ลูกเป็นไข้ อาบน้ำได้ไหม วิธีไหนลดไข้เร็วที่สุด

undefined

เมื่อลูกไม่สบาย มีไข้สูง ควรดูแลอย่างไรให้ไข้ลดเร็วๆ ลูกเป็นไข้ อาบน้ำได้ไหม เอาน้ำราดหัวได้ไหม ทำไมโบราณว่า เป็นไข้ห้ามอาบน้ำ

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงกังวลใจไม่น้อย เมื่อลูกไม่สบาย มีไข้สูง ควรดูแลอย่างไรให้ไข้ลดเร็วๆ ลูกเป็นไข้ อาบน้ำได้ไหม เอาน้ำราดหัวได้ไหม ด้วยความเชื่อที่ส่งต่อกันมาว่า เป็นไข้ห้ามอาบน้ำ ยิ่งทำให้คุณพ่อคุณแม่สับสนและไม่แน่ใจว่าควรดูแลลูกน้อยอย่างไร บทความนี้จะช่วยไขข้อสงสัยยอดฮิตนี้ พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลลูกน้อยเมื่อมีไข้ค่ะ

 

ทำความเข้าใจเรื่อง “ไข้” ในเด็ก

ลูกเป็นไข้ หมายถึง ภาวะที่อุณหภูมิร่างกายสูงกว่าระดับปกติ โดยทั่วไป อุณหภูมิปกติของร่างกายเด็กจะอยู่ที่ประมาณ 36.5 ถึง 37.5 องศาเซลเซียส หากวัดทางรักแร้แล้วพบว่า อุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส หรือวัดทางทวารหนักแล้วสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ถือว่าลูกมีไข้

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เด็กมีไข้ มักมาจากการติดเชื้อต่างๆ ได้แก่

  • เชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด อีสุกอีใส
  • เชื้อแบคทีเรีย เช่น การติดเชื้อในลำคอ การติดเชื้อที่หู หรือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ 
  • สาเหตุอื่นๆ เช่น การได้รับวัคซีน หรือภาวะอักเสบต่างๆ

 

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการอาบน้ำเมื่อมีไข้

ในสังคมของเรายังคงมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการดูแลเด็กที่มีไข้ ซึ่งความเชื่อผิดๆ ที่พบบ่อยเกี่ยวกับการอาบน้ำ ได้แก่

  • การอาบน้ำจะทำให้ไข้สูงขึ้น หลายคนเชื่อว่าการสัมผัสน้ำจะทำให้ร่างกายภายนอกเย็นลง แต่ภายในจะปรับตัวและทำให้ไข้สูงขึ้นเพื่อชดเชย
  • การอาบน้ำจะทำให้ปอดบวม ความเชื่อนี้อาจมาจากความกังวลว่าเด็กที่มีไข้ร่างกายอ่อนแอ การอาบน้ำจะทำให้ปอดชื้นและเกิดภาวะปอดบวมตามมา

เหตุผลทางวิทยาศาสตร์

  • การอาบน้ำอุ่นช่วยระบายความร้อน ในทางวิทยาศาสตร์ การอาบน้ำด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิปกติ จะช่วยลดอุณหภูมิร่างกายได้จริง เมื่อน้ำระเหยออกจากผิวหนังของลูก จะดึงความร้อนออกจากร่างกายไปด้วย แต่ไม่ได้ทำให้ไข้สูงขึ้นกว่าเดิม หากไม่ได้ใช้น้ำเย็นจัดจนร่างกายตกใจและหนาวสั่นค่ะ
  • ปอดบวมไม่ได้เกิดจากการอาบน้ำ ภาวะปอดบวมส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการอาบน้ำ การที่เด็กมีไข้และอาจมีอาการไอร่วมด้วย อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลเรื่องปอด แต่การอาบน้ำที่ถูกวิธีไม่ได้เป็นสาเหตุของปอดบวมแต่อย่างใด

 

ลูกเป็นไข้ อาบน้ำได้ไหม

 

ไขความเชื่อโบราณ เป็นไข้ทำไมห้ามอาบน้ำ

ความเชื่อโบราณที่ว่า “เป็นไข้ห้ามอาบน้ำ” อาจมีรากฐานมาจากสภาพแวดล้อมและสุขอนามัยในสมัยก่อน ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันอย่างมาก

ในอดีต สถานที่อาบน้ำมักจะอยู่ภายนอกอาคาร อาจเป็นบ่อ คลอง หรือแม้แต่เพียงพื้นที่โล่งแจ้ง ทำให้ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอจากไข้ต้องเผชิญกับลมที่พัดมาโดยตรง ยิ่งไปกว่านั้น การควบคุมอุณหภูมิน้ำก็เป็นเรื่องยาก ทำให้เสี่ยงต่อการอาบน้ำเย็นจนเกินไปและเกิดอาการหนาวสั่น ซึ่งอาจซ้ำเติมอาการป่วยให้แย่ลงได้

