100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 36 ลูกไม่ยอมเข้าเต้า ทำอย่างไรดี ?
แม่ ๆ หลายท่านคงเจอเหตุการณ์ ลูกไม่ยอมเข้าเต้า ทำอย่างไรก็ไม่ยอมเข้าเต้าสักที วันนี้เรามาดูท่าเข้าเต้าที่ถูกต้อง หมดปัญหา ลูกไม่ยอมเข้าเต้า กันเลยค่ะ
ทำไมลูกไม่เข้าเต้า
การที่ลูกไม่ยอมเข้าเต้า เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจจะเป็นเพราะ ติดขวดนม เนื่องจากเด็กบางคนมีการกินนมผงตั้งแต่อยู่โรงพยาบาล หรือปัญหาพังผืดใต้ลิ้น ท่านอนดูดนมไม่ถูกต้อง ทำให้ดูดเต้ายาก ไม่ถนัด น้ำนมแม่ไหลช้า หรือมีน้อย คุณแม่บางคนอาจมีน้ำนมเยอะ น้ำนมพุ่งทำให้ลูกกลืนนมไม่ทัน แม่ไม่มีหัวนม หรือ หัวนมบอด หรือสั้น
การที่ลูกไม่เข้าเต้าทำให้เกิดอะไร ?
การที่ลูกไม่เข้าเต้า ไม่ยอมดูดนมจากเต้า อาจจะทำให้ปวดบวมบริเวณเต้านม หรือท่อนมอุดตัน ควรให้ลูกดูดทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง จะเป็นการกระตุ้นน้ำนมได้ดียิ่งขึ้น
ทำอย่างไรให้ลูกเข้าเต้า
- การวางตำแหน่งลูกน้อยของคุณเป็นสิ่งสำคัญมาก เมื่อทารกอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องจะช่วยให้ลูกของคุณดูดนมได้ง่ายขึ้นค่ะ รวมถึงการสัมผัสยังช่วยทำให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายอบอุ่นค่ะ
- ให้ลูกเรียนรู้ความหิว เพราะตามสัญชาตญาณถ้าหิวถึงที่สุดแล้วลูกยอมดูดนมแม่ค่ะ ซึ่งอาจจะใช้เวลาแค่ 2-3 วันเท่านั้น
- หลีกเลี่ยงการให้ลูกดูดนมจากขวดสลับกับนมแม่ รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้จุกนมยาง จุกนมหลอกค่ะ
- อุ้มลูกบ่อยๆ ให้ลูกเคยชินกับไออุ่นจากอกแม่ ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะติดมือค่ะ เพราะเขาจะติดเราได้ไม่นานค่ะ เมื่อเริ่มโตขึ้นเขาจะเริ่มห่างคุณไปเรื่อยได้เองค่ะ
- กรณีที่คุณแม่น้ำนมมากไหลเร็ว ควรปั้มน้ำนมก่อนให้ลูกดูดค่ะ เพื่อชะลอการไหลของน้ำนมค่ะ
- กรณีกลัวลูกจะติดเต้านมแล้วเลิกยาก กรณีนี้คุณแม่เมื่อลูกอายุ 6 เดือนขึ้นไปเริ่มรับประทานอาหารอื่นๆร่วมด้วย คุณแม่สามารถป้อนนมลูกด้วยวิธีอื่นๆร่วมด้วยค่ะ เช่น แก้ว ช้อน หรือ หลอด เป็นต้น
- กรณีที่คุณแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน และจำเป็นต้องให้ลูกกินนมจากขวดนม ควรเลือกขวดนมที่ลักษณะใกล้เคียงกับเต้านมแม่ และเลือกจุกนมให้เหมาะสมกับอายุของลูกค่ะ และเมื่อกลับมาบ้านให้ลูกดูดนมจากเต้าของคุณแม่เท่านั้นค่ะ
ท่าเอาลูกเข้าเต้า
- ท่าลูกนอนขวางบนตัก ( Cradle hold )
เป็นท่าที่อุ้มลูกไว้บนตัก มือและแขนประคองตัวลูกไว้ ให้ลูกนอนตะแคงเข้าหาตัวแม่ ศีรษะลูกอยู่สูงกว่าลำตัวเล็กน้อย ท้ายทอยลูกวางอยู่บริเวณแขนของแม่ มืออีกข้างประคองเต้านมไว้
