โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง คืออะไร สาเหตุ อาการ พร้อมวิธีป้องกันเบื้องต้น
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หนึ่งในอาการภูมิแพ้ที่มักเกิดขึ้นในเด็กเล็ก ไปดูสาเหตุ อาการ พร้อมวิธีดูแลผิวเบื้องต้น เพื่อให้ลูกรักสุขภาพดี ช่วยลดความเสี่ยงโรคภูมิแพ้ในอนาคต
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง ที่ยังไม่ทราบสาเหตุของโรคแน่ชัด แต่เชื่อว่ากรรมพันธุ์น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรค ทำให้มีความผิดปกติของผิวหนัง หรือปฏิกิริยาจากสารก่อภูมิแพ้หรือสารระคายเคือง โดยมีอาการคันมาก เป็น ๆ หาย ๆ มักเริ่มเป็นตั้งแต่เด็ก วันนี้เรามาหาคำตอบกัน ทำไม? ลูกเป็นภูมิแพ้ผิวหนัง วิธีดูแลลูกเป็นภูมิแพ้ผิวหนัง
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง คืออะไร?
Atopic Dermatitis หรือ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ที่เป็น ๆ หาย ๆ และพบได้บ่อยในเด็ก
ลักษณะผื่นของ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นอย่างไร?
ลักษณะผื่นของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นได้ตั้งแต่ผื่นแห้งขุย ผื่นแดง ตุ่มน้ำ มีน้ำเหลืองไหลเยิ้ม หรือผื่นหนาคัน ขึ้นอยู่กับระยะของโรค โดยผื่นมักจะขึ้นอย่างสมดุล ซ้าย – ขวา และมีการกระจายของผื่นที่จำเพาะในวัยต่าง ๆ คือ
- ช่วงวัยทารก ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง มักเป็นบริเวณแก้ม คอ ใบหน้า หนังศีรษะ หรือบริเวณแขนขา
- วัยเด็กโต ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง มักเป็นตามข้อพับแขนขา หลัง ข้อมือ ข้อเท้า
- วัยผู้ใหญ่ ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง มักจะเป็นอยู่เฉพาะบริเวณที่ถูกระคายเคืองบ่อยหรือมีการเกาได้ง่าย เช่น มือ เท้า แขน และต้นคอ
จะทราบได้อย่างไรว่าลูกเป็น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง?
การวินิจฉัยโรคนี้ ส่วนใหญ่อาศัยอาการของโรค การตรวจทางห้องปฏิบัติการจะทำเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องการหาสาเหตุกระตุ้นให้เกิดอาการ ได้แก่ การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin prick test) และการหาระดับสารภูมิคุ้มกันชนิด ไอจีอี (IgE) ต่อสารก่อภูมิแพ้ในเลือด เป็นต้น
สิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีอะไรบ้าง?
มีการศึกษาพบว่าทารกและเด็กเล็กที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังซึ่งมีความรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมากจะมีการแพ้อาหารร่วมด้วย 30 – 40% โดยสารก่อภูมิแพ้จากอาหารจะกระตุ้นให้ผื่นกำเริบขึ้น อาหารที่พบว่าเป็นสาเหตุบ่อย ได้แก่ นมวัว ไข่ ถั่วเหลือง แป้งสาลี และถั่วลิสง ส่วนสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ ได้แก่ ไรฝุ่น แมลงสาบ ขนหรือรังแคสัตว์ เชื้อรา ละอองเกสรต้นไม้หรือหญ้าก็สามารถกระตุ้นให้อาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังกำเริบได้เช่นกัน นอกจากนี้การติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา และปัจจัยทางกายภาพ เช่น ความร้อนหรือเย็นเกินไป เป็นผลทำให้มีเหงื่อหรือผิวแห้ง การเกา สารระคายเคืองผิวหนัง เช่น ฝุ่น PM2.5 น้ำยาซักผ้า สบู่ แป้งหรือโลชั่นบางชนิด รวมทั้งความเครียด ก็สามารถกระตุ้นให้ผื่นกำเริบได้
การดูแลผิวหนังเบื้องต้น
- เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง โดยใช้สบู่ที่อ่อนโยน และ หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนเพราะจะทำให้ผิวแห้งมากขึ้น รวมถึงทาครีมหรือโลชั่นที่ช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นไว้
- หลีกเลี่ยงการใช้เสื้อผ้าเนื้อหยาบ หรือ สัมผัสสิ่งที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้โรคกำเริบ
- หลีกเลี่ยงความเครียด
- ตัดเล็บให้สั้น
การดูแล โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ควรทำอย่างไร?
