มือบวมตอนท้อง ผิดปกติไหม อันตรายหรือเปล่า คนท้องควรรับมืออย่างไร

คุณแม่หลายคนที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ อาจมีอาการ มือบวมตอนท้อง เท้าบวมตอนท้อง เป็นอาการที่พบบ่อยมาก บางครั้งอาการบวมเหล่านี้ก็อาจขึ้นที่ใบหน้าและลำคอได้เช่นกัน และอาการเหล่านี้จะเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 20 สัปดาห์ขึ้นไปค่ะ แล้วสาเหตุเกิดมาจากอะไร เป็นเรื่องที่น่ากังวล หรืออันตรายไหม วิธีไหนสามารถบรรเทาอาการบวมได้บ้าง วันนี้เรามีคำตอบมาให้ค่ะ

 

สาเหตุที่ทำให้ มือบวมตอนท้อง

  1. การเปลี่ยนแปลงของการไหลเวียนเลือด ที่เกิดจากการขยายตัวของมดลูกที่ไปเพิ่มแรงกดเส้นเลือดบริเวณอุ้งเชิงกรานทำให้เกิดอาการบวมได้
  2. ร่างกายของคนท้องต้องการเก็บของเหลวมากขึ้น เพื่อทำให้ร่างกายมีความอ่อนนุ่มเพื่อปกป้องลูกน้อยในท้องได้ เนื่องจากของเหลวเหล่านี้จะช่วยให้คุณแม่คลอดน้องได้ง่ายขึ้น
  3. ฮอร์โมนของคุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงในระหว่างตั้งครรภ์ โดยส่วนมากจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ เพราะเป็นช่วงที่น้ำหนักของทารกในครรภ์ และน้ำหนักของคุณแม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

ปัจจัยที่ทำให้คนท้องเกิดอาการบวม

  • อากาศร้อน
  • การนอนผิดท่า หรือนอนในท่าที่ไม่เหมาะสม
  • การยืนเป็นเวลานาน
  • ทำกิจกรรมอะไรเป็นระยะเวลานาน
  • ทานอาหารที่มีโพแทสเซียมน้อย
  • ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมาก
  • ทานอาหารที่มีโซเดียมสูง รวมถึงอาหารรสจัด

 

อาการบวมแบบไหนที่อันตราย

อาการบวมที่มาพร้อมกับอาการอื่น อาจเป็นสัญญาณที่แสดงถึงความรุนแรงได้ เช่น มีอาการบวมพร้อมกับอาการปวดหัวไม่หายและมีปัญหาเรื่องการมองเห็น ขาบวมจนลามมาถึงหน้าขา ใบหน้าบวม และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจแสดงถึงอาการครรภ์เป็นพิษ หรือมีอาการบวมพร้อมกับเจ็บหน้าอก หรือหายใจลำบากอาจหมายถึงปัญหาโรคหัวใจได้ หรือถ้ามีอาการบวมตามขาและเท้าให้ลองกดดู ถ้ากดแล้วยังบุ๋มค้างอยู่ต้องไปพบแพทย์ทันทีค่ะ โดยอาการบวมดังกล่าว อาจมีร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง โปรตีนรั่วในปัสสาวะ ตาพร่า ปวดศีรษะ และปวดจุกแน่นที่ลิ้นปี่ อีกทั้งถ้าคุณแม่มีอาจการบวมที่มือและที่หน้าอย่างฉับพลันอาจเป็นสัญญาณคลอดก่อนกำหนดได้เช่นกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง : 7 อาการคนท้อง ตั้งครรภ์ไตรมาสสอง ต้องระวัง อาการแบบไหนเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ

 

มือบวมตอนท้อง

 

9 วิธีบรรเทาอาการมือบวม เท้าบวม

1. นอนตะแคงซ้าย

การนอนจะช่วยลดแรงกดทับบริเวณเส้นเลือดดำที่ทำให้เกิดอาการบวมตามมือตามเท้าได้ อีกทั้งการนอนตะแคงซ้ายยังช่วยให้หัวใจเต้นสะดวก รวมถึงการไหลเวียนของโลหิตในตัวแม่มีความคล่องตัวมากขึ้น แต่การนอนตะแคงด้านใดด้านหนึ่งนาน ๆ ก็อาจทำให้รู้สึกเจ็บเสียดท้องได้ หรือเกิดอาการเมื่อยได้ ดังนั้น คุณแม่สามารถสลับมาตะแคงทางด้านขวาได้เช่นกัน โดยระหว่างที่พลิกตัวก็ค่อย ๆ ใช้มือช่วยประคองท้องให้หมุนตามไปด้วยนะคะ

 

2. ออกกำลังกาย

การกำลังกายเบา ๆ หรือการขยับร่างกายจะช่วยให้การเคลื่อนย้ายของเหลวที่เป็นส่วนเกินไปยังบริเวณอื่นของร่างกาย ซึ่งการออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยลดอาการบวมได้ ซึ่งคุณแม่อาจเลือกเป็นการเดินในน้ำ หรือการว่ายน้ำก็ได้ค่ะ เพราะน้ำจะช่วยพยุงร่างกายได้ดี ทั้งยังมีความเย็น ช่วยลดอาการบวมได้ อีกทั้งยังทำให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายด้วยค่ะ หรือจะเลือกการออกกำลังกายที่ทำให้ขับน้ำในร่างกายเยอะ ๆ อย่าง การเข้าฟิตเนส โยคะ พิลาทีส เป็นต้น โดยสามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญควบคู่ไปได้ด้วยค่ะ

