ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ อาการคนท้อง และพัฒนาการของทารกในครรภ์

รู้ไหมว่า ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน คุณแม่จะมีอาการอย่างไรบ้าง เนื่องจากผู้หญิงบางคนกว่าจะรู้ว่าตนเองตั้งครรภ์ก็อาจเข้าสัปดาห์ที่ 4 หรือคนท้องเข้าสัปดาห์ที่ 6 แล้ว ซึ่งในช่วงเดือนแรกของการตั้งครรภ์นี้ ตัวอ่อนจะยังมีขนาดเล็กมาก โดยอาจจะมีขนาดใหญ่กว่าเมล็ดงาดำเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง

 

ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ มีสัญญาณบอกอย่างไร ?

ผู้หญิงตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ หรือ อายุครรภ์ 1 เดือน เหมือนจะเพิ่งเริ่มต้นยังไม่มีอาการใด ๆ มากนัก แต่รู้ไหมว่าร่างกายของคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนอย่างไม่ทันตั้งตัว เนื่องจากทางร่างกายภายนอกยังไม่มีสัญญาณบอกมากนัก แต่ภายในร่างกายและอาการผิดปกติหลาย ๆ อย่าง ทำให้ผู้หญิงกังวลว่า อาการแบบนี้เรียกว่าท้องหรือยัง บางรายผลตรวจยังไม่ชัดเจน อาจจะต้องตรวจทั้งที่ตรวจตั้งครรภ์ และเพื่อความมั่นใจจึงไปตรวจกับแพทย์อีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม ระดับของฮอร์โมนของผู้หญิงจะเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ในขณะที่ว่าที่คุณแม่ไม่มีอาการใด ๆ ลองมาเช็กสัญญาณและอาการบางอย่างที่อาจบอกเราได้

 

วิดีโอจาก : DrNoon Channel

 

1. ประจำเดือนขาด

เป็นอาการพื้นฐานของผู้หญิงเริ่มตั้งครรภ์ ยิ่งในช่วงสัปดาห์ที่ 4 นี้ หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าตัวเองกำลังจะเป็นคุณแม่ ในขณะที่บางท่านก็อาจจะกำลังลุ้นผลจากที่ตรวจครรภ์อยู่

 

2. อาการแพ้ท้อง

ว่าที่คุณแม่ประมาณ 50 – 90 % จะมีอาการแพ้ท้องแตกต่างกันไป นั่นหมายความว่า คนแพ้ท้องไม่ได้มีอาการแบบเดียวกันทุกคน เช่น คลื่นไส้ หรืออาจมีอาเจียนด้วย หรือบางคนกลับไม่คลื่นไส้เลย แค่เวียนศีรษะเท่านั้น โดยปกติแล้ว การแพ้ท้องนั้นจะรุนแรงที่สุดในสัปดาห์ที่ 9 และจากนั้นจึงค่อย ๆ ดีขึ้น ก่อนที่จะหายไปในไตรมาสที่สอง

 

3. คุณแม่เริ่มท้องอืด

ไม่ค่อยได้ยินกับอาการนี้กันมากนัก ว่าที่คุณแม่หลายคนเลยคิดว่า อาจจะรับประทานอาหารมากไป อาหารไม่ย่อยบ้าง แต่จริง ๆ แล้วอาการท้องอืดมาจากการที่ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์นั่นเอง

 

4. มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

ในระหว่างตั้งครรภ์นี้อาจทำให้อารมณ์ของคุณแม่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย (แต่ก็อาจเกิดจากความเครียดและเพราะคุณแม่คิดอะไรในหัวมากมาย) อารมณ์แปรปรวนในช่วงตั้งครรภ์นั้นจะมีความรุนแรงที่สุดใน 12 สัปดาห์แรก หลังจากนั้น ฮอร์โมนจะลดระดับลงเล็กน้อย ทำให้คุณแม่อ่อนไหวต่อเรื่องต่าง ๆ น้อยลงไปด้วย

 

