ลูกเป็นหอบหืด เพราะ.... และ 5 วิธีแก้ไขที่ทำได้ง่ายมาก
ต้องยอมรับนะคะว่าทุกวันนี้มีสารก่อภูมิแพ้อยู่ทุกที่ และนั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่งเหมือนกันที่ทำให้ลูกมีอาการภูมิแพ้เรื้อรัง จนกลายเป็นโรคหอบหืดไปในที่สุดค่ะ
ต้องยอมรับนะคะว่าทุกวันนี้มีสารก่อภูมิแพ้อยู่ทุกที่ และนั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่งเหมือนกันที่ทำให้ลูกมีอาการภูมิแพ้เรื้อรัง จนกลายเป็นโรค หอบหืด ไปในที่สุดค่ะ
เพราะสภาพเเวดล้อมที่โรงเรียนรึเปล่า
บทความที่เขียนโดย Wanda Phipatanakul จากโรงพยาบาลเด็กบอสตัน และโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด โดยอ้างอิงจากงานวิจัยที่เก็บข้อมูลจากเด็กนักเรียน ที่มีอายุตั้งแต่ 4-13 ปี ใน 37 โรงเรียนบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศสหรัฐอเมริกา
พบว่าตัวอย่างฝุ่นที่ทีมวิจัยเก็บมาจากห้องเรียนและในบ้านของเด็กๆ นั้น เป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กๆ มีอาการหอบหืด และมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น หนูในท่อน้ำและหนูที่อยู่ตามบ้าน แมลงสาบ แมว สุนัข และไรฝุ่น
โดยหนูในบ้านเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่ตรวจพบได้มากที่สุดทั้งในโรงเรียนและในบ้าน ซึ่งทำให้อาการหอบหืดของเด็กๆ กำเริบมากขึ้น ส่งผลให้การทำงานของปอดลดลงอีกด้วยละค่ะ ที่พบรองลงมาคือแมว สุนัข ตามลำดับค่ะ
ขณะที่สารก่อภูมแพ้ในอากาศ เช่น แพ้อากาศหรือเกสรดอกไม้นั้นไม่พบในโรงเรียนและในบ้าน ไรฝุ่น แมลงสาบและหนูที่อยู่ในท่อน้ำ ก็พบได้ต่ำทั้งในโรงเรียนและในบ้านเช่นกันค่ะ
กำจัดสารก่อภูมิแพ้ด้วยวิธีธรรมชาติ
วิธีรักษาโรคหอบหืดได้ดีที่สุดได้ผลที่สุด คือการกำจัดสารก่อภูมิแพ้ที่ลูกแพ้ค่ะ
1.กำจัดสารก่อภูมิแพ้
เช่น ถ้าแพ้ไรฝุ่น ควรลดการใช้ข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นตัวดักฝุ่น เช่น เฟอร์นิเจอร์ผ้า ตุ๊กตาผ้า เสื้อผ้าที่แขวนอยู่ข้างนอก เปลี่ยนเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ พลาสติก หรือหนังเทียม ตุ๊กตาผ้าก็เอาไปแช่ในช่องฟรีส และหาผ้าคลุมไรฝุ่นมาคลุมเครื่องนอนของลูก ถ้าแพ้สุนัขหรือแมว ก็แยกพื้นที่ของสุนัขและแมวให้เป็นสัดส่วน เป็นต้นค่ะ
2.ปรึกษาแพทย์
หาคุณหมอด้านภูมิแพ้เพื่อทดสอบว่าลูกแพ้อะไร และปรึกษาคุณหมอเรื่องแนวทางการปฏิบัติตัวเพื่อให้อาการภูมิแพ้บรรเทาลง หรือหายขาด
3.จดบันทึก
บันทึกข้อมูลความคืบหน้าของอาการภูมิแพ้ในแต่ละวัน หรือแต่ละอาทิตย์ เพื่อดูว่ามีปัจจัยอื่นๆ เกี่ยวข้องหรือไม่ และความคืบหน้าของอาการเป็นอย่างไรบ้าง
4.ดูแลสุขภาพ
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและบริโภคอาหารตามหลักโภชนาการ แม้ไม่ได้เป็นการแก้ไขภูมิแพ้ แต่เป็นการช่วยให้ร่างกายลูกแข็งแรงขึ้น พร้อมรับมือกับอาการภูมิแพ้ ป้องกันอาการที่อาจจะเลวร้ายลงได้ และเพิ่มภูมิต้านทานของร่างกายให้แข็งแรงยิ่งขึ้นค่ะ
5.พักผ่อนให้เพียงพอ
การนอนให้เต็มที่เพียงพอแก่ร่างกาย และมีคุณภาพนั้น ต้องสร้างบรรยากาศการนอนให้มืดสนิท เงียบไม่มีเสียงรบกวน การนอนเป็นปัจจัยต้นๆ ที่เด็กๆ ต้องการเพื่อสุขภาพที่ดีและพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัยนะคะ
เพียงเท่านี้แม้โรคภูมิแพ้จะไม่ได้หายสนิท แต่ก็บรรเทาลงไปเยอะแล้วละค่ะ
โรคหืด (Asthma) หรือที่คนทั่วไปมักเรียก หอบหืด เป็นโรคที่เกิดจากการหดตัวหรือตีบตันของระบบทางเดินหายใจ เยื่อบุผนังหลอดลมอักเสบ ทำให้ไวต่อสิ่งกระตุ้น หรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายมากกว่าคนปกติ เกิดการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อบริเวณหลอดลม ทำให้หายใจลำบาก หายใจมีเสียงวี้ด อากาศเข้าสู่ปอดน้อยลง หายใจไม่อิ่ม มีอาการไอ เจ็บหน้าอก
โรคหืดเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ ถือว่าเป็นโรคที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เช่น ส่งผลให้เกิดการพัฒนาช้า (ในเด็ก) ผู้ป่วยเรียนและทำงานได้ไม่เต็มที่ ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวัน หรือเล่นกีฬาได้อย่างเต็มที่ ยิ่งสภาพอากาศเกิดการแปรปรวน มลภาวะเป็นพิษมากขึ้นเท่าไหร่ ผู้ป่วยยิ่งได้รับผลกระทบในการดำเนินชีวิตมากขึ้นและส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้ องค์กรอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคหืดทั่วโลกมีปริมาณสูงมากกว่า 300 ล้านคน ผู้ป่วยจึงควรหมั่นสังเกตตัวเอง และเตรียมพร้อมรับมือกับอาการที่อาจกำเริบขึ้น เพื่อการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
อาการของโรคหืด
อาการของหอบหืด จะเกิดแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางรายจะมีอาการเป็นพัก ๆ แล้วหาย แต่บางรายเป็นอย่างต่อเนื่อง และจะเกิดขึ้นเวลาใดนั้นไม่สามารถคาดเดาได้
อาการโดยทั่วไปของผู้ป่วยหอบหืด ได้แก่
- มีปัญหาเรื่องการหายใจ ผู้ป่วยหายใจสั้น หายใจลำบาก หรือหายใจไม่อิ่ม หรือหายใจแล้วมีเสียงวี้ด ซึ่งสร้างความทรมานให้กับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก
- มีอาการเจ็บหน้าอก หรือมีอาการแน่นหน้าอก มักจะมาพร้อมกับอาการเหนื่อยหอบ
- มีอาการไอ
- มีปัญหาในการนอนหลับ โดยปัญหามาจากการหายใจลำบาก หรือการหายใจติดขัด ส่งผลให้หลับไม่สนิท หรือหลับไม่เต็มอิ่ม
อาการของหอบหืดที่รุนแรงที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ซึ่งมีความอันตรายถึงชีวิต มีดังนี้
- อาการหายใจหอบถี่ หรือหายใจลำบากมีเสียง แย่ลงอย่างรวดเร็ว
- เมื่อใช้อุปกรณ์พ่นยา เช่น อัลบิวเทอรอล แล้วไม่ช่วยให้อาการดีขึ้นเลย
- มีอาการหายใจหอบเมื่อทำกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังร่างกายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
โดยหากมีสัญญาณและอาการเหล่านี้เกิดขึ้น ต้องรับไปพบแพทย์โดยด่วน นอกจากนั้น อาการของโรคหืดอาจกำเริบขึ้นได้ตามสถานการณ์และปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- โรคหืดขณะออกกำลังกาย – จริง ๆ แล้วผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายได้ แต่ควรเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย หรือชนิดกีฬาที่เหมาะสม เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ แอโรบิค โดยหลีกเลี่ยงการออกกำลังในที่ที่มีอากาศแห้งและเย็น เพราะจะส่งผลให้เยื่อบุทางเดินหายใจแห้ง หายใจลำบาก และอาการกำเริบได้ง่ายขึ้น
- โรคหืดจากการทำงาน – เกิดกับผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ในบรรยากาศที่มีสารก่อโรค ทำให้เกิดอาการกำเริบ สามารถเกิดได้จากสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ เช่น ควันจากสารเคมี แก๊ส ฝุ่น