ท่านี้เหมาะสำหรับ : คุณแม่ที่คลอดเองตามธรรมชาติที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนหลังคลอด
- ท่าลูกนอนขวางบนตักแบบประยุกต์ ( Modified/cross cradle hold )
ลักษณะของท่านี้จะคลายกับท่าแรกเพียงแต่เปลี่ยนมือของคุณแม่โดยใช้มือข้างเดียวกับเต้านมที่ลูกดูดประคองเต้านมไว้ ส่วนมืออีกข้างรองรับต้นคอและท้ายทอยของลูกแทน
ท่านี้เหมาะสำหรับ : คุณแม่ที่คลอดเองตามธรรมชาติที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนหลังคลอดเช่นกัน และยังเหมาะสำหรับนำลูกเข้าอมหัวนม เพราะมือของคุณแม่ที่ประคองต้นคอและท้ายทอยของลูกไว้ จะช่วยในการควบคุมการเคลื่อนไหวของศีรษะลูกให้เข้าหาเต้านมได้ดี
- ท่าอุ้มลูกฟุตบอล ( Clutch hold หรือ Football hold )
ท่านี้ลูกอยู่ในท่ากึ่งตะแคงกึ่งนอนหงาย ขาชี้ไปทางด้านหลังของแม่ มือแม่จับที่ต้นคอและท้ายทอยของลูก กอดลูกให้กระชับกับสีข้างแม่ ลูกดูดนมจากเต้านมข้างเดียวกับมือที่จับลูก มืออีกข้างประคองเต้านมไว้
ท่านี้เหมาะสำหรับ : แม่ที่ผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องเพราะตัวของลูกจะไม่ไปสัมผัสและกดทับแผลผ่าตัดที่หน้าท้องของแม่ คุณแม่ที่มีเต้านมใหญ่หรือลูกตัวเล็กเพราะลูกจะเข้าอมงับเต้านมได้ดีกว่า และคุณแม่ที่คลอดลูกแฝด เพราะสามารถให้ลูกดูดนมจากทั้งสองเต้าพร้อมๆกันได้
- ท่านอน ( Side lying position )
แม่ลูกนอนตะแคงเข้าหากัน แม่นอนศีรษะสูงเล็กน้อยหลังและสะโพกตรง ให้ปากลูกอยู่ตรงกับหัวนมของแม่ มือที่อยู่ด้านล่างประคองตัวลูกให้ชิดลำตัวแม่อาจใช้ผ้าขนหนูที่ม้วนไว้ หรือหมอนหนุนหลังลูกแทนแขนแม่ก็ได้ มือที่อยู่ด้านบนประคองเต้านมในช่วงแรกที่เริ่มเอาหัวนมเข้าปากลูก เมื่อลูกดูดได้ดีก็ขยับออกได้
ท่านี้เหมาะสมสำหรับ : แม่ที่ผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องต้องการพักผ่อน หรือให้นมลูกเวลากลางคืน
ท่าอุ้มเรอหลังการให้นม
การอุ้มไล่ลมให้ลูกเรอ คุณแม่ควรทำทันทีหลังจากให้ลูกดูดนมเสร็จแล้วทุกครั้ง หรือทำให้ลูกเรอก่อนที่จะให้ลูกมาดูดนมอีกข้าง เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกสำรอกน้ำนมออกมาหลังจากได้นมแม่แล้ว โดยคุณแม่สามารถปฏิบัติได้ ดังนี้
- ท่าที่ 1 : การอุ้มเรอโดยการเอาลูกพาดบ่า
การไล่ลมในท่าอุ้มพาดบ่าให้คุณแม่อุ้มลูกโดยให้คางของลูกอยู่ที่บ่าของแม่ ใช้ฝ่ามือลูบหลังโดยลูบขึ้นจนได้ยินเสียงเรอ
- ท่าที่ 2 : การอุ้มเรอท่าเอาลูกนั่งบนตัก
