ระวัง เป้อุ้มเด็ก อาจทำให้ลูก ข้อสะโพกหลุด
เป้อุ้มเด็กก็เหมือนผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กอื่นๆ ที่มีมากมายหลายแบบให้เลือก แต่หากเลือกไม่ดีอาจเป็นสาเหตุให้ ลูกข้อสะโพกหลุด
อาการ ข้อสะโพกหลุด อาจเกิดได้จากการใช้ เป้อุ้มเด็ก
เป้อุ้มเด็ก อาจเป็นอุปกรณ์คู่ใจของคุณแม่หลายท่าน ที่ช่วยให้การพาลูกออกนอกบ้านเป็นเรื่องง่ายขึ้น โดยเฉพาะเมื่อคุณแม่ และคุณลูกต้องออกนอกบ้านกันตามลำพัง ทั้งยังเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้แม่ และลูกได้ใกล้ชิด และเสริมสร้างความผูกพันต่อกันอีกด้วย แต่คุณแม่ทราบไหมว่า เป้อุ้มเด็กบางแบบนั้น อาจทำให้ลูก ข้อสะโพกหลุด ได้
โรคข้อสะโพกหลุด (Hip Dysplasia)
Dr. Siow Hua Ming ศัลยแพทย์กระดูก จากสถาบัน Mount Elizabeth Novena Specialist Centre อธิบายว่า โรคข้อสะโพกหลุด เป็นภาวะที่ข้อต่อกระดูกสะโพกเคลื่อนจากเบ้าสะโพก แต่ทารกที่ข้อต่อสะโพกหลุดมักไม่มีอาการเจ็บปวด จึงเป็นการยากที่จะตรวจพบจนกว่าเด็กจะเริ่มเดิน โรคนี้พบได้ประมาณ 1% ในทารก โดยผู้ที่มีความเสี่ยงได้แก่ เด็กที่เป็นลูกคนแรก เด็กที่เป็นเพศหญิง และเด็กที่แม่มีภาวะน้ำคร่ำน้อยกว่าปกติ
สาเหตุของโรคข้อสะโพกหลุด
จากข้อมูลของสถาบัน International Hip Dysplasia Institute ระบุว่า ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคข้อสะโพกหลุดในวัยเด็ก อาจเกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ
- กรรมพันธุ์ โรคข้อสะโพกหลุดพบได้ในครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคนี้มาก่อน โอกาสพบได้มากขึ้นถึง 12 เท่า
- ท่าทางของทารกในครรภ์ อาจทำให้เกิดแรงกดที่กระดูกข้อต่อสะโพก รวมทั้งทารกที่คลอดในท่าก้นมีแนวโน้มที่สะโพกเคลื่อนมากกว่าทารกที่คลอดในท่าปกติ
- ลักษณะของข้อต่อสะโพกของทารก เบ้าสะโพกของทารกเป็นกระดูกอ่อนที่มีความความอ่อนนุ่ม และยืดหยุ่น ซึ่งง่ายต่อการเคลื่อนหลุดอยู่แล้ว
- ท่าทางทารกในขวบปีแรก บางวัฒนธรรมที่มีการห่อรัดตัวทารกที่แน่นเกินไปก็ทำให้อัตราการเป็นโรคข้อสะโพกหลุดมีมากขึ้น
สำหรับในสามข้อแรกคุณแม่อาจไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ แต่คุณแม่สามารถดูแลท่าทางของทารกในขวบปีแรกให้ถูกต้องได้ ด้วยการใช้เป้อุ้มที่เหมาะสมและวิธีห่อตัวทารกอย่างถูกต้องสามารถลดความเสี่ยงต่อโรคข้อสะโพกหลุดได้
เป้อุ้มเด็กสามารถลดหรือเพิ่มโอกาสเกิดโรคข้อสะโพกหลุดในทารกได้
ข้อมูลจาก health professionals ระบุว่าทารกแรกเกิดนั้นต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าที่กระดูกข้อต่อต่าง ๆ จะสามารถยืดตัวอย่างเป็นธรรมชาติ
ในช่วงไม่กี่เดือนแรกของชีวิต ส่วนบนของกระดูกต้นขาที่มีลักษณะคล้ายลูกบอลจะเคลื่อนไปมาได้แบบหลวม ๆ อยู่ภายในเบ้าสะโพกอันอ่อนนุ่ม หากสะโพกของทารกถูกบังคับให้อยู่ในท่าที่ยืดออกเร็วเกินไป อาจทำให้ลูกบอลเคลื่อนหลุดออกจากเบ้าสะโพกได้ ซึ่งเป้อุ้มบางแบบนั้นไม่สอดรับกับลักษณะสะโพกของทารกตามที่ได้กล่าวมา ซึ่งสามารถอธิบายได้ด้วยรูปภาพด้านล่างนี้
ท่าทางที่ไม่สอดรับกับสะโพกของทารก คือ สะโพกและเข่ายืด ขาห้อยเข้ามาใกล้กัน หากลูกอยู่ในท่านี้นาน ๆ มีโอกาสข้อสะโพกหลุดได้
ท่าทางที่สอดรับกับสะโพกของทารก คือ ท่าที่สะโพกของลูกแยกไปด้านข้างตามธรรมชาติ โดยที่ต้นขาจะกางออก เพื่อรองรับสะโพกและการงอเข่า
หากเป้อุ้มไม่สามารถทำให้ลูกงอขาได้เพียงพอ อาจเพิ่มความเสี่ยงข้อสะโพกหลุด อันเนื่องมาจากท่าทาง ที่ไม่สอดรับกับสะโพกของทารก
ควรเลือกเป้อุ้มอย่างไร?
