สรุป 10 ข้อต้องรู้เกี่ยวกับ "ไอกรน" สัญญาณเตือน ไอกรนในเด็ก และ วัคซีน

undefined

ไอกรนในเด็ก แม้จะอาการคล้ายหวัดธรรมดา แต่ซ่อนอันตรายร้ายแรง เรามีวิธีสังเกตสัญญาณเตือน พร้อมสถานที่ฉีดวัคซีนให้ลูกน้อย มาฝาก

โรคไอกรน แม้จะเริ่มต้นด้วยอาการคล้ายหวัดธรรมดา แต่กลับซ่อนอันตรายร้ายแรง โดยเฉพาะในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ขวบมีความเสี่ยงสูงที่จะเจ็บป่วยรุนแรงจากโรคนี้ จนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องเฝ้าระวังสัญญาณเตือนของ ไอกรนในเด็ก อย่างใกล้ชิด เพื่อปกป้องลูกน้อยให้ปลอดภัย

 

ทำไมโรคไอกรนถึงระบาด

ศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ กุมารแพทย์​ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ให้ความรู้ไว้ว่า โรคไอกรนกลับมาระบาด เนื่องจาก ภูมิคุ้มกันที่เด็กได้รับตอนเด็กๆ นั้นหมดไปเมื่อเวลาผ่านไป 10 กว่าปี ดังนั้นผู้ใหญ่กับผู้สูงอายุจึงมีโอกาสป่วยเป็นไอกรน แล้วมีการแพร่กระจายมาสู่เด็ก ซึ่งเด็กเล็กเมื่อฉีดวัคซีนไอกรนแล้ว กว่าภูมิคุ้มกันของลูกจะแข็งแรงก็อายุประมาณ 6 เดือน ดังนั้นช่วง 6 เดือนแรกเป็นช่วงเสี่ยงที่สุดที่เด็กจะป่วยเป็นไอกรน ซึ่งอาการไอกรนในเด็กเล็กจะรุนแรงมาก ถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

สัญญาณเตือน อาการไอกรนในเด็กเล็ก ต้องระวัง 

อาการไอกรนนั้นคล้ายกับโรคหวัด คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตสัญญาณเตือน โรคไอกรน หากมีอาการต่อไปนี้ อาจไม่ใช่แค่หวัด ให้คิดถึงโรคไอกรน แล้วรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง

  • มีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้
  • ไอเป็นอาการเด่น: ไอรุนแรง ไอทรมาน ไอเป็นพักๆ และไอนานเรื้อรัง อาจมีเสียงวู้ปหรือเสียงคล้ายกรน
  • เด็กเล็ก อาจไอจนเขียว ขาดออกซิเจน อาจมีปัญหาทางสมองได้ หรืออาจเสียชีวิตได้

อาการช่วงแรก

อาการไอกรนช่วงแรก จะมีอาการคล้ายกับโรคหวัด มีน้ำมูก ไอเล็กน้อย มีไข้ต่ำๆ สิ่งที่แตกต่างจากไข้หวัดคือ น้ำมูกไม่เอยะ แต่อาการไอจะมากขึ้นเรื่อยๆ

อาการช่วงหลัง

เริ่มไอมากขึ้น ไอเป็นชุด ไอจนอาเจียน ไอติดต่อกัน จนไม่สามารถควบคุมการหายใจได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการตัวเขียว โดยเฉพาะในเด็กเล็ก อายุน้อยกว่า 3 ขวบมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ไอหนักจนตัวเขียว หรือไอจนหยุดหายใจ ทำให้สมองขาดออกซิเจน และอาจเสียชีวิตได้

ไอกรนในเด็ก

วิธีป้องกัน ไอกรนในเด็ก

การฉีดวัคซีนไอกรน หรือวัคซีนทีแด๊ป ให้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 3 (ประมาณ 27-36 สัปดาห์) เป็นวิธีป้องกันโรคไอกรนในเด็กแรกเกิดที่ดีที่สุด ภูมิคุ้มกันจากแม่จะส่งผ่านไปยังลูกน้อย ทำให้ลูกได้รับการปกป้องจากโรคไอกรนได้ประมาณ 4-6 เดือน หลังจากนั้น เมื่อลูกอายุได้ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน ก็ควรพาไปฉีดวัคซีนรวมเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อเนื่อง ก็จะทำให้ลูกน้อยปลอดภัยจากไอกรนค่ะ

 

ทำไมวัคซีนจึงสำคัญ?

