เด็กก้าวร้าว หยาบคาย โมโหร้าย พ่อแม่ทำให้ลูกกลายเป็นเด็กแบบนี้หรือเปล่า?
เด็กก้าวร้าว มีลักษณะอย่างไรบ้าง พ่อแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นเด็กก้าวร้าวหรือแค่เอาแต่ใจตัวเอง สาเหตุที่ทำให้ลูกก้าวร้าวมีอะไรบ้าง
เด็กก้าวร้าว มีลักษณะอย่างไร
เด็กก้าวร้าว คือ เด็กที่มีพฤติกรรมละเมิดสิทธิผู้อื่น ซึ่งการกระทำนั้นอาจทำให้เกิดความเสียหายไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย ทรัพย์สิน หรือจิตใจ ที่แสดงออกมาทางคำพูดหรือการกระทำได้ เช่น การพูดหยาบคาย การไม่เคารพผู้อื่น การทุบตี หยิก กัด ผลัก ขว้างปา ทำลายสิ่งของ ฯลฯ และบางครั้งรุนแรงถึงระดับที่เป็นการทารุณกรรมต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จนบาดเจ็บถึงตายได้
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นเด็กก้าวร้าว
พฤติกรรมก้าวร้าว ในความหมายของจิตเวช เกิดจากมีความผิดปกติทางจิตในลักษณะของบุคลิกภาพแปรปรวน ส่วนใหญ่พฤติกรรมเหล่านี้จะแสดงออกตั้งแต่วัยเด็ก แต่จะปรากฏชัดเจนมากขึ้นก็ต่อเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นค่ะ ซึ่งพ่อแม่สามารถคอยสังเกตดูว่าลูกเรามีการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ที่รวดเร็ว และรุนแรงหรือไม่ ไม่ว่าจะอารมณ์โกรธ เกลียด ก้าวร้าว ดุดัน โต้เถียง ด่าทอ เกรี้ยวกราด และชอบใช้อำนาจหรือเปล่า หรือแม้มีเรื่องขัดใจเพียงเล็กน้อยก็มักควบคุมอารมณ์ไม่ได้
ความก้าวร้าวเป็นพฤติกรรมที่ควรได้รับการขัดเกลาแก้ไขจนถึงขั้นปราบปรามเมื่อมีความรุนแรง เพราะเป็นพฤติกรรมที่จะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนข้าวของเสียหาย สังคมได้รับการกระทบกระเทือน และที่สำคัญเป็นผลเสียกับตัวเองอย่างมาก ดังนั้น ถ้าพ่อแม่รู้สึกว่าลูกเราเริ่มมีพฤติกรรมดังกล่าวควรรีบปรามลูกทันที หรืออาจจะขอคำปรึกษาจากคุณหมอก็ได้ค่ะ
สาเหตุที่ทำให้เด็กก้าวร้าว
1.กรรมพันธุ์ที่ถ่ายทอดกันมา
สำหรับเด็กบางคนพฤติกรรมต่างๆ อาจเกิดจากความแปรปรวนทางบุคลิกภาพมาจากทางคนในตระกูล หรือไม่ก็มาจากความบกพร่องทางสมอง เช่น สมาธิบกพร่อง ไฮเปอร์แอคทีฟ ปัญญาอ่อนออทิสติก และสมองพิการ เช่น โรคลมชัก เป็นต้น
2.เลียนแบบบุคคลใกล้ชิด
เด็กดมื่ออยู่ใกล้ใครก็จะแสดงพฤติกรรมตามแบบคนนั้นโดยไม่รู้ตัว เช่น พ่อแม่ คนเลี้ยง ทั้งทางพฤติกรรม อารมณ์ และท่าที ฯลฯ มาตั้งแต่วัยเด็ก แล้วรับเป็นแบบฉบับของพัฒนาการทางบุคลิกภาพของตนเอง เช่น พ่อมีลักษณะก้าวร้าว โมโหร้าย ลูกก็จะมีลักษณะเหมือนพ่อ
