ตารางฝึกลูกทานอาหารตามวัย เด็กกินข้าวอมข้าว เด็กกินข้าวไม่ยอมเคี้ยว ต้องทำไง
ตารางฝึกลูกทานอาหารให้เหมาะสมตามวัย ให้ลูกเริ่มอาหารเสริมยังไง ถ้าลูกเคี้ยวข้าวไม่เป็น ไม่ยอมเคี้ยวข้าว หรืออมข้าว พ่อแม่ควรทำอย่างไร มาดูวิธีของหมอกันค่ะ
ตารางฝึกลูกทานอาหารตามวัย ให้ลูกเริ่มอาหารเสริมยังไง ถ้าลูกเคี้ยวข้าวไม่เป็น เด็กกินข้าวอมข้าว ไม่ยอมเคี้ยวข้าว หรืออมข้าว พ่อแม่ควรทำอย่างไร มาดูวิธีของหมอกันค่ะ
ตารางฝึกลูกทานอาหารให้เหมาะสมตามวัย
เมื่อลูกน้อยอายุ 6 เดือนขึ้นไป จะมีพัฒนาการที่ดีสามารถเริ่มควบคุมลำคอให้ตั้งตรงและสามารถกลืนอาหารจากการป้อนด้วยช้อนได้ เราจึงควรเริ่มอาหารตามวัย โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มให้ลูกทานอาหารที่เหมาะสมกับวัยของลูก นอกเหนือไปจากการทานนมได้แล้วค่ะ หากต้องการให้ลูกสามารถทานอาหารตามวัยได้อย่างเหมาะสมและไม่มีปัญหาการเคี้ยวกับอาหารไม่เป็น อมข้าว ไม่ยอมทานข้าว เรามาเข้าใจหลักการ เคล็ดลับกัน และ ตารางฝึกลูกทานอาหารให้เหมาะสมตามวัย กันนะคะ
ตารางพัฒนาการเกี่ยวกับการทานอาหารของทารกมีอะไรบ้าง?
- ช่วงวัยแรกเกิดถึง 4 เดือนทารกจะยังไม่สามารถทานอาหารตามวัยได้ เพราะยังมี extrusion reflex คือ ทารกจะมีปฏิกิริยาตอบสนองเมื่อวัตถุสัมผัสหรือกดลิ้นโดยการเอาลิ้นดุนออกมา จึงไม่ควรเริ่มการทานอาหารในวัยนี้
- อายุ 4-6 เดือน ทารกจะมีความพร้อมในการทานอาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลว เริ่มเอาของเข้าปาก extrusion reflex จะหายไป ขากรรไกรสามารถขยับขึ้นลงเพื่อบดอาหารได้ จึงสามารถเริ่มทานอาหารตามวัยได้
- อายุ 6 ถึง 8 เดือน ทารกจะสามารถบดเคี้ยวและกลืนอาหารได้ดียิ่งขึ้น จึงควรเพิ่มความหยาบของอาหารให้มากขึ้นไปกว่าเดิม
- อายุ 8 ถึง 10 เดือน ทารกจะเริ่มทานอาหารแข็งได้ดีขึ้น เริ่มชอบอาหารที่มีรสชาติและลักษณะอาหารใหม่ๆ ทารกจะสามารถใช้นิ้วจับของชิ้นเล็กได้แล้ว
- อายุ 10-12 เดือนทารกจะมีฟันขึ้นหลายซี่ ขบเคี้ยวเก่งขึ้น
- อายุ 12-15 เดือนทารกจะสามารถทานอาหารได้ด้วยตนเอง แต่ความอยากอาหารและความต้องการอาหารลดลง มักชอบเล่นและทำเลอะเทอะ ในวัยนี้ทารกสามารถทานอาหารได้ใกล้เคียงกับผู้ใหญ่แล้วค่ะ
เมื่อทราบพัฒนาการเกี่ยวกับการทานอาหารของทารกในแต่ละช่วงวัยแล้วคุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะปรับลักษณะของอาหารให้เข้ากัน เพื่อให้ลูกอยากทานอาหารที่เหมาะสมกับวัยนะคะ เช่น ช่วงวัย 6 เดือนให้เริ่มทานอาหาร โดยควรเริ่มจากอาหารที่มีเนื้อค่อนข้างละเอียด บดเพื่อให้กลืนง่าย ไม่ควรให้อาหารปั่นเพราะทารกจะไม่ได้ฝึกทักษะการเคี้ยวหรือกลืน และลองเพิ่มความหยาบของอาหารขึ้นเรื่อยๆ โดยค่อยๆเพิ่มขึ้น ไม่จำเป็นต้องบดละเอียดในเวลาต่อมา เพื่อให้ทารกคุ้นเคยกับการทานอาหารชิ้นเล็กๆ
หลังจากช่วงอายุ 8 เดือนก็เริ่มหัดทานอาหารที่หยาบมากขึ้น เพื่อให้ทารกเริ่มคุ้นเคยและฝึกเคี้ยวมากขึ้นตามพัฒนาการของวัย เช่น เริ่มจากยอมทานโจ๊ก ต่อมาจึงเริ่มทานข้าวต้ม และสามารถทานข้าวสวยได้ตามลำดับ ภายในช่วงอายุ 1 ปี โดยเลือกอาหารที่นิ่ม ชิ้นไม่ใหญ่ เคี้ยวง่าย รสไม่จัด ทั้งนี้ไม่ควรให้อาหารที่แข็งและเป็นเม็ดเล็ก เช่น ถั่วลิสง เพราะอาจทำให้สำลักและเกิดภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจได้นะคะ
