ลูกกินยาสีฟัน อันตรายหรือไม่

undefined

คุณแม่อาจเป็นกังวลเมื่อเห็นคำเตือนที่หลอดยาสีฟันระบุไว้ว่า  “เด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ไม่ควรกลืนหรือกิน” กลัวว่า ลูกกินยาสีฟัน บ่อยๆ จะเป็นอันตรายกับลูกหรือไม่ ก็ยาสีฟันของเด็กทั้งหอมทั้งอร่อย เด็กๆ จะอดใจไหวได้อย่างไร  

ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ เป็นตัวช่วยเสริมให้ฟันแข็งแรง ป้องกันฟันผุ ใช้ได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย เพราะการแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์เป็นการทำให้ฟลูออไรด์ได้สัมผัสกับผิวฟันโดยตรง ซึ่งจะให้ผลในการป้องกันฟันผุได้ที่สุด คือผลเฉพาะที่

จากการศึกษาพบว่า การแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ที่ความเข้มข้น 1000 ppm จะสามารถป้องกันฟันผุได้มากถึงร้อยละ 30 แต่สำหรับเด็กเล็กปริมาณความเข้มข้นของฟลูออไรด์จะต้องลดลงมาตามอายุ ดังนี้

ปริมาณยาสีฟันที่เหมาะสมสำหรับเด็กแต่ละวัย

– ฟันซี่แรกถึงอายุน้อยกว่า 3 ขวบ : ใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ 500 ppm แตะเป็นชั้นบางๆ บนแปรงสีฟัน คำนวณแล้วมีปริมาณฟลูออไรด์ 0.05 มิลลิกรัม ผู้ปกครองแปรงฟันให้และเช็ดฟองออก

– 3 ขวบ-6 ขวบ : ใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ 500 หรือ 1000 ppm ขนาด 5 มิลลิเมตรหรือเท่าเม็ดถั่วเขียว คำนวณแล้วมีปริมาณฟลูออไรด์ 0.1 มิลลิกรัม ผู้ปกครองบีบยาสีฟันให้และช่วยแปรง

– มากกว่า 6 ขวบ : ใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ 1000 ppm ขึ้นไป ขนาด 1-2 เซนติเมตร คำนวณแล้วมีปริมาณฟลูออไรด์ 0.5 มิลลิกรัม ให้เด็กแปรงฟันเอง แต่ผู้ปกครองควรตรวจซ้ำและช่วยแปรงซ้ำบริเวณที่ลูกแปรงไม่สะอาด

ควรเริ่มแปรงฟันให้ลูกด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์เมื่อไร

ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยแนะนำให้แปรงฟันลูกด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ได้ตั้งแต่ซี่แรกโดยใช้ปริมาณน้อยแค่พอแตะปลายขนแปรงในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ จากนั้นใช้ผ้าชุบน้ำ เช็ดฟองออก ในกรณีที่ลูกยังบ้วนปากไม่เป็น

ลูกกินยาสีฟันอันตรายหรือไม่

มีการพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จะกลืนยาสีฟันเข้าไปถึง 1 ใน 3 ของยาสีฟันที่อยู่บนแปรงสีฟันโดยไม่ตั้งแต่  ทั้งนี้เพราะยาสีฟันสำหรับเด็กมักแต่งกลิ่นเติมรสอร่อย เพื่อให้เด็กชอบและอยากแปรงฟัน ทำให้เด็กเอร็ดอร่อยและเผลอกลืนยาสีฟันเข้าไปบ่อยๆ

หากคุณแม่กังวลว่าปริมาณฟลูออไรด์ในยาสีฟันที่ใช้จะมากเกินจนทำให้ฟันตกกระหรือเปล่า สามารถคำนวณดังนี้

แต่ละวันเด็กควรได้รับฟลูออไรด์ต่ำกว่า 0.05-0.07 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม สมมติเด็กอายุ 1 ขวบหนัก 10 กิโลกรัม ควรได้รับฟลูออไรด์ต่ำกว่า 0.5-0.7 มิลลิกรัมต่อวัน หากใช้ปริมาณยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ตามที่แนะนำ ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วมีปริมาณฟลูออไรด์ 0.05 มิลลิกรัม แปรงวันละ 2 ครั้งเท่ากับ 0.1 มิลลิกรัม ซึ่งน้อยกว่าปริมาณสูงสุดที่ควรได้รับถึง 7 เท่า

หากคุณแม่ให้ลูกใช้ยาสีฟันในปริมาณที่เหมาะสม ถึงลูกจะเผลอกลืนลงไปก็ไม่เป็นอันตราย อย่างไรก็ตามหากได้รับฟลูออไรด์เกินขนาดจะเกิดอันตรายอย่างไรบ้าง คลิกหน้าถัดไป>>

อันตรายจากการได้รับฟลูออไรด์เกินขนาด

ทพญ.นราวัลภ์ เชี่ยววิทย์ งานทันตกรรม โรงพยาบาลศิริราช ระบุว่า การได้รับฟลูออไรด์เกินขนาดอาจเป็นอันตรายได้ 2 รูปแบบ

  1. การเกิดพิษชนิดเฉียบพลัน เกิดจากการได้รับฟลูออไรด์เกินขนาด มักเกิดจากการรับประทานฟลูออไรด์ที่มีอยู่ในยาสีฟัน ยาบ้วนปาก ยาฟลูออไรด์โดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งจะมีอาการรุนแรงเพียงใด ขึ้นกับปริมาณฟลูออไรด์ที่ได้รับเข้าไป ตั้งแต่คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย จนกระทั่งถึงตายได้
  2. การเกิดพิษชนิดเรื้อรัง เกิดจากการได้รับฟลูออไรด์ในขนาดที่เกินกว่าขนาดที่สมควรจะได้รับเป็นระยะเวลาติดต่อกันเป็นเวลานาน อาการที่แสดงออกได้แก่ ฟันตกกระ (ฟันแท้มีสีขาวขุ่น ในเด็กที่เป็นรุนแรงผิวฟันเป็นหลุมอาจมีสีดำหรือน้ำตาล) และอาจปวดข้อมือ ข้อเท้า ลุกลามไปยังกระดูกสันหลังทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ หายใจลำบากและเสียชีวิตที่สุด มักพบในผู้ที่ดื่มน้ำบาดาลในภาคเหนือ

จะป้องกันลูกกินยาสีฟันได้อย่างไร

คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกบ้วนปาก  บางคนสามารถหัดได้ตั้งแต่ขวบครึ่ง บางคน  2 ขวบครึ่ง  ขึ้นอยู่กับความพร้อมของเด็กแต่ละคน เริ่มที่วิธีการ ดังนี้ค่ะ

  • คุณแม่เอาน้ำดื่มใส่แก้วน่ารักให้ลูก
  • บอกให้ลูกอมและบ้วนออกมา โดยแม่ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
  • คุณแม่อาจทำเสียงกลั้วปากตลกๆ ให้ลูกสนุกและอยากทำตาม
  • ตอนแรกลูกอาจยังกลืนลงไปก็ไม่เป็นไร ฝึกบ่อยๆ ลูกก็จะบ้วนได้เอง
  • คุณแม่อาจกระตุ้นด้วยการชวนลูกแข่งกันบ้วนน้ำใครบ้วนได้ไกลกว่ากัน เป็นเกมส์ระหว่างอาบน้ำแปรงฟัน
  • อย่าลืมให้รางวัลเมื่อลูกให้ความร่วมมือด้วยนะคะ

ที่มา เนื้อหาบางส่วนจาก เพจฟันน้ำนม, https://www.si.mahidol.ac.th/

 

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ

การดูแลช่องปากและฟันสำหรับเด็ก

13 ประโยชน์สุดเริ่ดจากยาสีฟัน ที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!