ข้อห้ามช่วงให้นมลูก 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 52
ช่วงที่คุณแม่ต้องให้นมลูก หลังจากที่คลอดมาแล้วนั้น นับว่าเป็นช่วงเวลาที่เปราะบางมาก ตัวคุณแม่เองจะต้องดูแลตัวเองมากเป็นพิเศษ ไม่แตกต่างจากช่วงที่ตั้งครรภ์เลยทีเดียว นั่นเป็นเพราะ ทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณแม่ทาน คุณแม่ดื่ม หรือแม้แต่สิ่งที่คุณแม่กระทำ มักจะส่งผลถึงน้ำนม ที่จะต้องให้กับลูกน้อยในทุก ๆ มื้อ เรามาดูกันดีกว่าค่ะ ว่ามี ข้อห้ามช่วงให้นมลูก อะไรบ้าง ที่ตัวคุณแม่เองนั้นต้องระวังเป็นพิเศษ
ข้อห้ามช่วงให้นมลูก มีอะไรบ้าง เรามาเช็คลิสกันดูดีกว่าค่ะ และพยายามหลีกเลี่ยง เพื่อคุณภาพน้ำนมที่ดีที่สุด ให้กับลูกของคุณกันนะคะ
- ไม่ควรให้ทารกหยุดนมแม่ก่อน 6 เดือน ช่วงเวลา 6 เดือนแรกนี้ ลูกควรกินนมแม่อย่างเดียว โดยไม่ต้องดื่มน้ำหรือทานอาหารอื่น เนื่องจากระบบการย่อยของเด็กเล็กยังพัฒนาไม่สมบูรณ์พอที่จะย่อยอาหารอย่างอื่นได้ นมแม่จะเหมาะสมกับระบบการย่อยของทารกมากที่สุด และในนมแม่มีสารอาหารที่สำคัญที่สุด เช่น MFGM และสารอาหารสำคัญอื่น ๆ ที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางสมองและภูมิคุ้มกันของลูกน้อย ที่เพียงพอกับความต้องการของลูกอยู่แล้ว อีกทั้งนมแม่ยังมีสารต้านการเจริญเติบโตของเชื้อโรคที่จะเกิดในปาก จึงไม่ต้องกินน้ำล้างปาก การป้อนน้ำลูกกลับทำให้ลูกอิ่ม ส่งผลให้ลูกกินนมแม่ได้น้อยลง
- ขณะอาบน้ำไม่ควรฟอกสบู่ตรงหัวนมมากเกินไป เพราะจะทำให้ผิวแห้ง อีกทั้งไม่ควรแคะ แกะ เกาบริเวณหัวนม เพราะเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาหัวนมแตกที่จะเป็นอุปสรรคต่อการให้นมลูก อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ อีกด้วย
- ห้ามใช้ครีมทาที่ลานนมและหัวนม เพราะอาจทำให้เกิดการอุดตันของท่อน้ำนมได้ เมื่อท่อน้ำนมอุดตัน ส่งผลให้เกิดการอักเสบและทำให้คุณแม่มีอาการเจ็บเต้านม กระทบกับการให้นมลูก จนถึงอาจให้นมลูกไม่ได้ ทั้งยังเสี่ยงมีสารเคมีตกค้างบริเวณหัวนมอีกด้วย ยกเว้นในกรณีที่หัวนมแตกหรือมีแผล อาจใช้ครีมลาโนลิน ทาบาง ๆ บริเวณที่เป็น
- ก่อนให้นมลูกไม่จำเป็นต้องเช็ดหัวนมทุกครั้ง แต่ควรเช็ดด้วยน้ำสะอาดหรือล้างด้วยสบู่ถ้าแม่เหงื่อออกมาก หรือหัวนมมีคราบน้ำนมหรือน้ำลายของลูกน้อย ทั้งนี้การเช็ดหรือล้างมากๆ จะทำให้ผิวยิ่งแห้ง หัวนมจะแตกง่ายขึ้น เมื่อหัวนมแตกคุณแม่ก็จะเจ็บ หากเป็นมากอาจต้องงดให้ลูกดูดเต้า และใช้วิธีปั๊มแทน ทาลาโนลิน และรอเวลาให้หัวนมกลับมาปกติ
