คัดเต้านม 100 สิ่งแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 44 สามารถบรรเทาอาการเต้านมแข็งได้อย่างไร ?

อาการ คัดเต้านม อาการที่คุณแม่หลังคลอดต้องเจอ เนื่องจากน้ำนมระบายไม่ทัน วันนี้เรามีวิธีบรรเทาอาการ คัดเต้านม มาฝากคุณแม่ค่ะ

 

เต้านมคัดเต้านมแข็ง

มักเป็นทั้งเต้าและเป็นทั้ง 2 ข้าง เกิดจากการสร้างน้ำนมแม่ได้มาก แต่ไม่สามารถระบายน้ำนมออกหรือระบายออกไม่ทัน จึงเกิดอาการคัด บวม แข็ง เต้านมจะร้อน ผิวแดงเป็นมัน เจ็บ ลานนมตึงแข็ง ทำให้หัวนมสั้นลงจนลูกดูดไม่ได้ น้ำนมไหลไม่ดี บางครั้งอาจจะมีไข้ได้ แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง

 

สาเหตุของการคัดตึงเต้านม

  • การคั่งของเลือดและน้ำเหลืองที่มาเลี้ยงบริเวณเซลล์ผลิตน้ำนม อาการคัดตึงเต้านมในระยะแรกนี้มักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ในระยะวันที่ 2 หลังคลอด ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนโปรแลคติน ภายหลังรกคลอด ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการผลิตน้ำนมที่ต่อมน้ำนม
  • การเพิ่มของปริมาณน้ำนม ซึ่งอาการคัดตึงเต้านมระยะนี้ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายหลังรกคลอด ทำให้ระดับฮอร์โมนโปรแลคตินเพิ่มขึ้น ทำให้เซลล์ผลิตน้ำนมเพิ่มขึ้นภายในต่อมน้ำนม
  • การคั่งของเลือด น้ำเหลืองและน้ำนม ที่บริเวณเซลล์ผลิตน้ำนม ทำให้เกิดการอุดตัน น้ำนมในถุง น้ำนมไม่สามารถระบายออกมาได้ เป็นสาเหตุทำให้อาการคัดตึงเต้านมกระจายไปทั่วทั้งเต้านม ปรากฏอาการในวันที่ 3-7 หลังคลอดสาเหตุที่มีการคั่งค้างของน้ำนมในถุงน้ำนมเกิดจากในระยะนี้มีการสร้างน้ำนมอย่างเต็มที่เมื่อ มารดาเริ่มให้ทารกดูดนมช้า ส่งผลให้ปฏิกิริยาเล็ตดาวน์เกิดขึ้นช้า น้ำนมจึงคั่งค้างอยู่ในถุงน้ำนมนาน ทำให้ถุงน้ำนมขยายใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ ความเครียดหรือความเจ็บปวดของมารดา เช่นในระยะหลังคลอด ปวดมดลูกเจ็บแผลฝี เย็บ หรือในมารดาครรภ์แรกซึ่งไม่เคยให้นมบุตรมาก่อนต้องอาศัยเวลาที่มากพอจึงจะทำให้เกิดการทำงานของปฏิกิริยาสะท้อนเล็ตดาวน์ ทำให้ปฏิกิริยาเล็ตดาวน์ทำงานไม่เต็มที่ จึงทำให้เกิดอาการคัดตึงเต้านมได้

อาการคัดตึงเต้านมเกิดจาก การคั่งของเลือดและน้ำเหลืองจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายหลังรกคลอด แต่ถ้าไม่ได้รับการกระตุ้นจากการดูดของทารก จะทำให้เกิดอาการคัดตึงเต้านมที่รุนแรงขึ้น คือปริมาณน้ำนมที่ถูกขับออกน้อยกว่าปริมาณน้ำนมที่ถูกสร้างขึ้นทั้งนี้เพราะมีปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ การที่มารดาเริ่มให้บุตรดูดนมช้า การดูดที่ไม่สม่ำเสมอของทารกจนทำให้มีการคั่งค้างของน้ำนมในถุงน้ำนานเกินไปในแต่ละมื้อ ทำให้มีอาการคัดตึงเต้านมเกิดขึ้นได้

 