แต่ด้วยความก้าวหน้าในปัจจุบัน ห้องอาบน้ำส่วนใหญ่ถูกสร้างให้มีผนังมิดชิด สามารถป้องกันลมได้อย่างดี และเรายังสามารถควบคุมอุณหภูมิน้ำให้อุ่นสบาย ไม่เย็นจนทำให้เกิดอาการหนาวสั่นได้ง่ายเหมือนในอดีต 

ลูกเป็นไข้ อาบน้ำได้ไหม

ลูกเป็นไข้สามารถอาบน้ำได้ค่ะ การอาบน้ำเพื่อช่วยลดไข้ให้ลูกน้อย ควรใช้น้ำอุณหภูมิห้อง หรือน้ำอุ่นเล็กน้อย ไม่เย็นและไม่ร้อนจนเกินไป ควบคู่กับการให้ยาลดไข้ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรควบคู่กันไปด้วย จะช่วยให้ควบคุมอุณหภูมิร่างกายของลูกน้อยได้ดียิ่งขึ้น

ควรหลีกเลี่ยงคือการใช้น้ำเย็นจัด หรือการใส่น้ำแข็ง เพราะน้ำเย็นจะส่งผลให้หลอดเลือดบริเวณผิวหนังหดตัว ซึ่งจะกักเก็บความร้อนไว้ภายในร่างกาย ทำให้ความร้อนไม่สามารถระบายออกมาได้ แม้ว่าผิวหนังภายนอกจะเย็นลง แต่ไข้โดยรวมของลูกน้อยจะไม่ลดลง แถมยังอาจทำให้ลูกหนาวสั่น และในบางกรณีอาจเป็นอันตรายถึงขั้นช็อกได้

การอาบน้ำอุ่นอย่างถูกวิธีสามารถช่วยบรรเทาอาการไม่สบายตัวและลดไข้ให้ลูกน้อยได้เร็วขึ้น

  • ช่วยลดอุณหภูมิร่างกาย เมื่อน้ำอุ่นระเหยจากผิวหนังของลูกน้อย จะดึงความร้อนส่วนเกินออกจากร่างกายไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นกลไกเดียวกับการเช็ดตัวลดไข้
  • บรรเทาความรู้สึกไม่สบายตัว ในขณะที่มีไข้ ลูกน้อยอาจรู้สึกเหนียวตัว อึดอัด การอาบน้ำอุ่นจะช่วยชำระล้างความเหนียวเหนอะหนะ ทำให้ลูกรู้สึกสดชื่นและสบายตัวมากขึ้น
  • ช่วยให้ผ่อนคลาย น้ำอุ่นมีคุณสมบัติช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว ลดความตึงเครียด ทำให้ลูกน้อยรู้สึกสงบและนอนหลับได้ง่ายขึ้น

 

การอาบน้ำลดไข้ กับ อาบน้ำธรรมดาเหมือนกันไหม

การอาบน้ำเพื่อลดไข้แตกต่างจากการอาบน้ำเพื่อความสะอาดตามปกติค่ะ

การอาบน้ำทั่วไปมุ่งเน้นไปที่การชำระล้างสิ่งสกปรกออกจากร่างกาย ในขณะที่ การอาบน้ำลดไข้มีเป้าหมายหลักคือการค่อยๆ ลดอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้นของเด็ก โดยอาศัยความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิของร่างกายกับน้ำอุ่นค่อนข้างเย็น การใช้ฝักบัวรดตัวเป็นระยะๆ จะช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย ลดความกลัว และให้ความร่วมมือในการอาบน้ำลดไข้มากขึ้นค่ะ

 

ลูกเป็นไข้ อาบน้ำได้ไหม

 