5. อาการปวดท้องเล็กน้อย

ในสัปดาห์ที่ 4 อาการปวดท้องอาจทำให้คุณแม่กังวลได้ แต่ที่จริงแล้วนั่นเป็นสัญญาณว่าทารกกำลังฝังตัวในผนังมดลูก รู้สึกปวดหน่วง ๆ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดที่รุนแรงผิดปกติ ควรไปพบแพทย์ทันทีจะได้ตรวจและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้

 

6. มีเลือดออกเล็กน้อย

คุณแม่บางคนตกใจมากกับอาการนี้ เนื่องจากมีเลือดออกมา บางคนคิดว่าได้สูญเสียลูกน้อยไปแล้ว แต่จริง ๆ การมีเลือดออกเล็กน้อยสามารถเกิดขึ้นได้ในสัปดาห์ที่ 4 นี้ เนื่องจากการฝังตัวของตัวอ่อน และจะค่อย ๆ หายไป หากมีเลือดออกมากเหมือนประจำเดือนหรืออาจจะหนักกว่านั้น และออกมาเกินสองหรือสามวัน ก็ควรไปพบแพทย์

 

ตั้งครรภ์ 1 เดือน

 

7. อารมณ์แปรปรวน

สืบเนื่องมาจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงขึ้น ๆ ลง ๆ คุณแม่ไม่ได้คิดไปเองเมื่ออารมณ์ของคุณแม่แปรปรวนไปหมดจากฮอร์โมนที่ปั่นป่วน (แต่ก็อาจเกิดจากความเครียดและ เพราะคุณแม่คิดอะไรในหัวมากมาย อาการดังกล่าวนี้ ในช่วงตั้งครรภ์นั้นจะมีความรุนแรงที่สุดใน 12 สัปดาห์หรือ สองไตรมาสแรก หลังจากนั้น ฮอร์โมนจะลดระดับลงเล็กน้อย ทำให้คุณแม่อ่อนไหวต่อเรื่องต่าง ๆ น้อยลงไปด้วย

 

8. คัดหน้าอก

โดยปกติผู้หญิงจะมีการคัดหน้าอกก่อนมีประจำเดือน แน่นอนว่า ถ้ารู้สึกคัดหน้าอก บางคนอาจคิดว่าแค่เป็นวันนั้นของเดือน ซึ่งจริง ๆ แล้ว อาการนี้คือหนึ่งในสัญญาณของการตั้งท้อง เนื่องจากหน้าอกของคุณแม่ขยายและเจ็บ เพราะฮอร์โมนที่พุ่งสูงขึ้นนั้นกำลังบอกกับร่างกายว่า กำลังจะมีลูก ให้เตรียมนมไว้ตั้งแต่ตอนนี้เลย

 

9. อ่อนเพลีย

ร่างกายจะอ่อนแอลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการที่พบได้ทั่วไปในสัปดาห์ที่ 4 นี้คือ การหมดแรง เพราะร่างกายของคุณแม่กำลังทำงานหนักในการช่วยให้ก้อนเซลล์เล็ก ๆ เติบโตขึ้นมาเป็นเอ็มบริโอหรือตัวอ่อน

 

10. ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น

เมื่อตั้งครรภ์จะรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ และกลั้นปัสสาวะได้ไม่นานอย่างที่เคย แม้เวลาเข้าห้องน้ำมีปัสสาวะออกมาเล็กน้อย เป็นเพราะการสร้างเลือดและของเหลวเพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ มดลูกขยายใหญ่ขึ้นเบียดกระเพาะปัสสาวะทำให้ปัสสาวะถี่ขึ้น แล้วอาการนี้จะเป็นตลอดช่วงตั้งครรภ์- ของว่าที่คุณแม่ส่วนใหญ่เลย

 

ท้อง 1 เดือนแล้ว ทารกมีพัฒนาการอย่างไร

คุณแม่ทราบหรือไม่ว่า ท้องแค่เดือนเดียว ท้อง2สัปดาห์ แต่ทารกมีพัฒนาการแล้ว ฉะนั้น ทารกในครรภ์1เดือน ทารกจะไม่ใช่แค่ก้อนเลือดอย่างที่เราเคยได้ยินแล้วค่ะ