แก้ปัญหาเต้านมคัดได้อย่างไร

คัดเต้านม

คัดเต้านม

  • บีบน้ำนมออกจากเต้าในขณะที่กำลังคัดเต้านมให้คุณแม่พยายามบีบน้ำนมออกจากเต้าให้ได้มากที่สุด โดยให้บีบจนลานหัวนมนุ่มลง ซึ่งก็จะทำให้อาการปวดคัดค่อยๆ ทุเลา และยังช่วยให้ลูกดูดนมได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย ที่สำคัญควรบีบนมออกจากเต้าบ่อยๆ เพื่อไม่ให้เกิดอาการคัดขึ้นมาอีกนั่นเอง
  • ให้ลูกดูดนมบ่อยๆควรให้ลูกดูดนมบ่อยๆ โดยดูดอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุก 2 ชั่วโมง เพื่อระบายน้ำนมออกมาจากเต้านมและเป็นการกระตุ้นให้มีการผลิตน้ำนมเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะในตอนกลางคืน ก็ควรปลุกลูกขึ้นมาดูดนมเช่นกัน แต่สำหรับใครที่ลูกไม่ยอมดูดนม แนะนำให้ปั๊มนมใส่ภาชนะเก็บไว้ในตู้เย็น ซึ่งนอกจากจะลดอาการคัดเต้านมได้แล้ว ก็ยังสามารถเก็บน้ำนมไว้ให้ลูกดื่มต่อไปได้อีกด้วย
  • ประคบเย็นเป็นการประคบด้วยน้ำแข็งหรือผ้าที่ชุบน้ำเย็นบิดหมาดๆ โดยให้ประคบหลังจากที่ให้ลูกดูดมเสร็จแล้ว ซึ่งก็จะช่วยให้อาการปวดทุเลาลงได้ดีทีเดียว หรือหากปวดคัดเต้านมในตอนที่ลูกไม่ยอมดูดนม ก็ให้บีบน้ำนมออกในระดับหนึ่งก่อน แล้วจึงประคบเย็นเพื่อให้อาการบรรเทาลงนั่นเอง แต่ทั้งนี้ให้ระวังอย่าประคบโดนหัวนมเพราะอาจทำให้หัวนมแตกและเจ็บได้
  • ประคบด้วยผ้าขนหนูอุ่นๆเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยแก้อาการเต้านมคัด โดยให้ทำก่อนจะให้ลูกดูดนม โดยให้นำผ้าขนหนูอุ่นๆ ผืนใหญ่มาประคบให้รอบเต้านมทั้งสองข้าง ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที จะทำให้อาการปวดทุเลาลง และลานนมนุ่มขึ้น ช่วยให้ลูกสามารถดูดนมได้ง่ายกว่าเดิม
  • ปรึกษาแพทย์กรณีที่มีอาการเต้านมคัดบ่อยๆ ถึงแม้จะบีบน้ำนมออกไปบ้างแล้วก็ยังคงคัดตึงและมีอาการปวดมาก แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์โดยตรง ซึ่งแพทย์จะให้คำแนะนำที่ดีและเหมาะสมที่สุด โดยควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดด้วย

 

การบีบน้ำนมออกจากเต้า

  • ล้างมือให้สะอาด
  • เตรียมขวดนมที่สะอาดผ่านการนึ่งทำความสะอาดมาแล้ว
  • มารดานั่งในท่าที่เหมาะสมและสบาย  ไม่ก้มหลัง  เพราะจะปวดหลัง
  • ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบเต้านมประมาณ 3 – 5 นาที  ก่อนบีบ
  • วางหัวแม่มือไว้ที่ลานหัวนม  และนิ้วมืออีก 4 นิ้ว  วางใต้เต้านม
  • กดนิ้วเข้าหากระดูกทรวงอก  แล้วบีบนิ้วหัวแม่มือและนิ้วทั้งสี่เข้าหากัน  โดยเคลื่อนนิ้วหัวแม่มือมาทางด้านหน้าเล็กน้อย  แต่ไม่เลยขอบลานหัวนม
  • บีบเป้นจังหวะและย้ายตำแหน่งที่วางนิ้วมือรอบๆหัวนมเพื่อบีบน้ำนมออกให้หมดทุกแห่ง  และใช้ขวดที่สะอาดรองรับน้ำนมที่บีบออก
  • เปลี่ยนการบีบที่อีกเต้าทุก 5 นาที  หรือเมื่อน้ำนมไหลช้า
  • เมื่อบีบเต้านมเสร็จ  ให้หยดน้ำนมลงบนหัวนม 2 – 3 หยด  แล้วปล่อยให้แห้งเพื่อป้องกันหัวนมแตก