  • ป้องกันโรคแทรกซ้อน โรคไอกรนในเด็กเล็กอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ปอดอักเสบ ชัก หรือสมองบวม
  • ลดความรุนแรงของโรค แม้จะได้รับเชื้อ แต่การมีภูมิคุ้มกันจะช่วยให้อาการไม่รุนแรง
  • ปกป้องเด็กทารก เด็กทารกยังมีระบบภูมิคุ้มกันที่ยังไม่แข็งแรง จึงมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน

วัคซีนไอกรน

การรับวัคซีน ไอกรนในเด็ก สู่ผู้ใหญ่ 

ใน 6 ปีแรกจะรับวัคซีนรวมโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก รวมทั้งหมด 5 ครั้ง จากนั้นควรรับวัคซีนทีแด๊ปสำหรับผู้ใหญ่ ดังนี้

  • 2 เดือน รับวัคซีนรวม
  • 4 เดือน รับวัคซีนรวม
  • 6 เดือน รับวัคซีนรวม
  • 1 ปี 6 เดือน รับวัคซีนรวม
  • 4-6 ปี รับวัคซีนรวม
  • 10 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ ควรรับ “วัคซีนทีแด๊ป” 
  • จากนั้นควรฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี

 

วัคซีนทีแด๊ป (Tdap)  คืออะไร

  • วัคซีนทีแด๊ป (Tdap) คือวัคซีนรวม คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน สูตรผู้ใหญ่
  • วัคซีนทีแด๊ป เป็นวัคซีนเสริมสำหรับเด็ก อายุ 10 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่
  • สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ แนะนำให้ฉีดวัคซีนทีแด๊ป ทุกการตั้งครรภ์ เพื่อส่งภูมิไปยังลูกน้อยในครรภ์
  • วัคซีนทีแด๊ป แนะนำให้ฉีดกระตุ้นทุกๆ 10 ปี

 

วัคซีนทีแด๊ป VS วัคซีนไอกรนเดี่ยว ควรเลือกอย่างไร

  • เลือก Tdap ถ้าไม่เคยได้รับวัคซีนคอตีบ บาดทะยัก (dT) ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา
  • เลือก ไอกรนเดี่ยวๆ ถ้าเคยได้รับ dT ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา

หากกังวลเรื่องอาการปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด ซึ่งเป็นผลข้างเคียงของวัคซีนคอตีบและบาดทะยักที่เป็นส่วนประกอบในวัคซีนทีแด๊ป อาจเลือกฉีด วัคซีนไอกรนอย่างเดียว ได้ค่ะ โดยเฉพาะหากมีเป้าหมายหลักในการป้องกันโรคไอกรนในลูกน้อยเท่านั้น

ยี่ห้อวัคซีน

  • วัคซีน Tdap มีสามยี่ห้อคือ adacel, boostrix, boostagen เลือกยี่ห้อไหนก้อได้ คุณภาพใกล้เคียงกัน
  • วัคซีนไอกรน มียี่ห้อเดียวคือ pertagen

ฉีดวัคซีน

สาเหตุของการเสียชีวิตของเด็กที่เป็นโรคไอกรน

เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่ไม่ทราบว่าลูกเป็นไอกรน คิดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา ดังนั้นหากเรารู้ถึงสัญญาณเตือน ก็จะสามารถสามารถสังเกตลูกน้อยของเราได้ก่อนที่จะอันตรายถึงชีวิตค่ะ

 

10 ข้อต้องรู้เกี่ยวกับ “ไอกรน”

