ภาวะตกเลือดหลังคลอด มีเลือดออกมากผิดปกติ จะป้องกันได้อย่างไร

ตัวคุณแม่เอง จะต้องมีการปรับตัวหลายอย่างหลังคลอด ไม่ว่าจะเป็นการรับมือกับทารกตัวน้อย หรือ การอดหลับอดนอนระหว่างเลี้ยงลูก อีกทั้งยังมีการปรับ และการฟื้นฟูของสภาพร่างกายหลังจาก อุ้มท้องมานาน 9 เดือน แต่อีกหนึ่งสิ่ง ที่คุณแม่จะต้องเผชิญคือ อาการเลือดออกหลังคลอด หรือ ภาวะตกเลือดหลังคลอด ซึ่งเป็นอาการที่ทำให้คุณแม่หลายคนเป็นกังวลอย่างมาก

 

อาการตกเลือดหลังผ่าคลอด

อาการนี้เป็นภาวะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของร่างกาย ที่คนไทยเรียกกันว่า “น้ำคาวปลา” อาการนี้จะเกิดขึ้นไม่ว่าคุณแม่จะคลอดแบบธรรมชาติ หรือ ผ่าคลอด ซึ่งเป็นกระบวนการของร่างกายในการกำจัดน้ำเมือก เนื้อรกและเลือดที่ตกค้างหลังคลอดที่จะไหลออกมา คล้ายกับประจำเดือนของผู้หญิง แต่อาการจะหนักกว่ามากในช่วงแรก ๆ ค่ะ

น้ำคาวปลา จะไหลออกมาในไม่กี่ชั่วโมงหลังคลอด และยาวต่อเนื่องไปจนถึงสอง หรือสามสัปดาห์ แต่กับคุณแม่บางคนอาจใช้เวลาถึง 6 สัปดาห์ค่ะ หากคุณแม่มีข้อสงสัยหรือพบอาการดังต่อไปนี้ คุณแม่ควรติดต่อแพทย์ผู้ที่ดูแลสุขภาพของคุณแม่โดยตรงนะคะ

1.มีเลือดออกมากกว่าปกติ จนต้องใช้ผ้าอนามัย 1 แผ่นต่อชั่วโมง
2.เลือดออกเป็นสีแดงสดติดต่อกัน 4 วัน หรือ มากกว่านั้น เมื่อเอนตัวนอนหรือพักผ่อนก็ไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น
3.มีลิ่มเลือดขนาดใหญ่
4.รู้สึกเวียนหัวและอ่อนเพลีย
5.หัวใจเต้นเร็ว หรือ เต้นผิดปกติ

ภาวะตกเลือดหลังคลอด มีเลือดออกมากผิดปกติ จะป้องกันได้อย่างไร

หากคุณแม่พบอาการเหล่านี้ คุณแม่อาจอยู่ในภาวะตกเลือดหลังคลอดก็เป็นได้ค่ะ

สาเหตุของ ภาวะตกเลือดหลังคลอด

แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่

1. การตกเลือดระยะเฉียบพลัน คือ ภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด สาเหตุได้แก่

  • กล้ามเนื้อมดลูกหดรัดตัวไม่ดี เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด
  • การฉีกขาดของช่องทางในการคลอด เช่น ปากมดลูกและ/หรือช่องคลอด
  • การมีเศษรกหรือเยื่อหุ้มทารกค้างในโพรงมดลูก
  • การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ

2. การตกเลือดระยะหลัง คือ การที่มีเลือดออก ตั้งแต่หลังจาก 24 ชั่วโมงไปจนถึง 12 สัปดาห์หลังจากคลอดแล้ว สาเหตุได้แก่

  • การติดเชื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุพบได้บ่อยที่สุด
  • การมีเศษรก หรือเยื่อหุ้มทารก ตกค้างในโพรงมดลูก เป็นได้ทั้งสาเหตุตกเลือดหลังคลอดเฉียบพลัน และระยะหลังจากคลอดแล้ว

 

ภาวะตกเลือดหลังคลอด มีเลือดออกมากผิดปกติ จะป้องกันได้อย่างไร

 

โดยสาเหตุที่พบได้มากที่สุด ก็คือ การตกเลือดภายหลังจากการคลอด 1 วัน อันเกิดจาก การที่ทารกมีขนาดลำตัวใหญ่เกิน รวมถึงการตั้งครรภ์แฝด แต่บางครั้ง อาจเกิดจากปัญหาของมดลูก เช่น ปากมดลูกฉีกขาด หรือมีเนื้องอกมดลูกอยู่ภายใน เป็นต้น และส่วนน้อย เกิดจากความผิดปกติ ของระบบหลอดเลือดในตัวคุณแม่เอง นอกจากนี้ อาจพบอาการตกเลือดหลังคลอดบุตร ในระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งกรณีนี้ จะเกิดจากการติดเชื้อ มากกว่าปัญหาอื่น ๆ