 

1. เติบโตในน้ำคร่ำ

เนื่องจากเพราะพัฒนาการลูกน้อย ยังถือเป็นช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ถุงน้ำคร่ำและถุงไข่แดงจะพัฒนาในช่วงสัปดาห์ที่ 4 นี้ โดยถุงน้ำคร่ำจะสร้างน้ำคร่ำ เพื่อปกป้องตัวอ่อน และถุงไข่แดงจะสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ส่งสารอาหาร และออกซิเจนให้ตัวอ่อนจนกว่ารกจะมีการพัฒนาขึ้น

 

2. กลุ่มเซลล์เริ่มพัฒนาขึ้นเป็นตัวอ่อนเป็นชั้น

ชั้นเซลล์เหล่านี้เริ่มพัฒนาขึ้นเป็นอวัยวะต่าง ๆ เซลล์ชั้นในที่เรียกว่า “เอ็นโดเดิร์ม” จะพัฒนาขึ้นเป็นระบบย่อยอาหาร ตับ และปอดของเด็ก ชั้นกลางที่เรียกว่า “เมโซเดิร์ม” จะกลายเป็นหัวใจ อวัยวะเพศ กระดูก ไต และกล้ามเนื้อ ส่วนเซลล์ชั้นนอก เรียกว่า “เอ็กโตเดิร์ม” จะกลายเป็นระบบประสาท ผม ผิวหนัง และตาทารกในครรภ์ตัวเล็ก ๆ ฝังตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของผนังมดลูก และแบ่งตัวต่อไปเรื่อย ๆ จนช่วงปลายสัปดาห์จึงจะกลายเป็นกลุ่มเซลล์จำนวนมาก รวมกันเป็นแท่งยาว

 

ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์

 

3. ความยาวของตัวอ่อน

ในช่วงสัปดาห์ที่ 4 จะยาวเพียง ¼ นิ้วเท่านั้น ซึ่งจะประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อ 3 ชนิด

  • ชนิดแรกจะเจริญต่อไปเป็นผม เล็บ หูส่วนใน เลนส์ตา
  • ชนิดที่สองจะพัฒนาเป็นระบบประสาท จอตา ต่อมใต้สมอง กระดูก กล้ามเนื้อ เซลล์เลือด เซลล์น้ำเหลือง
  • ชนิดที่สามจะพัฒนาไปเป็นปอด หลอดลม ระบบทางเดินอาหาร ตับ ตับอ่อนกระเพาะปัสสาวะ

บทความที่เกี่ยวข้อง : ตั้งครรภ์ 1-3 สัปดาห์ อาการคนท้อง และพัฒนาการของทารกในครรภ์

 

แม่ท้อง 4 สัปดาห์ คนท้อง 1 เดือน มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร

  • รกจะสร้างฮอร์โมน : การตั้งครรภ์1สัปดาห์ ระยะเวลา 1 เดือนหรือ 4 สัปดาห์ รกจะมีการสร้างฮอร์โมนของการตั้งครรภ์หรือ HCG (Human Chorionic Gonadotropin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้รังไข่หยุดการตกไข่ชั่วคราว จากนั้นรังไข่จะไปสร้างฮอร์โมนที่ช่วยหล่อเลี้ยงการตั้งครรภ์มาแทนที่ ทั้งนี้ สามารถตรวจพบได้ทั้งในเลือดและในปัสสาวะ หากช่วงนี้คุณแม่ซื้อชุดทดสอบการตั้งครรภ์มาตรวจ ฮอร์โมน HCG ผลการตรวจจะออกมาเป็นบวก ซึ่งแปลว่าคุณแม่มีการตั้งครรภ์แล้ว
  • ฮอร์โมน HCG จะไปกระตุ้นให้รังไข่ : ท้องของคนท้อง1สัปดาห์ ในเดือนแรกนั้นจะมีการสร้างฮอร์โมนแล้ว ซึ่งฮอร์โมนนี้จะไปสร้างเอสโตรเจนเพิ่มมากขึ้น ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้นมีเส้นเลือดไปเลี้ยงทารกในครรภ์ที่กำลังเติบโต ส่งผลให้หน้าอกคุณแม่มีอาการคัดตึงขึ้น ใหญ่ขึ้นซึ่งเป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่บ่งบอกว่าคุณแม่กำลังตั้งครรภ์ และอาการเหล่านี้ค่อย ๆ ลดลงเมื่อตั้งครรภ์ได้ 3 เดือน

