สีปัสสาวะคนท้องมีกี่สี มีลักษณะยังไงที่คุณแม่ต้องหมั่นสังเกต ?

นอกจากคุณแม่จะต้องดูแลตัวเองให้ดีในช่วงที่ตั้งครรภ์แล้ว ยังควรหมั่นสังเกตสีและลักษณะปัสสาวะของตัวเองด้วย เพราะบางที สีของปัสสาวะ ก็บ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพได้ วันนี้ theAsianparent จะมาเล่าให้ฟัง สีปัสสาวะคนท้องมีกี่สี ปัสสาวะสีเข้มตั้งครรภ์ ปกติแล้วควรเป็นสีอะไร ปัสสาวะคนท้องต้องมีลักษณะยังไง เราหาคำตอบมาให้แล้วที่นี่

 

สีปัสสาวะคนท้องมีกี่สี บอกอะไรได้บ้าง ?

ในแต่ละช่วง คุณแม่อาจสังเกตเห็นว่าสีของปัสสาวะของตัวเองเปลี่ยนไป บางวันสีเหลืองเข้ม บางวันสีเหลืองอ่อน หรือบางวันก็มีเลือดปนออกมาด้วย ซึ่งสีปัสสาวะดังกล่าว บอกเกี่ยวกับสุขภาพเรา ดังนี้

 

1. ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม

หากคุณแม่มีปัสสาวะสีเหลืองเข้ม โดยทั่วไปแล้ว จะหมายความว่าร่างกายกำลังขาดน้ำอยู่นั่นเอง ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้ร่างกายคุณแม่ขาดน้ำอยู่บ่อย ๆ คือ อาการอาเจียน ที่เกิดขึ้นในช่วงแพ้ท้อง หากอาเจียนบ่อย ๆ ควรดื่มน้ำให้เยอะ ๆ เพื่อชดเชยน้ำที่เสียไป ปกติแล้ว ในแต่ละวัน ร่างกายคนเราจะขับน้ำออกมาทางเหงื่อ ลมหายใจ และการขับถ่ายอยู่ตลอดเวลา ซึ่งคิดเป็นน้ำประมาณ 2-2.5 ลิตร ดังนั้น คุณแม่ควรดื่มน้ำชดเชยให้เท่ากับปริมาณน้ำที่เสียไปจึงจะดีที่สุด อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่พยายามดื่มน้ำเยอะแล้ว แต่ปัสสาวะก็ยังมีสีเข้มอยู่เหมือนเดิม อาจเป็นไปได้ว่าตับของคุณแม่กำลังมีปัญหา ให้ลองนัดคุณหมอ เพื่อเข้าปรึกษาและพูดคุย และเพื่อหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นค่ะ

 

2. ปัสสาวะไม่มีสี

การที่ปัสสาวะไม่มีสี หรือเป็นสีขาวใส บ่งบอกได้ว่าเราดื่มน้ำเยอะเกินไป ทำให้เกลือแร่ในร่างกายเจือจาง หากเกลือแร่ในร่างกายอยู่ในระดับต่ำเกินไป อาจทำให้เสียชีวิตได้ แต่คุณแม่ก็อย่าเพิ่งตกใจไป หากคุณแม่มีปัสสาวะใสเป็นบางครั้งบางคราว ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องปกติอยู่ นอกจากนี้ คนที่เป็นโรคเบาหวาน หรือรับประทานยาขับปัสสาวะ ก็อาจมีปัสสาวะสีขาวใสได้เช่นเดียวกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง : การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 69

 

วิดีโอจาก : DrNoon Channel

 

3. สีขาวขุ่น ๆ

หากสังเกตเห็นว่าตัวเองมีปัสสาวะสีขาวขุ่น ไม่ขาวใส อาจเป็นไปได้ว่าคุณแม่ดื่มนมมากเกินไป จนทำให้ฟอสเฟตในร่างกายตกผลึก หรืออาจเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ เป็นต้น

