ลูกในครรภ์โตช้าน้ำหนักน้อยเพราะอะไร?
ทารกที่คลอดออกมาน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,277 กรัมถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์ตามค่าเฉลี่ยในประเทศไทย สาเหตุหนึ่งมาจากการที่ทารกโตช้าขณะอยู่ในครรภ์ ซึ่งอาจทำให้ทารกมีพัฒนาการทางร่างกายและความสามารถในการเรียนรู้ที่ต่ำกว่าเด็กปกติ รู้อย่างนี้แล้วคุณแม่คงไม่อยากให้ลูกในครรภ์ไม่โตใช่ไหมคะ เรามาดูกันว่าสาเหตุที่ทำให้ทารกในครรภ์โตช้าน้ำหนักน้อยคืออะไร และเราจะสามารถป้องกันได้หรือไม่
ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ หมายถึง การที่ทารกในครรภ์ ไม่สามารถเจริญเติบโตได้เต็มศักยภาพที่ควรจะเป็น ทารกจะตัวเล็กและน้ำหนักตัวน้อยกว่าอายุครรภ์จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าทารกที่ตัวเล็กและน้ำหนักตัวน้อยจะเจริญเติบโตช้าในครรภ์ทั้งหมด ทารกที่พ่อและแม่ตัวเล็ก ทารกก็จะอาจจะตัวเล็กได้ แม้ว่าจะเจริญเติบโตปกติก็ตาม
จะรู้ได้อย่างไรว่าทารกในครรภ์เติบโตช้า
แพทย์จะทำการวินิจฉัยว่าคุณแม่มีความเสี่ยงว่าทารกในครรภ์โตช้าหรือไม่ จากการซักประวัติ เช่น
- คุณแม่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องหรือไม่
- คุณแม่เคยอยู่ในภาวะโตช้าในครรภ์มาก่อนหรือไม่
- นี่เป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรกหรือไม่
- คุณแม่ตั้งครรภ์ก่อนอายุ 19 ปีหรือไม่
- คุณแม่ตั้งครรภ์มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไปหรือไม่
- คุณแม่ตั้งครรภ์มากกว่า 5 ครั้งขึ้นไปหรือไม่
ดูจากน้ำหนักตามอายุครรภ์ของทารก
ทารกแรกคลอดจะมีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 3 กิโลกรัม และน้ำหนักตัวของคุณแม่ควรเพิ่มขึ้นประมาณ 12-15 กิโลกรัมตลอดการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณแม่ที่น้ำหนักเพิ่มขึ้น 20 กิโลกรัม แล้วลูกจะตัวใหญ่ตามไปด้วยนะคะ ดังจะเห็นอยู่เสมอว่า คุณแม่ที่น้ำหนักขึ้นเยอะๆ แต่ลูกตัวเล็กนิดเดียว เพราะสิ่งที่คุณแม่รับประทานเข้าไปนั้นไม่ถึงลูกน้อย แต่กลับเป็นส่วนเกินที่คุณแม่ยากจะลดลงได้แม้คลอดลูกไปนานแล้วก็ตาม
ดูจากระดับของยอดมดลูกของแม่
- อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ยอดมดลูกจะอยู่เหนือกระดูกหัวเหน่า โดยแบ่งส่วนที่ต่ำกว่าสะดือเป็น 3 ส่วน
- อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ยอดมดลูกจะอยู่เหนือกระดูกหัวเหน่าประมาณ 1 ใน 3
- อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ยอดมดลูกเริ่มสูงประมาณ 2 ใน 3 เหนือกระดูกหัวเหน่า
- อายุครรภ์ 24 สัปดาห์ ยอดมดลูกจะอยู่ตรงสะดือพอดี
- อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ ยอดมดลูกจะสูงประมาณ 1 ใน 4 เหนือสะดือ
- อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ ยอดมดลูกจะสูง 2 ใน 4
- อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ ยอดมดลูกจะสูงประมาณ 3 ใน 4
- หลังจาก 37 สัปดาห์ ยอดมดลูกจะอยู่สูงสุดคือ 4 ใน 4
- หากเป็นท้องแรกเมื่อศีรษะเด็กเข้าสู่อุ้งเชิงกราน ท้องจะเริ่มลดต่ำลง
ดูจากการอัลตร้าซาวนด์
แพทย์จะทำการอัลตร้าซาวนด์โดยวัดขนาดของอวัยวะสำคัญ ได้แก่ ความกว้างของศีรษะ เส้นรอบวงศีรษะ เส้นรอบท้อง ความยาวกระดูกต้นขา เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยที่แม่ยำว่าทารกในครรภ์อยู่ในภาวะโตช้าหรือไม่
อะไรเป็นสาเหตุให้ทารกในครรภ์โตช้าน้ำหนักน้อย คลิกหน้าถัดไป>>
สาเหตุที่ทารกในครรภ์ไม่โต
สาเหตุที่ทารกในครรภ์ไม่โต เกิดขึ้นได้จาก 3 สาเหตุหลัก คือ
