ท้องเล็ก น้ำหนักขึ้นน้อย ลูกในท้องไม่โตหรือเปล่า

น้ำหนักตอนท้องขึ้นน้อย ลูกในท้องไม่โต เกิดจากอะไร แก้ไขอย่างไร ป้องกันได้ไหม

น้ำหนักตอนท้องขึ้นน้อย แปลว่าลูกในท้องไม่โตหรือเปล่า

แม่ท้องหลายคน เมื่อเห็นว่าตัวเองท้องเล็ก ท้องไม่โตขึ้นเลย หรือรู้สึกว่าน้ำหนักขึ้นน้อยมากในช่วงตั้งครรภ์ ก็มักจะเกิดความกังวลว่าลูกในท้องจะไม่โต หรือสงสัยว่าลูกในท้องมีพัฒนาการที่ผิดปกติไปหรือเปล่า ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องยากที่จะสังเกตด้วยตาเปล่าว่าลูกในท้องเติบโตมากน้อยแค่ไหน แต่ในเบื้องต้นนั้น คุณแม่อาจจะต้องเริ่มสังเกตจากขนาดของครรภ์ก่อน หากว่าขนาดของครรภ์ไม่โตขึ้น  หรือ ยอดมดลูกไม่สูงขึ้น หรือ น้ำหนักตอนท้องขึ้นน้อย ก็อาจจะมีความเป็นไปได้ว่าลูกในท้องอาจจะโตช้าได้เหมือนกัน

ลำดับต่อมา คุณแม่ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการตรวจครรภ์ ซึ่งคุณหมอก็จะสอบถามประวัติ เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น และคุณหมอก็จะทำการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการต่าง ๆ  เช่น

  • ตรวจร่างกาย
  • ตรวจเลือด
  • ตรวจอัลตราซาวนด์
  • ตรวจคลื่นหัวใจทารก เป็นต้น

ตอนท้องน้ำหนักขึ้นน้อย ลูกในท้องไม่โต อันตรายมากไหม

การที่ลูกในท้องไม่โต หรือโตช้า มีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ไม่ค่อยรุนแรง ไปจนถึงระดับที่รุนแรงถึงขั้นเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งถ้าหากว่ายังอยู่ในระดับที่ไม่ค่อยรุนแรง ทารกไม่มีอาการผิดปกติ คุณหมอก็มักจะให้คลอดธรรมชาติทางช่องคลอด เพราะถ้าทารกน้ำหนักน้อย ก็ยังคลอดได้ง่าย  แต่ถ้าในกรณีที่มีปริมาณน้ำคร่ำน้อย หรือทารกในครรภ์มีภาวะผิดปกติ อย่างเช่น ขาดออกซิเจนเรื้อรัง ก็อาจจะต้องทำการผ่าคลอด

สำหรับในระดับที่มีความรุนแรงมาก หากมีการติดเชื้อตั้งแต่ในครรภ์ ก็อาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด หรือหากเกิดจากทารกได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ น้ำคร่ำน้อย หรือไม่มีน้ำคร่ำ อาจส่งผลให้ทารกพิการ ติดเชื้อ หรือเสียชีวิตได้

น้ำหนักตอนท้องขึ้นน้อย ลูกในท้องไม่โต

น้ำหนักตอนท้องขึ้นน้อย ลูกในท้องไม่โตหรือเปล่า

ทำไมน้ำหนักตอนท้องขึ้นน้อย ลูกในท้องไม่โต

โดยส่วนใหญ่แล้ว การที่น้ำหนักตอนท้องขึ้นน้อย ลูกในท้องไม่โต มักจะเกิดขึ้นจากสาเหตุดังนี้

  • แม่ท้องได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ขาดสารอาหาร ทั้งช่วงก่อนตั้งครรภ์ หรือในระหว่างตั้งครรภ์
  • แม่ท้องมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจทำงานผิดปกติ
  • สูบบุหรี่ กินเหล้า
  • มีโครโมโซมผิดปกติ
  • ท้องครรภ์แฝด
  • มดลูกมีรูปร่างผิดปกติ รกเสื่อม หรือรกเกาะต่ำ
  • สายสะดือพันกัน

ทำอย่างไร ถ้าลูกในท้องไม่โต

การดูแลรักษาที่ดีที่สุด คือการส่งเสริมสุขภาพของทารกให้แข็งแรงตลอดการตั้งครรภ์ และคลอดเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ไม่ใช่เน้นการเพิ่มน้ำหนักตัวเพียงอย่างเดียว

สิ่งแรกเลยคือแม่ท้องต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ โดยสังเกตจากปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพของทารกในครรภ์

  • ไม่สูบบุหรี่ หรืออยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่ และงดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ไม่เครียด
  • นอนหลับให้เพียงพอ หรือประมาณ 8-10 ชั่วโมงในตอนกลางคืน และหาเวลางีบหลับระหว่างวันประมาณชั่วโมงครึ่ง
  • นับลูกดิ้น ซึ่งในเวลา 12 ชั่วโมง ลูกควรจะดิ้นไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง หากพบอาการผิดปกติ ให้รีบเข้าพบคุณหมอ
  • นอนตะแคงซ้าย เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงมดลูกและรกได้ดีขึ้น
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ หรือรับประทานอาหารตามที่คุณหมอแนะนำ
  • ไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ และหากพบอาการผิดปกติควรไปพบคุณหมอทันที ไม่ต้องรอให้ถึงเวลานัดนะครับ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

วิธีวัดความสูงยอดมดลูก ดูอายุ ขนาด และสุขภาพลูกในท้อง

พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-9 เดือน แต่ละวันหนูทำอะไรบ้าง

ไม่อยากให้ลูกคลอดมาตัวเหลือง แม่ท้องต้องทำอย่างไร

อายุครรภ์ จริง ๆ แล้ว เค้านับกันอย่างไรถึงจะถูก

parenttown

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!