สายสะดือพันคอทารกอันตรายถึงชีวิต

คงเคยได้ยินคำว่า สายสะดือพันคอทารกกันมาบ้างนะคะ แต่คงอดสงสัยกันไม่ได้ว่าสายสะดือพันคอทารกได้อย่างไร และจะเป็นอันตรายถึงชีวิตต่อทารกในครรภ์จริงหรือไม่ จะสังเกตได้อย่างไรว่าสายสะดือพันคอทารก มาไขข้อสงสัยเรื่องสายสะดือพันคอทารกกันค่ะ ติดตามอ่าน
รู้จัก “สายสะดือ” สายเชื่อมชีวิตจากแม่ถึงลูก
รกเป็นอวัยวะที่แลกเปลี่ยนอาหารและออกซิเจนระหว่างแม่และทารกในครรภ์ ซึ่งรกจะติดอยู่กับผนังด้านในของมดลูกโดยมีสายสะดือเป็นตัวเชื่อมระหว่างรกกับทารก สายสะดือมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 50 เซนติเมตรบางคนก็สั้นกว่านั้น ในขณะที่บางคนอาจยาวถึง 100 เซนติเมตร
คุณแม่ทราบแล้วนะคะว่าสายสะดือคือ ตัวเชื่อมระหว่างรกและทารก เพื่อนำอาหารและออกซิเจนจากแม่มาสู่ลูก ซึ่งทารกแต่ละคนยังมีความแตกต่างของสายสะดือ ดังนี้
1. สายสะดือของทารกแต่ละคนสั้น ยาว ไม่เท่ากัน รวมถึงสายสะดือที่ต่อระหว่างสะดือของลูกกับรกก็จะขดไปขดมา ปะปนอยู่รอบ ๆ ตัวเด็ก
2. ทารกที่มีสายสะดือยาว จะมีความเสี่ยงในการเกิดสายสะดือพันคอทารกได้มากกว่าทารกที่มีสายสะดือสั้น
3. ขนาดของสายสะดือของทารกแต่ละคนมีขนาดใหญ่เล็กไม่เท่ากัน ทารกตัวใหญ่ ๆ อ้วน ๆ มักมีสายสะดืออ้วนตามไปด้วย ส่วนทารกที่ตัวค่อนข้างเล็กสายสะดือก็จะเล็กตามไปด้วย ทารกที่สายสะดืออ้วน มักไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องสายสะดือพันคอ แต่สายสะดือเล็ก ๆ จะมีโอกาสที่สายสะดือพันคอได้มากกว่า
สายสะดือพันคอทารกอันตรายถึงชีวิต
สายสะดือพันคอทารกเป็นเหตุให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์เกิดขึ้นบ่อยที่สุด เมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 32 สัปดาห์ ที่พบบ่อยช่วงนี้เพราะเป็นช่วงที่ทารกในครรภ์ดิ้นมากที่สุด โดยจะดิ้นถึง 264 ครั้งต่อวัน สายสะดือพันคอทารกในครรภ์นั้น เป็นเหตุสุดวิสัยที่ส่วนใหญ่ไม่อาจทราบได้ตั้งแต่ก่อนคลอด เพียงแต่อาจคาดเดาได้จากการตรวจพบความผิดปกติของอัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ ส่วนคุณแม่ต้องสังเกตการดิ้นของทารกในครรภ์ด้วยอีกทางหนึ่ง
เมื่อสายสะดือพันคอทารกต้องทำอย่างไร
1. เมื่อพบว่ามีสายสะดือพันคอทารกแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องผ่าคลอดทันทีเสมอไปทุกราย เพราะสายสะดือพันคอธรรมดาบางกรณีก็คลอดปกติได้ไม่จำเป็นต้องผ่าคลอด แต่ส่งผลช่วงใกล้คลอดหรือเจ็บครรภ์คลอด มดลูกจะพยายามบีบตัวดันให้ทารกเคลื่อนลงต่ำสู่ช่องคลอดให้เร็วขึ้น
บทความแนะนำ สัญญาณเตือนแม่ท้องเสี่ยงผ่าคลอด
2. อาจเกิดภาวะขาดออกซิเจนในรายที่ สายสะดือพันคอ ทารกจนแน่น ปัญหาที่เกิดขึ้นคือทำให้หลอดเลือดที่ในสายสะดือถูกกดทับ เลือดจึงไม่สามารถไหลผ่านได้อย่างสะดวก ทำให้ทารกได้รับออกซิเจนน้อยลงกว่าเดิม
3. หากคุณหมอวินิจฉัยโดยการตรวจอัลตราซาวนด์ พบว่า มีสายสะดือพันคอ อาจต้องไปตรวจครรภ์ถี่ขึ้น และสังเกตการดิ้นของทารกอยู่เสมอ
4. กรณีที่ทารกดิ้นน้อยลงคุณหมอจะต้องทำการตรวจการเต้นของหัวใจ หากพบว่าการเต้นของหัวใจผิดปกติ หมายถึง ภาวะขาดออกซิเจนของทารกในครรภ์ กรณีเช่นนี้ คุณหมอจำเป็นต้องทำการผ่าตัดคลอดโดยทันทีค่ะ
คุณหมอฝากข้อคิด
รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ฝากข้อคิดแก่คุณแม่ตั้งครรภ์ไว้ว่า การตั้งครรภ์และการคลอดเป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติ ส่วนมากจะจบลงด้วยดี แต่บางครั้งก็จบแบบมีปัญหา ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันตั้งแต่ปัญหาเล็กน้อยจนถึงปัญหาใหญ่โตถึงขั้นเสียชีวิต แม้ว่าเราจะแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด แต่การฝากครรภ์ที่ดีรวมทั้งความร่วมมือในการดูแลการตั้งครรภ์และการคลอดที่ดีระหว่างคุณแม่และคุณหมอก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ไม่น้อยครับ
เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว การฝากครรภ์ตั้งแต่รู้ว่าท้อง เพื่อให้คุณหมอได้ตรวจและให้คำแนะนำต่าง ๆ ในการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง รวมถึงคำแนะนำในการตรวจเช็คความปลอดภัยทารก สิ่งเหล่านี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณแม่และทารกในครรภ์นะคะ
ร่วมแชร์ประสบการณ์การตั้งครรภ์ การดูแลตนเองระหว่างตั้งครรภ์ ที่อยากบอกต่อ เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับครอบครัวอื่น ๆ ค่ะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
นาทีชีวิต! คลิปสายสะดือพันคอเด็ก 6 รอบ