น้ำแข็งไม่สะอาด น้ำแข็งปนเปื้อน อันตรายแม่ท้อง เด็กเล็ก แค่กินผลไม้แช่ในน้ำแข็งก็ป่วยได้
เลือกให้ดี ถ้าน้ำแข็งไม่สะอาด น้ำแข็งปนเปื้อน หรือน้ำแข็งสกปรก อาจก่อให้เกิดอันตราย โดยเฉพาะคนท้อง เด็กเล็ก ที่ร่างกายไม่แข็งแรง
อย.เตือนให้ระวัง น้ำแข็งไม่สะอาด
น้ำแข็งไม่สะอาด น้ำแข็งปนเปื้อน เลือกให้ดี! โดยเฉพาะคนท้อง เด็กเล็ก ที่ร่างกายไม่แข็งแรง แค่กินผลไม้แช่ในน้ำแข็งก็ป่วยได้ ล่าสุด! มีคนซื้อน้ำแข็งเจอพยาธิ สยองสุด ๆ
เจอพยาธิแถมมาในน้ำแข็ง
จากกรณีสมาชิกเฟซบุ๊กท่านหนึ่ง โพสต์ภาพน้ำแข็งไม่สะอาด แต่ไม่ใช่แค่ปนเปื้อนนะ เจอพยาธิแช่แข็งมาเลย! โดยโพสต์ว่า เห็นจากที่คนอื่นโพสต์มาก็มากมายว่าเจอสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ นานา ในอาหารวันนี้เจอกับตัวเองเลยจร้าาา..เจอในน้ำแข็งหลอดก้อนใหญ่ตอนแรกคิดในแง่ดีว่าอาจเป็นแค่เส้นเชือกจากกระสอบน้ำแข็ง แต่คิดผิดค่ะมันคือพยาธิ พยาธิจริง ๆ จ้ะทุกคน จากที่เห็นเค้าโพสต์กันมาว่าน้ำแข็งหลอดสกปรก วันนี้เชื่อ 1000% ว่า สกปรกจริง ๆ ค่ะ แล้วที่เราซื้อน้ำแข็งปั่นน้ำชาเย็นต่าง ๆ ล่ะ..???
อย่างไรก็ตาม น้ำแข็งที่เราควรระวังมากที่สุด คือ น้ำแข็งโม่ หรือน้ำแข็งป่น โดยเฉพาะที่ผลิตจากโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน และร้านอาหารตามสั่งร้านขายเครื่องดื่มทั่วไปนิยมใช้ใส่แก้วมาให้เรา ในน้ำแข็งพวกนี้พบว่า มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคตั้งแต่แหล่งน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำแข็ง กระบวนการตัดก้อนน้ำแข็งให้มีขนาดเล็กลงจากการใช้ใบมีดที่เป็นเหล็กและมีสนิมอีกด้วย
อย.แนะเลือกซื้อน้ำแข็งต้องสะอาด
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหาร และยา เปิดเผยว่า ตามที่มีการส่งต่อข้อมูลทางสื่อออนไลน์ว่า พบการปนเปื้อนของพยาธิในน้ำแข็งหลอดเพราะความไม่สะอาดของกระบวนการผลิต ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินการประสานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อเฝ้าระวังสถานที่ผลิตน้ำแข็งที่ตั้งอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ให้ผลิตน้ำแข็งให้ได้คุณภาพมาตรฐานเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค หากพบว่ากระบวนการผลิต ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด (GMP) ถือว่ามีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และแจ้งงดการผลิตจนกว่าจะปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน หรือหากพบพยาธิหรือสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเจือปน หรือผู้บริโภคได้รับความเจ็บป่วย จากการรับประทานน้ำแข็ง จะเข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษตามจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ผู้ผลิต/นำเข้าน้ำแข็งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP) ซึ่งควบคุมตั้งแต่สถานที่ตั้งอาคารที่ผลิต เครื่องมือเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิต กระบวนการผลิตการสุขาภิบาล การบำรุงรักษาและทำความสะอาด และสุขลักษณะส่วนบุคคล โดยน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำแข็งต้องผ่านการปรับสภาพให้ได้มาตรฐานเทียบเท่าน้ำบริโภคก่อนเข้ากระบวนการผลิตน้ำแข็ง และน้ำแข็งที่ผลิตแล้วต้องมีคุณภาพมาตรฐานเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องน้ำแข็ง นอกจากนี้ฉลากของน้ำแข็ง ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยแต่จะมีภาษาต่างประเทศด้วยก็ได้ อย่างน้อยต้องมีชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ ผู้นำเข้า และประเทศผู้ผลิตสำหรับน้ำแข็งนำเข้าแล้วแต่กรณี และข้อความว่า “น้ำแข็งใช้รับประทานได้” ด้วยตัวอักษรสีน้ำเงิน หรือ“น้ำแข็งใช้รับประทานไม่ได้”ด้วยตัวอักษรสีแดงแล้วแต่กรณี