ทำไมลูกชอบเอาลิ้นดันอาหารออกมา
หากป้อนอาหารให้ทารกแล้วพบว่าเอาลิ้นดันอาหารออกมาและหันหน้าหนีออกไปเกิดจากอะไร? สาเหตุที่พบบ่อยของการที่ทารกเอาลิ้นดันอาหารออกมามี 2 สาเหตุค่ะ
1. ทารกยังใช้ลิ้นในการทานอาหารไม่เป็น
ในช่วงแรกที่เริ่มฝึกหัดทานอาหารตามวัยเพราะยังติดกับการดูดนมแม่อยู่ซึ่งทารกต้องเอาลิ้นออกมานอกปากเพื่อรีดน้ำนมแม่กลับเข้าไปในปาก แต่เมื่อทำเช่นนี้กับการทานอาหารตามวัยอาหารก็จะถูกลิ้นดันออกมาหมด
วิธีแก้ไข คือ ตักอาหารให้ทารกทีละน้อยเช่น 1/4 ช้อนชา ใส่เข้าไปที่กระพุ้งแก้ม จนยอมกลืนและคุ้นเคย จึงค่อยๆเพิ่มปริมาณอาหารทีละน้อย
2. ยังไม่พร้อมที่จะทานอาหาร
เนื่องจากพัฒนาการที่เกี่ยวข้องกับการทานอาหารยังไม่ดี หรือยังอิ่มจากนมมื้อก่อนหน้า หรืออาจจะเบื่อในรสชาติอาหารที่จำเจ
วิธีแก้ไข คือ หากสงสัยว่าทารกมีพัฒนาการที่เกี่ยวข้องกับการทานอาหาร การเคี้ยวหรือการกลืนที่ผิดปกติก็ควรปรึกษาแพทย์ ควรทานอาหารให้ห่างจากมื้อนมอย่างน้อย 3 ชั่วโมง และควรปรับอาหารให้มีรสชาติหลากหลายเพื่อให้ไม่น่าเบื่อนะคะ
เด็กวัย 1 ปีชอบอมข้าว ไม่ยอมทานเกิดจากอะไร?
เด็กในวัย 1-3 ปี หากมีพฤติกรรมชอบอมข้าว ชอบคายข้าว ไม่ยอมทานข้าว หรืออาจเล่นสนุกโดยอมไว้ในปาก ไม่ค่อยชอบเคี้ยว โดยที่ก่อนหน้านี้มีพัฒนาการเกี่ยวกับการทานอาหารที่ปกติมาตลอด มักเกิดจากเรื่องของพฤติกรรม ไม่ใช่เคี้ยวไม่เป็น แต่มักเกิดจากการที่เด็กสนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากกว่าอาหาร หรือห่วงเล่น ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยให้ทานอาหารเป็นเวลา กำหนดเวลาทานข้าวให้ชัดเจน เช่น ให้เวลาทานครึ่งชั่วโมง หากทานไม่หมดก็จะเก็บทันที ไม่รอให้เด็กอมข้าวเล่นอยู่นาน ไม่ให้ทานขนมหรือนมจนอิ่มก่อนทานข้าว
หากพบว่าเด็กเคี้ยวอาหารไม่เป็นจริงๆ มักเกิดจากการที่ผู้ดูแลให้อาหารที่ไม่เหมาะสมตามวัยของเด็ก เช่น ยังให้อาหารบดอยู่ในวัยที่เด็กเริ่มมีฟันขึ้นแล้ว จึงไม่ได้ฝึกการเคี้ยวมาตามลำดับ วิธีการแก้ไขก็คือจัดอาหารให้เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยของลูก โดยคุณแม่คุณพ่อหรือผู้เลี้ยงดูคอยให้กำลังใจเด็ก ค่อยๆฝึกเคี้ยวอาหารที่หยาบขึ้น หากเด็กต่อต้านก็สามารถลองทำใหม่ไปได้เรื่อยๆค่ะ
หากคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้ลูกมีปัญหาการเคี้ยวอาหารไม่เหมาะสมกับวัย เคี้ยวไม่เป็น หรืออมข้าวไม่ยอมเคี้ยว ก็สามารถป้องกันได้โดยการให้อาหารให้เหมาะสมกับวัยของลูก และเพิ่มความหยาบของอาหารขึ้นเรื่อยๆตามวัย ดังที่หมอได้กล่าวมาข้างต้นแล้วนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกชอบอมข้าว ไม่ยอมเคี้ยว ไม่ยอมกลืน ทำไงดี?
ขอบคุณ รูปอาหารจาก IG: bboyo__1 / iamkratae รูปน้องจาก IG: gapthanavate
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
อาหารทารกหลัง 6 เดือน การเริ่มอาหารตามวัยและไอเดียเมนูอาหาร สำหรับทารกอายุ 6 เดือน ขึ้นไป
ลูกกินแต่นม ไม่ยอมกินข้าว ลูกทารกวัยอาหารเสริม กินแต่นม ไม่ยอมกินข้าว ทำอย่างไรดี
ทารกร้องเวลาถ่าย ไขข้อข้องใจเรื่องการขับถ่ายของทารก ทำไมลูกชอบร้องตอนอึ ท้องผูกหรือท้องเสีย