หากคุณพ่อคุณแม่ทราบว่าลูกเป็นโรคโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังนี้ และมีอะไรเป็นสิ่งกระตุ้น ก็ควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นนั้น ๆ ค่ะ และที่สำคัญควรดูแลผิวหนังอย่าให้แห้งหรือระคายเคือง ได้แก่ หลีกเลี่ยงอาบน้ำที่อุ่นหรือร้อน เลี่ยงการใช้หรือสัมผัสสิ่งระคายเคือง เช่น สบู่บางชนิด ผงซักฟอก นอกจากนี้ควรใช้สารเคลือบผิว (Emollients) ในรูปแบบของ โลชั่น ครีม ในกรณีที่ผิวแห้งมาก ทาผิวหนังทันทีหลังอาบน้ำโดยการซับตัวให้แห้งหมาดๆแล้วรีบทาภายใน 3 นาที ก่อนน้ำที่ผิวจะระเหย หากมีผื่นกำเริบควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำแนะนำในการใช้ยา
วิธีป้องกันภูมิแพ้ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้ลูกรักสุขภาพดี และช่วยลดความเสี่ยงโรคภูมิแพ้ในอนาคต
คุณแม่สามารถป้องกันลูกไม่ให้เกิดภาวะเสี่ยงภูมิแพ้ชนิดต่าง ๆ รวมถึงภูมิแพ้ผิวหนัง ด้วยการดูแลเรื่องโภชนาการลูกตั้งแต่เริ่มแรก ด้วยการให้นมแม่ เพราะนมแม่มีคุณสมบัติ Hypo-Allergenic ( H.A. ) ช่วยลดความเสี่ยงภูมิแพ้ เพราะนอกจากนมแม่จะมีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิดแล้ว โปรตีนในนมแม่บางส่วน มี PHP หรือ Partially Hydrolyzed Proteins ซึ่งเป็นโปรตีนที่ถูกย่อยให้มีขนาดเล็กลงด้วยเอ็นไซม์ตามธรรมชาติในนมแม่รวมทั้งมีโพรไบโอติกหลายชนิด เช่น Bifidus BL (บิฟิดัส บีแอล) ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงของการเกิดภูมิแพ้ โดยสังเกตได้จากทารกที่ได้รับนมแม่อย่างเหมาะสมจะมีการเกิดภูมิแพ้น้อยกว่า และมีภูมิคุ้มกันที่ดีกว่า แต่ในกรณีที่ไม่สามารถให้นมแม่ได้นั้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อแนะนำข้อมูลสำหรับเด็กที่เสี่ยงเป็นภูมิแพ้
สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือเพิ่งคลอดลูก อย่ากังวลมากจนเกินไป เพราะโรคภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก มีวิธีป้องกันเบื้องต้น ตลอดจนวิธีดูแลได้ที่ N Sensitive Club
เอกสารอ้างอิง
- Dallas DC, et al. J Mammary Gland Biol Neoplasia. 2015 Dec;20(3-4):133-47.
- Dallas DC, et al. J Nutr. 2014 Jun;144(6):815-20
- Grönlund MM, et al. Clin Exp Allergy. 2007 Dec;37(12):1764-72.
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
10 อาหารคนท้องไตรมาสแรก คนท้องไตรมาสแรกควรกินอะไรมาดูกัน!
ชาคริต แอน วางแผนอนาคต ทำสวนไว้ให้ลูก อนาคตจะได้เป็นเจ้าของสวนผลไม้
7 วิธีแก้เผ็ดแฟนไม่สนใจ ทำยังไงให้กลับมาสนใจ ไม่มองเราเป็น “ของตาย”