คู่มือดูแลตัวเองหลังคลอด สำหรับคุณแม่มือใหม่ มีเรื่องอะไรบ้างที่คุณแม่ต้องรู้!

คู่มือดูแลตัวเองหลังคลอด ที่แม่ลูกอ่อนจำเป็นต้องรู้

คู่มือดูแลตัวเองหลังคลอด สำหรับคุณแม่มือใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ท้องแรกที่ไม่เคยผ่านการคลอดลูกมาก่อน การดูแลตัวเองและการเลี้ยงลูกจึงเป็นเรื่องใหม่ที่คุณแม่หลายคนต้องเรียนรู้และศึกษาไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากว่าคุณแม่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ กว่าที่ร่างกายของคุณแม่จะเข้าสู่ภาวะปกติต้องใช้เวลาพอสมควร รวมถึงเรื่องของจิตใจก็ต้องระวัง เพราะคุณอาจจะกลายเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้

ดังนั้น การดูแลตัวเองหลังคลอดของคุณแม่จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นต่อร่างกายหลังจากคลอด และช่วยให้คุณแม่ฟื้นตัวได้เร็ว โดยคุณแม่ต้องปฏิบัติตัว ดังต่อไปนี้

1.พักผ่อนให้เพียงพอ

การนอนหลับพักผ่อนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเรื่องยากก็ตาม เพราะว่าในช่วงแรกๆ หลังคลอด คุณแม่จะแทบรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้นอนเลย เนื่องจากว่าลูกร้องไห้ตลอดเวลา ไหนจะต้องปั๊มนมให้ลูกอีก แต่คุณแม่ต้องพยายามหาเวลาได้งีบบ้าง และอย่าเครียดมากเกินไป เพราะความเครียดหรือความวิตกกังวลใจอาจส่งผลต่อน้ำนมของคุณแม่ได้ สำหรับการพักผ่อนของคุณแม่ แนะนำว่าควรให้พักประมาณ 1-2 ชั่วโมงหลังจากลูกหลับค่ะ และควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือสิ่งที่ทำให้หลับยาก

2.อย่าทำงานหนักในช่วงแรก

แม่บางคนคลอดลูกแปปเดียวก็ต้องไปทำงาน หรือจำเป็นต้องทำงานบ้าน เพราะว่าไม่มีคนคอยช่วยเหลือ ซึ่งแนะนำว่าในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด ให้หลีกเลี่ยงการทำงานบ้านหนักๆืให้ทำงานบ้านเบาๆ ไปก่อน และอย่าหักโหมเอาที่พอไหวค่ะ หลังจากนั้นอีกประมาณ 4-6 สัปดาห์หลังจากคลอด เมื่อร่างกายเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้วจึงจะสามารถทำงานบ้านได้ตามปกติ

คู่มือดูแลตัวเองหลังคลอด สำหรับคุณแม่มือใหม่

วิธีดูแลตัวเองหลังคลอด สำหรับคุณแม่มือใหม่

3.ทำความสะอาดร่างกายสม่ำเสมอ

หลังคลอดลูกคุณแม่สามารถอาบน้ำได้ โดยสามารถอาบน้ำได้วันละ 2 ครั้ง ตามปกติ แต่ห้ามแช่น้ำเด็ดขาดไม่ว่าจะเป็นอ่างน้ำ สระว่ายน้ำ หรือลำคลอง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ทางช่องคลอดได้ค่ะ เพราะเวลาที่คุณแม่คลอดลูกเองตามธรรมชาตินั้นจะเกิดบาดแผลระหว่างการคลอดลูก ทำให้เชื้อโรคสามารถเข้าไปฟักตัวจนเกิดเป็นโรคและอาการแทรกซ้อนต่างๆ ได้ค่ะ ส่วนวิธีทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศ แนะนำว่าให้เช็ดทำความสะอาดจากด้านหน้าบริเวณหัวหน่าวไปยังด้านหลังคือทวารหนักจะดีที่สุด ไม่ว่าจะถ่ายหนักหรือเบา และควรทำความสะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาดบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ด้านนอกค่ะ

หลังจากคลอดลูกคุณแม่จะมีน้ำคาวปลาจำนวนมาก ดังนั้น แนะนำให้คุณแม่พยายามเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ หากน้ำคาวปลามากก็ควรเปลี่ยนทุกชั่วโมง และไม่ควรใส่นานเกิน 4 ชั่วโมงค่ะ อีกทั้ง อย่าลืมสังเกตสีและกลิ่นของน้ำคาวปลาด้วยนะคะ เพราะว่ามันสามารถบอกภาวะแทรกซ้อนของคุณแม่หลังคลอดได้