 

4. สีส้ม ฉี่เป็นสีส้ม

หากมีปัสสาวะสีส้ม อาจแปลได้ว่าตับหรือถุงน้ำดีกำลังมีปัญหา หรืออาจเกิดจากการที่รับประทานวิตามินบี 2 เยอะเกินไป นอกจากนี้ การทานยาบางชนิด เช่น ยาฟีนาโซไพริดีน ยาซัลฟาซาลาซีน ยาระบายบางชนิด ยาไอโซไนอาซิด เป็นต้น ก็อาจทำให้มีปัสสาวะสีส้มได้เช่นเดียวกัน

 

5. สีน้ำตาล

ปัสสาวะสีน้ำตาล บ่งบอกได้ว่าร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง หรือร่างกายอาจกำลังเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลายตัว นอกจากนี้ หากรับประทานยาเมโทรนิดาโซลอยู่ อาจทำให้ปัสสาวะมีสีน้ำตาลได้เช่นเดียวกัน

 

6. สีดำ

หากปัสสาวะสีดำ อาจเป็นไปได้ว่าคุณแม่รับประทานถั่วบางชนิด หรือไม่ก็รับประทานว่านหางจระเข้มากเกินไป รวมทั้ง หากกินยาควีนินเพื่อรักษามาลาเรียอยู่ ก็อาจทำให้มีปัสสาวะสีนี้ได้ด้วยเหมือนกัน

 

7. สีแดงมีเลือดปน

หากคุณแม่มีปัสสาวะสีแดงและมีเลือดปน ก็เป็นไปได้ว่าไตของคุณแม่กำลังมีปัญหา หรือคุณแม่อาจติดเชื้อทางเดินกระเพาะปัสสาวะ เป็นโรคนิ่วในไต หรือเป็นเนื้องอกที่ไตได้ อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่มีปัสสาวะสีแดงแต่ไม่มีเลือดปนออกมา ก็เป็นไปได้ว่าคุณแม่อาจรับประทานผลไม้บางชนิดเยอะเกินไป เช่น บีทรูท รูบาร์บ หรือบลูเบอร์รี เป็นต้น หากคุณแม่พบว่าปัสสาวะเป็นสีแดงและมีเลือดปนออกมา ควรเข้าพบแพทย์โดยด่วน เพราะหากปล่อยไว้นาน อาจทำให้คลอดลูกก่อนกำหนด และติดเชื้อที่ไตอย่างรุนแรงได้

 

ปัสสาวะสีแดงมีเลือดปน อันตรายแค่ไหน

การที่คุณแม่มีปัสสาวะสีแดงและมีเลือดปน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่คนท้องพบเจอได้บ่อย หากคุณแม่ปล่อยไว้นาน ย่อมไม่ดีต่อตัวเองและเด็กในครรภ์ ความผิดปกตินี้ มักจะเกิดจากโรคติดเชื้อทางเดินกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งโดยทั่วไป ในช่วงไตรมาสแรก คนท้องมักจะปัสสาวะบ่อย เพราะมดลูกไปกดทับกับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะกักเก็บฉี่ได้ไม่เยอะ หากคุณแม่ขี้เกียจลุกไปฉี่ พยายามกลั้นปัสสาวะไว้นาน ๆ ก็จะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ๆ โดยเชื้อโรคดังกล่าว อาจลุกลามไปที่ไตเป็นลำดับถัดไป จนอาจทำให้กรวยไตอักเสบได้ในช่วงที่ตั้งครรภ์ และอาจทำให้คลอดก่อนกำหนด ทารกที่เกิดมามีน้ำหนักตัวน้อย ไตล้มเหลวฉับพลัน หรืออาจแท้งลูกได้ในที่สุด ดังนั้น คุณแม่จึงไม่ควรกลั้นฉี่เป็นเวลานาน ๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้ตามมานะคะ

 

สีปัสสาวะคนท้องมีกี่สี

 