- โรคหืดที่เกิดจากการแพ้ – ในผู้ป่วยแต่ละราย อาจมีสาเหตุของอาการแพ้ที่แตกต่างกันไป เช่น แพ้ละอองเกสรดอกไม้ แพ้สปอร์ของเชื้อราที่ลอยในอากาศ หรือแพ้อากาศเย็น
สัญญาณที่บ่งบอกว่ามีอาการของหอบหืดเด่นชัดขึ้น เช่น
- เกิดอาการของโรคถี่ขึ้น และรบกวนการใช้ชีวิตมากขึ้น
- หายใจได้ลำบากกว่าเดิม
- ต้องใช้ยาบรรเทา หรือควบคุมอาการที่กำเริบขึ้นมาบ่อยขึ้น
สาเหตุของโรคหืด
สาเหตุของหอบหืด เกิดจากการที่หลอดลมมีภาวะไวต่อการกระตุ้นจากสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งแวดล้อม หากถูกกระตุ้นจะทำให้กล้ามเนื้อของหลอดลมหดเกร็ง มีการบวมของเยื่อบุบริเวณหลอดลม ทำให้เกิดการอักเสบ ตีบแคบ หายใจลำบาก ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการตีบแคบ เช่น การหดตัวของกล้ามเนื้อรอบ ๆ หลอดลม การบวมอักเสบของเยื่อบุภายในหลอดลม หรือมีเสมหะจำนวนมากคั่งค้างอยู่ภายในหลอดลม
สาเหตุของหอบหืดเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน ดังนี้
- พันธุกรรม – มีประวัติการเป็นหอบหืดของคนในครอบครัว
- โรคภูมิแพ้ – สารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญ เช่น ขนสัตว์เลี้ยง ไรฝุ่นบ้าน แมลงสาบ สปอร์เชื้อรา เกสรดอกไม้
- สารเคมี – สารเคมีที่ใช้ในบ้านอาจกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น เช่น กลิ่นสี ยาฆ่าแมลง สเปรย์แต่งผม รวมไปถึงควันบุหรี่
- การออกกำลังกาย – บางคนเกิดอาการเมื่อต้องออกแรงในการทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึง ออกกำลังกาย โดยเฉพาะในที่ที่มีอากาศเย็น
- ภาวะทางอารมณ์ – มักเกิดขึ้นในผู้ที่มีความเครียด ส่งผลให้หายใจผิดปกติโดยไม่รู้ตัว ทำให้หายใจแบบลึกบ้างตื้นบ้างสลับกันไปมา
- สารในกลุ่มซัลไฟต์ (Sulfites) และสารกันบูด สารที่เจือปนในอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด เช่น ผลไม้แห้ง เบียร์ ไวน์
- โรคกรดไหลย้อน – ภาวะที่มีกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการแสบร้อนในอก กรดไหลย้อนทำให้ผู้ป่วยที่เป็นหอบหืด มีอาการบ่อยขึ้น และรุนแรงขึ้นได้
- ไวรัสทางเดินหายใจ
- ไซนัสอักเสบเรื้อรัง
การวินิจฉัยโรคหืด
การวินิจฉัยโรคหืดนั้นสามารถทำได้จากการซักประวัติของผู้ป่วยและการตรวจร่างกาย แต่จำเป็นต้องอาศัยการทดสอบทางห้องปฏิบัติการในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นโรคอื่น ที่มีลักษณะอาการคล้าย ๆ กัน
ในเบื้องต้นของการวินัจฉัย แพทย์จะถามประวัติของการเกิดอาการและสัญญาณของหอบหืดโดยละเอียด รวมทั้งประวัติการเป็นหอบหืดของสมาชิกในครอบครัว นอกจากนี้ แพทย์จะตรวจสมรรถภาพของปอด ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น
- สไปโรเมทรีย์ (Spirometry) เป็นเครื่องตรวจสมรรถภาพปอด ซึ่งเป็นการตรวจวัดปริมาตรของอากาศที่หายใจเข้าและออกจากปอด
- พีค โฟลว์ มิเตอร์ (Peak Flow Meter) เป็นเครื่องวัดความเร็วสูงสุดของลมที่เป่าออกได้ ใช้เพื่อวัดสมรรถภาพของปอด
