ลูกน้อยกับการติดเชื้อพยาธิ

คุณแม่พาน้องต้นน้ำ อายุ 2 ขวบมาตรวจด้วยอาการร้องกวนผิดปกติและคันก้น เอามือเกาก้นบ่อยๆเวลากลางคืน เพราะสงสัยว่าจะติดเชื้อพยาธิ เมื่อมาตรวจหาไข่พยาธิโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ก็พบว่ามีการติดเชื้อพยาธิจริงๆ
คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจเคยสงสัยว่าลูกมีอาการคล้ายกันนี้ เกิดจากการติดเชื้อพยาธิได้หรือไม่? เรามาทำความรู้จักกับการติดเชื้อพยาธิในเด็กกันนะคะ
พบการติดเชื้อพยาธิชนิดใดได้บ่อยในเด็ก?
พยาธิที่พบว่ามีติดเชื้อได้บ่อยในเด็กก็คือ พยาธิเข็มหมุด พยาธิปากขอและพยาธิเส้นด้ายค่ะ โดยพยาธิทั้ง 3 จะมีการติดต่อได้ดังนี้
- พยาธิเข็มหมุด จะติดต่อโดยการที่ลูกชอบเอาของเข้าปาก หรืออมนิ้ว โดยเฉพาะในวัยทารก ลูกอาจได้รับไข่พยาธิจากสิ่งที่เอาเข้าปากแล้วเข้าสู่ร่างกายได้
- พยาธิปากขอและพยาธิเส้นด้าย จะติดต่อผ่านการสัมผัส พบบ่อยในเด็กวัยก่อนเข้าเรียนและวัยเรียน มักติดเชื้อจากการวิ่งเล่นในสนามหญ้า หรือตามพื้นดินพื้นทรายที่ไม่สะอาดและมีตัวอ่อนพยาธิ โดยพยาธิจะไชเข้าตามผิวหนัง จนบางทีมองเห็นเป็นเส้นๆได้
อาการอะไรที่อาจสงสัยว่าลูกติดเชื้อพยาธิ?
หากลูกมีอาการคันที่ก้น โดยเฉพาะเวลากลางคืนจนนอนไม่หลับ งอแง บริเวณที่เกาอาจเกิดการอักเสบจนติดเชื้อแบคทีเรีย ลูกอาจติดพยาธิเข็มหมุดอยู่ เพราะถ้าลูกมีพยาธิ ไข่จะออกในเวลากลางคืน ลูกก็เลยรู้สึกคันก้น หรือบางครั้งไข่ที่ติดที่ก้นก็กลายเป็นตัวอ่อนแล้วไชกลับไปในตัวลูก ทำให้เกิดความรำคาญ หงุดหงิด นอนไม่หลับ เเสบก้น เบื่ออาหาร เเละน้ำหนักลดได้
หากลูกมีอาการปวดท้อง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ไม่ค่อยโต รวมถึงน้ำหนักลดจากการย่อยและการดูดซึมของอาหารผิดปกติ และมีอาการซีดจากการขาดธาตุเหล็ก ทำให้มีการพัฒนาการเรียนรู้ที่ช้าลง ลูกอาจติดพยาธิปากขอหรือพยาธิเส้นด้ายอยู่ได้ค่ะ
เราจะทราบได้อย่างไรว่าลูกติดเชื้อพยาธิ?
หากลูกมีอาการที่น่าสงสัยดังกล่าวก็สามารถให้คุณหมอตรวจหาพยาธิได้ผ่านทางกล้องจุลทรรศน์ โดยวิธีดังนี้ค่ะ
- ตรวจจากอุจจาระ คุณพ่อคุณแม่สามารถนำอุจจาระของลูกมาให้คุณหมอตรวจ โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ดู เพื่อหาไข่พยาธิ
- ตรวจด้วยวิธีสก็อตเทป โดยคุณหมอจะใช้ด้านเหนียวของสก็อตเทปสัมผัสรอบบริเวณทวารหนัก เเล้วนำมาตรวจหาไข่พยาธิภายใต้กล้องจุลทรรศน์ ซึ่งวิธีนี้ใช้ตรวจหาพยาธิเข็มหมุด
เมื่อทราบว่าลูกมีการติดเชื้อพยาธิ จะมีการรักษาอย่างไร?
เมื่อตรวจพบว่าลูกมีการติดเชื้อพยาธิ โดยทราบแน่ชัดเจนแล้วว่าเป็นพยาธิชนิดไหน แล้วคุณหมอจะรักษาด้วยการให้ทานยาถ่ายพยาธิ ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ซื้อยามาทานเองนะคะ เพราะอาจรักษาได้ไม่ถูกต้องกับชนิดของพยาธิที่มีการติดเชื้อ
เราจะป้องกันลูกจากการติดเชื้อพยาธิได้อย่างไร?
การป้องกันลูกจากการติดเชื้อพยาธิที่ดีที่สุด คือการดูแลสุขภาพและสุขอนามัยในกิจวัตรประจำวันของลูก เช่น ล้างมือก่อนและหลังกินอาหาร กินแต่อาหารที่สะอาด ปรุงสุก ดื่มน้ำสะอาด พยายามอย่าให้ลูกอมนิ้ว หรือสิ่งของต่างๆ เพื่อป้องกันไข่พยาธิที่อาจติดอยู่ที่นิ้วมือเข้าสู่ร่างกาย ให้ลูกสวมรองเท้าที่ปกปิดเพื่อป้องกันตัวอ่อนของพยาธิไชเข้าสู่ผิวหนัง สอนให้ลูกใช้ห้องน้ำอย่างถูกสุขลักษณะ
หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกมีอาการที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิ ก็ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาให้เหมาะสม จะได้ป้องกันการติดเชื้อที่ลุกลามรุนแรงต่อไปค่ะ