ด้าน นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ผู้บริโภคอ่านฉลากก่อนซื้อ หากเป็นน้ำแข็งหลอดบรรจุถุง ผู้บริโภคควรสังเกตเครื่องหมาย อย. และข้อความ “น้ำแข็งใช้รับประทานได้” บนฉลาก ถุงที่บรรจุต้องสะอาด ไม่ฉีกขาด ไม่มีสิ่งแปลกปลอมในก้อนน้ำแข็ง ส่วนกรณีน้ำแข็งที่ตักขาย ควรสังเกตสถานที่เก็บหรือภาชนะที่บรรจุต้องมีฝาปิดมิดชิด ไม่มีอาหารอื่นมาเก็บปะปนกับน้ำแข็ง ก้อนน้ำแข็งต้องใสสะอาด กรณีเป็นน้ำแข็งซองควรนำมาล้างก่อนทุบหรือบด หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือ E-mail : [email protected] หรือตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11000 หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
ผลไม้ที่ปอกขายตามรถเข็น ส่วนใหญ่จะนำน้ำแข็งมาแช่ผลไม้ให้ดูสด น่ากิน แต่หากน้ำแข็งที่นำมาใช้มีกระบวนการผลิตและการจำหน่ายที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่ได้มาตรฐาน อาจเสี่ยงทำให้ได้รับเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน เมื่อกินเข้าไปอาจทำให้เสี่ยงโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำ อาทิ ท้องร่วง อาหารเป็นพิษ บิด ไทฟอยด์และอหิวาตกโรค
จากข้อมูลการสุ่มสำรวจความปลอดภัยอาหารของสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำร่วมกับศูนย์อนามัยที่ 1-12 ในปี 2555 พบว่า น้ำแข็งเพื่อบริโภคที่มีการจำหน่ายในร้านอาหารและแผงลอยจำนวน 142 ตัวอย่าง ตรวจพบเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียถึง 48 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 33.8 จะเห็นได้ว่าน้ำแข็งที่บริโภคนี้ยังมีการปนเปื้อนสูง แม้ว่าเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียจะไม่ใช่เชื้อโรคที่มีอันตราย แต่เป็นเชื้อที่บ่งบอกถึงความสกปรกได้ เพราะเชื้อนี้ส่วนใหญ่จะพบในอุจจาระของคนและสัตว์เลือดอุ่น ถ้าพบเชื้อนี้ในน้ำแข็งก็หมายความว่าน้ำแข็งนั้น ๆ น่าจะมีการปนเปื้อนจากอุจจาระ ซึ่งอาจจะมาจาก สถานที่ผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ กระบวนการผลิตที่มีการปนเปื้อน การขนส่ง การเก็บรักษา และที่สำคัญคือ การปนเปื้อนจากผู้สัมผัสน้ำแข็งที่มีสุขวิทยาส่วนบุคคลไม่ดี เช่น เข้าส้วมแล้วไม่ล้างมือหรือล้างไม่สะอาด เมื่อมาสัมผัสน้ำแข็งก็ทำให้เกิดการปนเปื้อนลงในน้ำแข็งได้
เพื่อความปลอดภัยจากน้ำแข็งไม่สะอาด เวลาซื้อน้ำแข็งต้องดูฉลาก หรือเลือกร้านอาหารที่สะอาด ปลอดภัย
ที่มา : thaihealth.or.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
คนท้องไม่สบาย โรคที่อันตรายกับคนท้อง คนท้องป่วยบ่อย ไม่สบาย อันตรายกับลูกในท้องไหม
คิดว่าเป็นลมพิษ ที่แท้ พยาธิชอนไชผิวหนัง! ประสบการณ์น่าขนลุก โรคพยาธิชอนไชผิวหนัง
ควรให้เด็กเล็กกินน้ำแข็งหรือไม่
ช็อกโกแลตปนเปื้อนแคดเมียม-ตะกั่ว เสี่ยงมะเร็ง สุ่มตรวจพบ 18 ตัวอย่าง