การไล่ลมในท่านั่งบนตัก ให้โน้มตัวลูกมาด้านหน้าเล็กน้อย ใช้ฝ่ามือหนึ่งประคองใต้คางลูก อีกมือหนึ่งลูบหลังเบาๆจนได้ยินเสียงเรอ
ลูกดูดไปหลับไป ทั้งที่ยังไม่อิ่มนมหรือเปล่า
คุณแม่เห็นลูกหลับจึงเอาลูกออกจากเต้าเพราะเข้าใจว่าลูกอิ่มแล้ว พอจะเอาออกก็ร้องขอดูดต่อ หรือหลับได้ครู่เดียวก็ร้องหิวใหม่อีก ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าตนเองน้ำนมน้อย แนะนำให้คุณแม่สังเกตว่าถ้าลูกหลับขณะกินนมและคายหัวนมออกเอง แสดงว่าลูกกินอิ่ม แต่ถ้ายังไม่คาย เพียงแต่อมหัวนมไว้ หรือดูดแค่เบาๆ คุณแม่ควรกระตุ้นให้ลูกดูดต่อโดย
- ใช้นิ้วชี้ที่ประคองด้านล่างของเต้านมเขี่ยริมฝีปากล่างของลูกเบาๆ เพื่อกระตุ้นให้ดูดต่อ
- ใช้มือบีบเต้านมเพื่อไล่น้ำนมเข้าปากลูก ลูกจะกลืนน้ำนมและดูดต่อ เมื่อลูกหยุดดูด ก็บีบใหม่ ทำเป็นระยะๆ จนกว่าลูกจะอิ่ม และคายปากออกเอง (ดูวิดีโอ) แต่ถ้าบีบไล่น้ำนมสักพักแล้วไม่ได้ผล อาจเป็นเพราะน้ำนมในเต้านั้นลดน้อยลงและไหลช้าลง ก็ให้เปลี่ยนไปอีกเต้าหนึ่ง ทำเป็นระยะๆ จนกว่าลูกจะอิ่ม และคายปากออกเอง
- ถ้าไม่ยอมตื่นดูดต่อ ให้เอาลูกออกจากเต้า และปลุกให้ตื่นก่อน จึงนำเข้าเต้าเพื่อดูดนมอีกครั้ง
theAsianparent Thailand เว็บไซต์ข้อมูลคุณภาพและสังคมคุณแม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและเอเชีย เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ แหล่งความรู้แม่และเด็ก รวมถึงแอพพลิเคชั่น theAsianparent Thailand ที่ติดตามการตั้งครรภ์ให้คุณแม่ได้ลงทะเบียนใช้งาน เพื่อติดตามพัฒนาการทารกตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงติดตามหลังคลอดที่ครอบคลุมที่สุดและผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย นอกจากความรู้ยังมีไลฟ์สไตล์และสื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าสุขภาพแม่และเด็ก โภชนาการแม่และเด็ก กิจกรรมสำหรับครอบครัว การวางแผนครอบครัวไปจนถึง การดูแลลูก การศึกษา และจิตวิทยาเด็ก theAsianparent Thailand เราพร้อมสนับสนุนพ่อแม่ทุกท่าน ให้มีความรู้และมีสุขภาพกายใจเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างครอบครัวอย่างแข็งแรง เพราะเราเชื่อว่า “พ่อแม่เข้มแข็ง ครอบครัวแข็งแรง”
ที่มา : (โรงพยาบาลแมคคอร์มิค),(มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์)
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง :
100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 7 เอาลูกเข้าเต้า การปั๊มนมครั้งแรก
ลูกไม่เข้าเต้า ทำไงดี? ปัญหาที่แม่ ๆ กังวล วิธีแก้ปัญหาทำอย่างไรวันนี้มีคำตอบ!
ลูกไม่ดูดเต้าตั้งเป้าปั้มนมอย่างไรให้เพียงพอ