คนท้องกินหมูกระทะได้ไหม กินอย่างไรไม่ให้เป็นอันตรายต่อลูก สายบุฟเฟ่ต์ต้องอ่าน!
คนท้องกินอะไรได้บ้างเป็นคำถามอันดับต้น ๆ ของคุณแม่ตั้งครรภ์ อีกหนึ่งคำถามที่หลายคนคาใจคือ คนท้องกินหมูกระทะได้ไหม เรามาไขข้อข้องใจกัน
คนท้องกินอะไรได้บ้าง และไม่ควรกินอะไรบ้าง เป็นคำถามยอดฮิตของเหล่าคุณแม่มือใหม่เลย และโดยเฉพาะแม่ ๆ สายกินที่เคยตามใจปากมาก่อน พอตอนนี้ไม่ได้ตัวคนเดียวอีกต่อไปแล้ว ก็ต้องระวังเรื่องอาหารการกินมากเป็นพิเศษ และอีกหนึ่งอาหารยอดฮิตที่หลายคนเคยกินกันบ่อยมาก นั่นก็คือ หมูกระทะ เลยเกิดเป็นคำถามคาใจขึ้นมาว่า คนท้องกินหมูกระทะได้ไหม เราเลยจะมาไขข้อข้องใจให้เหล่าคุณแม่กัน
คนท้องกินหมูกระทะได้ไหม กินอย่างไรไม่ให้เป็นอันตรายต่อลูก
จริง ๆ แล้วหมูกระทะส่วนใหญ่มักจะเป็นบุฟเฟ่ต์ ดังนั้นก็แปลว่ามีอาหารให้เลือกกินได้อย่างหลากหลาย เป็นโชคดีของเหล่าคุณแม่สายกิน ที่ยังสามารถกินหมูกระทะได้อยู่บ้าง เพียงแค่ต้องหลีกเลี่ยงอาหารบางอย่าง และระมัดระวังเวลากินมากกว่าเดิม เพื่อไม่ให้กระทบและเป็นอันตรายต่อลูกน้องในครรภ์
กินหมูกระทะอย่างไรไม่ให้เป็นอันตรายต่อลูก
- กินอาหารที่ปรุงสุกเท่านั้น
- หลีกเลี่ยงเนื้อติดมัน
- หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูป
- หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดจัด
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลมาก
- เลือกกินอาหารให้หลากหลาย
- ระมัดระวังเรื่องผงชูรส
สิ่งที่ต้องระมัดระวังเวลากินหมูกระทะ
กินอาหารที่ปรุงสุกเท่านั้น
เวลากินหมูกระทะ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรปิ้งหรือย่างเนื้อให้สุกเท่านั้น หลีกเลี่ยงเนื้อที่ไม่ปรุงสุก เนื่องจาก ต้องระมัดระวังเรื่องพยาธิ หากร้านไหนมีพวกซูชิ ให้งดซูชิปลาดิบไปก่อน รวมไปถึงหอยนางรมด้วย แต่ใขขณะเดียวกัน ก็ไม่ควรปิ้งเนื้อจนไหม้เกรียมเกินไป เพราะอาจสะสมเป็นสารก่อมะเร็งได้ เรียกว่าเวลากินหมูกระทะ ให้ปิ้งย่างให้เนื้อสุกกำลังดี ไม่ดิบและไม่ไหม้นั่นเองค่ะ
หลีกเลี่ยงเนื้อติดมัน
ใครที่ชอบกินเนื้อติดมัน ช่วงตั้งครรภ์อาจจะต้องเพลา ๆ ลงหน่อย เนื่องจากเนื้อติดมันและอาหารที่มีไขมันสูง เป็นอาหารที่คนท้องไม่ควรกิน เพราะนอกจากจะทำให้อ้วน เสี่ยงน้ำหนักพุ่งพรวดแล้ว ยังเป็นอาหารที่ย่อยยาก หากกินมาก ๆ เข้า ก็จะทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ท้องอืด หรือแน่นท้องได้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของคุณแม่ตั้งครรภ์
หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูป
เนื้อสัตว์ที่ถูกแปรรูป บางครั้งเราก็ไม่รู้ถึงส่วนผสมและสารปรุงแต่งที่ถูกใส่เข้ามาเพิ่ม ดังนั้นเหล่าคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูปต่าง ๆ ถ้าหากยังไม่แน่ใจในเรื่องส่วนผสมที่ใช้ เช่น ปูอัด เบค่อน ไส้กรอก เนื่องจากในเนื้อสัตว์แปรรูปเหล่านั้น อาจมีสารปรุงแต่งบางอย่าง ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้
หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดจัด
ถึงคุณแม่ตั้งครรภ์จะไม่ใช่คนป่วย ไม่จำเป็นต้องเคร่งในเรื่องของรสชาติอาหารมักนัก แต่อาหารในร้านบุฟเฟ่ต์หมูกระทะ ก็ถือว่ามีให้เลือกหลากหลายมาก ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารรสเผ็ดจัด เพราะอาจทำให้คุณแม่ปวดท้อง และเกิดอาการอาหารเป็นพิษได้
หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลมาก
อาหารที่เต็มไปด้วยน้ำตาล จัดเป็นอาหารที่ไม่ได้มีคุณค่าทางอาหารที่จำเป็นต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ ไม่มีประโยชน์ แถมยังไปเพิ่มน้ำหนักด้วย เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ด้วย ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงขนมหวาน ไอศกรีม รวมไปถึงน้ำอัดลม หรือหากอยากกินจริง ๆ ก็ควรกินแต่น้อย อย่ากินบ่อยมาก ไม่งั้นอาจทำให้น้ำหนักเพิ่มมากเกินไปได้ แถมยังลงที่ตัวแม่ล้วน ๆ เลย
เลือกกินอาหารให้หลากหลาย
อย่างที่เรารู้กันว่า ที่ร้านหมูกระทะนั้นมีอาหารให้เลือกกินอย่างหลากหลาย ไม่ใช่แค่เนื้อหมู ไม่ว่าจะเป็นข้าว ของทอด ผักต่าง ๆ หรือขนมหวาน ดังนั้นเวลาไปกินหมูกระทะ ควรเลือกกินอาหารให้หลากหลาย กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ อย่ากินแต่เนื้อเพียงอย่างเดียว ควรกินผักและผลไม้ในมื้อนั้นด้วย เพื่อช่วยให้ระบบย่อยทำงานได้ง่ายขึ้น ท้องจะได้ไม่อืดค่ะ
ระวังเรื่องผงชูรส
ผงชูรสเป็นอาหารที่ไม่ได้มีคุณค่าทางอาหาร คุณแม่ตั้งครรภ์ควรระมัดระวังไม่ให้ร่างกายได้รับผงชูรสมากเกินไป ถ้าหากคุณแม่ตั้งครรภ์ไปกินหมูกระทะตามร้านต่าง ๆ เราอาจไม่รู้เลยว่าที่ร้านใส่ผงชูรสมากน้อยแค่ไหน จึงไม่ควรกินหมูกระทะบ่อยมาก กินบ้างเป็นครั้งคราวให้พอหากอยากก็พอ หรือทางที่ดีเลย คุณแม่อาจจะทำกินหมูกระทะกินเองที่บ้านจะปลอดภัยที่สุด
อดใจไว้เพียง 9 เดือนเอง หลังจากนั้นก็จะได้กินของอร่อย ๆ แล้ว ในระหว่างท้อง ก็ลองกินอาหารจำพวกนี้ไปก่อน รับรองทำให้สุขภาพดีทั้งแม่และลูกแน่นอน
- กรดไขมันโอเมก้า 3 จากปลาทะเล (Omega-3 fatty acids) ปลาทะเลอย่าง ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาซาบะ ปลาแมคเคอเรล ปลานิลทะเล ปลาดุกทะเล ฯลฯ รวมถึงหอยนางรม หอยพัด หอยกาบ กุ้ง และปลาหมึก จะอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ช่วยในเรื่องการกระตุ้นสมอง บำรุงเซลล์สมอง และเพิ่มประสิทธิภาพความจำ โดยมีผลการศึกษาวิจัยที่พบว่า ยิ่งคุณแม่ตั้งครรภ์รับประทานปลามากในช่วง 2 ไตรมาสแรก ทารกในครรภ์ก็จะยิ่งมีพัฒนาการด้านสติปัญญาสูงมากขึ้น (ศึกษาจากการวัดระดับคะแนนด้านสติปัญญาของทารกเมื่ออายุ 6 เดือน) แต่อย่างไรก็ตาม คุณแม่ก็ควรหลีกเลี่ยงหรือระมัดระวังสารปรอทที่อาจเจือปนอยู่มาจากปลาบางชนิดหรือบางตัวด้วย เช่น ปลาที่ควรหลีกเลี่ยง ปลาฉลาม ปลาอินทรี ปลาไทล์ฟิช ปลากระโทงแทงดาบ ปลาทูน่า ปลากระพง ปลาฮาลิบัต ปลามาลิน ปลาวอลล์อาย ปลาจำพวกกะพงปากกว้าง ปลาเก๋า ปลาสำลีน้ำลึก ฯลฯ เพราะปลาพวกนี้จะมีสารปรอทเจือปนอยู่มาก และควรหันมาเลือกรับประทานปลาทะเลชนิดอื่น ๆ ที่มีสารปรอทเจือปนอยู่น้อยแทน เหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 2-3 เพื่อการเจริญเติบโตของเซลล์สมอง
- โฟเลต (กรดโฟลิก) เป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยสร้างเซลล์สมอง ระบบประสาท และไขสันหลังให้ทารกในครรภ์ การได้รับโฟเลตไม่เพียงพออาจส่งผลให้ทารกในครรภ์เกิดความพิการทางสมองและมีความเสี่ยงต่อการเป็นท่อระบบประสาทผิดปกติ เช่น Spina Bifida ลดลงอย่างชัดเจน ถ้าคุณแม่ได้รับโฟเลตในช่วงระหว่างที่มีการปฏิสนธิและในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยโฟเลต ได้แก่ ไข่แดง ตับ ผักใบเขียวเข้ม แคร์รอต แคนตาลูป ฟักทอง เอพริคอต อะโวคาโด อาร์ทิโชก ถั่ว แป้งไรย์แบบสีเข้มที่ไม่ผ่านการขัดสี ทอร์ทูลายีสต์ ฯลฯ เหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกไตรมาส โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ซึ่งมีการสร้างเซลล์ใหม่เป็นจำนวนมาก และการได้รับโฟเลตไม่เพียงพอในช่วงไตรมาสที่ 2-3 จะทำให้ทารกมีความเสี่ยงต่อพัฒนาการทางสมองและประสาทไขสันหลัง อาจทำให้ทารกมีความพิการทางสมองและประสาทได้
- ธาตุเหล็ก คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับธาตุเหล็กเพิ่มขึ้นจากปกติเป็น 2 เท่า เพราะธาตุเหล็กสามารถช่วยเสริมสร้างการทำงานของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงได้ ซึ่งจะช่วยนำออกซิเจนไปให้ทารกในครรภ์อีกทอดหนึ่ง ถ้าคุณแม่ขาดธาตุเหล็ก ทารกก็จะขาดออกซิเจนตามไปด้วย ซึ่งการขาดออกซิเจนของทารกในครรภ์อาจทำให้ทารกมีความเสี่ยงที่จะมีพัฒนาการล่าช้าและมีระดับไอคิวที่ไม่สูงเท่าที่ควร ดังนั้นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กเป็นประจำ เช่น เนื้อแดง เนื้อวัว เนื้อหมู ตับ ไข่แดง หอยกาบ หอยนางรม ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช ลูกพีชแห้ง ถั่วต่าง ๆ ข้าวโอ๊ต กากน้ำตาล หน่อไม้ฝรั่ง ผักกูด ถั่วฝักยาว ผักแว่น เห็ดฟาง พริกหวาน ใบแมงลัก ใบกะเพรา มะกอก กระถิน ฯลฯ เหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 2-3 เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณของเลือดและสะสมน้ำนมในช่วงนี้
ที่มา : medthai
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :