การเจาะน้ำคร่ำ ทำเพื่ออะไร อันตรายไหม จะเจาะโดนลูกหรือเปล่า?

แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากให้ลูกเกิดมาพิการ หรือมีปัญหาสุขภาพ และด้วยความที่เทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าขึ้นมากในปัจจุบัน จึงทำให้เราสามารถตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งหนึ่งในวิธีการที่คุณหมอนิยมใช้กันก็คือ การเจาะน้ำคร่ำนั่นเอง

การเจาะน้ำคร่ำ

การเจาะน้ำคร่ำ ทำเพื่ออะไร

การเจาะน้ำคร่ำ เป็นขั้นตอนของการเก็บตัวอย่างน้ำคร่ำ จากถุงน้ำคร่ำของคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ส่วนสาเหตุที่ต้องเจาะน้ำคร่ำนั้น ก็เพื่อนำมาตรวจหาความความผิดปกติของทารกในครรภ์ เช่นภาวะดาวน์ซินโดรม หรือความผิดปกติทางโครโมโซม รวมถึงการติดเชื้อบางอย่างของทารกในครรภ์ ซึ่งการเจาะน้ำคร่ำนั้น เป็นการตรวจที่มีความแม่นยำสูงและครอบคลุมมากกว่าการเจาะเลือดครับ

ใครบ้างที่ต้องเจาะน้ำคร่ำ

จริง ๆ แล้ว คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ไม่จำเป็นต้องเจาะน้ำคร่ำกันทุกคนนะครับ ซึ่งข้อบ่งชี้ทั่วไปของการเจาะน้ำคร่ำนั้นก็ได้แก่

  • คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
  • เมื่อทำอัลตราซาวนด์แล้วพบความผิดปกติของทารก
  • ผลตรวจคัดกรองจากเลือดพบว่าทารกมีความเสี่ยงสูงที่จะมีความผิดปกติของโครโมโซม หรือครรภ์ก่อนหน้ามีความผิดปกติของโครโมโซม
  • มีประวัติคนในครอบครัวมีความพิการแต่กำเนิด
  • คู่สามีภรรยาเป็นคู่เสี่ยงที่ทารกในครรภ์จะเป็นโรคธาลัสซีเมีย

สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่จะทำการเจาะน้ำคร่ำได้นั้น ก็ควรมีอายุครรภ์อยู่ที่16-18 สัปดาห์ เพราะถ้าทำการเจาะน้ำคร่ำก่อนหน้านั้น จะทำให้เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น เช่น น้ำเดิน เลือดออก ติดเชื้อ ไปจนถึงการแท้งบุตรได้ หรือเซลล์อาจไม่พอตรวจได้ครับ

การเจาะน้ำคร่ำ

การเจาะน้ำคร่ำ มีขั้นตอนอย่างไร

ก่อนอื่นเลยคุณหมอและพยาบาลจะให้คำปรึกษาและแนะนำขั้นตอนการตรวจด้วยการเจาะน้ำคร่ำให้เข้าใจก่อน จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจครับ ซึ่งขั้นตอนการตรวจก็จะมีดังนี้

  1. หลังจากที่แม่ท้องปัสสาวะเรียบร้อยแล้ว คุณหมอจะให้นอนราบบนเตียงตรวจ เช่นเดียวกับการตรวจอัลตราซาวนด์ปกตินั่นแหละครับ และคุณแม่ไม่จำเป็นต้องงดอาหารหรือน้ำก่อนเข้ารับการตรวจนะครับ
  2. คุณหมอจะเริ่มจากการอัลตร้าซาวนด์ ตรวจดูท่าของเด็ก ตำแหน่งที่รกเกาะ เพื่อหลีกเลี่ยงการเจาะผ่านรก หรือการเจาะที่จะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์
  3. จากนั้นจะมีการทำความสะอาดหน้าท้อง ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
  4. ต่อมาคุณหมอจะใช้เข็มขนาดเล็กเจาะผ่านหน้าท้องและผนังมดลูก เข้าสู่ถุงน้ำคร่ำ (น้ำที่อยู่รอบ ๆ ตัวทารก) และดูดน้ำคร่ำออกมาประมาณ 20 มิลลิลิตร (ประมาณ 2-4 ช้อนชา) เพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป
  5. ในขณะที่ทำการเจาะน้ำคร่ำนั้น จะมีการใช้เครื่องตรวจอัลตราซาวนด์ช่วยติดตามทิศทางของเข็ม เพื่อช่วยไม่ให้เข็มไปโดนรก หรือถูกตัวทารกในครรภ์
  6. เมื่อดูดน้ำคร่ำเสร็จแล้วคุณหมอก็จะถอนเข็มออก และทำการปิดแผลก็เป็นอันเสร็จครับ

ขั้นตอนการเจาะน้ำคร่ำนั้น จะใช้เวลาแค่ประมาณ 5-10 นาทีเท่านั้นเองครับ หลังจากเจาะน้ำคร่ำเสร็จก็นั่ง หรือนอนพักหลังการตรวจประมาณ 30 นาที ก็กลับบ้านได้แล้วครับ โดยเมื่อกลับบ้านไปแล้วก็สามารถอาบน้ำ หรือทำความสะอาดท้องได้ตามปกติครับ

เจาะน้ำคร่ำ อันตรายไหม จะเจาะโดนลูกหรือเปล่า

โดยทั่วไปการเจาะน้ำคร่ำเป็นวิธีการตรวจที่ปลอดภัย โดยขณะที่เจาะก็จะทำไปพร้อม ๆ กับการอัลตร้าซาวนด์ตลอดเวลาเพื่อดูตำแหน่งของเข็มที่เจาะเข้าไป ซึ่งจะช่วยลดอันตรายที่เข็มจะถูกตัวทารกได้ แต่อย่างไรก็ตาม การเจาะน้ำคร่ำก็อาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้เช่นกัน ซึ่งสิ่งที่คุณแม่ควรสังเกต และต้องรีบมาพบคุณหมอ เมื่อมีอาการดังต่อไปนี้

  • ปวดเกร็งท้องมาก ไม่หายหลังจากนอนพัก
  • มีไข้ภายใน 2 สัปดาห์หลังการเจาะน้ำคร่ำ
  • มีน้ำ หรือเลือดออกจากช่องคลอด

และหลังจากเจาะน้ำคร่ำแล้ว คุณแม่ท้องควรนอนพักผ่อนมาก ๆ ประมาณ 1-2 วัน และในช่วงนี้ควรงดการออกแรงมาก อย่างเช่น ยกของหนัก หรือออกกำลังกาย งดการมีเพศสัมพันธ์ไปประมาณ 4-5 วัน และไม่ควรออกเดินทางไกลภายใน 7 วันหลังการเจาะน้ำคร่ำนะครับ


ที่มา samitivejhospitals, bnhhospital

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

แม่ท้องแยกออกมั๊ย ลูกดิ้นเพราะอะไรกันแน่? บิดขี้เกียจ! รำคาญ! หรือชอบใจ!

ท้องแบบไหน เสี่ยงตายทั้งคู่ เพราะมดลูกแตก

แชร์ประสบการณ์ ไม่ดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลสู่ลูกในท้องแบบคิดไม่ถึง

แชร์ประสบการณ์หรือ เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการเจาะน้ำคร่ำ ได้ที่นี่!

เจาะน้ำคร่ำ เพื่ออะไรคะ แล้วจะโดนลูกไหมคะ

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!