4.หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์

การมีเพศสัมพันธ์หลังคลอดนั้น ควรรอหลังจากคลอดได้ 6 สัปดาห์จะดีกว่าค่ะ เนื่องจากหลังคลอดแผลภายในโพรงมดลูกยังไม่หายดี ผนังช่องคลอดบาง แผลฝีเย็บยังมีความไวต่อความเจ็บปวดและปากมดลูกยังปิดไม่สนิท เสี่ยงต่อการติดเชื้อภายในโพรงมดลูกมากขึ้น ดังนั้น เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น คุณแม่จึงควรงดการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 6 – 8 สัปดาห์หลังคลอด หรือภายหลังได้รับการประเมินสภาพการหายของแผลฝีเย็บ และมดลูกจากการตรวจหลังคลอด 6 สัปดาห์จะดีที่สุด

คู่มือดูแลตัวเองหลังคลอด สำหรับคุณแม่มือใหม่

คู่มือดูแลตัวเองหลังคลอด สำหรับคุณแม่มือใหม่

5.ควรสังเกตอาการผิดปกติอยู่เสมอ

หลังจากคลอดลูกคุณแม่ก็ยังมีภาวะเสี่ยงอยู่ ซึ่งคุณแม่ต้องคอยสังเกตอาการของตัวเองดูว่าร่างกายของเรามีอาการอะไรผิดปกติไหม เช่น อาการไข้ น้ำคาวปลาสีผิดปกติ เป็นสีแดงตลอดไม่จางลง และมีกลิ่นเหม็นเน่า มีเลือดสดๆ ออกทางช่องคลอดจำนวนมาก หลังคลอด 2 สัปดาห์ ยังคลำก้อนทางหน้าท้องได้ เต้านมอักเสบ บวม แดง และมีการกดเจ็บ ถ่ายปัสสาวะบ่อย แสบ ขัด ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ตาพร่ามัว หรือมีอาการซึมเศร้าหลังคลอด หากสังเกตพบอาการผิดปกติเหล่านี้ให้รีบมาโรงพยาบาลทันที

6.ควรมีการคุมกำเนิด

สำหรับคุณแม่ที่คลอดลูก ควรจะต้องเริ่มในการคุมกำเนิดเพื่อเว้นระยะห่างของการมีบุตร โดยปรึกษากับสามีเกี่ยวกับจำนวนบุตรที่ต้องการ เนื่องจากว่าระหว่างที่คุณแม่ให้นมลูกอยู่นั้นถึงแม้ว่าจะไม่มีประจำเดือน แต่รังไข่สามารถผลิตไข่และมีการตกไข่ได้ ทำให้เวลาที่มีเพศสัมพันธ์อาจทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ค่ะ ดังนั้นควรมีการคุมกำเนิดก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง หากต้องการมีลูกต่อไป ควรเว้นระยะห่างของการมีบุตรอย่างน้อย 2 ปี เพื่อสามารถเลี้ยงดูบุตรได้อย่างเหมาะสม สำหรับวิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวมีหลายวิธี ได้แก่ ยาฝังคุมกำเนิด ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ใส่ห่วงอนามัย และการใช้ถุงยางอนามัย

7.เข้าตรวจร่างกายหลังคลอดลูก

ปกติแล้วคุณหมอจะนัดตรวจเมื่อครบ 6 สัปดาห์หลังคลอด เพื่อตรวจดูการกลับคืนสู่สภาพปกติของอวัยวะสืบพันธุ์ ตรวจหามะเร็งปากมดลูก รับบริการวางแผนครอบครัว ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาการเลี้ยงดูบุตร และการดูแลสุขภาพหลังคลอด ดังนั้น คุณแม่ควรมาพบคุณหมอตามนัดเพื่อรับการตรวจและคำแนะนำจากคุณหมอค่ะ

ที่มา: สสส.

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:

ขั้นตอนคลอดลูก ทั้งคลอดเอง VS ผ่าคลอด แบบที่แม่ท้องควรรู้ ขั้นตอนคลอดลูกแต่ละสเต็ป

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด อาการ เป็นอย่างไร แม้แต่แม่ชมพู่ก็เป็นซึมเศร้าหลังคลอด ทำไมเป็นกันเยอะ

เพิ่มวันลาคลอด ลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ ลาก่อนคลอด-หลังคลอด ได้เพิ่มขึ้นกี่วัน เช็คเลย!

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!