โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก โดยผศ.พญ.รวีรัตน์ สิชฌรังษี
ปัจจุบัน เด็กไทยประมาณ 10 คนในทุก ๆ 100 คนเป็นโรคโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง และส่วนมากจะเริ่มมีอาการครั้งแรกในช่วงเด็กเล็ก ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับโรคนี้กันดีกว่าค่ะ
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก โดยผศ.พญ.รวีรัตน์ สิชฌรังษี
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังคืออะไร?
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง ที่ยังไม่ทราบสาเหตุของโรคแน่ชัด แต่เชื่อว่ากรรมพันธุ์น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรค ทำให้มีความผิดปกติของผิวหนัง หรือปฏิกิริยาจากสารก่อภูมิแพ้ โดยมีอาการคันมาก เป็น ๆ หาย ๆ มักเริ่มเป็นตั้งแต่เด็ก โดยอาจจะมีโรคภูมิแพ้อื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคภูมิแพ้จมูกอักเสบ โรคหืด
ลักษณะผื่นของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นอย่างไร?
ลักษณะผื่นของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นได้ตั้งแต่ผื่นแห้งขุย ผื่นแดง ตุ่มน้ำ มีน้ำเหลืองไหลเยิ้ม หรือผื่นหนาคัน ขึ้นอยู่กับระยะของโรค โดยผื่นมักจะขึ้นอย่างสมดุล ซ้าย – ขวา และมีการกระจายของผื่นที่จำเพาะในวัยต่าง ๆ คือ
- ช่วงวัยทารก ผื่นมักเป็นบริเวณแก้ม คอ ใบหน้า หนังศีรษะ หรือบริเวณแขนขา
- วัยเด็กโต ผื่นมักเป็นตามข้อพับแขนขา หลัง ข้อมือ ข้อเท้า
- วัยผู้ใหญ่ ผื่นมักจะเป็นอยู่เฉพาะบริเวณที่ถูกระคายเคืองบ่อยหรือมีการเกาได้ง่าย เช่น มือ เท้า แขน และต้นคอ
จะทราบได้อย่างไรว่าลูกเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง?
การวินิจฉัยโรคนี้ ส่วนใหญ่อาศัยอาการของโรค การตรวจทางห้องปฏิบัติการจะทำเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องการหาสาเหตุกระตุ้นให้เกิดอาการ ได้แก่ การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin prick test) และการหาระดับ IgE ต่อสารก่อภูมิแพ้ในเลือด เป็นต้น
สิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีอะไรบ้าง?
มีการศึกษาพบว่าทารกและเด็กเล็กที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังซึ่งมีความรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมากจะมีการแพ้อาหารร่วมด้วย 30-40% โดยสารก่อภูมิแพ้จากอาหารจะกระตุ้นให้ผื่นกำเริบขึ้น อาหารที่พบว่าเป็นสาหตุบ่อย ได้แก่ นมวัว ไข่ ถั่วเหลือง แป้งสาลี และถั่วลิสง ส่วนสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ ได้แก่ ไรฝุ่น แมลงสาบ ขนหรือรังแคสัตว์ เชื้อรา ละอองเกสรต้นไม้หรือหญ้าก็สามารถกระตุ้นให้อาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังกำเริบได้เช่นกัน นอกจากนี้การติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา และปัจจัยทางกายภาพ เช่น ความร้อนหรือเย็นเกินไป เป็นผลทำให้มีเหงื่อหรือผิวแห้ง การเกา สารระคายเคืองผิวหนัง เช่น น้ำยาซักผ้า สบู่ แป้งหรือโลชั่นบางชนิด รวมทั้งความเครียด ก็สามารถกระตุ้นให้ผื่นกำเริบได้
การดูแลรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังควรทำอย่างไร?
หากคุณพ่อคุณแม่ทราบว่าลูกเป็นโรคนี้ และมีอะไรเป็นสิ่งกระตุ้น ก็ควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นนั้น ๆ ค่ะ และที่สำคัญควรดูแลผิวหนังอย่าให้แห้งหรือระคายเคือง ได้แก่ หลีกเลี่ยงอาบน้ำที่อุ่นหรือร้อน เลี่ยงการใช้หรือสัมผัสสิ่งระคายเคือง เช่น สบู่บางชนิด ผงซักฟอก นอกจากนี้ควรใช้สารเคลือบผิว (Emollients) ในรูปแบบของ โลชั่น ครีม หรือน้ำมันในกรณีที่ผิวแห้งมาก ทาผิวหนังทันทีหลังอาบน้ำภายใน 3 นาที ก่อนน้ำที่ผิวจะระเหย หากมีผื่นกำเริบควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับยาทาเฉพาะที่ลดการอักเสบของผิวหนัง เช่น ยาสเตียรอยด์ หรือยาทาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ และอาจได้รับยารับประทานแก้แพ้เพื่อลดอาการคัน หากพบว่ามีการติดเชื้อจะได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีโอกาสหายขาดหรือไม่?
มีการศึกษาในเด็ก ๆ ที่มีอาการของโรคตั้งแต่ก่อนอายุ 2 ปี จนถึงอายุ 7 พบว่า ร้อยละ 19 มีอาการเรื้อรังจนถึงอายุ 7 ปี ร้อยละ 38 มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ และร้อยละ 43 หายขาดจากโรคตั้งแต่อายุ 3 ปี
ซึ่งการดำเนินโรคเป็นแบบใดขึ้นกับความรุนแรงของโรคและการที่ผู้ป่วยมีปฏิกิริยาต่อสารก่อภูมิแพ้หรือไม่ค่ะ
The Asianparent Thailand เว็บไซต์ข้อมูลคุณภาพและสังคมคุณแม่ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และในเอเชีย เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ แหล่งความรู้แม่และเด็ก รวมถึงแอพพลิเคชั่น The Asianparent ที่ติดตามการตั้งครรภ์ ให้คุณแม่ได้ลงทะเบียนใช้งานฟรี เพื่อติดตามพัฒนาการของทารก ตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงติดตามหลังคลอดที่ครอบคลุมที่สุด และผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย นอกจากความรู้ยังมีไลฟ์สไตล์ และสื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าสุขภาพแม่และเด็ก โภชนาการแม่และเด็ก กิจกรรมสำหรับครอบครัว การวางแผนครอบครัวไปจนถึง การดูแลลูก การศึกษา และจิตวิทยาเด็ก The Asianparent เราพร้อมสนับสนุนพ่อแม่ทุกท่าน ให้มีความรู้และมีสุขภาพกายใจเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างครอบครัวอย่างแข็งแรง
เพราะเราเชื่อว่า “พ่อแม่เข้มแข็ง ครอบครัวแข็งแรง”
บทความที่เกี่ยวข้อง :
โรงพยาบาลพญาไท – มารู้จัก โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก…แบบเจาะลึกกัน!
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ปัญหาผื่นภูมิแพ้ในเด็กที่คุณแม่กังวลใจ
อาการแพ้แค่เล็กน้อย ไม่เห็นจะเป็นไร อย่าให้ความไม่ใส่ใจ เป็นต้นเหตุให้ ลูกเป็นภูมิแพ้
สังเกตอย่างไรว่าลูกเป็นภูมิแพ้ เมื่อไรที่ควรสงสัยว่าลูกเป็นโรคภูมิแพ้ มีวิธีทดสอบอย่างไร?