 

ตั้งครรภ์ได้ 4 สัปดาห์ อัลตราซาวนด์ได้ไหม

การตั้งครรภ์1สัปดาห์ หรือ ตั้งครรภ์เดือนแรก ในสัปดาห์ที่ 4 นี้ ก้อนเซลล์กำลังแบ่งตัวเป็นเอ็มบริโอ (ก้อนทารก) ท่อประสาท โครงสร้างของกระดูกสันหลัง สมอง และ แนวกระดูกสันหลัง ก่อตัวขึ้นมาแล้ว ถุงน้ำคร่ำและของเหลวกำลังกลายเป็นตัวกันกระแทกที่ช่วยปกป้องทารก หากมีการอัลตราซาวนด์ในสัปดาห์ที่ 4 ของการตั้งครรภ์ การมองเห็นจะเป็นเหมือนจุดเล็ก ๆ ที่เรียกว่าถุงการตั้งครรภ์เท่านั้น

 

เรื่องที่ควรทำตอนอายุครรภ์ได้ 1 เดือน คนท้องสัปดาห์แรก

  • เมื่อทราบว่า ท้องแรก หรือ ตั้งครรภ์แล้ว ควรไปฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด
  • หลีกเลี่ยงปลาบางชนิดที่มีสารปรอทปนเปื้อน เช่น ปลาฉนาก (ปลาดาบ), ปลาฉลาม
  • งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เลิกสูบบุหรี่ ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน
  • ระมัดระวังเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ และหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ได้ผ่านการปรุงสุก เช่น ไข่ดิบ เนื้อดิบ
  • ในช่วงนี้ควรเน้นทานอาหารที่ให้ธาตุเหล็กสูง เนื่องจากจะช่วยสร้างฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นสารที่สำคัญในการนำออกซิเจนไปสู่ตัวอ่อนได้ และควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผักและผลไม้เพื่อป้องกันอาการท้องผูก

บทความที่เกี่ยวข้อง : อาหารคนท้องอ่อน แบบไหนบำรุง แบบไหนแสลง อะไรห้ามกิน อะไรกินได้

 

อาหารบำรุงครรภ์ช่วงเดือนแรก คนท้อง 1 สัปดาห์

  • โฟเลต : คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโฟเลต คือ เนื้อสัตว์ ผักใบเขียว โฟเลตจะช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดแดงและเซลล์ของตัวอ่อนมีความแข็งแรงมากขึ้น ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในเรื่องความปกติของพัฒนาการทางสมอง และระบบประสาทต่าง ๆ ของทารกในครรภ์
  • ธาตุเหล็ก : คนท้องสัปดาห์แรก ก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ควรเสริมธาตุเหล็ก เพราะเป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ซึ่งจะเป็นตัวที่นำออกซิเจนจากปอดเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย อีกทั้งธาตุเหล็กยังป้องกันภาวะโลหิตจาง อาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กได้แก่ ธัญพืช ถั่วตระกูลต่าง ๆ ไข่แดง ตับ ผักใบเขียว และเนื้อสัตว์

 

ช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 1 – 4 นี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ การเตรียมตัว เตรียมใจ และการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวัน เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนและเลือกซื้อเสื้อผ้า รองเท้า ของใช้ส่วนตัว ปรับเปลี่ยนศึกษาเรื่องอาหารการกิน ดูแลการพักผ่อนของตนเอง เพื่อให้ลูกน้อยได้เจริญเติบโตอย่างแข็งแรงและสมบูรณ์ค่ะ

 

อายุครรภ์ 1 เดือน

 

Checklist ข้อห้ามสำหรับคุณแม่ครรภ์ 1 เดือน

ท้องสัปดาห์แรก หรือ อายุครรภ์ 1 เดือน ในช่วงเดือนแรกนี้คุณแม่อาจจะไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายมากนัก แต่สิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลย คือ กิจวัตรประจำวันของคุณแม่ทั้งหลาย การเริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่ช่วงแรกของการตั้งครรภ์นั้นถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ จริง ๆ แล้วคุณแม่หลาย ๆ คนอาจจะละเลยการดูแลตัวเองในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ไปบ้าง แต่ไม่ต้องกังวลไปค่ะ ขอเพียงไม่ทำสิ่งเป็นอันตรายและข้อห้ามดังต่อไปนี้ก็พอค่ะ

ระยะการตั้งครรภ์ใน 3 เดือนแรก เป็นระยะของการพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ ที่สำคัญของลูกน้อยในครรภ์ คุณแม่จึงควรระมัดระวังในการดำเนินชีวิตให้มาก หากคุณแม่รับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ได้รับยาบางอย่าง ฉายรังสี หรือแม้แต่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นมลพิษ มีสารเคมี ก็สามารถส่งผลต่อสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ได้

 

1. ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงไม่สุก

เพราะอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย และพยาธิ ทำให้ท้องเสียได้ โดยเฉพาะโรคทอกโซพลาสโมซิส (toxoplasmosis) ที่เกิดจากการติดเชื้อ ทอกโซพลาสมา กอนดิไอ (Toxoplasma gondii) เมื่อคุณแม่กินเนื้อสัตว์ที่มีซิสต์เนื้อเยื่อดิบ ๆ สุก ๆ เข้าไป เช่น สเต๊ก ลาบดิบ โดยไม่ได้ทำให้สุกพอที่จะฆ่าเชื้อนี้ได้ สามารถติดเชื้อไปสู่ทารกในครรภ์ได้

ถ้าคุณแม่ติดเชื้อทอกโซพลาสมา กอนดิไอเป็นครั้งแรก ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงถึง 45 เปอร์เซ็นต์ที่จะติดต่อสู่ลูกน้อยในครรภ์ผ่านทางรก โดยทารกที่ติดเชื้อนี้มีโอกาสแท้ง หรือตายแรกคลอด หรืออาจมีอาการตับ ม้ามโต ต่อมน้ำเหลืองโต ปอดอักเสบ ชัก น้ำคั่งในสมอง หัวบาตร หรือหัวลีบ สมองและไขสันหลังอักเสบ ตาเหล่ ต้อกระจก จอตาอักเสบ ตาบอด หูหนวก ปัญญาอ่อน เป็นต้น

 

2. ควรหลีกเลี่ยงอาหารทะเล

หลีกเลี่ยงการบริโภคปลาและหอยบางประเภทซึ่งอาจมีสารปรอทสูง สารปรอทจะทำลายระบบประสาท ของทารก ยิ่งปลามีขนาดใหญ่เท่าไหร่ ก็ยิ่งมีสารปรอทสูงเท่านั้น

  • องค์การอาหารและยาของสหรัฐแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์หลีกเลี่ยง ปลาดาบ ปลาอินทรี ปลาฉลาม ปลา Tile fish ปลากระโทงแทง
  • หากคุณกังวลเกี่ยวกับการบริโภคอาหารทะเล องค์การอาหารและยาระบุว่าคุณสามารถกิน ปลาดุก ปลาพอลล็อค ปลาแซลมอน กุ้ง ทูน่ากระป๋อง ได้สัปดาห์ละ 12 ออนซ์ (ประมาณอาหารมื้อปกติ 2 มื้อ)
  • หลีกเลี่ยงการกินปลาและหอยดิบ หรืออาหารทะเลรมควันแช่เย็น ซึ่งแปลว่า คนท้องควรงดซูชิตลอดช่วงตั้งครรภ์ พยายามปรุงอาหารทะเลด้วยอุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส เนื้อปลาสุกจะล่อนเป็นชิ้นและมีสีขุ่น สำหรับกุ้ง ล็อบสเตอร์ และหอยเชลล์ ปรุงจนกลายเป็นสีขาวขุ่น หอยชนิดต่าง ๆ ควรปรุงจนฝาเปิด

