7 เรื่องสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ที่แม่มักทำพลาด
คุณแม่ทราบดีแล้วว่า ระหว่างตั้งครรภ์คุณควรกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และไปตรวจครรภ์ตามนัดหมาย แต่ยังมีบางเรื่องที่คุณอาจความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์
สุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ ที่แม่มักทำพลาด
นี่คือ 7 ความผิดพลาดเกี่ยวกับ สุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ ที่พบมากที่สุดในคุณแม่ท้อง และวิธีง่ายๆ ในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น
- มองข้ามไวรัสซิกา
เมื่อปีที่แล้วซิกาไวรัสแพร่ระบาดทางฝั่งอเมริกา ซึ่งอาจฟังดูไกลตัว แต่ตอนนี้เราอาจจะได้ยินข่าวซิกาไวรัสในสิงคโปร์ มาเลเซีย หรือแม้แต่ในประเทศไทยเอง คุณแม่จึงไม่ควรมองข้ามความร้ายกาจของเจ้าไวรัสซิกา หากอยู่ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดหรือมีความจำเป็นต้องเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด คุณหมอ Alyssa Dweck สตู-นรีแพทย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์คลินิกจาก Mt. Sinai School of Medicine ในนิวยอร์ก แนะนำให้ใช้สเปรย์กันยุงฉีดไปบนเสื้อผ้า โดยระวังอย่าให้สัมผัสผิวหนัง หากคุณสามีเพิ่งกลับจากพื้นที่ที่มีไวรัสซิกา คุณควรใช้ถุงยางเพื่อป้องการการแพร่เชื้อไวรัสซิกาผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์
- ใช้การตั้งครรภ์เป็นข้ออ้าง
คุณหมอ Jennifer Lang สตู-นรีแพทย์ในลอสแองเจลิส และผู้เขียนหนังสือ “The Whole 9 Months: A Week-By-Week Pregnancy Nutrition Guide with Recipes for a Healthy Start.” กล่าวว่า สิ่งที่ผิดพลาดมากที่สุดสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ คือการทำตัวราวกับว่าอยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต ที่ต้องเปลี่ยนแปลงการกระทำทุกอย่าง
การตั้งครรภ์เป็นเรื่องปกติและเป็นไปตามธรรมชาติ แต่การตั้งครรภ์ไม่ได้หมายความว่า คุณจะสามารถรับประทานทุกอย่างที่อยากรับประทานได้ เช่น คุณแม่อาจมีความจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอาหารบางอย่างเช่น แอลกอฮอล์ อาหารที่ไม่ปรุงสุก
คุณหมอกล่าวเสริมว่า “ถ้าสิ่งไหนไม่เหมาะที่จะทำตอนที่ยังไม่ท้อง สิ่งนั้นก็ไม่เหมาะที่จะทำตอนท้องเช่นกัน”
บทความแนะนำ 5 อาหารควรเลี่ยงสำหรับคนท้องที่หมอแนะนำ
- กินเผื่อเป็นสองเท่า
เกือบ 50% ของคุณแม่ท้องน้ำหนักเพิ่มขึ้นตลอดการตั้งครรภ์มากเกินกว่าที่แนะนำ ความคิดที่ว่า คนท้องต้องกินเพิ่มเป็นสองเท่านั้นไม่ถูกต้อง คุณแม่ท้องที่อ้วนมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะแท้ง ตายคลอด คลอดก่อนกำหนด และคลอดยาก รวมถึงอาจมีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูง ครรภ์เป็นพิษ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และเลือดจับตัวเป็นก้อน ทารกที่เกิดมามีแนวโน้มที่จะพิการแต่กำเนิด และเป็นโรคอ้วนในเวลาต่อมา
The American Academy of Nutrition and Dietetics แนะนำให้คุณแม่ท้องที่มีดัชนีมวลกายปกติรับประทานอาหารเพิ่มขึ้น 340 แคลอรี่ต่อวันในไตรมาสที่สอง และ 450 แคลอรี่ต่อวันในไตรมาสที่สาม หากคุณแม่ตั้งครรภ์แฝด หรือน้ำหนักมากตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ควรปรึกษานักโภชนาการเพื่อวางแผนการรับประทานอย่างเหมาะสม