  1. ไอกรนเป็นโรคทางเดินหายใจ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
  2. ไอกรนเป็นโรคที่มีวัคซีนป้องกันได้ และมียาฆ่าเชื้อในการรักษา 
  3. ไอกรนระบาดเนื่องจากภูมิคุ้มกันลดลงหลังฉีดไป 5-10 ปี จึงมีการระบาดมาเป็นช่วงๆ ทั่วโลก
  4. ไอกรนต่างจากหวัดธรรมดาคือ ไม่ค่อยมีไข้มีน้ำมูก สัปดาห์ต่อมาจะเข้าสู่ช่วงไอมาก ไอรุนแรง ไอเป็นชุดๆ และไอนานเป็นสัปดาห์
  5. ในเด็กเล็กๆ โรครุนแรง บางคนไอจนหยุดหายใจ ไอจนเขียวและขาดออกซิเจน หรือเป็นปอดบวม
  6. ในวัยรุ่น/ผู้ใหญ่ไอรุนแรงและเรื้อรัง สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นในโรงเรียน ที่ทำงาน ที่บ้าน
  7. เมื่อมีการระบาด ควรทบทวนว่าได้รับวัคซีนครบหรือไม่
    – เด็กต่ำกว่า 10 ขวบ ควรได้วัคซีนรวมครบ 5 เข็ม
    – วัยรุ่น ควรได้รับวัคซีนทีแด๊ป 1 เข็ม
    – ผู้ใหญ่ ควรฉีดวัคซีนทีแด๊ปหรือวัคซีนไอกรน  5-10 ปี
  1. วัคซีนทีแด๊ปและวัคซีนไอกรนมีความปลอดภัย ฉีดได้ 
  2. วัคซีนคอตีบบาดทะยักที่ รร ฉีดฟรีให้ ไม่มีวัคซีนไอกรน
  3. หากใกล้ชิดกับผู้ป่วยไอกรน หรือมีอาการที่สงสัยไอกรน ควรพบแพทย์ เพื่อรับยาฆ่าเชื้อและฉีดวัคซีน

 

สถานที่ฉีดวัคซีนทีแด๊ปป้องกันไอกรน

1. รพ. จุฬา อาคารภปร ชั้น 11, 18 

ราคา 453 บาท

สามารถ Walk in ได้ ในเวลาราชการ 08.00-15.00 น.

 

2. Jab@Go รถไฟฟ้าพญาไทและเพลินจิต 

ราคา 890 บาท 

เวลา 10.00-18.00 น. ฉีดได้ “ทุกวัน” 

นัดหมายล่วงหน้าที่ https://lin.ee/bCCuKFx

 

3. Meditown ซอยจินดาถวิล บิสสิเนสทาวน์สามย่าน

ราคา 750 บาท 

เวลา 11.00-17.00 น. “เฉพาะวันอาทิตย์”

นัดหมายล่วงหน้าที่ https://lin.ee/6ZixTBG

ช่องทางรับวัคซีนไอกรน

หวังว่าข้อมูลโรคไอกรนในเด็ก และวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ที่เรานำมาฝาก จะเป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่ ในการตัดสินใจพาลูกไปรับวัคซีนนะคะ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น หรือหากไม่สะดวกตามสถานที่ข้างต้น สามารถสอบถามโรงพยาบาลใกล้บ้านได้โดยตรงค่ะ 

ที่มา : tnn health, สายด่วนไอกรน, กองระบาดวิทยา และกองโรคติดต่อทั่วไป

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ควันบุหรี่มือสองในบ้าน ทำร้ายลูก-เมีย เสี่ยงโรคในผู้หญิงและเด็ก

ประกันสุขภาพเด็กแรกเกิด สำคัญยังไง? เลือกแบบไหนให้เหมาะกับลูกน้อย

เปิดโผ! ดาราเตรียมคลอดปี 2568 ทั้งคุณแม่มือใหม่ และมือโปรลูกคนที่ 2

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!