12 ยาอันตรายต่อลูก ที่พ่อแม่ต้องรู้ ก่อนหยิบให้ลูกน้อยกิน

undefined

เรื่องยาถือเป็นเรื่องสำคัญมาก พ่อแม่ต้องระมัดระวังก่อนหยิบให้ลูกกิน เพราะยาบางตัวเป็น ยาอันตรายต่อลูก นอกจากจะไม่ช่วยให้หายป่วยแล้ว ยังมีผลข้างเคียงด้วย

12 ยาอันตรายต่อลูก

เรื่องยาเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองต้องระมัดระวังให้มาก ๆ เพราะแน่นอนว่ายาสำหรับผู้ใหญ่ และยาสำหรับทารกหรือเด็กเล็ก ย่อมไม่เหมือนกันอย่างแน่นอน ถ้าเป็นยาตัวอื่นนอกเหนือจากยาที่แพทย์สั่งให้ลูกแล้ว พ่อแม่ก็ควรศึกษาให้ดีเสียก่อน มาดูกันให้ชัดว่า ยาตัวไหนบ้างที่เป็น ยาอันตรายต่อลูก ไม่ควรหยิบให้เด็กเล็กกิน เพราะนอกจากจะไม่ช่วยรักษาอาการป่วยแล้ว อาจเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงกับเด็กทารกด้วย รู้ไว้ก่อน ดีว่าเผลอหยิบให้ลูกกิน แล้วต้องมารักษาอาการป่วยของลูกน้อยทีหลัง

ยาอันตรายต่อลูก

  • ยาแก้แพ้

นอกจากยาตามอาการที่แพทย์สั่งแล้ว พ่อแม่ไม่ควรซื้อยาแก้แพ้ให้ลูกกินเอง เนื่องจากยาแก้แพ้ที่วางขายตามร้านขายยาทั่วไป มีส่วนประกอบของตัวยาต้านฮีสตามีน ซึ่งส่งผลลบต่อเด็กทารก อาการแพ้บางอย่าง ลูกน้อยสามารถหายได้เองเมื่อโตขึ้น หากให้กินยา แทนที่จะหาย อาจจะมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เข้ามาแทนก็ได้

  • แอสไพริน

แอสไพริน ยาสามัญประจำบ้านที่เราใช้กันบ่อย ๆ แต่ยานี้ถือเป็นยาต้องห้ามสำหรับเด็กเล็กเลย ห้ามให้เด็กทารกกินยาแอสไพรินโดยเด็ดขาด เพราะเสี่ยงเกิดอาการเรย์ซินโดรม ซึ่งอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต ทางที่ดีควรใช้ยาลดไข้ที่แพทย์สั่งให้ลูกน้อยโดยเฉพาะ หรือสอบถามเภสัชให้แน่ใจว่ายาตัวที่จะให้ลูกกินไม่มีส่วนประกอบของตัวยาแอสไพรินแน่ ๆ

  • ยาธาตุ

เวลาปวดท้องเรามักจะนึกถึงยาธาตุน้ำขาว แต่ถ้าหากว่าเด็กเล็กทานยาธาตุน้ำขาวมากเกินไป ตัวยาจะไปขัดขวางการดูดซึมวิตามินและแร่ธาตุได้ รวมไปถึงในยาธาตุมีธาตุอลูมิเนียม ถ้าหากได้รับมากเกินไป อาจมีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองด้วย

  • ยาระบาย

ถัดจากอาการปวดท้องก็เรื่องขับถ่ายของลูกน้อยเนี่ยแหละ ยาระบายไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบยาน้ำ ยาเม็ด หรือยาสวนก้น ต้องปรึกษาแพทย์ให้ดีเลยล่ะ เพราะเด็กอาจเกิดอาการอ่อนเพลียจากการขาดน้ำ และอาจอันตรายถึงขั้นช็อคได้

ยาอันตรายต่อลูก

  • ยาต้านพิษไอปิแคค (Ipecac)

ไอปิแคคเป็นยาที่ใช้ขับสารพิษออกจากร่างกายผ่านการอาเจียน ซึ่งไม่เหมาะกับเด็กเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะหากเด็กเล็กอาเจียนต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ร่างกายอาจจะขาดน้ำ จนนำไปสู่อาการช็อคได้เช่นกัน