- ไม่ควรให้ลูกดูดนมจากเต้าสลับกับดูดจากขวด โดยเฉพาะช่วงเดือนแรกของการให้นม เพราะจะทำให้ลูกสับสนกับวิธีการดูดที่แตกต่างกัน การดูดจากเต้าลูกต้องใช้กล้ามเนื้อหลายมัดทำงาน ส่วนการดูดจากขวดเป็นการกัดจุกนมไว้ไม่ให้นมไหลในจังหวะที่ลูกกลืน ดังนั้นเวลาเปลี่ยนจากเต้าเป็นขวด จะทำให้ลูกกลืนนมไม่ทัน เพราะนมจะไหลเข้าปากตลอด ส่วนการเปลี่ยนจากขวดเป็นเต้าก็จะทำให้ลูกจะกัดนมแม่แรง เพราะเขาชินกับการกัดจุกนมนั่นเอง หรือบางครั้งการที่ลูกดูดนมจากขวดได้สะดวกกว่า อาจทำให้ลูกไม่อยากดูดนมจากเต้าอีก นอกจากนี้การที่ลูกได้มีโอกาสดื่มนมแม่จากอก ยังเป็นการสร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่างแม่กับลูกอีกด้วย
- ไม่ควรอุ่นนมแม่ด้วยไมโครเวฟ การอุ่นนมแม่ที่ถูกต้องคือ ให้อุ่นขวดนมในหม้อหรือเครื่องอุ่นนม แต่ห้ามอุ่นน้ำนมโดยตรงบนเตาหรือไมโครเวฟ เพราะความร้อนจะทำลายสารอาหารที่อยู่ในนม น้ำนมแม่มีสารอาหารสำคัญอยู่มากมาย ว่าจะเป็น MFGM หรือ DHA ซึ่งปริมาณดีเอชเอที่มีในนมแม่นั้น ธรรมชาติจะมีการปรับปริมาณให้เหมาะสมตามวันเวลาเพื่อเข้าไปปรับสมดุลในร่างกายของเด็ก ช่วยให้เซลล์สมองและสายตาของเด็กพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์
- หลังคลอดไม่ควรลดน้ำหนักด้วยการอดอาหาร เพราะคุณแม่มีกิจกรรมที่ต้องทำมากขึ้นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการนอนหลับที่เปลี่ยนไป จากที่เคยนอนหลับยาวตลอดคืนกลายมาเป็นหลับ ๆ ตื่น ๆ เพราะต้องตื่นขึ้นมาให้นมและเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูก ทั้งนี้ การควบคุมน้ำหนักนั้นสามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่ให้แคลอรี่สูงแต่คุณค่าทางอาหารต่ำ เช่น ขนมหวาน อาหารที่มันมาก น้ำอัดลม เป็นต้น ร่วมกับการออกกำลังกาย ซึ่งจะได้ผลดีกว่าและทำให้ร่างกายแข็งแรงกว่าการลดน้ำหนักด้วยการจำกัดอาหารเพียงอย่างเดียว
- ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ ตัวคุณแม่ควรที่จะหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะนอกจากแอลกอฮอล์จะส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูงแล้ว ตัวแอลกอฮอล์ยังสามารถปนออกมากับน้ำนมของแม่ได้อีกด้วย นอกจากนั้นการดื่มแอลกอฮอล์ 1 แก้วจะทำให้ปริมาณน้ำนมลดลงถึง 23% และการดื่มมากกว่า 2 แก้วอาจจะยับยั้งปฏิกิริยาน้ำนมพุ่งด้วย นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยพบว่า การดื่มเป็นประจำทุกวัน จะมีผลทำให้ลูกน้ำหนักขึ้นช้า และกล้ามเนื้อมัดใหญ่พัฒนาช้าลงด้วยนะคะ
- ห้ามกินของแสลง งดทานอาหารประเภทหมักดอง อาหารค้างคืน อาหารที่มีสารปรุงแต่ง เพราะอาจจะทำให้ท้องเสีย หรือท้องอืดได้ง่าย เพราะหากคุณแม่เกิดอาการท้องเสีย จะส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการอ่อนเพลีย สูญเสียน้ำมากกว่าปกติ ส่งผลทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตน้ำนมนั้น ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนยาหรือสมุนไพรที่อวดอ้างว่ามีสรรพคุณ ช่วยเพิ่มน้ำนม หรือเร่งให้มดลูกเข้าอู่เร็วนั้น ก็ไม่ควรกินเช่นกัน เพราะอาจจะมีส่วนผสมของสารสเตยรอยด์ ยิ่งอยู่ในช่วงให้นมสิ่งที่แม่กินเข้าไปก็จะถ่ายทอดไปยังลูกด้วย
