คนท้องกินไข่เค็มได้ไหม ชอบรสเค็มเสี่ยงอันตรายจากโซเดียมรู้หรือเปล่า ?

ของรสจัดนอกจากรสเปรี้ยว รสเผ็ด คนไทยยังชอบกินเค็ม เช่น ไข่เค็ม เป็นต้น แต่สำหรับคนท้องอาจต้องระวังกว่าที่คิด คนท้องกินไข่เค็มได้ไหม ความจริงแล้วสามารถทานไข่เค็มได้ แต่ต้องระวังโซเดียม ที่แฝงอยู่ในเมนูอาหารรสจัด ที่สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้

 

คนท้องกินไข่เค็มได้ไหม ทานของเค็มอันตรายหรือเปล่า

มื้ออาหารที่มีรสเค็ม คุณแม่อาจต้องการหลีกเลี่ยงเหมือนกับที่เลี่ยงอาหารรสหวาน เพราะกลัวว่าการทานเค็มจะทำให้เกิดอันตรายต่อทารกน้อยในครรภ์ แต่ในความเป็นจริง คือ คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถทานอาหารรสเค็มได้ เพราะโซเดียม (Sodium) มีส่วนช่วยให้คุณแม่แข็งแรงช่วยให้ระบบประสาท และระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้ดียิ่งขึ้น แต่คุณแม่จะต้องระมัดระวังปริมาณในการทานให้ดี เนื่องจากหากทานมากเกินไป จากที่ได้ประโยชน์ จะกลายเป็นโทษแทนได้ เนื่องจากโซเดียมที่พบได้ในอาหารรสเค็ม ซึ่งไข่เค็มเองก็มีส่วนผสมของโซเดียมค่อนข้างมาก จะทำให้คุณแม่เสี่ยงภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ได้

บทความที่เกี่ยวข้อง : กินเผ็ดมีผลต่อลูกในท้องไหม คนท้องกินเผ็ดได้ไหม และอันตรายกับลูกหรือเปล่า ?

 

วิดีโอจาก : PRAEW

 

แม่ท้องทานไข่เค็มได้มากแค่ไหน

ไข่เค็มมีปริมาณของโซเดียมประมาณ 300 – 500 มิลลิกรัม / ฟอง หรือเท่ากับว่าคุณแม่สามารถทานไข่เค็มได้ประมาณ 1.5 ฟองต่อวัน ขึ้นอยู่กับสูตรการปรุง และอายุของคุณแม่ด้วย โดยอิงจากปริมาณโซเดียมที่คุณแม่ท้องต้องการต่อ 1 วัน ตามตารางด้านล่างนี้

 

ตารางแสดงความต้องการแคลเซียม / วัน

อายุเพศหญิง ปริมาณโซเดียม / วัน
16 – 18 ปี 425 – 1,275 มิลลิกรัม
19 – 30 ปี 400 – 1,200 มิลลิกรัม
31 – 70 ปี 400 – 1,200 มิลลิกรัม
70 ขึ้นไป 350 – 1050 มิลลิกรัม
คุณแม่ตั้งครรภ์ เพิ่มจากเดิม 50 – 200 มิลลิกรัม
คุณแม่ให้นมบุตร เพิ่มจากเดิม 125 – 350 มิลลิกรัม

 ข้อมูลจาก : สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

รู้หรือไม่ไข่เจียวมีโซเดียมมากกว่าไข่เค็ม

หากอ้างอิงข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ค่าเฉลี่ยของสารอาหารที่มีโซเดียมในเมนูไข่ทั่วไปที่คนไทยมักรับประทาน ไข่เค็มที่มีรสเค็มกว่าไข่สูตรอื่นกลับไม่ได้มีปริมาณโซเดียมสูงที่สุด โดยสามารถจัดเรียงจากน้อยไปมากได้ คือ ไข่ต้ม โซเดียม 90 มิลลิกรัม / ฟอง, ไข่เค็ม โซเดียม 300-500 มิลลิกรัม / ฟอง และไข่เจียว โซเดียม 300-800 มิลลิกรัม / ฟอง ดังนั้นเมื่อคุณแม่จะทานข้าว อาจต้องคำนึงหากจะสั่งไข่เจียวเพิ่ม นับว่าเป็นข่าวร้ายสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ชอบทานไข่เจียว

ปัจจุบันคนไทยมีแนวโน้มพฤติกรรมการบริโภคอาหารรสเค็มสูงขึ้น 2 – 3 เท่า หากวัดจากปริมาณที่ร่างกายต้องการ ทำให้คนไทยมีแนวโน้มต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง,  โรคหัวใจ และโรคอัมพฤกษ์ – อัมพาต เป็นต้น คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์จึงต้องระมัดระวังพฤติกรรมการทานอาหารรสเค็มให้ดี โดยเฉพาะไข่เค็ม ที่สามารถพบเจอได้ในหลายเมนู

 

โซเดียมไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในไข่เค็มเท่านั้น

  • อาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป : อาหารที่หาทานได้ทั่วไปไม่ว่าจะเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, ปลากระป๋อง, อาหารหมักดองต่าง ๆ , เนื้อเค็ม, ปลาร้า และไข่เค็ม เป็นต้น
  • อาหารตามธรรมชาติ : อาหารที่สามารถทานได้ โดยไม่ต้องปรุงรสชาติเพิ่มเติม เช่น ผลไม้บางชนิด หรือธัญพืช เป็นต้น อาหารเหล่านี้มีส่วนประกอบของโซเดียมในปริมาณที่แตกต่างกัน
  • ขนมที่ฟูนิ่ม : ขนมเมนูไหนก็ตามที่มีการใช้ผงฟูในการประกอบอาหาร ไม่ว่าจะเป็นแพนเค้ก, ขนมปัง หรือคุกกี้ เป็นต้น มักจะมีส่วนประกอบของโซเดียมเสมอ
  • น้ำผลไม้ และเครื่องดื่มเกลือแร่ : น้ำผลไม้บางชนิดอาจมีการใช้สารโซเดียมเบนโซเอต (Sodium benzoate) เพื่อกันบูด ส่วนน้ำเกลือแร่มักใช้โซเดียมเพื่อให้พลังงานกับร่างกายของนักกีฬา

 

คนท้องกินไข่เค็มได้ไหม

 

นอกจากนี้การทานอาหารทั่วไปในชีวิตประจำวัน ก็สามารถทำให้แม่ท้องรับโซเดียมในปริมาณสูงได้ และคุณแม่อาจไม่รู้ตัว เนื่องจากโซเดียมเป็นหนึ่งในส่วนประกอบ ที่สามารถพบเจอได้เป็นปกติ ในเครื่องปรุงรสต่าง ๆ ในห้องครัว โดยเครื่องปรุงรสยอดฮิตแต่ละอย่างนั้น ต่างให้ปริมาณโซเดียม / ช้อนชา ดังนี้

 

  • เกลือ ปริมาณโซเดียม 2,000 มิลลิกรัม
  • น้ำปลา ปริมาณโซเดียม 400 มิลลิกรัม
  • ผงปรุงรส ปริมาณโซเดียม 500 มิลลิกรัม
  • ผงชูรส ปริมาณโซเดียม 490 มิลลิกรัม
  • กะปิ ปริมาณโซเดียม 400-500 มิลลิกรัม

บทความที่เกี่ยวข้อง : อาหารที่มีโซเดียมสูง แม่ท้องอย่ากิน ต้องระวังให้มากกินแล้วไม่ดี

 

แม่ท้องกินไข่เค็มมากเกินไปจะเกิดอะไรขึ้น ?

การบริโภคโซเดียมมากเกินไป มีผลเสียต่อการทำงานของไตอย่างชัดเจน หากไตทำงานได้น้อยลง จะทำให้ร่างกายสามารถขับโซเดียมได้น้อยลงตามไปด้วย เมื่อเกิดการสะสมของโซเดียมในร่างกาย จะส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ได้แก่ โรคไต, ไตวายเรื้อรัง, ความดันโลหิตสูง, อัมพฤกษ์ – อัมพาต, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคกระดูกพรุน และโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นต้น เพื่อหลีกเลี่ยงการรับปริมาณของโซเดียมมากเกินไปในแต่ละวัน คุณแม่จะต้องปรับพฤติกรรมการทานอาหารให้ปลอดภัยมากขึ้นกว่าเดิม

 

ทำอย่างไรให้คุณแม่ปลอดภัยจากอาหารรสเค็ม

  • เลี่ยงการทานอาหารรสจัด ไม่ใช่แค่เลี่ยงอาหารรสเค็มเท่านั้น แต่อาหารรสจัดส่วนมากจะต้องผ่านการปรุง ทำให้มีโอกาสรับสารโซเดียมมากขึ้นได้
  • เลี่ยงการทารกลุ่มอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารที่ผ่านการนำไปแปรรูป เนื่องจากมีโซเดียมอยู่มาก
  • อย่าไว้ใจน้ำจิ้ม เนื่องจากน้ำจิ้มสูตรต่าง ๆ ก็มีส่วนประกอบของโซเดียมด้วยเช่นกัน
  • ทานอาหารให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพิ่มการทานผัก ผลไม้นานาชนิดระหว่างวัน
  • ทำอาหารทานเอง เพื่อควบคุมปริมาณของเครื่องปรุง หรือปรึกษานักโภชนาการก็ได้

 

ไข่เค็ม เมนูที่พบได้ในหลายจานตามร้านอาหาร ถึงคุณแม่จะจำกัดการทานไข่เค็มในช่วงตั้งครรภ์ได้ แต่หากไม่ระวังเมนูอาหารอื่น ๆ คุณแม่ก็อาจจะยังเสี่ยงอยู่เช่นเดิม

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

คนท้องกินผักกาดดองได้ไหม ? ผักมีประโยชน์อยู่ไหม ถ้ามาในรูปแบบของดอง

คนท้องกินมะม่วงสุก จะเป็นอะไรไหม หวานปากอยากกินไม่ไหวแล้ว

คนท้องกินน้ำผึ้งได้ไหม ? มีหลายเรื่องที่ต้องระวัง คุณแม่รู้แล้วหรือยัง ?

ที่มา : 1 2 3

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!