  • ยาสเตียรอยด์

ยาสเตียรอยด์ถือเป็นตัวยาสุดฮิตที่จ่ายให้กับผู้ที่เป็นภูมิแพ้ แต่สำหรับเด็กเล็กแล้ว ไม่ควรกินโดยเด็ดขาด เนื่องจากจะไปทำให้เด็กเลี้ยงไม่โต ตัวแคระแกร็น กระดูกผุ ตัวไม่สูงขึ้น หยุดพัฒนาการในด้านการเจริญเติบโตของเด็กเล็กไปเลย

  • ยานอนหลับ

เวลาที่ลูกไม่ยอมนอน พ่อแม่ควรหาสาเหตุของอาการนอนไม่หลับในเด็กก่อน ห้ามให้ยานอนหลับแก่เด็กทารกโดยเด็ดขาด เพราะยานอนหลับเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท อันตรายต่อเด็กทารก ห้ามให้ลูกกิน

  • ยาเม็ดชนิดเคี้ยว

สาเหตุที่แพทย์ให้ยาน้ำแก่เด็กเล็กเสมอ ก็เพราะเด็กวัยนี้ไม่เหมาะกับยาเม็ด รวมไปถึงยาเม็ดชนิดเคี้ยว เพราะพัฒนาการของเด็กยังไม่แข็งแรก ยาอาจจะติดคอเด็กทารกจนเป็นอันตรายได้ ดังนั้นให้ทานยาน้ำจึงดีที่สุด

ยาอันตรายต่อลูก

  • ยาของผู้ใหญ่

พึงระลึกไว้เสมอว่า ยาที่ผู้ใหญ่ทาน กับยาที่เด็กทาน ต่างกันโดยสิ้นเชิง ดูง่าย ๆ จากแค่น้ำหนักตัวของเด็กทารก ที่น้อยกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า ดังนั้นทั้งตัวยาและปริมาณยาย่อมต่างกัน ห้ามเอายาของพ่อแม่ให้ลูกทานโดยเด็ดขาด เนื่องจากร่างกายของเด็กไม่สามารถรับตัวยาของผู้ใหญ่ได้ ควรให้ทานยาตามแพทย์สั่งเท่านั้น

  • วิตามินเสริม

เด็กที่ทานอาหารไม่ครบทุกหมู่ อาจเกิดอาการขาดวิตามิน วิตามินเสริมต่าง ๆ จึงเป็นตัวช่วยที่พ่อแม่มองหา แต่ต้องระวังวิตามินเสริมประเภทสังเคราะห์ให้ดี ๆ อย่างเช่น วิตามินอี น้ำมันตับปลา เพราะถ้าหากได้รับในปริมาณมากเกินไป ก็อาจเกิดอันตรายต่อตับของเด็กเล็กได้

  • น้ำผึ้ง

น้ำผึ้งไม่ถือว่าเป็นยา แต่ก็เป็นสมุนไพรที่ถูกหยิบมาใช้รักษาอาการต่าง ๆ บ่อย น้ำผึ้งมีสปอร์ของสารโบทูลิซึ่ม ที่เกิดจากแบคทีเรียชนิดหนึ่ง หากเด็กได้รับสปอร์โบทูลิซึ่มเข้าไป สปอร์จะฟักเชื้อในท้อง และก่อให้เกิดสารพิษกระจายไปทั่วร่างกาย ซึ่งร่างกายต้องย่อยสปอร์นี้ แต่ร่างกายของผู้ใหญ่จะสามารถย่อยสปอร์นี้ได้ดีกว่าเด็กเล็ก ดังนั้นจึงไม่ควรให้ทารกหรือเด็กเล็กทานน้ำผึ้ง

  • ยาหมดอายุ

ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็ก ก็ไม่มีใครควรทานยาหมดอายุทั้งนั้น อย่าเสียดาย ยาหมดอายุแล้วก็ควรจะเอาไปทิ้งทันที เนื่องจากตัวยาที่ควรจะช่วยรักษาอาการนั้น เมื่อหมดอายุแล้วอาจจะส่งผลตรงกันข้ามกันเลยก็ได้ อย่างไรก็ตาม ยาบางชนิดอาจเสื่อมลงถ้าหากเก็บรักษาไม่ถูกวิธี จึงควรศึกษาวิธีเก็บรักษายาแต่ละตัวด้วย

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ท้องสองจะปวดแบบท้องแรกมั้ย

ยาแต้มสิวคนท้อง ยารักษาสิวแบบไหนที่คนท้องใช้ได้-ใช้ไม่ได้

แม่ป่วยก็ให้นมลูกได้ กินยารักษาได้ไม่ลงในนมแม่

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!