3.ประสบการณ์บางอย่างตั้งแต่วัยเด็ก
การเลี้ยงดูของพ่อแม่ หรือสภาวะแวดล้อมที่ทำให้เด็กปรับตัวเข้ากับสภาพนั้นๆ จนยึดถือลักษณะนั้น เป็นส่วนของบุคลิกภาพของตน เช่น เด็กร้องไห้อยากได้ของเล่นทีไร แม่ก็ซื้อให้ทุกที เด็กบางคนเมื่อรู้สึกว่าตนเองถูกแย่งของ กลัวถูกทอดทิ้ง น้อยใจผู้ใหญ่ ก็จะแสดงความก้าวร้าวออกไปก่อน เช่น ตีน้อง ผลักเพื่อนค่ะ
4.ท่าทีของพ่อแม่ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมลูก
การที่พ่อแม่จะมีท่าทีต่อลูกของตนอย่างไรนั้น ส่วนมากจะเป็นไปในจิตไร้สำนึก โดยที่มิได้มีเจตนา หรือโดยไม่รู้ตัว ท่าทีที่พ่อแม่แสดงต่อลูก ได้แก่
- ทอดทิ้ง กระทำทารุณ หรือประณามอย่างไม่สมควร เช่น เด็กไม่ยอมให้ของเล่นแก่น้อง แม่จะว่าเด็กว่า เป็น “เด็กเลว เห็นแก่ตัว” เด็กจะรู้สึกว่า การที่เขาปกป้องสิทธิของเขานั้นเป็นความชั่ว เด็กจะมีพฤติกรรม เมื่อโตขึ้น คือ เป็นคนที่ยอมคนอื่นไปหมด หรืออาจประพฤติชั่วเห็นแก่ตัว ตามแบบที่พ่อแม่ลั่นวาจาไว้กับเด็กบ่อยๆ
- เข้มงวด ดุ ลงโทษเสมอๆ ลูกจะเป็นคนขี้กลัว กังวล มีปมด้อย ยอมให้คนทั่วไปเอารัดเอาเปรียบ เพื่อใฝ่หาความรักที่ไม่เคยได้รับ ขาดความมั่นคงทางใจ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง หรือมีพฤติกรรมในทางตรงกันข้ามคือ ก้าวร้าว ไม่เป็นมิตร ต่อบุคคลอื่น และไม่ยอมลงใคร เมื่อโตขึ้น
- แสดงความรักลูกไม่เท่ากัน จะทำให้เด็กเกิดความอิจฉาแก่งแย่งชิงดีกันระหว่างพี่น้อง เด็กที่รู้สึกว่า พ่อแม่ไม่รัก มักจะกังวล อารมณ์หวั่นไหว สมาธิเสื่อม เป็นเด็กดื้อ เจ้าอารมณ์ และเต็มไปด้วยความรู้สึกชิงชังคนอื่น
- แสดงความห่วงใย และตามใจเกินขอบเขต พ่อแม่บางคนจะคอยวุ่นวาย ปรนนิบัติ คอยระมัดระวังเกินไป เด็กจะไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่รับผิดชอบตนเองเท่าที่ควร บุคลิกภาพไม่เจริญสมวัย หรือมีวุฒิภาวะต่ำ
- แสดงความโอบอุ้มคุ้มครองมากเกินไป ถ้าลูกได้รับการปกป้องมากเกินไปอาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นคนเปราะ ไม่มีความอดทน มีความโน้มเอียงที่จะเป็นโรคจิต โรคประสาทได้พอๆ กับเด็กที่ขาดความรัก เพราะชีวิตจริงนอกบ้าน ทุกคนจะต้องพบความผิดหวัง และความคับข้องใจบ้างเป็น ธรรมดา ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นความทะเยอทะยาน และช่วยเสริมสร้างบุคลิกให้แข็งแกร่ง นอกจากนี้ สิ่งแวดล้อมที่จะช่วยสร้างบุคลิกภาพให้สมบูรณ์ และสุขภาพจิตที่ดีให้แก่เด็กก็คือ ความสัมพันธ์ในครอบครัว ถ้าพ่อแม่รักใคร่ยกย่องนับถือซึ่งกันและกัน และทั้งพ่อแม่ต่างก็รักลูก เด็กจะเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี และมีความสุข ถ้าพ่อแม่ทะเลาะกันบ่อยๆ และแสดงความไม่รักกัน ลูกก็จะขาดความมั่นคงทางใจ ขาดความ อบอุ่น หรืออาจจะทำอะไรแผลงๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจ
ทำอย่างไรไม่ให้ลูกเป็นเด็กก้าวร้าว
- ใส่ใจและเพิ่มปริมาณการชื่นชมพฤติกรรมที่ดี ลดการตำหนิติเตียน ชมลูกและให้กำลังใจลูกบ้าง
- ใช้ท่าทีที่สงบสยบความดึงดัน ยิ่งเราควบคุมความโกรธได้เท่าไหร่ เรายิ่งควบคุมสถานการณ์ได้ดีเท่านั้น เช่น ถ้าลูกตีแม่ ก็บอกแม่ว่า “หยุดนะ ลูกตีแม่ไม่ได้” พร้อมกับจับมือลูกให้หยุดการตีให้ได้ ทำซ้ำเดิมจนกว่าลูกจะหยุดตี เมื่อลูกหยุด ต้องชื่นชม
- เมื่อใครคนใดคนหนึ่งกำลังจัดการกับพฤติกรรมไม่น่ารักของลูก อีกคนต้องไม่เข้าไปก้าวก่าย ควรดูอยู่เฉยๆ ไม่แสดงท่าทีเข้าข้างฝ่ายใด เมื่อเหตุการณ์ยุติลงแล้ว ค่อยทำให้ลูกผ่อนคลายค่ะ
- เวลาลูกโกรธให้รับฟัง และให้รู้ว่าเรารู้ว่าเขากำลังรู้สึกอย่างไร ขณะลูกอาละวาด ระงับเหตุก่อน อย่าดุไปสอนไป ถ้าลูกหาทางออกไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่อาจเสนอทางเลือกให้ลูก จะดีกว่าออกคำสั่ง เพราะลูกจะเต็มใจมากกว่าถูกบังคับให้ทำ
- ฝึกคาดเดาว่าในสถานการณ์ข้างหน้า โดยคาดการณ์ว่าจะมีเหตุอะไรบ้างที่อาจทำให้เกิดสิ่งไม่น่าพอใจ แล้วหาทางป้องกันไว้ค่ะ
การเลี้ยงลูกของพ่อแม่ หรือคนใกล้ชิด ล้วนมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมเด็กอย่างมาก พ่อแม่บางคนอาจจะคอยแต่บ่นลูกว่าไปเอานิสัยแบบนี้มาจากไหน ทำไมลูกทำตัวแบบนี้ แต่คุณหลงลืมไปหรือเปล่าว่าการแสดงออกของพ่อแม่อาจจะเผลอหล่อหลอมให้ลูกกลายเป็นเด็กก้าวร้าวโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น พ่อแม่จึงควรรักลูกให้พอดี คอยบ่มเพาะ และห้ามปรามลูกเมื่อเขาแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมก่อนจะสายเกินแก้
ที่มา: สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน, มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
5 พฤติกรรมลูกคนโตที่ต้องสังเกต เมื่อมีน้องคนใหม่
เด็กติดเกม ทำเด็กก้าวร้าว-ควบคุมตัวเองไม่ได้ จิตแพทย์แนะ! วิธีป้องกันและแก้ไข
อยากรู้ว่าลูกฉลาดแค่ไหน แม่จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกหัวไว ส่อแววอัจฉริยะ เทคนิคการเลี้ยงลูกให้ฉลาด