ควรเลือกเป้อุ้มเด็กที่ลูกสามารถหันหน้าเข้าหาตัวคุณแม่ได้ รองรับกระดูกสันหลัง และศีรษะทารก แต่ก็ไม่ควรรัดแน่นเกินไปจนลูกอึดอัด รวมถึงควรมีความยืดหยุ่นที่เด็กสามารถเอนตัวและขยับเคลื่อนไหวสะโพกได้
สังเกตสัญญาณลูกข้อสะโพกหลุด
International Hip Dysplasia Institute อธิบายถึงสัญญาณที่พบบ่อยของโรคข้อสะโพกหลุดในเด็ก ดังนี้
- ลักษณะกล้ามเนื้อต้นขาผิดปกติ โดยมีชั้นรอยพับผิวหนังไม่เท่ากัน ควรได้รับการตรวจโดยการอัลตร้าซาวนด์ หรือเอ็กซเรย์
- สะโพกมีเสียง ควรได้รับการตรวจโดยการอัลตร้าซาวนด์ หรือเอ็กซเรย์
- เวลาเปลี่ยนผ้าอ้อมไม่สามารถอ้าขาได้อย่างเต็มที่
- เจ็บปวด แม้ว่าเด็กเล็ก ๆ จะไม่รู้สึกเจ็บปวดเมื่อข้อสะโพกหลุด แต่อาการที่พบบ่อยเมื่อเป็นโรคข้อสะโพกหลุดในเด็กวัยรุ่น และผู้ใหญ่ตอนต้น คืออาการเจ็บปวด
- เมื่อเด็กเริ่มเดิน จะสังเกตได้ว่าลูกเดินกะโผลกกะเผลก หรือมีความยาวของขาทั้งสองข้างไม่เท่ากัน
ควรทำอย่างไรหากสงสัยว่าลูกข้อสะโพกหลุด?
หากลูกมีอาการต่าง ๆ ข้างต้น และคุณแม่สงสัยว่าลูกข้อสะโพกหลุด ควรรีบไปพบคุณหมอศัลยแพทย์กระดูกโดยเร็ว เนื่องจากโรคนี้ ยิ่งตรวจพบเร็วการรักษายิ่งได้ผลดีค่ะ
_________________________________________________________________________________________
theAsianparent Thailand เว็บไซต์ข้อมูลคุณภาพ และสังคมคุณแม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และเอเชีย เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ แหล่งความรู้แม่และเด็ก รวมถึงแอพพลิเคชั่น theAsianparent Thailand ที่ติดตามการตั้งครรภ์ให้คุณแม่ได้ลงทะเบียนใช้งาน เพื่อติดตามพัฒนาการทารกตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงติดตามหลังคลอดที่ครอบคลุมที่สุด และผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย นอกจากความรู้ ยังมีไลฟ์สไตล์ และสื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าสุขภาพแม่และเด็ก โภชนาการแม่และเด็ก กิจกรรมสำหรับครอบครัว
การวางแผนครอบครัวไปจนถึง การดูแลลูก การศึกษา และจิตวิทยาเด็ก theAsianparent Thailand เราพร้อมสนับสนุนพ่อแม่ทุกท่าน ให้มีความรู้ และมีสุขภาพกายใจเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างครอบครัวอย่างแข็งแรง
เพราะเราเชื่อว่า “พ่อแม่เข้มแข็ง ครอบครัวแข็งแรง”
ที่มา : sg.theasianparent.com
ภาพประกอบ : neurohealthchiro.com.au, International Hip Dysplasia Institute
บทความที่น่าสนใจอื่น ๆ
สุดยอดคุณแม่ DIY เป้อุ้มเด็กสร้างสรรค์ได้จากผ้าผืนเดียว!
10 ของใช้แม่ลูกอ่อน จัดกระเป๋าเด็กอ่อน จัดกระเป๋าพาลูกเที่ยวต่างจังหวัด