- เกิดจากความผิดปกติของแม่
มารดามีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ภาวะซีด โรคหัวใจทำงานผิดปกติ ทำให้การส่งออกซิเจนไปยังลูกไม่เพียงพอ ดื่มเหล้าระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้ทารกผิดปกติ พิการ ปัญญาอ่อนได้ สูบบุหรี่ ซึ่งจะมีผลทำให้รกเสื่อมเร็ว ขาดอาหาร น้ำหนักตัวน้อย
- เกิดจากความผิดปกติของลูก
โครโมรโซมผิดปกติ เช่น กลุ่มดาวน์ซินโดรม มีความพิการแต่กำเนิด ทารกครรภ์แฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวที่มีการเชื่อมต่อผิดปกติของหลอดเลือด มีการติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์
- เกิดจากความผิดปกติของมดลูก รก และสายสะดือ
มดลูกรูปร่างผิดปกติ รกเสื่อม รกลอกตัวบางส่วน รกเกาะต่ำ มีเนื้องอกของรก สายสะดือพันกัน หรือผูกเป็นปม ทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกไม่พอเพียง ทารกจึงเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่
ความรุนแรงของภาวะทารกในครรภ์ไม่โต
ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้าอันตรายแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยโตช้า
- หากเกิดจากรกเสื่อม หรือแม่มีความความดันโลหิตสูง ตั้งครรภ์เกินกำหนด หรือทารกมีภาวะขาดออกซิเจนไม่นาน เมื่อคลอดออกมาและได้รับอาหารที่เพียงพอ เด็กก็จะสามารถเติบโตได้ดีเหมือนเด็กปกติ
- หากเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม ทารกอาจมีชีวิตหลังคลอดหรือเสียชีวิตหลังคลอด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความผิดปกตินั้น
- หากเกิดจากการติดเชื้อตั้งแต่ในครรภ์ อาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิดได้
ทำอย่างไรเมื่อทารกในครรภ์ไม่โต
- คุณแม่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ ควบคุมปัจจัยที่ทำให้สุขภาพทารกในครรภ์แย่ลง
- ลดละเลิกสารเสพติด บุหรี่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- แม่ควรพักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 8-10 ชั่วโมง นอนกลางวันประมาณ ½ -1 ชั่วโมง
- ตรวจหาโรคที่มีผลอย่างละเอียด เพื่อที่จะรักษาโรคนั้นให้หายไป
- กินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ โดยเพิ่มพลังงานจากอาหารวันละ 300 กิโลแคลลอรีเพื่อให้เพียงพอไปเสริมสร้างการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์
- ปรับเปลี่ยนท่าทางและพฤติกรรม เพื่อให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ลูกได้รับออกซิเจนมากขึ้น เช่น คุณแม่ควรนอนตะแคงซ้าย เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงมดลูกและรกมากที่สุด รับประทานภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
- การนับลูกดิ้นในเวลา 12 ชั่วโมง ลูกควรจะดิ้นไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง
- อยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ไปตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการผิดปกติควรไปพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอครบกำหนดนัดครั้งต่อไป
สามารถป้องกันไม่ให้ลูกในครรภ์โตช้าได้หรือไม่
คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่สามารถทำได้ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ พฤติกรรมการรับประทานอาหาร การพักผ่อน ความเครียด ระมัดระวังเรื่องการติดเชื้อต่างๆ และหากมีโรคประจำตัวก็ต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