- การทดสอบทางหลอดลม (Bronchial Provocation Test) เป็นการวัดความไวของหลอดลมต่อสิ่งกระตุ้น เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคหืดหรือไม่ จะใช้เมื่อทดสอบโดย 2 วิธีการแรกแล้วยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ โดยใช้สารกระตุ้นเช่น สารเมธาโคลีน (Methacholine) มาใช้ในการทดสอบสมรรถภาพของปอด
- การใช้เครื่องตรวจวัดความอิ่มตัวออกซิเจนของฮีโมโกลบินในชีพจร (Pulse Oximetry) ช่วยให้สามารถวัดประเมินภาวะการขาดออกซิเจนได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุด คือการรักษาให้ทันและควบคุมโรคให้ได้เร็วที่สุดเมื่อเกิดอาการ โดยจะแบ่งการรักษาตามความรุนแรง ออกเป็น 4 ขั้น คือ
- มีอาการนาน ๆ ครั้ง (Intermittent Asthma) มีอาการนาน ๆ ครั้ง ช่วงที่มีอาการจะมีอาการน้อยกว่า 1 ครั้ง/สัปดาห์ หรือมีอาการกลางคืนน้อยกว่า 2 ครั้ง/เดือน
- มีอาการรุนแรงน้อย (Mild Persistent Asthma) มีอาการมากกว่า 1 ครั้ง/สัปดาห์ หรือมีอาการกลางคืนมากกว่า 2 ครั้ง/เดือน
- มีอาการรุนแรงปานกลาง (Moderate Persistent Asthma) มีอาการเกือบทุกวัน หรือมีอาการกลางคืนมากกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์
- มีอาการรุนแรงมาก (Severe Persistent Asthma) มีอาการตลอดเวลา
การรักษาโรคหืด
โรค หอบหืด เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นเป้าหมายของการรักษา คือควบคุมอาการให้เป็นปกติได้นานที่สุด ให้อาการสงบ และให้ผู้ป่วยมีชีวิตเป็นปกติสุข ด้วยการมีสมรรถภาพปอดใกล้เคียงปกติมากที่สุด
ในผู้ป่วยที่มีอาการจับหืดบ่อย จะรักษาด้วยการลดความรุนแรงของโรคด้วยการใช้ยาที่เหมาะสมกับอาการ โดยมีทั้งยาเพื่อลดอาการที่เกิดโดยเฉียบพลันและช่วยควบคุมอาการในระยะยาว ยาที่ใช้รักษาหอบหืด จำแนกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
- ยาที่ใช้ควบคุมโรคหืด (Controllers) ต้องใช้เป็นประจำเพื่อการรักษาอาการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ยาที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดคือยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูด (Inhaled Corticosteroid) และยังมียากลุ่มอื่น ๆ ที่สามารถใช้ได้ เช่น ยาต้านลิวโคไทรอีน (Leukotriene Modifier Antagonist) เป็นต้น
- ยาที่ใช้บรรเทาอาการโรคหืด (Relievers)
ใช้เพื่อบรรเทาอาการหอบ จะใช้ยากลุ่มนี้เฉพาะเมื่อมีอาการ ได้แก่ ยาพ่นขยายหลอดลมชนิดเบต้า 2 (Beta2-agonists) มีผลให้กล้ามเนื้อเรียบในหลอดลมคลายตัว หากผู้ป่วยมีการใช้ยาพ่นชนิดบรรเทาอาการบ่อยครั้งหรือเป็นประจำ จะเป็นข้อบ่งชี้ว่ามีอาการเรื้อรังและการควบคุมอาการนั้นอาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหืด
โดยทั่วไปแล้วโรคหอบหืดจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง แต่ในรายที่มีอาการรุนแรงและเรื้อรัง อาจจะมีแบคทีเรียแทรกซ้อนทำให้เป็นไซนัสอักเสบ หรือบางรายถึงกับเป็นเนื้องอกในโพรงจมูก
อาการแทรกซ้อนและผลกระทบอื่น ๆ เช่น การได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาโรคหอบหืดเป็นเวลานาน หรือหลอดลมตีบแคบลงอย่างถาวร ทำให้มีปัญหาในการหายใจ และเกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตด้านอื่น ๆ ตามมา
การได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้
ที่มา sciencedaily และ WebMD
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
แม่ท้องเป็นหอบหืดอันตรายถึงลูกในท้องหรือไม่