ลูกไม่ดิ้นกี่ชั่วโมงต้องไปหาหมอ ลูกดิ้นกี่ครั้งต่อวัน ลูกไม่ดิ้น อันตรายแค่ไหน

หลังจากผ่านไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรหมั่นสังเกตการดิ้นของลูกในครรภ์อยู่บ่อย ๆ ซึ่งหากรู้สึกว่าลูกไม่ดิ้นนั้น ต้องไปหาหมอโดยด่วน เพราะอาจเป็นสัญญาณอันตรายได้ วันนี้เราจะพาไปดูกันว่าลูกดิ้นกี่ครั้งต่อวัน ลูกไม่ดิ้นกี่ชั่วโมงต้องไปหาหมอ ถ้าพร้อมแล้ว เราไปดูกันครับ

 

ลูกดิ้น เป็นอย่างไร

ลูกดิ้น หมายถึง การถีบ การเตะ การกระทุ้ง การหมุนตัว รวมไปถึงการโก่งตัว แต่ในกรณีที่เป็นการตอดต่อเนื่องยาว ๆ หรือการที่ทารกในครรภ์สะอึก แบบนี้ไม่นับเป็นการดิ้นนะครับ โดยความแตกต่างระหว่างลูกดิ้น และการสะอึกของทารกในครรภ์ก็คือ หากแม่ท้องรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกในท้อง ในหลาย ๆ จุด เช่น บริเวณท้องส่วนบน ส่วนล่าง หรือด้านข้าง และรู้สึกว่าลูกในท้องหยุดเคลื่อนไหวตอนที่คุณแม่ขยับเปลี่ยนท่าทาง นั่นก็อาจจะถือว่าเป็นการดิ้น แต่หากคุณแม่ท้องนั่งนิ่ง ๆ อยู่กับที่ และมีความรู้สึกถึงการเคลื่อนไหว เป็นลักษณะของการกระตุกหรืออาการเกร็งเล็กน้อยที่ท้อง เป็นจังหวะที่สม่ำเสมอกัน ที่จุดจุดเดียว นั่นก็อาจหมายความว่าลูกในท้องของคุณกำลังสะอึกอยู่นั่นเองครับ

ลูกดิ้นถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะการที่ลูกดิ้นนั้น จะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกให้คุณแม่ท้องทราบว่าทารกในครรภ์ยังมีชีวิตอยู่ อีกทั้งยังเป็นการบ่งบอกถึงสุขภาพของลูกในท้อง และบอกว่าตอนไหนที่ลูกกำลังหลับ หรือกำลังตื่นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์นั้น การนับลูกดิ้นจะมีความสำคัญอย่างมาก เพราะจำนวนการดิ้นของทารกในครรภ์จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าทารกในครรภ์มีสุขภาพดีแค่ไหน ซึ่งถ้าลูกดิ้นอย่างสม่ำเสมอ ก็จะเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าลูกยังมีสุขภาพแข็งแรงดีนั่นเอง

 

ลูกดิ้นตอนไหน

ปกติแล้ว ลูกจะดิ้นในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 17 ของการตั้งครรภ์ แต่หากเป็นท้องแรก คุณแม่อาจจะยังไม่รู้สึกว่าลูกดิ้นจนกระทั่งเลยสัปดาห์ที่ 20 ไปแล้วก็เป็นไปได้ โดยในเบื้องต้น ถ้าลูกดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้งใน 2 ชั่วโมง ก็อาจจะลองพัก 1 ชั่วโมง แล้วสังเกตการดิ้นของลูกดูอีกหนึ่งครั้ง ถ้าลูกยังไม่ดิ้นตามที่ควรจะเป็นหรือลูกดิ้นน้อยลงมากให้รีบปรึกษาคุณหมอนะครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง : ทำอย่างไรดี ? ลูกดิ้นน้อยลง ภัยเงียบที่แม่ท้องต้องระวัง !

 

ลูกไม่ดิ้นกี่ชั่วโมงต้องไปหาหมอ

 

ลูกดิ้นกี่ครั้งต่อวัน

โดยปกติแล้ว เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ได้ประมาณ 20 สัปดาห์ ลูกจะดิ้นประมาณ 200 ครั้งต่อวัน และลูกจะดิ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีการพัฒนาระบบประสาทและกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง จนลูกสามารถดิ้นได้สูงสุดเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ประมาณ 30-32 สัปดาห์ ซึ่งอัตราการดิ้นอาจสูงถึง 375-700 ครั้งต่อวันเลยทีเดียว แต่หลังจากนั้นลูกก็จะเริ่มดิ้นน้อยลง เนื่องจากลูกตัวโตขึ้นจนเต็มโพรงมดลูก ทำให้มีพื้นที่ในการดิ้นน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ในการที่ลูกในท้องดิ้นแต่ละครั้งนั้น คุณแม่อาจไม่สามารถรับรู้ถึงการดิ้นของลูกได้ทุกครั้ง เพราะทิศทาง ความแรง และตำแหน่งที่ลูกดิ้น อาจอยู่ในทิศทางที่คุณแม่ไม่สามารถรับรู้ได้ เช่น ลูกหันหน้าไปทางด้านหลังของคุณแม่ หรือในกรณีที่คุณแม่ทำงาน หรือทำกิจวัตรประจำวันอยู่ ก็อาจจะไม่สามารถรับรู้ได้ถึงการดิ้นของลูกได้ดีเท่าที่ควร เพราะคุณแม่มัวยุ่งจนไม่ได้สังเกตการดิ้นของลูก ทั้ง ๆ ที่ลูกดิ้นอยู่ตลอดเวลา แต่ในทางกลับกัน ในวันที่คุณแม่หยุดพักผ่อน ไม่ได้ทำงาน คุณแม่ก็จะสามารถรับรู้ถึงการดิ้นของลูกได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายผ่อนคลาย คุณแม่ท้องมีเวลานอนหลับ พักผ่อนมากขึ้น จึงทำให้สามารถรับรู้การดิ้นของลูกได้ดีขึ้น หรือบางครั้งอาจรู้สึกว่าลูกดิ้นมากขึ้นด้วยครับ