- ห้ามกินยา งดใช้ยากลุ่มรักษาสิว ยาปฏิชีวนะ ยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ยากระตุ้นฮอร์โมน หรือยารักษาโรคประจำตัว ฯลฯ รวมถึงยาที่อยู่ในกลุ่มสารเสพติด เช่น ยานอนหลับ ยาแก้ปวดชนิดต่าง ๆ เพราะจะถ่ายทอดไปถึงลูกผ่านทางน้ำนม ส่งผลถึงสุขภาพร่างกายในระยะยาวของลูกได้เช่นกัน
- ผักบางชนิด ผักบางชนิดจะมีแก๊สมาก เช่น กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ หากกินมากไปก็อาจจะทำให้ลูกท้องอืดแน่นเฟ้อ ได้เช่นกัน เมื่อลูกท้องอืด จะเกิดอาการอึดอัด ไม่สบายตัว ท้องจะเกิดอาการแข็งตัว เราจะสังเกตได้จากการร้องไห้ของเด็ก ว่าผิดไปจากปกติหรือไม่ และควรเช็คที่ท้องว่าแข็ง หรือแน่น กว่าปกติไหม? เพราะนั่นคือสัญญาณร้องขอความช่วยเหลือจากลูกน้อยนั่นเองค่ะ
- อาหารหมักดองต่าง ๆ อาหารหมักดอง มีผลทำให้รสชาติของน้ำนมเปลี่ยนได้ และอาจจะทำให้ตัวคุณแม่ท้องเสีย ทางที่ดีควรกินผักผลไม้สด ๆ ดีกว่าค่ะ
- อาหารที่รสเผ็ดจัด อาหารรสเผ็ดจัดที่หมายถึง ในที่นี้จะต่างจากอาหาร ที่ประกอบด้วยสมุนไพรที่มีรสร้อน เช่น กะเพรา ขิง พริกไทย ที่ช่วยบำรุงน้ำนม ซึ่งคุณแม่บางท่านอาจเข้าใจผิด คิดว่ายิ่งกินเผ็ดน้ำนมจะได้ไหลดี ความจริงแล้วไม่ใช่… เพราะอาหารที่มีรส “เผ็ด” กับ อาหารที่มี “รสร้อน” นั้นแตกต่างกัน ดังนั้น เวลากินอาหาร คุณแม่จึงควรระมัดระวัง อย่ากินอาหารที่มีรสเผ็ดมากเกินไป เพราะจะส่งผลให้ลูกรับรสเผ็ดจากน้ำนมแม่ และอาจทำให้ปวดท้อง ได้เช่นกัน
- อาหาร และเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบ ของคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา ช็อกโกแลต ฯลฯ เพราะจะส่งผลให้ลูกนอนไม่หลับได้
- ห้ามเครียด (เกินเหตุ) อาการเครียดของคุณแม่ นอกจากจะทำให้น้ำนมน้อยแล้ว ความเครียดส่งผลกระทบต่ออารมณ์ และจิตใจ ทั้งของตัวคุณแม่เอง และลูกน้อยด้วยเช่นกัน ซึ่งลูกซึมซับ และสัมผัสได้จากแม่ โดยเฉพาะช่วงหลังคลอด คุณแม่อาจจะเกิดอาการซึมเศร้าหลังคลอดได้ (หากเป็นนานกว่า 4 สัปดาห์ควรพบคุณหมอค่ะ)
Advise : ทางที่ดีคุณแม่ควรจะหาผู้ช่วย มาแบ่งเบาภาระต่าง ๆ เช่น งานบ้าน การดูแลลูกโต ฯลฯ เพื่อที่แม่จะได้มีเวลาพัก ผ่อนคลายทำให้ไม่เครียดจนเกินไปด้วยค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
- 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 5 การดูแลแผลผ่าคลอด ข้อควรระวัง ข้อห้าม
- 10 สิ่งที่ คนท้องควรเลี่ยง ข้อห้ามที่คนท้องควรรู้ ข้อห้ามที่คนท้องห้ามทำ
- 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 12 น้ำนมไม่ไหล ทำอย่างไร
ที่มา : mom2babyshop.com , enfababy.com