คนท้องกับแมวภัยใกล้ตัวที่คาดไม่ถึง
ผู้ที่ชื่นชอบเจ้าเหมียวน้อยอย่าเพิ่งทำตาขวางกันนะคะกับบทความนี้ เนื่องจากเป็นการเตือนภัยกับแม่ ๆ ที่ตั้งครรภ์ค่ะ อันตรายจากแมวเหมียวอาจเป็นอันตรายที่คาดไม่ถึงเพราะส่งผลต่อลูกในครรภ์ได้ ติดตามอ่านกันค่ะ
ข้อดีและข้อเสียของการเลี้ยงสัตว์ในช่วงตั้งครรภ์
ข้อดี แม้ว่างานวิจัยจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าคุณแม่ที่มีสัตว์เลี้ยงตอนตั้งครรภ์ จะทำให้ความเครียดและความวิตกกังวลในการตั้งครรภ์ของคุณแม่ลดลง จิตใจผ่อนคลาย มองโลกในแง่ดี คลายเหงาเพราะมีสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน ส่งผลดีต่อสุขภาพ และอารมณ์ของคุณแม่ และลูกน้อยในครรภ์เป็นอย่างยิ่งเลยล่ะค่ะ การเล่นกับสัตว์เลี้ยงทั้งหลายยังเป็นการออกกำลังกายไปในตัวด้วย
ข้อเสีย หรือข้อที่ควรระวังในขณะตั้งครรภ์ เพราะสัตว์เลี้ยงทำให้เกิดโรคได้
คนท้องกับแมว ภัยใกล้ตัวที่คาดไม่ถึง
โรคขี้แมวหรือโรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis)
อ.สพ.ญ.ดร.วรพร สุขุมาวาสี จากหน่วยปรสิตวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคขี้แมวนี้ว่า ในบรรดาโรคสัตว์สู่คนที่คนสามารถติดต่อจากแมวได้นั้น โรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) หรือโรคขี้แมว เป็นโรคที่ถูกขนานนามมากที่สุดอีกโรคหนึ่ง โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ที่มักได้ยินคำเตือนว่าควรระมัดระวังเป็นพิเศษ
โรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) มีสาเหตุจากอะไร
เชื้อนี้เกิดจากเชื้อโปรโตซัว ซึ่งจะเจริญและขยายพันธุ์ในลำไส้ของแมว โดยแมวที่เลี้ยงแบบปล่อย มักจะชอบเที่ยวนอกบ้าน ซึ่งอาจจะไปกินเนื้อดิบ ๆ หรือกินหนู และแมลงสาบที่ติดเชื้อ เชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายแมว ไปอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ตลอดจนลำไส้ของแมว และเชื้อจะปนเปื้อนออกมากับอุจจาระของแมว
อาการและความรุนแรงของโรค
1.กรณีอาการไม่รุนแรง อาจพบเพียงอาการคล้ายหวัด หรือปวดตามกล้ามเนื้อ 2 – 3 วันจนถึง 2 – 3 สัปดาห์อาการเหล่านี้จะหายไป ซึ่งปกติแล้วคนส่วนใหญ่จะมีอาการแบบไม่รุนแรง
2.กรณีอาการรุนแรง อาจพบ อาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงซึ่งไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวด ร่างกายด้านหนึ่งอ่อนแรงชัก มีปัญหาด้านการมองเห็น การพูดและการเดิน
การรักษา
การรักษามีประสิทธิภาพแค่ไหน คำตอบคือ หากมีการติดเชื้อระหว่างการตั้งท้อง สามารถทำการรักษาได้ โดยที่คุณแม่และเด็กต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดระหว่างการตั้งท้องและหลังจากเด็กเกิด
ขี้แมวอันตรายต่อคนท้องอย่างไร
คุณแม่ที่เคยชินกับการดูแลเจ้าเหมียวและไปทำความสะอาดกระบะทราย และสัมผัสถูกอุจจาระแมว และไม่ล้างมือก่อนทานอาหาร คุณแม่ก็จะได้รับเชื้อโรคนี้ แล้วเชื้อจะส่งผ่านทางรกไปสู่ลูกน้อยในครรภ์ได้ การติดเชื้อในช่วงแรกของการตั้งครรภ์( 3 เดือนแรก ) มีโอกาสประมาณ 45% ที่จะติดต่อสู่ทารก ทั้งนี้พบว่าทารกที่ติดเชื้อ 60%ไม่พบอาการผิดปกติ 10% จะเสียชีวิต อีก 30% จะมีอาการรุนแรงซึ่งผลที่มีต่อเด็ก คือ ถ้าคุณเพิ่งได้รับเชื้อครั้งแรกในขณะที่ตั้งครรภ์หรือก่อนตั้งครรภ์ เชื้อนี้สามารถผ่านไปที่ตัวเด็กได้ โดยที่คุณแม่ไม่ได้แสดงอาการของโรคนี้ออกมา แต่หลังจากคลอดประมาณ 6-7 เดือน เด็กที่ติดเชื้อโรคนี้จะมีอาการ ตาบอด ปัญญาอ่อน มีปัญหาด้านการเรียนรู้หรือภาวะบกพร่องทางด้านจิตใจ (mental disability ) บางครั้งอาจพบเด็กแรกเกิดที่ติดเชื้อ มีอาการตาอักเสบอย่างรุนแรง หรือสมองถูกทำลายตั้งแต่แรกคลอดเลยก็ได้ สำหรับการติดเชื้อก่อนตั้งครรภ์หรือเลยช่วง 3 เดือนแรกไปแล้วมักไม่พบการติดต่อสู่ทารกในครรภ์