 

ตกเลือดหลังคลอด อาการเป็นอย่างไร

วิธีสังเกตอาการของภาวะตกเลือดหลังคลอด หากตกเลือดในระยะแรก ให้คุณแม่สังเกตตัวเองว่า มีเลือดออกทางช่องคลอดมากผิดปกติ หรือไม่ หรือมีเลือดออกเป็นลิ่ม ๆ มีอาการหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ซึ่งถ้ามีอาการเหล่านี้ ให้รีบแจ้งแพทย์ทันที ส่วนในกรณีที่มีการตกเลือดระยะหลัง อาจจะมีเลือดออกมาเล็กน้อย แล้วค่อยเพิ่มปริมาณขึ้น นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เป็นไข้ ปวดท้องน้อย และปวดมดลูก เป็นต้น ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ แนะนำให้รีบกลับไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาโดยด่วน

 

ตกเลือดหลังคลอด รักษาอย่างไร

การรักษา อาการตกเลือดหลังคลอด หากเป็นในระยะแรก แพทย์จะต้องให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยการรักษา จะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เกิดขึ้น เช่น หากมีการฉีกขาดของช่องทางคลอด แพทย์จะทำการเย็บซ่อม หากมีเศษรก หรือเยื่อหุ้มทารกตกค้างในโพรงมดลูก จะต้องทำการขูดมดลูกออก หากเสียเลือดมาก จากกระบวนการช่วยในการแข็งตัวของเลือด แพทย์ก็จะต้องทำการให้เลือด และให้สารช่วยในการแข็งตัวของเลือด หรือหากเกิดจากสาเหตุมดลูกหดรัดตัวไม่ดี ก็อาจจะต้องให้น้ำเกลือ ให้เลือด ให้ยาช่วยในการหดรัดตัวของมดลูก และช่วยนวดคลึงมดลูก เป็นต้น

 

ภาวะตกเลือดหลังคลอด มีเลือดออกมากผิดปกติ จะป้องกันได้อย่างไร

 

ตกเลือดหลังคลอด ป้องกันได้อย่างไร

การป้องกัน ภาวะตกเลือดหลังคลอด ตัวคุณแม่เอง สามารถดูแลตนเองได้ตั้งแต่ที่รู้ว่าเริ่มตั้งครรภ์ ดังนี้

– แนะนำให้เริ่มฝากครรภ์ทันทีที่รู้ว่าตนเองตั้งท้อง เพื่อที่จะได้ปรึกษา หรือขอคำแนะนำจากแพทย์ เกี่ยวกับการดูแลตนเอง

– สำรวจข้อมูล และประวัติของตนเอง เช่น มีประวัติเป็นเบาหวาน มีภาวะเลือดจาง หรือไม่ หรือคุณแม่คนไหน ที่ตั้งครรภ์ท้อง 2 ก่อนหน้านี้ที่ตั้งครรภ์ท้องแรก เคยมีประวัติตกเลือดหลังคลอดหรือไม่ เพราะถ้าหากเคยมี จะมีโอกาสที่จะเป็นซ้ำในครรภ์ต่อ ๆ ไปได้สูงกว่าคนทั่วไปนั่นเอง

– ดูแลตนเอง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด

– ควรรับประทานยาบำรุงครรภ์ หรือวิตามินให้สม่ำเสมอ โดยเฉพาะธาตุเหล็ก

– หมั่นตรวจร่างกาย โดยการไปพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง ทั้งนี้คุณแม่ควรหมั่นสังเกต การเปลี่ยนแปลงของตนเองด้วย หากมีอาการใดผิดปกติ ให้รีบแจ้งแพทย์ทันที

ถึงแม้ว่าอาการตกเลือด จะมีอันตรายที่อาจจะถึงแก่ชีวิต แต่หากได้ศึกษาภาวะนี้อย่างละเอียด และเตรียมรับมือตามวิธีการข้างต้นแล้ว ก็จะช่วยป้องกัน การเกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่งอย่างแน่นอนค่ะ

 

บทความที่น่าสนใจ :

แม่ติดโควิดหลังคลอด ให้นมบุตรได้หรือไม่? ควรปฏิบัติตนอย่างไร?

อ้วนหลังคลอด เช็กสาเหตุคุณแม่ผอมช้า คลอดลูกแล้วแต่ยังเหมือนท้องอยู่เลย

แผลฝีเย็บ หลังคลอด รู้สึกเจ็บจี๊ด คุณแม่ควรดูแลตัวเองอย่างไร?

ที่มา : 1, 2, 3, 4

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!