
การตั้งครรภ์
การตั้งครรภ์ เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับคนท้อง การตั้งครรภ์ การฝากครรภ์ พัฒนาการทารกในครรภ์ สุขภาพแม่ตั้งครรภ์ ข้อควรระวังระหว่างตั้งครรภ์ การคลอด และภาวะหลังคลอด มาเตรียมพร้อมไปด้วยกันนะคะ
การตั้งครรภ์หมายถึง
การตั้งครรภ์(Pregnancy) คือ ภาวะที่เกิดจากการปฏิสนธิระหว่างไข่กับอสุจิ แล้วได้ตัวอ่อนเกิดขึ้น ในการตั้งครรภ์ที่ปกติตัวอ่อนจะไปฝังที่เยื่อบุโพรงมดลูก จากนั้นตัวอ่อนซึ่งมีเซลล์เดียว ก็จะแบ่งตัวและพัฒนาเป็นอวัยวะต่างๆ และเจริญเป็นทารกต่อไป ซึ่งโดยทั่วไป ในผู้หญิงปกติที่มีประจ าเดือนทุกๆประมาณ 4 สัปดาห์ จะมีอายุครรภ์ประมาณ 40 สัปดาห์ หรือ 280 วัน นับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งล่าสุด
การตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้อย่างไร
ฮอร์โมนที่เป็นตัวกำหนดให้เกิดวงจรการตกไข่ของคุณแม่ ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจน, โปรเจสเตอโรน, แอลเอช (LH - Luteinozing Hormone) และเอฟเอสเอช (FSH - Follicle Stimulating Hormone) โดยฮอร์โมนทั้ง 4 ชนิดนี้จะคอยควบคุมการตกไข่ ฮอร์โมน FSH จะทำหน้าที่สร้างไข่และทำให้ไข่เติบโตพร้อมกันประมาณ 15-20 ฟอง จากนั้นฮอร์โมนเอสโตรเจนและ LH จะช่วยกันคัดเลือกไข่ที่สมบูรณ์เพียงฟองเดียว และเร่งให้ไข่ตกในช่วงประมาณวันที่ 14 ของรอบเดือน ไข่ฟองนี้จะทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่จะช่วยในการดูแลตัวอ่อนต่อไป เมื่อมีการตั้งครรภ์แล้ว ระดับฮอร์โมนในตัวคุณแม่จะเปลี่ยนแปลงไป รกจะเป็นตัวหลักในการสร้างฮอร์โมน ฮอร์โมนตัวสำคัญที่รกสร้างขึ้นจะมีชื่อย่อว่า HCG ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้คุณแม่มีอาการแพ้ท้อง และทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนกับโปรเจสเตอโรนสูงขึ้นด้วย ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้จะทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งกลายเป็นคุณแม่ได้อย่างเต็มตัว
สำหรับระบบสืบพันธุ์ของคุณแม่นั้น อวัยวะสืบพันธุ์ของคุณแม่จะอยู่ภายในร่างกายเกือบทั้งหมด ยกเว้นหัวหน่าว แคมใหญ่ แคมเล็กที่เรียกโดยรวมว่า "ปากช่องคลอด" ที่อยู่ภายนอก สิ่งสำคัญที่ทำให้ตั้งครรภ์ได้นั้นคือ "ไข่" ซึ่งไข่ใบนี้นี่แหละที่สามารถสร้างชีวิตน้อย ๆ ให้เติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ และไข่ทั้งหมดจะเก็บสะสมอยู่ในรังไข่ทั้งสองข้าง ซึ่งมีติดตัวมาตั้งแต่ยังเป็นทารกในครรภ์แล้วครับ เพราะเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ 5 เดือน ทารกเพศหญิงจะมีไข่เก็บไว้สูงถึง 6-7 ล้านฟอง และจะค่อย ๆ สลายตัวไปเหลือเพียง 2 ล้านฟองเมื่อแรกเกิด จากนั้นจะลดลงเรื่อย ๆ จนเข้าสู่วัยสาวจะอยู่ที่ประมาณ 2-5 แสนฟอง แต่จะมีไข่ที่มีผลทำให้ตั้งครรภ์ได้เพียง 400-500 ฟองเท่านั้น เพราะการตกไข่แต่ละครั้งจะมีไข่เพียงฟองเดียวที่สมบูรณ์เท่านั้นที่พร้อมจะให้อสุจิเข้ามาผสม (ขนาดของไข่ที่เติบโตสมบูรณ์ คือ 0.133 มม.)
ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีแหล่งที่คอยผลิตไข่เป็นประจำทุกเดือน โดย "รังไข่" (Ovaries) นั้นจะอยู่บริเวณช่องท้องส่วนล่าง ตรงส่วนปลายบนของปากมดลูกทั้งซ้ายและขวา ส่วนบริเวณที่อยู่ใกล้กับรังไข่จะเป็น "ปลายหลอดมดลูก" (Fimbriae) ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายนิ้วมือแผ่คลุมเอาไว้ เพื่อช่วยเชื่อมระหว่างรังไข่กับท่อนำไข่ (Fallopian Tube) เมื่อไข่สุกจะเคลื่อนตัวผ่านท่อนำไข่ แล้วจะค่อย ๆ เจริญเติบโตเข้าไปฝังตัวอยู่ในมดลูก (Uterus or Womb) ซึ่งภายในจะกลวงเป็นโพรง ตอนปลายแคบและชี้ลงด้านล่าง มีลักษณะโดยรวมคล้าย ๆ กับลูกแพร์ขนาดเท่าลูกชมพู่ ส่วนบริเวณปากทางเข้ามดลูกจะเรียกว่า "คอมดลูก" (Cervix) และถัดมาคือ "ช่องคลอด" (Vagina) ที่มีความยาวประมาณ 8 เซนติเมตร โดยช่องคลอดจะมีลักษณะแบนเรียบ สามารถขยายตัวได้ในระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์หรือในขณะคลอดลูกออกมา ซึ่งจะอยู่ระหว่างกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ตรง สำหรับด้านหน้าของช่องคลอดจะมีลักษณะเป็นกลีบเนื้อพับตัวอยู่คู่กัน ที่เรียกว่า "แคม" (Labia) ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันอวัยวะต่าง ๆ ที่อยู่ภายใน และตรงรอยต่อด้านบนของแคมเล็กจะมีปุ่มกล้ามเนื้อเล็ก ๆ ที่เรียกว่า "ปุ่มกระสัน" (Clitoris) ซึ่งจะขยายตัวใหญ่ขึ้นเมื่อเกิดอารมณ์ทางเพศ
ในกระบวนการสร้างไข่นั้น ฟองไข่จะเจริญเติบโตอยู่ภายในรังไข่ เริ่มตั้งแต่ประมาณวันที่ 5 ของรอบเดือน นับจากวันแรกที่ประจำเดือนมา ไข่ภายในถุงรังไข่ (Ovarian Follicle) จะค่อย ๆ เติบโต และต่อมาจะมีไข่ประมาณ 15-20 ฟองเกิดขึ้นพร้อมกัน แล้วทั้งหมดจะช่วยกันสร้างฮอร์โมนเพื่อช่วยให้ไข่ใบเดียวเกิดความสมบูรณ์และสุกเต็มที่ แล้วจะตกไข่ในช่วงประมาณวันที่ 14 ของรอบเดือน ในระหว่างที่ไข่ตก ถุงรังไข่ซึ่งอยู่ตรงผิวหน้าของไข่จะค่อย ๆ พองออกเล็กน้อย เมื่อขยายได้ขนาดประมาณ 2 เซนติเมตรก็จะฉีกขาด และปล่อยให้ไข่หลุดออกมา ซึ่งเราจะเรียกขั้นตอนนี้ว่า "การตกไข่" (Ovulation) ส่วนของถุงรังไข่ที่เหลือจะสลายตัวเป็นก้อนสีเหลืองเล็ก ๆ ที่เรียกว่า "วัตถุสีเหลืองในรังไข่" (Corpus Luteum) มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ถ้าในช่วงนี้มีไข่ผสมกับอสุจิ ฮอร์โมนตัวนี้ก็จะช่วยฟูมฟักไข่ ช่วยเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกให้สมบูรณ์และเหมาะสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน ทำให้อุณหภูมิภายในร่างกายอุ่นขึ้น คุณแม่จึงรู้สึกมีอาการอ่อนเพลีย แต่ถ้าไข่ตกแล้ว ยังไม่ได้รับการปฏิสนธิ ระดับฮอร์โมนก็จะลดลง และเกิดการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกออกมาเป็นประจำเดือนในช่วง 14 วันหลังจากไข่ตก