 

3. แต่งตัวสบาย ๆ

การแต่งกายสบาย ๆ ที่ไม่คับหรือแน่นเกินไปก็ช่วยลดอาการบวมได้ดี หากคุณแม่มีอาการเท้าบวมด้วย ให้คุณแม่หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าส้นสูง แล้วสวมใส่ถุงน่อง หรือเลคกิ้งสำหรับคนท้อง เพื่อช่วยลดอาการบวมได้

 

4. เปลี่ยนการทานอาหาร

การทานอาหารเค็ม ๆ หรืออาหารที่มีโซเดียมมาก ๆ จะเป็นการช่วยกักเก็บน้ำในร่างกายมากขึ้น ทำให้คุณแม่มีอาการบวมที่มากขึ้น ดังนั้น ควรงดอาหารเหล่านี้ให้ลดลงนะคะ และควรเพิ่มอาหารที่มีโปรตีนและวิตามินเพิ่มขึ้น รวมถึงอาหารจำพวกขิง ผักชีฝรั่งก็ช่วยได้ค่ะ ที่สำคัญชากาแฟควรลดลงด้วยเช่นกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง : 15 อาหารคนท้อง ไตรมาส 3 ท้องไตรมาสนี้กินอะไรให้ลูกแข็งแรงมาดูกัน!

 

5. นอนยกเท้าสูง

กรณีที่คุณแม่มีอาการบวมเท้า ให้นอนยกเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจโดยใช้หมอนสัก 2 – 3 ใบ หรือผ้านวมหนา ๆ มารองใต้ขา จะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี และช่วยลดน้ำหนักที่กดทับมาจากมดลูกได้ หรือถ้าอยู่ในอิริยาบถอื่น หากสามารถยกเท้าขึ้นสูงได้ก็สามารถทำได้ เช่น หากล่องหรือเก้าอี้มารองขาในเวลานั่งเล่น

 

6. ดื่มน้ำเยอะ ๆ

การดื่มน้ำสะอาดเป็นสิ่งที่ดีต่อร่างกาย คุณแม่ควรดื่มน้ำให้มากขึ้น เพื่อให้ร่างกายขับถ่ายน้ำส่วนเกินออก รวมถึงสามารถขับโซเดียมที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการบวมด้วย เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดอาการบวมในเบื้องต้นได้

 

7. แช่เท้าในน้ำอุ่น

คุณแม่สามารถทำได้โดยการ แช่เท้าในน้ำอุ่นวันละ 15-20 นาที เพื่อลดอาการบวมได้ ทั้งยังเป็นการช่วยผ่อนคลายอีกด้วยนะคะ ลองหาน้ำมันหอมระเหยกลิ่นที่คุณแม่ชอบ มาหยดลงในน้ำอุ่น ก็ทำให้ผ่อนคลายมากยิ่งขึ้นค่ะ

 

8. หมั่นขยับมือข้างที่บวม

หากคุณแม่มีอาการมือบวม สามารถลดอาการบวมได้ด้วยการ ชูมือขึ้นให้อยู่เหนือระดับหัวใจ เพื่อให้เลือดเกิดการหมุนเวียนได้ดีขึ้น โดยสามารถทำได้วันละหลาย ๆ ครั้ง เมื่อมีโอกาสเลยค่ะ หรือหมั่นขยับมือข้างที่บวม เพิ่มการเคลื่อนไหวของมือข้างนั้น เพื่อให้ของเหลวที่เป็นส่วนเกิน หมุนเวียนกลับเข้าสู่หัวใจ

 

9. นวดฝ่ามือ

โดยคุณแม่สามารถทำการนวดฝ่ามือของตัวเองได้ โดยทำเป็นประจำ เบา ๆ ไม่ต้องลงน้ำหนักมาก จะเป็นการช่วยกระจายของเหลวส่วนเกินออกจากบริเวณที่บวมได้ค่ะ ซึ่งหากมีอาการเท้าบวมร่วมด้วย ก็สามารถทำได้เช่นกัน

 

สำหรับคำแนะนำจากทางเราและคุณหมอ อาการมือบวม เท้าบวม ตอนท้องไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไรมากค่ะ แต่ก็ควรสังเกตอาการของตัวเองควบคู่ไปด้วยว่า มีอาการผิดปกติ หรืออาการอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือเปล่า เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของอาการแทรกซ้อนบางอย่างได้ ขอย้ำว่า หากมีการกดส่วนที่บวมแล้วเนื้อบุ๋มค้าง ทั้งยังมีอาการปวดเสียดที่ลิ้นปี่ร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณเตือนของอาการครรภ์เป็นพิษได้ หากเกิดอาการแบบนี้ควรรีบไปโรงพยาบาลทันทีค่ะ และทางที่ดี ขอแนะนำคุณแม่ไม่ควรสวมแหวนไว้ที่นิ้วในช่วงท้องนะคะ เพราะอาจทำให้เกิดอาการบีบรัด เมื่อมีอาการบวมขึ้นมา จะได้ไม่อันตรายต่อตัวคุณแม่เองค่ะ

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

วิธีแก้ข้อเท้าและเท้าบวมหลังคลอด

9 วิธีลดอาการบวมระหว่างตั้งครรภ์ ท้องแล้วเท้าบวม ทำไงดี

เช็คสัญญาณด่วน! เท้าบวมตอนท้อง แบบไหนเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ

ที่มา : 1, 2

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!