- คนท้องไม่ควรมีเซ็กส์
คุณแม่ท้องบางคนรู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมีเซ็กส์ระหว่างตั้งครรภ์ แต่คุณหมอ Dweck กล่าวว่า หากคุณหมอไม่ได้บอกว่าคุณแม่มีเหตุผลทางการแพทย์ที่ควรหลีกเลี่ยงการมีเซ็กส์ ก็ไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยง ในความเป็นจริง หากคุณแม่อยู่ในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ การมีเซ็กส์อาจทำให้คุณแม่คลอดเร็วขึ้น เนื่องจากสารประกอบในน้ำอสุจิอาจทำให้ผิวบริเวณปากมดลูกอ่อนนุ่ม และทำให้เกิดการบีบตัวของมดลูก
คุณแม่สามารถมีเซ็กส์ได้ด้วยท่าเซ็กส์ที่ปลอดภัยสำหรับคนท้อง โดยพยายามหลีกเลี่ยงการนอนหงาย เพราะอาจกดทับหลอดเลือดดำที่จะไหลกลับเข้าสู่หัวใจค่ะ
- ไม่รับวัคซีน
คุณแม่ตั้งครรภ์อาจตัดสินใจที่จะไม่รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เนื่องจากกังวลเรื่องประสิทธิภาพหรือความปลอดภัยของวัคซีน แต่การฉีดวัคซีนเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงจากไข้หวัดซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์
ข้อมูลจากวารสารกุมารแพทย์พบว่า 90% ของคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ในขณะที่ทารกที่เกิดจากแม่ได้รับวัคซีน มีความเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดใหญ่น้อยลง 70% นอกจากนี้ทารกที่คุณแม่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในช่วงไตรมาสที่สามมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาระบบทางเดินหายใจในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอดลดลง 33%
นอกจากนี้คุณแม่ท้องยังควรได้รับวัคซีนไอกรนในช่วงไตรมาสสามเพื่อป้องกันทารกเป็นไอกรนก่อนที่จะได้รับวัคซีนตอนอายุ 2 เดือนอีกด้วย
- ละเลยกล้ามเนื้อแกนกลาง (Core Muscle)
การออกกำลังกายนั้นดีต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ แต่คุณแม่บางท่านหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายส่วนท้อง เพราะกลัวเจ็บหรืออาจกระทบลูกน้อย แต่จริงๆ แล้ว Leah Keller ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกายคุณแม่ท้องและหลังคลอด กล่าวว่า สามารถทำได้
กล้ามเนื้อแกนกลาง (Core Muscle) ช่วยป้องกันการล้มและบาดเจ็บที่มักพบบ่อยในคุณแม่ท้อง และอาจทำให้คลอดก่อนกำหนด การฝึกกล้ามเนื้อแกนกลางระว่างตั้งครรภ์ช่วยป้องกันความเสียหายที่เกิดจากกล้ามเนื้อหน้าท้องแยกออกจากกับในคุณแม่ตั้งครรภ์ ที่อาจเกิดขึ้นได้ประมาณ 60% ของการตั้งครรภ์ครั้งแรก
อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัยควรออกกำลังกายภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญการดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์เสมอค่ะ
- รับประทานวิตามินและอาหารเสริมมากเกินไป
คุณแม่ควรรับประทานวิตามินที่คุณหมอให้มา แต่การรับประทานวิตามินเพิ่มเติมมากไปกว่านั้น ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่ามันจะดีหรือเป็นอันตรายต่อทารกหรือไม่
จริงๆ แล้วการรับประทานอาหารและพืชผักต่างๆ อย่างเพียงพอก็ทำให้คุณแม่ได้รับสารอาหารที่ต้องการในปริมาณที่เหมาะสมแล้วค่ะ
แต่หากอาการแพ้ท้องทำให้คุณคิดว่าจำเป็นต้องได้รับอาหารเสริม ควรปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยก่อนนะคะ
ที่มา foxnews.com