 

ท่านวดเต้านมบรรเทาอาการ

นวดคลึงเต้า: เป็นการวอร์มหรืออุ่นเต้านมให้น้ำนมไหลเวียนได้ดีมากขึ้น คุณแม่สามารถใช้บริเวณข้อนิ้วมือหรือบริเวณฝ่ามือนวดคลึงบริเวณเต้านม นวดเป็นแบบก้นหอย นวดวนทั้งทิศบนล่างและทิศซ้ายขวา นวดคลึงจนกว่าเต้านมคุณแม่จะเริ่มนิ่ม ในช่วงแรกจะรู้สึกว่าเต้าค่อนข้างคัด หรือแข็งหน่อย ให้คุณแม่คลึงไปเรื่อยๆ ใช้เวลาประมาณ 2 – 3 นาทีจะรู้สึกว่าเต้าเริ่มนิ่มลง

นวดหัวนม-ลานนม: หัวนม และลานนมเป็นส่วนที่ค่อนข้างสำคัญมาก เพราะเป็นส่วนของปลายท่อน้ำนม เหมือนเป็นการเปิดปลายท่อซึ่งจะทำให้น้ำนมไหลได้ค่อนข้างง่าย ให้คุณแม่ใช้ 2 หรือ 3 นิ้ว ประคองไว้ข้างล่างบริเวณหัวนมหลังจากนั้นให้ใช้นิ้วโป้งกดลงจากด้านบนบริเวณหัวนม เสร็จแล้วให้คุณแม่คลึงวน เช่นเดียวกับการวอร์มเต้า คือมีทิศบน-ล่าง และทิศซ้าย-ขวา คลึงจนกว่าหัวนมจะนิ่ม เมื่อหัวนมเริ่มนิ่มให้คุณแม่เลื่อนมาที่ลานนม และคลึงเหมือนเดิม จนกว่าลานนมจะนิ่มด้วย คุณแม่จะรู้สึกว่าน้ำนมไหลได้ง่ายขึ้น

นวดบีบไล่นม: เทคนิคสำหรับบีบไล่เคลียร์คือให้คุณแม่ใช้มือ ทำมือเป็นรูปตัวซีด้วยนิ้วโป้ง นิ้วกลาง นิ้วชี้ ให้ 3 นิ้วนี้ประคองที่เต้านม โดยใช้นิ้วกลางยกเต้าขึ้น แล้วใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้อยู่บริเวณที่ขอบลานนม นิ้วชี้อยู่ด้านล่าง นิ้วโป้งอยู่ด้านบน แล้วกดไปที่ขอบลานนมจากนั้นถ่างนิ้วออก ให้รู้สึกว่าหัวนมตึง แล้วให้คุณแม่ค่อยๆ บีบไล่เต้านมด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้ การทำลักษณะนี้จะเป็นการเคลียร์เต้า คุณแม่สามารถประคบร้อนก่อนที่จะเริ่มนวดเพื่อให้น้ำนมไหลเวียนดีขึ้น หากคุณแม่ไม่มีที่ประคบร้อน หรือถุงน้ำร้อน คุณแม่สามารถประยุกต์โดยนำขวดนม ใส่น้ำร้อนประมาณครึ่งขวด จากนั้นใช้ผ้าอ้อมพันที่ก้นขวดแล้วนำก้นขวดนั้นมาคลึงที่เต้านม ในลักษณะวนคลึงที่เต้านม จะช่วยทำให้การไหลเวียนน้ำนมดีขึ้น

 

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง : 

5 วิธี ขจัดความเครียดสำหรับแม่ท้อง

นวดเปิดท่อ เทคนิคนวดเปิดท่อด้วยตนเองทีละขั้นตอน อย่างละเอียด

หัวนมแตก ทำไงดี ต้องหยุดให้นมลูกไหม?

ที่มา : chulalongkornhospital, mali, mamastory

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!