 

ลูกไม่ดิ้น ลูกดิ้นน้อย ลูกไม่ดิ้นท้องแข็ง อันตรายแค่ไหน

ในเบื้องต้นนั้น ถ้าลูกดิ้นน้อยลง ให้ลองตั้งใจนับดูใหม่นะครับ ถ้ายังเกิน 10 ครั้งก็ยังถือว่าปกติ ส่วนคุณแม่ท้องแก่ที่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลงกว่าเดิม ถ้าลองตั้งใจนับแล้วยังเกิน 10 ครั้งขึ้นไปก็ถือว่าปกติเช่นกัน ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์มาก ๆ พื้นที่ในท้องเมื่อเทียบกับตัวลูกก็จะแคบลง ลูกเลยดิ้นได้ไม่เต็มที่ คุณแม่เลยรู้สึกเหมือนว่าลูกดิ้นน้อยลงนั่นเอง

 

ซึ่งการที่ลูกดิ้นน้อย หรือ ลูกไม่ดิ้น เป็นเรื่องที่น่ากลัว โดยถ้ายังอยู่ในเกณฑ์ก็ไม่ต้องตกใจไป แต่ถ้าน้อยกว่านี้ก็ควรไปพบหมอทันทีครับ อย่ารอจนกระทั่งลูกหยุดดิ้นหรือรอจนถึงวันนัด มิฉะนั้นอาจจะสายเกินไปนะครับ ถ้าดิ้นน้อยลงและดิ้นเบา ๆ หรือในวันหนึ่ง ๆ รู้สึกว่าลูกดิ้นเพียงไม่กี่ครั้งก็ควรจะรีบไปพบหมอ เพื่อจะได้ตรวจดูว่าสาเหตุที่ลูกดิ้นน้อยนั้นเกิดจากอะไร ซึ่งอาจเป็นเพราะ

  • ในโพรงมดลูกคับแคบ จนกระทั่งลูกแทบจะเคลื่อนไหวไม่ได้
  • เกิดความผิดปกติที่ทำให้ลูกไม่มีแรงจะดิ้น

ถ้าเป็นในกรณีหลัง หากปล่อยไว้นานก็จะทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์เลยก็ได้ นะครับ

 

และหากคุณแม่มีอายุครรภ์มากขึ้น อยู่ในช่วงใกล้คลอดหรือเกินกำหนดคลอด จะทำให้รกเสื่อมสภาพไปตามอายุครรภ์ที่เพิ่มขึ้น อาหารและออกซิเจนที่ส่งผ่านรกไปยังลูกในครรภ์จะมีปริมาณน้อยลง อาจเป็นสาเหตุทำให้ลูกดิ้นน้อยลงก็ได้ ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายที่คุณแม่จะต้องไปพบหมอในทันที

นอกจากนี้ การดิ้นที่น้อยลงอย่างผิดปกติของทารกในครรภ์ มักเกิดร่วมกับภาวะขาดออกซิเจนเรื้อรังและอยู่ในภาวะอันตราย โดยทารกจะดิ้นน้อยลง หรือหยุดดิ้นเป็นเวลา 12-48 ชั่วโมงก่อนที่จะเสียชีวิต

บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีการนับลูกดิ้น ทำไมการ นับลูกดิ้น จึงสำคัญ แม่ท้องต้องอ่าน !!

 

ลูกไม่ดิ้นกี่ชั่วโมงต้องไปหาหมอ

 

ลูกไม่ดิ้นกี่ชั่วโมงต้องไปหาหมอ

มาถึงคำถามที่คุณแม่ท้องหลายท่านสงสัยว่า ลูกไม่ดิ้นกี่ชั่วโมงต้องไปหาหมอ ซึ่งหากลูกน้อยดิ้นมาก คุณแม่ก็ไม่ต้องเป็นกังวลอะไร แต่ถ้าลูกดิ้นน้อยลง หรือไม่ดิ้น โดยเฉพาะในระยะใกล้คลอดนี่สิครับ ที่น่าเป็นห่วง โดยหากลูกหยุดดิ้นไปอย่างน้อย 12 ชั่วโมง คุณแม่ท้องควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อตรวจอาการทันทีนะครับ

 

คราวนี้คุณแม่คงรู้กันแล้วนะครับว่า ลูกไม่ดิ้นกี่ชั่วโมงต้องไปหาหมอ เพราะฉะนั้นคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตการดิ้นของทารกบ่อย ๆ หากรู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลง ให้ลองทานอาหารรสหวาน ๆ แล้วรอสัก 2-3 นาทีดูนะครับ ถ้าหากสังเกตว่าลูกดิ้นน้อยลงภายในสองชั่วโมง หรือหยุดดิ้นไปเลย 12 ชั่วโมง ต้องรีบไปหาหมอโดยด่วนครับ

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ทำไมต้องนับลูกดิ้น ความสำคัญของการนับลูกดิ้นที่แม่ท้องทุกคนควรรู้ !

ฟีเจอร์ นับลูกดิ้น กับ theAsianparent เว็บไซต์แม่และเด็กที่ดีอันดับหนึ่ง

แม่ท้องรีบอ่าน ! เมื่อ ลูกดิ้นน้อยลง เมื่อไหร่ที่ควรกังวล แบบไหนที่ควรระวัง

ที่มา : 1, 2

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!