3. การใช้ยาระหว่างตั้งครรภ์

การใช้ยาระหว่างตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่แม่ท้องต้องระวังให้มาก ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งเท่านั้น และต้องแจ้งคุณหมอทุกครั้งด้วยว่าตั้งครรภ์อยู่ อายุครรภ์กี่สัปดาห์ เนื่องจากยาบางตัว หากคุณแม่ได้รับในช่วง 1-3 เดือนของการตั้งครรภ์อาจส่งผลให้เด็กพิการ เจริญเติบโตช้า หรืออาจเสียชีวิตในครรภ์ได้

หากคุณแม่รับประทานยามาก่อนหน้าที่จะรู้ตัวว่าท้อง เช่นยาแก้สิว ยาแก้ไข้ ลดน้ำมูก ยาแก้ปวดท้อง หรืออาหารเสริมต่าง ๆ คุณแม่ควรนำยานั้นไปปรึกษาคุณหมอว่ายังสามารถรับประทานต่อไปได้หรือไม่

แม้แต่ยาสามัญประจำบ้านหลายชนิดก็ทำให้เกิดอันตรายต่อลูกในครรภ์ได้ ซึ่งยาที่คุณแม่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย โดยไม่มีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ มีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น คือ ยาพาราเซตามอล ลดไข้ แก้ปวด, ยาคลอเฟนิรามีน แก้แพ้ แก้คัน ลดน้ำมูก ,ยาเพนิซิลลิน แอมพิซิลลิน เป็นยาปฏิชีวนะที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับสตรีมีครรภ์ และผงเกลือแร่

4. หลีกเลี่ยงการรับรังสี

ควรหลีกเลี่ยงการเอกซเรย์ หรือบริเวณที่มีการแผ่รังสี ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเด็กทารกในครรภ์ หากคุณแม่ได้รับรังสีปริมาณมาก จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด และจะผ่านจากรกไปสายสะดือ และเข้าสู่ทารก ทำให้พิการแต่กำเนิด เจริญเติบโตช้า มีผลต่อการพัฒนาของสมอง และเสี่ยงต่อมะเร็ง

 

ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์

 

5. บุหรี่

เชื่อกันว่าสารนิโคตินในบุหรี่สามารถผ่านรกไปยังทารกได้ ซึ่งจะเข้าไปกดการทำงานของสมองส่วนที่ควบคุมการหายใจและการเต้นของหัวใจ คุณแม่ที่สูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์มีโอกาสแท้งลูก หรือคลอดก่อนกำหนดได้มากกว่าคุณแม่ที่ไม่ได้สูบบุหรี่

และถึงแม้ว่าคุณแม่จะคลอดครบกำหนด ลูกก็มักจะออกมาตัวเล็กกว่าปกติ มีน้ำหนักน้อย หัวใจเต้นเร็วกว่าเด็กปกติ ระบบการหายใจล้มเหลวอย่างฉับพลันในทารกแรกเกิด มักจะเจ็บป่วยด้วยโรคของระบบทางเดินหายใจ และบางครั้งอาจเกิดความพิการรุนแรง หรือมีพัฒนาการทางสติปัญญาช้า และอาจแสดงออกเหมือนเด็กปัญญาอ่อน

 

6. แอลกอฮอล์

หากคุณแม่ท้องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงปฏิสนธิหรือในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ แอลกอฮอล์จะไปทำลายเซลล์ประสาท ทำให้ทารกมีปัญหาการเจริญเติบโต น้ำหนักแรกเกิดน้อย ศีรษะเล็ก โครงสร้างสมองผิดปกติ บกพร่องทางสติปัญญา มีปัญหาด้านความจำ และมีปัญหาพฤติกรรม เช่น ไม่อยู่นิ่ง สมาธิสั้น

