ทารกคลอดก่อนกำหนด เสี่ยงกระดูกพรุน

ถึงแม้ว่าทารกคลอดก่อนกำหนดส่วนใหญ่สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สุขภาพดี ไม่ต่างจากเด็กคนอื่นๆ แต่มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า เด็กคลอดก่อนกำหนดมีแนวโน้มที่จะมีกระดูกอ่อนแอ และยังพบว่า เด็กที่มีน้ำหนักแรกคลอดต่ำมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงโรคกระดูกพรุนอีกด้วย

ผลการวิจัยจาก Norwegian University of Science and Technology พบว่า ทารกที่คลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักแรกคลอดต่ำ และทารกที่คลอดครบกำหนดแต่ตัวเล็กกว่าอายุครรภ์มีมวลกระดูกต่ำกว่ากลุ่มควบคุม ซึ่งคลอดครบกำหนดและมีน้ำหนักแรกคลอดอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ทีมวิจัยได้ทำการเก็บข้อมูลจากผู้ใหญ่ 186 คนที่มีอายุระหว่าง 26-28 ปี พบว่า 52 คนมีน้ำหนักแรกคลอดต่ำ โดยมีน้ำหนักตัวเฉลี่ย 1,200 กรัม และอายุครรภ์เฉลี่ย 29 สัปดาห์

การค้นพบนี้มีความสำคัญ เนื่องจาก ค่ามวลกระดูกนั้นเป็นปัจจัยสำคัญของโรคกระดูกพรุนในอนาคต

คำแนะนำสำหรับคุณแม่ที่มีลูกน้อยน้ำหนักแรกคลอดต่ำ

สำหรับลูกน้อยที่มีน้ำหนักแรกคลอดต่ำ ควรได้รับอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม เช่น  นม โยเกิร์ต   ชีส  ปลาตัวเล็กทอด  กุ้งแห้ง  กะปิ  ผักคะน้า  ใบยอ  ดอกแค  เต้าหู้แข็ง  ถั่วแดง  และงาดำ วิตามินดี และโปรตีน ควบคู่กับการออกกำลังกายที่ทำให้กระดูกแข็งแรง เน้นการออกกำลังกายที่ลงน้ำหนัก  เช่น  เดินไกล  วิ่งเหยาะๆ กระโดดตบ เพื่อลดความเสี่ยงกระดูกหักในอนาคต

คำแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อ่านมาถึงตรงนี้คุณแม่ท้องเริ่มกังวลแล้วใช่ไหมคะว่า จะทำอย่างไร หรือมีวิธีการไหนที่จะป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้

จริงๆ แล้วการป้องกันไม่ให้ทารกคลอดก่อนกำหนดเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก เนื่องจากมีปัจจัยมากมาย ซึ่งมีความซับซ้อนและเข้าใจได้ยาก แต่การดูแลตนเองระหว่างตั้งครรภ์ของคุณแม่สามารถลดความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดได้ อาทิ

  • รักษาโรคช่องคลอดอักเสบ ผู้หญิงเป็นโรคช่องคลอดอักเสบต้องได้รับการรักษา ซึ่งจะช่วยลดโอกาสคลอดก่อนกำหนด
  • รักษาสุขภาพเหงือก โรคเหงือกอักเสบเป็นสาเหตุหนึ่งของการคลอดก่อนกำหนด
  • รับประทานวิตามินระหว่างตั้งครรภ์อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ทำให้คุณและลูกมีสุขภาพที่แข็งแรงเท่านั้น แต่ยังช่วยให้คุณเพิ่มโอกาสอุ้มท้องจนครบกำหนดด้วย
  • ควรดื่มน้ำมากขึ้น เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของร่างกายและเพิ่มโอกาสให้คุณอ้มท้องจนครบกำหนดคลอด
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การรับประทานอาหารที่สมดุลช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้
  • ควบคุมน้ำหนัก แม่ท้องที่น้ำหนักขึ้นเกินไป เพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์และครรภ์เป็นพิษ ซึ่งทั้งสองโรคนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้คลอดก่อนกำหนด

ช่วงเวลา 9 เดือนเป็นจุดเริ่มต้นสุขภาพที่ดีของทารกในครรภ์ คุณแม่จึงควรรักษาสุขภาพ ตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอตามนัด และปฏิบัติตนตามคำแนะนำของคุณหมอ จะช่วยลดความเสี่ยงอาการผิดปกติระหว่างตั้งครภ์ ซึ่งเป็นสาเหตุต่างๆ ของการคลอดก่อนกำหนดค่ะ

ที่มา ph.theasianparent.com

 

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ

ทารกคลอดก่อนกำหนดอาจเสียเปรียบในชีวิตหลายด้านในอนาคต

เด็กคลอดก่อนกำหนด เป็นอย่างไรบ้าง?

TAP mobile app

 

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!