หลังจากไข่ตก ไข่ที่สุกแล้วจะเคลื่อนตัวไปยังท่อนำไขทันที แต่ยังไม่สามารถปฏิสนธิได้ ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเดินทางไปถึงบริเวณท่อนำไข่ ซึ่งการปฏิสนธิจะเกิดขึ้นในบริเวณนี้ครับ และไข่ยังสามารถเดินทางเข้าสู่ท่อนำไข่ข้างเดียวกัน ผ่านโพรงมดลูกไปยังท่อนำไข่อีกข้างหนึ่งได้ แต่อย่างไรก็ตาม ไข่จะไม่สามารถเคลื่อนตัวไปได้หากไม่มีการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อท่อนำไข่ และการหดรัดตัวนี้จะบีบตัวให้ไข่เคลื่อนตัวเป็นจังหวะ ๆ (ไม่ใช่เคลื่อนไปเรื่อย ๆ) ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 วันก่อนจะฝังตัวที่โพรงมดลูก
อาการลุ้นตั้งครรภ์
เมื่อสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองได้ ซึ่งจะมีชุดทดสอบการตั้งครรภ์จำหน่ายอยู่ทั่วไป ถ้าคุณแม่รู้ว่าตั้งครรภ์ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์ ประเมินอายุครรภ์ที่แน่นอน ประเมินภาวะเสี่ยงในการตั้งครรภ์ และตรวจเลือดเพื่อดูว่ามีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่ รวมถึงการตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมียด้วย เพื่อเป็นการดูแลทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์
ชุดตรวจปัสสาวะ จะเป็นการตรวจหาฮอร์โมน HCG ในปัสสาวะ มีความแม่นยำร้อยละ 90 ในรายที่มีการขาดประจำเดือนตั้งแต่ 10-14 วันขึ้นไป
ตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงหรือตรวจอัลตราซาวนด์ เป็นอีกวิธีการตรวจที่จะช่วยยืนยันได้ว่าการตั้งครรภ์ภายในโพรงมดลูกเป็นไปอย่างปกติ หากตรวจปัสสาวะแล้วได้ผลบวก การตรวจอัลตราซาวนด์อีกครั้งก็จะช่วยรับรองผลได้ดี
ตรวจการเต้นของหัวใจทารก ในกรณีที่คุณแม่มีอายุครรภ์ประมาณ 17-19 สัปดาห์ แพทย์สามารถใช้หูฟังฟังเสียงเต้นของหัวใจทารกได้ แต่วิธีนี้จะเป็นการตรวจหลังการตรวจยืนยันว่าตั้งครรภ์แล้วจริง ๆ
ตรวจเลือด จะเป็นการตรวจเพื่อหาระดับฮอร์โมน HCG โดยจะตรวจพบได้ตั้งแต่ 2 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิ แต่วิธีนี้มีค่าใช้จ่ายสูงและทำได้เฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ จึงไม่เป็นที่นิยมมากนัก แต่วิธีนี้จะนิยมใช้เฉพาะในกรณีของคุณแม่ที่กำลังรักษาภาวะการมีบุตรยาก หรือในรายที่คุณแม่มีประวัติการแท้งบุตรบ่อย ๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาให้ฮอร์โมนเสริมเพื่อป้องกันการแท้งบุตร
ระยะการตั้งครรภ์
ในทางการแพทย์นั้นการตั้งครรภ์จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน คือ
ระยะที่มีการตั้งครรภ์ ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจมีอาการคลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่อาการจะเริ่มดีขึ้นเมื่อผ่านช่วงนี้ไปแล้ว นอกจากนี้คุณแม่ยังอาจมีอาการอ่อนเพลีย และมีอาการท้องผูกได้บ้างในบางราย เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นประมาณ 20 สัปดาห์ คุณแม่จะเริ่มรู้สึกได้ถึงการดิ้นของทารกในครรภ์ ซึ่งคุณแม่ควรสังเกตการดิ้นของลูกทุกวันว่ายังมีชีวิตดีอยู่หรือไม่ ถ้าสงสัยว่าเด็กดิ้นผิดปกติ คือ ดิ้นน้อยลง หรือไม่ดิ้น ให้รีบไปพบแพทย์
ระยะการเจ็บท้องคลอด ซึ่งจะมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ได้แก่ อาการเจ็บครรภ์คลอด ซึ่งจะมีลักษณะปวดทั่วท้องทั้งหมด โดยอาการปวดจะบีบและคลายเป็นพัก ๆ อย่างสม่ำเสมออย่างน้อยประมาณ 10 นาทีต่อครั้ง และในบางรายอาจมีอาการปวดร้าวไปที่เอวร่วมด้วย, มีมูกปนเลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งเป็นอาการที่แสดงว่าเริ่มมีการเปิดปากมดลูกและพร้อมที่จะคลอดแล้ว, มีน้ำเดิน คือจะมีน้ำใส ๆ ไหลออกมาทางช่องคลอด ซึ่งเกิดจากถุงน้ำคร่ำแตก
ระยะหลังคลอด ระยะนี้คุณแม่จะยังคงมีเลือดไหลออกทางช่องคลอดอยู่บ้าง (ปริมาณไม่มาก) หรือที่เรียกกันว่า "น้ำคาวปลา" ซึ่งในช่วงแรกนี้น้ำคาวปลาจะเป็นสีแดงสด จากนั้นจะค่อย ๆ จางลงเป็นสีน้ำตาล และเปลี่ยนเป็นสีใส ๆ แล้วจะหมดไปภายใน 2-4 สัปดาห์ แต่ถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น เป็นเลือดสดตลอดเวลา มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ หรือเมื่อผ่านระยะนี้ไปแล้วยังมีน้ำคาวปลาอยู่ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะคุณแม่อาจติดเชื้อในมดลูกหรือมีรกค้างอยู่ได้ นอกจากนี้คุณแม่จะยังมีอาการปวดบริเวณท้องน้อย บีบเป็นพัก ๆ เพราะมดลูกกำลังหดตัวเข้าสู่อุ้งเชิงกราน ในส่วนของการขับปัสสาวะหลังคลอด 2-3 วันแรก ปริมาณปัสสาวะจะออกมากกว่าปกติ เนื่องจากร่างกายกำลังขับน้ำส่วนเกินที่เกิดจากการตั้งครรภ์ออกจากร่างกาย ภายหลังการคลอดบุตรคุณแม่อาจมีอาการผิดปกติทางด้านจิตใจได้ด้วย เช่น มีอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า ซึ่งมีสาเหตุมาจากความสับสนในบทบาทการเป็นแม่คน โดยอาการจะค่อย ๆ กลับมาเป็นปกติภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่ถ้ายังเป็นเรื้อรังอยู่ก็ควรไปพบแพทย์
แม่ท้องยุคใหม่ต้องรู้! ร่างกายเปลี่ยน แต่ไลฟ์สไตล์ไม่ต้องเปลี่ยน
300 ชื่อลูกตัว I หลายภาษา พร้อมคำอ่าน และความหมายดี ๆ การันตีความอินเตอร์
300 ชื่อลูกตัว E ตั้งชื่อลูกให้อินเตอร์ ภาษาอังกฤษ ไอริช ญี่ปุ่น เกาหลี พร้อมไอเดียเขียนเป็นไทย เลิศๆ
อาหารคลีน สำหรับคนท้อง 20 เมนูอาหารคลีนคนท้องกินได้
BMI คืออะไร ทำไมแม่ท้องต้องรู้
การตั้งครรภ์ เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับคนท้อง การตั้งครรภ์ การฝากครรภ์ พัฒนาการทารกในครรภ์ สุขภาพแม่ตั้งครรภ์ ข้อควรระวังระหว่างตั้งครรภ์ การคลอดและภาวะหลังคลอด มาเตรียมพร้อมไปด้วยกันนะคะ
การตั้งครรภ์ เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับคนท้อง การตั้งครรภ์ การฝากครรภ์ พัฒนาการทารกในครรภ์ สุขภาพแม่ตั้งครรภ์ ข้อควรระวังระหว่างตั้งครรภ์ การคลอดและภาวะหลังคลอด มาเตรียมพร้อมไปด้วยกันนะคะ