ข้อควรระวังเมื่ออาบน้ำลดไข้ให้ลูก

  • อุณหภูมิน้ำสำคัญที่สุด ควรใช้น้ำอุณหภูมิห้อง หรือน้ำอุ่นเล็กน้อย ไม่เย็นและไม่ร้อนจนเกินไป 
  • ระยะเวลาอาบน้ำ อาบน้ำให้ลูกน้อยในระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 5-10 นาที ก็เพียงพอ
  • ระดับน้ำในอ่างอาบน้ำหรือกะละมังไม่ควรสูงจนเกินไป และต้องมีผู้ใหญ่ดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เนื่องจากขณะที่มีไข้ ลูกอาจมีอาการชัก หรืออาจเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มและจมน้ำได้
  • ควรให้ร่างกายลูกน้อยได้สัมผัสกับน้ำเป็นระยะๆ เช่น ใช้ฝักบัวรดตัวและหัวเบาๆ หรือใช้ผ้าหรือฟองน้ำลูบตามตัวเป็นช่วงๆ เพื่อให้การลดไข้มีประสิทธิภาพ 
  • สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ทั้งในระหว่างที่อาบน้ำและหลังจากอาบน้ำเสร็จแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตอาการของลูกน้อยอย่างละเอียด หากพบว่าลูกมีอาการ สั่น หรือหนาว ให้หยุดอาบน้ำทันที
  • กรณีที่ไม่ควรอาบน้ำ หากลูกน้อยมีอาการดังต่อไปนี้ ไม่ควรอาบน้ำเด็ดขาด
    • อาการโดยรวมแย่ลง ซึมลง หรือไม่ตอบสนองต่อสิ่งรอบข้าง
    • มีอาการชัก
    • มีสัญญาณของภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ผิวแห้ง ปัสสาวะน้อยลง
    • รู้สึกไม่สบายตัวมากและไม่อยากอาบน้ำ

หากคุณพ่อคุณแม่มีข้อสงสัยหรือความกังวลใดๆ เกี่ยวกับการอาบน้ำให้ลูกน้อยที่มีไข้ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำที่เหมาะสมกับอาการของลูกน้อยที่สุดค่ะ

 

วิธีลดไข้อื่นๆ

นอกเหนือจากการอาบน้ำเพื่อช่วยบรรเทาอาการไข้แล้ว ยังมีวิธีอื่นๆ ที่สำคัญในการดูแลลูกน้อยเมื่อมีไข้ ดังนี้

  • เช็ดตัวลดไข้ การเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยระบายความร้อนออกจากร่างกายลูกน้อยได้ คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจเช็ดตัวลูกน้อยเพียงเบาๆ หรือนำผ้ามาวางโปะไว้ตามตัวเท่านั้น ซึ่งวิธีดังกล่าวอาจไม่ช่วยลดไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

วิธีการเช็ดตัวลดไข้ที่ถูกต้องคือ การถูตัวลูกน้อยด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น ถูย้อนรูขุมขนจะช่วยกระตุ้นให้หลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัวและระบายความร้อนออกมาได้ดีขึ้น บริเวณที่ควรเน้นในการเช็ดตัวลดไข้ ได้แก่ หน้าผาก ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ ฝ่ามือและฝ่าเท้า ควรเช็ดวนๆ อย่างต่อเนื่อง และเปลี่ยนผ้าเมื่อผ้าเริ่มอุ่นขึ้น ทำซ้ำจนกว่าอุณหภูมิร่างกายของลูกน้อยจะลดลงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ การให้ลูกดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ สำคัญมากค่ะ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ง่ายเมื่อมีไข้
  • ให้ยาลดไข้ตามคำแนะนำ การใช้ยาลดไข้ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรเสมอ โดยให้ในขนาดและเวลาที่กำหนด
  • ให้พักผ่อนอย่างเต็มที่ การพักผ่อนที่เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายของลูกน้อยมีพลังงานในการต่อสู้กับการติดเชื้อได้ดีขึ้น
  • เฝ้าระวังอาการผิดปกติ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการอื่นๆ ของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด หากพบอาการที่น่ากังวล เช่น ซึมลง ชัก หายใจลำบาก หรือมีผื่นขึ้น ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

สรุปแล้ว ลูกเป็นไข้ อาบน้ำได้ไหม คุณพ่อคุณแม่สามารถอาบน้ำให้ลูกน้อยที่มีไข้ได้ โดยการอาบน้ำอุณหภูมิห้องหรือน้ำอุ่นเล็กน้อย เป็นวิธีที่ช่วยลดอุณหภูมิและทำให้ลูกรู้สึกสบายตัวขึ้นได้ ภายใต้ข้อควรระวังที่เหมาะสม ไม่ต้องกังวลกับความเชื่อโบราณที่ห้ามอาบน้ำ อย่างไรก็ตาม ควรสังเกตอาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด และพบแพทย์หากมีข้อสงสัยหรืออาการไม่ดีขึ้นค่ะ

ที่มา : หมอเต้ยคลินิกเด็กลำพูน , โรงพยาบาลศรีระยอง 

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ข่าวดี! ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2568 ฟรี! ที่ศูนย์บริการฯ ของ กทม. 69 แห่ง

ลูกไม่สบาย 7 สัญญาณเตือนว่าลูกน้อยของคุณกำลังป่วย และวิธีรับมือ

27 โรงพยาบาลที่มีคลินิกเด็ก 24 ชั่วโมง ปี2568 หมดกังวล ลูกน้อยป่วยกะทันหัน

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!