ลูกชอบตีหัวตัวเอง เอาหัวโขกพื้น เกิดจากอะไร?
ลูกชอบตีหัวตัวเอง จะเป็นอันตรายไหม? พ่อแม่หลายคนกังวลมากกลัวลูกจะได้รับบาดเจ็บ กลัวลูกทำร้ายตัวเอง เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้เข้าใจพฤติกรรมของลูกน้อย เราจะขอแบ่งออกเป็นแต่ละวัย ดังต่อไปนี้
1. วัยทารก
หากลูกน้อยยังเป็นทารกพฤติกรรมเหล่านี้เป็นแค่การอยากลองจับสิ่งของ สัมผัสอวัยวะร่างกาย และสำรวจสิ่งรอบๆ ตัวว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่ง แล้วทำไมลูกถึงชอบเอาหัวโขกกับเปลหรือพื้นเวลาฟังเพลงล่ะ? นั่นแสดงว่าลูกน้อยกำลังรู้สึกสนุกและผ่อนคลายไปกับจังหวะเพลงอยู่ แต่พ่อแม่ไม่ต้องกังวลไปเพราะว่าพฤติกรรมเหล่านี้จะหายไปเอง
2. เด็กวัยเริ่มคลาน
สำหรับเด็กที่อยู่ในช่วงวัยคลานและเดิน หรือเด็กที่มีอายุประมาณ 10 เดือนขึ้นไป เด็กวัยนี้อาจมีพฤติกรรมอาจชอบโขกหัวกับพื้น ประตู หน้าต่าง ดึงผมตัวเอง หรือหยิกหน้าตัวเอง เนื่องจากต้องการเรียกร้องความสนใจ ระบายอารมณ์ที่ไม่พอใจ ต้องการเอาชนะหรืออยากได้อยากทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่ห้าม หรือมีความบกพร่องการอารมณ์ (เด็กพิเศษ) นั่นเอง
ลูกถึงชอบตีตัวเอง
3. เด็กวัย 1-2 ขวบ
ในเด็กวัย 1-2 ขวบ พวกเขาแสดงพฤติกรรมเหล่านั้นเพราะว่าอยากเรียนรู้สิ่งต่างๆ อยากทำอะไรด้วยตัวเอง อยากเลียนแบบผู้ใหญ่ มีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก แต่พัฒนาการก็เพิ่งเริ่ม ทำให้ยังเดินได้ไม่คล่องแคล่ว และอยากสำรวจไปทั่วๆ แต่พ่อแม่บางคนกลัวว่าลูกจะซนก็เลยห้าม ทั้งยังเริ่มมีการฝึกกล้ามเนื้อมือ จึงอยากที่จะหยิบจับสิ่งของต่างๆ ด้วยตัวเอง เช่น ตักข้าวกินเอง แต่ก็ยังไม่ชำนาญ พ่อแม่ก็ไม่ยอมให้ทำ อยากจะคุยกับคนอื่น ก็ยังพูดได้ไม่กี่คำ พูดเป็นภาษาเด็กก็ไม่มีใครเข้าใจ อยากเลียนแบบผู้ใหญ่ เช่น ใช้โทรศัพท์มือถือ รีโมททีวี พ่อแม่ก็ห้ามอีก
พฤติกรรมที่เด็กชอบตีตัวเอง ทำร้ายตัวเอง ก็เกิดจากความรู้สึกคับข้องใจ อึดอัด สับสน อยากเป็นเด็กโต อยากเก่ง แต่ก็ถูกจำกัดนั่นเอง ด้วยความสามารถอันน้อยนิดของตัวเอง และสกัดกั้นจากผู้ใหญ่ที่ไม่ยอมให้ทำ ก็ย่อมทำให้รู้สึกหงุดหงิด โมโห อยากอาละวาด อยากกรี๊ด และเนื่องจากการสื่อสารด้วยคำพูดยังทำได้ไม่ดี เช่น จะบอกว่า หนูโมโหแล้วนะ ก็เลยแสดงออกทางภาษากาย เป็นการเอามือตีหัวตัวเอง และมันก็ได้ผลด้วยเพราะว่าพอลูกน้อยพอทำแล้ว ได้รับการตอบสนอง เช่น พ่อแม่ทำสีหน้าตกอกตกใจ รีบห้ามปราม รีบยอมตามใจ เด็กจึงได้เรียนรู้ว่าวิธีนี้ได้ผลจึงแสดงพฤติกรรมเดิมๆ อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ พฤติกรรมที่ลูกน้อยชอบโยกหัวหรือเอาหัวโขกพื้น อาจเกิดจากฟันกำลังจะขึ้นหรือหูอักเสบอาจ จึงทำให้ลูกมีอาการโยกตัวหรือโขกศีรษะ สำหรับทารกบางคนอยู่ในท่าคลานแล้วโยกตัว บางคนนอนหงายหันศีรษะไปมาซ้ายขวา ซึ่งสามารถพบได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 8 เดือนถึง 4 ขวบ และจะพบในเด็กปกติ 1 ต่อ 7 คน ซึ่งพ่อแม่ไม่ต้องกังวลไปเพราะไม่เป็นอันตรายต่อลูกน้อย