สีปัสสาวะคนท้องที่ปกติ ต้องเป็นสีอะไร

หากร่างกายของคุณแม่ปกติดี และหากคุณแม่ดื่มน้ำในปริมาณที่แนะนำต่อวันตามปกติ สีปัสสาวะที่ได้ จะเป็นสีเหลืองอ่อน หรือสีทองอ่อน ๆ

 

อาการคนท้อง ปัสสาวะบ่อย ฉี่บ่อย เป็นอันตรายหรือเปล่า

คุณแม่หลายคน กังวลใจกันมาก เพราะตัวเองฉี่บ่อย ปัสสาวะบ่อยจนผิดสังเกต ซึ่งจริง ๆ แล้ว อาการปัสสาวะบ่อยในคนท้อง ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร ในช่วงท้อง มดลูกของคุณแม่จะขยายใหญ่ขึ้น จนไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ ยิ่งคุณแม่ใกล้คลอด ก็จะยิ่งปวดฉี่บ่อยนั่นเองค่ะ แม้บางทีคุณแม่จะหงุดหงิด และรำคาญตัวเองอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ควรอั้นฉี่นะคะ เพราะอาจจะทำให้ติดเชื้อบริเวณกระเพาะปัสสาวะได้ค่ะ

 

คนท้องปวดปัสสาวะบ่อย ต้องดูแลตัวเองยังไงบ้าง

ในช่วงการตั้งครรภ์ คุณแม่ต้องดูแลตัวเองให้ดีเป็นพิเศษ แม้ว่าจะปวดฉี่บ่อย แต่ก็ยังต้องดื่มน้ำให้เพียงพอวันละ 8-10 แก้วเป็นอย่างต่ำ รวมทั้งต้องงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้ อาจทำให้ปวดฉี่บ่อยมากขึ้นกว่าเดิมได้ค่ะ นอกจากนี้ ให้หมั่นออกกำลังกายขยับร่างกายเบา ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ หากช่วงนี้เกิดอาการใด ๆ ที่ผิดปกติ ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจนะคะ ควรไปพบแพทย์จะดีที่สุดค่ะ

 

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์ แบบไหนเป็นอันตราย

หากคุณแม่สังเกตเห็นว่าตัวเองมีปัสสาวะเป็นสีชมพู สีแดง มีเลือดปนออกมา หรือมีปัสสาวะสีน้ำตาลเข้ม หรือสีส้ม ร่วมกับมีอาการตาเหลือง และมีอุจจาระสีซีด ให้รีบเข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจร่างกายทันที เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพได้ค่ะ

 

ตอนนี้เราก็รู้กันไปแล้ว ว่าสีปัสสาวะของคนท้องนั้น ควรเป็นสีอะไร สีไหนที่ถือว่าปกติ และสีไหนที่ถือว่าเป็นอันตราย คุณแม่ควรหมั่นสังเกตสีปัสสาวะของตัวเองบ่อย ๆ และอย่าลืมดูแลตัวเองให้ดีในช่วงที่ตั้งครรภ์ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงไปจวบจนถึงตอนที่คลอดลูกนะคะ

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

แม่ท้องกลั้นปัสสาวะ เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด

อาการของแม่ท้องทั้ง ปวดหลัง ปัสสาวะเล็ด ตดบ่อย รับมือยังไง

ลูกฉี่ไม่ออกทําไงดี ฉี่น้อย ไม่ฉี่เลยทั้งวัน อั้นฉี่หรือเปล่า ปัสสาวะของทารกน้อย แบบใดจึงผิดปกติ?

แชร์ประสบการณ์หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสีปัสสาวะคนท้อง ได้ที่นี่!

สีปัสสาวะคนท้อง ควรมีสีอะไรถึงจะดีคะ รบกวนแม่ๆมาแชร์หน่อยค่ะ

ที่มา : mamastory, sanook, bumrungrad

 

TAP mobile app

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!