หากคุณแม่ท้องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากจะทำให้ทารกมีลักษณะร่างกายที่ผิดปกติ ช่องตาสั้น ร่องริมฝีปากบนเรียบ ริมฝีปากบนยาวและบาง หนังคลุมหัวตามาก จมูกแบน ปลายจมูกเชิดขึ้น บริเวณส่วนกลางใบหน้ามีการพัฒนาน้อยกว่าปกติ ซึ่งเป็นกลุ่มอาการเฉพาะของทารกที่เกิดจากมารดาดื่มแอลกอฮอล์ที่เรียกว่า Fetal alcohol syndrome

บทความที่เกี่ยวข้อง : 7 ยี่ห้อ อาหารเสริมธาตุเหล็ก คนท้อง ยี่ห้อไหนดี ป้องกันโรคโลหิตจาง

 

สิ่งที่ควรทำเมื่อ ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์

การที่เรารู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ในครั้งแรก สำหรับคุณแม่มือใหม่ก็อาจจะยังไม่รู้ว่าเราจะต้องทำอย่างไร หรือปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อสิ่งเหล่านี้จะได้ปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อลูกในท้อง ส่วนใครที่กำลังกังวลเรื่องเหล่านี้แล้วล่ะก็ มารู้วิธีการรับมือไปพร้อมกันเลยดีกว่า

 

  • ดูแลตัวเองในช่วงเริ่มต้น : เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ควรที่จะเข้มงวดกับการดูแลตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของอาหารการกิน คุณแม่ต้องเลือกทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นทานอาหารที่มีกรดโฟลิก วิตามินบี 6 ธาตุเหล็ก และแคลเซียม เพื่อให้ลูกน้อยในครรภ์มีพัฒนาการที่ดี ควรนอนพักผ่อนมาก ๆ รักษาสุขภาพช่องปากให้ดี และไม่ควรเครียดค่ะ
  • ออกกำลังกาย : การออกกำลังกายก็มีประโยชน์อย่างยิ่งในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ เพราะจะช่วยเสริมสร้างร่างกายของคุณแม่ให้แข็งแรง เตรียมพร้อมที่จะอุ้มลูกน้อยได้ แนะนำว่าให้ออกกำลังกายอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยที่ควรจะเลือกกิจกรรมที่ไม่ใช้กำลังมาก เช่น การเดินเล่น ปั่นจักรยาน และว่ายน้ำ
  • เช็กสิทธิหลักประกันสุขภาพ : คุณแม่ที่เพิ่งตั้งท้องควรจะได้รับสิทธิ์หลักประกันสุขภาพตามที่คุณแม่ได้สมัครไว้ เช่น บัตรทอง ประกันสังคม เพราะเมื่อตั้งครรภ์คุณแม่จะได้รับสิทธิในการฝากครรภ์ ฉีดวัคซีนต่าง ๆ ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้
  • เตรียมรับมืออาการแพ้ท้อง : คุณแม่สามารถอ่านวิธีลดอาการแพ้ท้องได้ที่นี่

หากคุณทราบว่า ตัวคุณเองนั้นตั้งครรภ์แล้ว ไม่ว่าอายุครรภ์ จะน้อย หรือมากแค่ไหนก็ตาม สิ่งที่ควรทำอันดับแรก คือการฝากครรภ์ เพื่อให้แพทย์สามารถ เข้าถึงการดูแล และช่วยควบคุม ทั้งอาหาร ยา หรือการใช้ชีวิตประจำวันของคุณแม่ เพื่อการพัฒนาการที่ดี และปลอดภัยสำหรับตัวคุณแม่ และเด็กในครรภ์นั่นเอง

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

ตั้งครรภ์ 5 สัปดาห์ อาการคนท้อง และพัฒนาการของทารกในครรภ์

ท้อง 6 สัปดาห์ อาการคนท้อง และพัฒนาการของทารกในครรภ์

ข้อห้ามคนท้องอ่อน ระวังให้ดี ก่อนเผลอทำร้ายลูกในครรภ์

ที่มา : 1, 2

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!