คุณแม่ท้องจะสามารถป้องกันโรคจากขี้แมวนี้ได้อย่างไร คลิกหน้าถัดไป
การป้องกัน
1. กินอาหารที่ปรุงด้วยความร้อนจนสุก สะอาดเสมอ ถ้าเป็นผลไม้ควรล้างให้สะอาดและปอกเปลือก (ถ้าปอกได้)
2.แยกภาชนะและอุปกรณ์ครัวที่สัมผัสกับเนื้อดิบ ไม่ให้มาสัมผัสกับอาหารที่ปรุงแล้วโดยเด็ดขาด
3. คนท้องควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินหรือทราย โดยเฉพาะกระบะทรายของแมวหากจำเป็นให้สวมถุงมือ และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัส
4. หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือเล่นกับแมวจรจัด ถ้าเป็นแมวที่เลี้ยงเองควรให้กินอาหารที่สุกสะอาดหรืออาหารกระป๋อง เพราะแมวก็ได้เชื้อมาจากอาหารไม่สะอาดค่ะ
5. ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนกินหยิบอาหารใดๆ เข้าปาก
ข้อควรรู้
โรคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณแม่ท้องทุกคน เนื่องจากคุณแม่ส่วนใหญ่ที่แข็งแรงดี จะมีภูมิต้านทานโรคนี้อยู่ในระดับหนึ่งแล้ว หากได้รับเชื้อจะมีอาการคล้ายเป็นหวัด แล้วก็หายไป คุณแม่ท้องที่ต้องระวังคือ คุณแม่ในกลุ่มเสี่ยงที่ป่วยเป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เอดส์) คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งซึ่งอยู่ในช่วงให้เคมีบำบัด และผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ เพราะคุณแม่ในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีภูมิต้านทานต่อโรคต่ำ ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย โดยคุณแม่ที่ได้รับเชื้อโรคนี้จะมีไข้และต่อมน้ำเหลืองบวม บางรายจะมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้
การปฏิบัติตนที่เหมาะสมของแม่ตั้งครรภ์กับสัตว์เลี้ยง
1.กำหนดขอบเขตให้ชัดเจน คือ จากที่เคยให้เจ้าเหมียวมาวิ่งเล่นหรือมานอนด้วยนั้น เมื่อตั้งครรภ์แล้วไม่ควรให้เจ้าเหมียวมานอนนะคะ ควรจัดที่ใหม่ให้เหมาะสมและไม่อยู่กับกัน และการทำความสะอาดกรงหรือที่นอน กระบะอึ ก็ไม่ควรลงมือทำเองนะคะ ช่วงนี้ก็ควรให้คุณพ่อช่วยทำความสะอาดแทนจะดีกว่าเพื่อป้องกันเชื้อโรคที่อาจแพร่มาสู่คุณแม่ได้
2.สอนให้ไม่กระโดดมาทับตัว แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเคยเล่นแรง ๆ กับเจ้าตูบหรือน้องเหมียว พอท้องแล้วไม่ควรเล่นแบบนี้เพราะอันตรายอาจทำให้คุณแม่หกล้มได้ หรือเกิดการกระทบกระเทือนลูกในครรภ์ได้ค่ะ
3.ปรึกษาหมอ โดยเฉพาะคนท้องที่เลี้ยงแมว เพราะในแมวมีพยาธิและเชื้อโรคที่เป็นอันตรายซ่อนอยู่ในอุจจาระ เมื่อสัมผัสจะได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายและมีผลกระทบต่อลูกในครรภ์ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำที่เหมาะสม
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.thaihealth.or.th/Content/
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง