เลือดจางระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลอันตรายต่อแม่และลูกในครรภ์สูง

โรคเลือดจางมักเกิดจากการรับประทานอาหารไม่ถูกส่วน เนื่องจากผู้หญิงบางคนกลัวรูปร่างเสียจึงไม่ค่อยชอบอาหารที่มีคุณค่าเสริมสร้างร่างกาย และอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น เป็นโรคเรื้อรัง หรือมีพยาธิปากขอที่คอยดูดเลือดจากลำไส้ของเรา หรืออาจมีการเสียเลือดจากริดสีดวงทวาร เลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร รวมถึงโรคทางพันธุกรรม เช่น ธาลัสซีเมีย เป็นต้น ยิ่งถ้าเกิด เลือดจางระหว่างตั้งครรภ์ ยิ่งอันตรายไปแล้วใหญ่

 

ป้องกัน เลือดจางระหว่างตั้งครรภ์

  • อาการเลือดจางเนื่องจากคุณแม่ขาดธาตุเหล็กซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการหล่อเลี้ยงลูกในท้อง ขณะตั้งครรภ์คุณแม่ต้องการธาตุเหล็กมากขึ้นกว่าเดิม
  • ควรเน้นอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง กรดโฟลิก และวิตามินบี 12 ที่มักจะมีอยู่ในหอย ปลา ถั่วต่างๆ หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโอ๊ต แครอท แคนตาลูป ฟักทอง อะโวคาโด ผลไม้แห้ง ลูกพีช อินทผลัม กล้วยตาก และจมูกข้าวสาลี

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าเลือดจาง

เลือดจาง เป็นภาวะที่เม็ดเลือดแดงมีฮีโมโกลบินต่ำกว่าปกติ โดยในผู้หญิงที่ไม่ท้องปกติจะมีค่าความเข้มข้นของเลือดอยู่ที่ประมาณ 14 กรัมเปอร์เซ็นต์ (14 กรัมต่อเลือด 100 ซีซี) หากต่ำกว่า 11 กรัมเปอร์เซ็นต์จะถือว่าเลือดจาง สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ถ้าต่ำกว่า 10 กรัมเปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็นโรคเลือดจาง คุณหมอจะทำการตรวจหาความเข้มข้นของเลือดเมื่อไปฝากครรภ์ครั้งแรก และตรวจซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 7 เดือน

บทความที่เกี่ยวข้อง : ตรวจธาลัสซีเมียก่อนตั้งครรภ์ สำคัญอย่างไร ใครอยากมีลูกต้องตรวจก่อน

 

เลือดจางระหว่างตั้งครรภ์

 

เลือดจางระหว่างตั้งครรภ์อันตรายต่อแม่อย่างไร

เนื่องจากระหว่างตั้งครรภ์นั้น ร่างกายคุณแม่จะมีน้ำเลือดเพิ่มขึ้นมากกว่าภาวะปกติ จึงทำให้ความเข้มข้นของเลือดจางลงกว่าปกติ โดยระดับของฮีโมโกลบินจะค่อย ๆ ลดลง จนถึงช่วงเดือนที่ 7 จะลดลงมาก และกลับสู่ค่าปกติหลังคลอดแล้ว 6 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามการลดลงของฮีโมโกลบินในระดับปกติสำหรับหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรต่ำกว่า 10 กรัมเปอร์เซ็นต์ เลือดจางระหว่างตั้งครรภ์อาการ ดังนี้

 

  1. อ่อนเพลีย ซีด เหนื่อยง่าย เป็นลมบ่อย เวียนศีรษะ และเบื่ออาหาร
  2. เสี่ยงแท้ง และคลอดก่อนกำหนด
  3. มดลูกหดรัดตัวไม่ดี ทำให้คลอดยาก หมดแรง และมีโอกาสติดเชื้ออักเสบได้ง่าย
  4. ตกเลือดระหว่างคลอด หลังคลอด และช็อก

 

อาการดังกล่าวจะเป็นมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับว่าเลือดจางมากแค่ไหน ทั้งนี้แม่ที่มีภาวะเลือดจางมักมีอันตรายจากการคลอด อัตราการตกเลือดและติดเชื้อสูงกว่าแม่ท้องที่เลือดไม่จาง

 

ตั้งครรภ์เลือดจาง โลหิตจางมีลูกได้ไหม ?

โรคเลือดจางนอกจากจะเป็นอันตรายต่อแม่แล้ว ยังส่งผลร้ายแรงต่อลูกน้อยด้วย เนื่องจากเลือดที่ไปเลี้ยงรกจะมีออกซิเจนน้อยกว่าปกติ ทำให้ออกซิเจนส่งไปยังทารกน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อลูก ดังนี้

 

  1. ถ้าแม่เลือดจางมาก ทารกอาจเสียชีวิตในครรภ์ได้
  2. ลูกมีโอกาสที่จะคลอดออกมาแล้วเสียชีวิต
  3. เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักแรกคลอดน้อย
  4. มีความพิการแต่กำเนิดสูง
  5. ลูกมีโอกาสเป็นโรคเลือดจาง

 

 

เลือดจางตอนตั้งครรภ์ทำอย่างไร

หากเลือดจางจากโรคเลือดทางพันธุกรรม หรือธาลัสซีเมียนั้น ไม่สามารถป้องกันได้ ส่วนผู้ที่เลือดจางเพราะพยาธิปากขอคุณหมอสามารถให้ยาถ่ายพยาธิปากขอ เพื่อลดการเสียเลือดได้ แต่สำหรับคุณแม่ที่ไม่ได้อยู่ในภาวะดังกล่าว ก่อนตั้งครรภ์ก็มีสุขภาพดีเป็นปกติ สามารถป้องกันภาวะเลือดจางได้ด้วยการกินยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็กที่คุณหมอจ่ายให้มาตอนที่ไปตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ

เนื่องจากในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่จะมีความต้องการธาตุเหล็กมากขึ้น ซึ่งอาหารประจำวันนั้นมีธาตุเหล็กเพียง 10-15 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ธาตุเหล็กจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้เพียงร้อยละ 10 นั่นหมายความว่า คุณแม่จะได้รับธาตุเหล็กจากอาหารเข้าไปในระบบทางเดินเลือดเพียงวันละ 1-1.5 มิลลิกรัมเท่านั้น ดังนั้น หากรับประทานอาหารไม่ถูกสัดส่วนก็มีโอกาสเกิดเลือดจางได้ง่าย

 

ธาตุเหล็กจำเป็นต่อร่างกายแม่ท้องอย่างไร

เมื่อร่างกายได้รับธาตุเหล็กจะถูกนำไปใช้ในการ

  1. สร้างฮีโมโกลบิน
  2. สร้างสารที่จำเป็นต่อการทำงานของเซลล์
  3. เก็บสำรองไว้ในตับ ม้าม และไขกระดูก
  4. ถูกขับออกทางเหงื่อ ปัสสาวะและอุจจาระ
  5. เอาไปให้ทารกเพื่อสร้างอวัยวะต่าง ๆ
  6. สร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์
  7. สูญเสียไปขณะคลอด
  8. ออกมากับน้ำนมแม่

 

เห็นไหมคะว่า ธาตุเหล็กจำเป็นต่อคุณแม่และคุณลูกมากแค่ไหน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์จะต้องได้รับธาตุเหล็กเสริมให้มากเพื่อความสมบูรณ์ของทั้งคุณแม่และลูกน้อย

 

หากตรวจพบเลือดจางระหว่างตั้งครรภ์รักษาอย่างไร

คุณหมอจะหาสาเหตุของเลือดจาง หากเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก คุณหมอก็จะให้กินยาเสริมธาตุเหล็ก หากเลือดจางมากอาจพิจารณาให้เลือดด้วย รวมถึงขณะคลอดอาจต้องเตรียมเลือดไว้ 1-2 ขวด เพื่อใช้ในกรณีมีการตกเลือด ซึ่งอาจทำให้ช็อกได้ รู้อย่างนี้แล้ว คุณแม่ท้องควรบำรุงร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ และควรรับประทานยาบำรุงเสริมธาตุเหล็กที่คุณหมอให้มาอย่าได้ขาด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคเลือดจางระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อทั้งแม่และลูกได้ค่ะ

ที่มา คู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด โดย ศ.(คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ

 

เลือดจางระหว่างตั้งครรภ์

 

เลือดจางระหว่างตั้งครรภ์กินอะไร

สำหรับคนท้องที่อยากจะหาอาหารเสริมบำรุงเลือดด้วยตนเองที่บ้าน อาหารที่อยากจะแนะนำเลยให้เน้นไปที่ส่วนประกอบที่มีโปรตีนจากเนื้อสัตว์ จะเป็นปลาทะเลก็ได้ หรือจะเลือกเป็นอาหารทะเลเป็นครั้งคราวก็ดี สำหรับสูตรอาหารชีวจิตของคนเป็นเลือดจาง คือ ให้ลดข้าว เพิ่มผัก และเพิ่มโปรตีนให้มากขึ้น โดยลดข้าวให้เหลือ 30 เปอร์เซ็นต์ ผักเพิ่มเป็น 35 เปอร์เซ็นต์ โปรตีนเพิ่มเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ และกินปลาได้อาทิตย์ละ 5 ครั้ง ส่วนอย่างอื่นให้คงเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ตามเดิม ในขณะเดียวกันอาจเลือกเน้นอาหารที่มีธาตุโฟลิก และวิตามินบี 12 ที่มักจะมีอยู่ในหอย ปลา ถั่วต่าง ๆ หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโอ๊ต แครอท แคนตาลูป ฟักทอง อะโวคาโด ผลไม้แห้ง ลูกพีช อินทผลัม กล้วยตาก และจมูกข้าวสาลี

นอกจากต้องระวังภาวะ เลือดจางระหว่างตั้งครรภ์แล้ว สิ่งที่แม่ ๆ หมั่นควรสังเกตบ่อย ๆ คืออาการที่ผิดปกติระหว่างที่ตั้งครรภ์ แต่อาการเหล่านั้นมันคืออะไรบ้าง สามารถเช็กได้จากบทความด้านล่างนี้เลยค่ะ

 

5 อาการผิดปกติอื่น ๆ ระหว่างตั้งครรภ์

1. เด็กดิ้นน้อยลง

โดยปกติคนท้องควรสังเกตการณ์เคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์ เด็กบางคนก็ดิ้นมากในเวลากลางคืน ในขณะที่เด็กบางคนก็จะเริ่มขยับตัวมากในช่วงเช้า ถ้าคุณแม่รู้สึกได้ว่าลูกในท้องดิ้นน้อยกว่าปกติ หรือไม่เคลื่อนไหวเลย คุณแม่ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะมีบางกรณีที่เด็กเสียชีวิตก่อนคลอดเพียงไม่กี่สัปดาห์ ถึงแม้จะพบไม่มากนัก แน่นอนว่าวิธีการเดียวที่จะรู้ได้ก็คือการสังเกตการณ์เคลื่อนไหวของทารกในครรภ์

 

2. มีเลือดออกทางช่องคลอด

หากคุณมีอาการตกเลือดระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 คุณจำเป็นต้องไปพบแพทย์ทันที เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณอันตรายของภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ซึ่งจะทำให้เจ็บปวดรุนแรงและมีเลือดออกมาก ส่วนในกรณีที่คุณมีเลือดออกเล็กน้อยและไม่มีอาการเจ็บปวดใด ๆ อาจไม่มีสาเหตุร้ายแรง คุณอาจลองโทรปรึกษาแพทย์ประจำตัวเพื่อดูว่าจำเป็นต้องไปโรงพยาบาลหรือไม่

 

3. น้ำเดิน

ของเหลวที่ออกมาระหว่างตั้งครรภ์อาจเป็นแค่ของเหลวที่ซึมออกมาตามปกติ ปัสสาวะ หรืออาจเป็นน้ำคร่ำรั่ว ซึ่งบางครั้งก็ยากที่จะระบุชัดเจน (ซึ่งเราขอบอกไว้ก่อนเลยว่าหญิงตั้งครรภ์อาจมีของเหลวไหลออกมามากกว่าปกติโดยเฉพาะในช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนคลอด) ดังนั้นหากคุณยังไม่ใกล้กำหนดคลอด แต่มีของเหลวไหลออกมามากผิดปกติ คุณควรไปพบแพทย์ทันที ผู้หญิงหลายคนไม่กล้าไปพบแพทย์เพราะเกรงว่าจะเป็นแค่ปัสสาวะ แต่ในหลายกรณี กลับกลายเป็นน้ำเดินก่อนกำหนด ซึ่งเกิดขึ้นได้

 

4. เจ็บท้องก่อนกำหนดคลอด

อาการนี้อาจสังเกตได้ยากหน่อย เพราะอาการ “เจ็บท้องหลอก” อาจเกิดขึ้นได้ตลอดช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 และจะมีอาการเจ็บมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามจำนวนท้อง ฉันมีอาการเจ็บท้องเป็นประจำตั้งแต่สัปดาห์ที่ 27 ตอนท้องลูกคนที่ 3 และถ้าฉันตกใจ ไปโรงพยาบาลทุกครั้งที่เจ็บท้อง ก็คงไปเก้อทุกครั้ง ถ้าคุณไม่แน่ใจว่ากำลังเจ็บท้องจริงหรือหลอก คุณควรไปพบแพทย์ หากคุณมีอาการดังต่อไปนี้: เจ็บท้องก่อน 37 สัปดาห์ เจ็บเป็นประจำและมีอาการทุก ๆ 2-3 นาที และเจ็บมากขึ้นเวลายืนหรือเดิน อาการปวดท้องต่อเนื่องก่อนกำหนดคลอดอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณอาจคลอดก่อนกำหนด

 

5. รู้สึกผิดปกติ

บางครั้งคุณแม่ทั้งหลายก็อาจต้องเชื่อสัญชาตญาณตัวเอง คุณควรใส่ใจเป็นพิเศษหากคุณรู้สึกถึงความผิดปกติบางอย่าง ไม่ว่าจะก่อนคลอด หรือกำลังจะคลอด แม้ว่าคุณอาจจะบอกไม่ได้ว่าผิดปกติตรงไหน แต่ขอให้เชื่อความรู้สึกตัวเอง ร่างกายของคุณ และของทารก เพราะคุณคือคนเดียวที่รู้สภาพตัวเองดีที่สุด

 

ถ้าหากพบอาการเหล่านี้แล้วหล่ะก็ อย่าชะล่าใจ รีบจูงมือคุณพ่อพาไปพบแพทย์เพื่อรีบรักษานะคะ ศึกษาเรื่องโลหิตจางของคนท้องเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

7 อาการคนท้อง ตั้งครรภ์ไตรมาสสอง ต้องระวัง อาการแบบไหนเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ

10 ยี่ห้อ อาหารเสริมธาตุเหล็ก คนท้อง ยี่ห้อไหนดี ป้องกันโรคโลหิตจาง

โรคธาลัสซีเมียคนท้อง โลหิตจาง รักษา หรือป้องกันได้อย่างไร ?

ที่มา : 1, 2

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!