ลูกชอบตีหัวตัวเอง
วิธีแก้ไขให้พฤติกรรมของลูก
- เมื่อพ่อแม่เห็นว่าลูกยังทำแบบเดิมทั้งเอามือตีหัว หรือเอาหัวโขกพื้นอีก ให้ใช้วิธีการเบี่ยงเบนความสนใจลูกไปซะ เช่น หากลูกจะเล่นของอันตราย ให้รีบเก็บขึ้น แล้วชวนลูกไปเดินเล่น หรือพยายามหาของเล่นมาทดแทนจะดีกว่า เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่จะลืมเหตุการณ์ตรงนั้นแล้วสนใจสิ่งใหม่ที่น่าสนใจแทน
- พ่อแม่ควรวางแผนล่วงหน้าว่าลูกอยากเล่นอะไร แต่เราไม่อยากให้เล่น ก็เก็บของสิ่งนั้นให้พ้นสายตาลูกตั้งแต่ต้นซะ จะได้ไม่ต้องทำให้ลูกรู้สึกอยากได้อยากเล่นสิ่งนั้น
- หากเบี่ยงเบนไม่สำเร็จ ร้องไห้และอาละวาดไม่หยุดเพื่อทำให้พ่อแม่ยอมให้ได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องยอมให้ลูกอาละวาด แต่พาเข้ามุม แล้วบอกลูกว่าถ้าหนูร้องไห้ต้องเข้ามุม แล้วพ่อแม่ก็เดินออกมา โดยไม่ต้องให้ความสนใจ ไม่ทำสีหน้าวิตกกังวล ไม่ต้องโมโหลูก ไม่ต้องขึ้นเสียงดังกับลูก จนกว่าลูกจะหยุดอาละวาดด้วยตัวเอง จากนั้นก็เดินกลับไปหาลูก ชวนลูกไปล้างหน้าล้างตา ทุกๆครั้งให้ทำแบบนี้ ลูกจะเรียนรู้ว่าวิธีอาละวาดไม่ได้ผล จะเลิกพฤติกรรมนี้ได้ค่ะ ถึงแม้ลูกจะตีตัวเองแรงอย่างไร หรือ ร้องไห้จนอาเจียน ก็ไม่ต้องตกใจ ไม่อันตรายแน่นอนค่ะ
- อย่าล่อโดยการให้รางวัล หรือโดยการให้ความสนใจ อย่าบอกว่าหากหยุดทำร้ายตัวเองแล้ว คุณพ่อคุณแม่จะให้รางวัล เพราะลูกจะเรียนรู้ว่า การเรียกร้องโดยการทำพฤติกรรมนั้นๆ จะได้รับรางวัลตอบแทน
- เมื่อทราบสาเหตุแล้ว หากโอกาสพูดกับลูกถึงพฤติกรรมที่เหมาะสม ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรหากต้องการของบางอย่าง
พฤติกรรมเหล่านี้้ โดยเฉพาะการเอาหัวโขกพื้นบ้าง ผนังบ้าง หรือตามเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เกิดขึ้นบ่อยมากในเด็กที่มีปัญหาขาดความรัก ความอบอุ่น เอาแต่ใจ หรือถูกทำร้ายร่างกาย ดังนั้นหากคุณสังเกตเห็นว่าลูกมีพฤติกรรมเช่นนี้้บ่อยมากเกินไป หาวิธีแก้แล้วไม่หาย ควรปรึกษาผู้เชี่่ยวชาญ เพราะเด็กอาจจะมีภาวะออติสติก หรือเป็นโรคทางระบบประสาทได้
ที่มา: สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ, manager
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
เก้าอี้โยกเด็ก เปลไกวเด็กอันตรายกว่าที่คิด ระวัง! พ่อแม่ทำร้ายลูกแบบไม่รู้ตัว
ทำอย่างไรเมื่อ ลูกนอนผวา ทารกสะดุ้ง ตื่นบ่อย ตกใจง่ายเกิดจากอะไร
10 วิธีเล่นเพื่อพัฒนาสมองลูก เล่นอะไรกับลูกแล้วลูกฉลาดบ้าง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!