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งยาละลายลิ่มเลือดมีทั้งยาฉีด และยากิน

  • ยาฉีด ข้อควรระวังคือ ต้องอยู่ในความควบคุม และการดูแลของแพทย์ ห้ามฉีดเอง แต่ก็มีข้อดี คือ ยาฉีดเป็นยาที่ไม่ผ่านน้ำนม และไม่ผ่านรก เพราะฉะนั้นไม่มีผลกับลูก มีความปลอดภัย
  • ยากิน ต้องระมัดระวัง เพราะตัวยาจะผ่านน้ำนม และผ่านรก ซึ่งระหว่างตั้งครรภ์จะไม่ให้กินในช่วง 3 เดือนแรก เพราะยาละลายลิ่มเลือดบางชนิด ถ้ายังกินในขณะตั้งครรภ์อาจส่งผลให้ลูกพิการได้

 

เมื่อทราบข้อมูลเช่นนี้แล้ว  สำหรับคุณแม่ที่เคยมีประวัติเป็นโรคนี้มาแล้วในท้องที่แล้ว  หรือมีประวัติเป็นลิ่มเลือดอุดตันที่ขามาก่อน หรือมีประวัติอุดตันที่ปอด  ถ้าเริ่มตั้งครรภ์ ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีนะครับ เพื่อป้องกันไว้ก่อนครับ

 

แม่ ๆ คนไหนยังมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถพบ #ทีมหมอGDTT ได้ฟรี ที่ Good Doctor Technology แอปพลิเคชัน เพียงกดรับสิทธิ์ผ่าน Reward ในแอปพลิเคชัน theAsianparent หรือสามารถกดลิงค์นี้ได้เลยครับ https://bit.ly/3SjhvJW

 

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง :

ทำความรู้จักโรคที่อาจเกิดได้ทุกเมื่อ โรคจิ๋มล็อก เกิดจากอะไร ต้องทำยังไงถ้าอยู่ ๆ จิ๋มล็อก

โรคทางพันธุกรรม ที่ลูกอาจติดจากพ่อแม่ มีอะไรบ้าง จะรับมืออย่างไร

โรคมือ เท้า ปาก ระบาดหนักในเด็กช่วงฤดูฝน พบมากในทารกและเด็กเล็ก

 

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!