การใช้สิทธิลาคลอดมีประโยชน์ต่อคุณอย่างไร?
การลาคลอดเป็นโอกาสที่ดีที่คุณแม่จะได้พักฟื้นหลังจากการตั้งครรภ์ และคลอดลูก และเป็นช่วงเวลาอันมีค่าที่คุณจะได้สร้างสายสัมพันธ์กับลูกน้อย เรียนรู้วิธีการดูแลลูก ช่วงแรก ๆ เป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่งที่คุณจะได้ใช้เวลากับลูกน้อยคนใหม่ ดังนั้น จึงควรใช้โอกาสนี้อย่างเต็มที่ อย่าปล่อยให้ช่วงเวลาดี ๆ เหล่านี้สูญเสียไป
สำหรับคุณแม่ที่รับราชการ
มีสิทธิ์ลาคลอดได้ 98 วัน โดยไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์
1.สำหรับข้าราชการ สามารถรับเงินเดือนได้ตามปกติ 98 วัน โดยรับจากส่วนราชการ
2.พนักงานรับราชการ สามารถรับเงินเดือนได้ตามปกติ โดย 45 วันรับจากส่วนราชการ และอีก 45 วันรับจากสำนักงานประกันสังคม พร้อมมีสิทธิ์ลากิจเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ไม่เกิน 150 วันทำการ โดยไม่รับเงินเดือน
นอกจากนี้ ยังสามารถเบิกเงินช่วยเหลือการคลอดบุตรได้ครั้งละ 400 บาท โดยไม่รวมค่ารักษาพยาบาลซึ่งเบิกแยกเป็นกรณีพิเศษได้ พร้อมยังได้รับเงินสวัสดิการสำหรับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเดือนละ 50 บาทต่อบุตร 1 คน แต่ไม่เกิน 3 คน จนกว่าบุตรจะมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์
หมายเหตุ : กรุณาตรวจสอบสวัสดิการเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่ท่านสังกัดอยู่
คุณแม่ที่ทำงานในบริษัทเอกชน
มีสิทธิ์ลาคลอดได้ 98 วัน โดยไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์เช่นกัน ส่วนค่าใช้จ่าย ตามกฎหมายแล้วบริษัทจะต้องทำบัตรประกันสังคมให้ทุกท่าน คุณสามารถใช้บัตรประกันสังคมเบิกค่าใช้จ่ายตามระเบียบของบัตรได้ทันที โดยจะได้รับสิทธิ์ค่าทำคลอดบุตรแบบเหมาจ่ายครั้งละ 13,000 บาท สำหรับบุตรที่คลอดหลัง 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังได้รับเงินช่วยเหลือการหยุดงานเพื่อคลอดบุตร โดยนายจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้ 45 วัน และ อีก 45 วัน ประกันสังคมจะจ่ายให้ (โดยผู้ประกันที่เป็นหญิงมีสิทธิเบิกค่าคลอดได้ 2 ครั้ง และผู้ประกันตนชายเบิกค่าคลอดบุตรได้ 2 ครั้ง) สำหรับผู้ประกันตนหญิงมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 98 วัน คิดจากฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท

คุณแม่ที่ทำงานในรัฐวิสาหกิจ
คุณแม่ทำงานในรัฐวิสาหกิจ สามารถเบิกเงินช่วยเหลือการคลอดบุตรได้ครั้งละ 400 บาท ไม่รวมค่ารักษาพยาบาล โดยส่วนนี้คุณแม่เบิกค่าใช้จ่ายได้ตามระเบียบพนักงานรัฐวิสาหกิจ และยังได้รับเงินช่วยเหลือบุตรจำนวน 50 บาทต่อคนต่อเดือน พร้อมสิทธิ์ลาคลอดได้ 60 วันโดยรับเงินเดือนตามปกติ และลากิจเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ไม่เกิน 30 วัน โดยไม่ได้รับเงินเดือน
คุณแม่ที่ประกอบอาชีพอิสระ
ในกรณีที่คุณแม่ประกอบอาชีพอิสระ สามารถใช้บริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โดยในส่วนของการฝากครรภ์ การสร้างภูมิคุ้มกันโรคของเด็กสามารถเข้ารับบริการได้ฟรี หรือชำระ 30 บาท สำหรับการคลอดบุตรไม่เกิน 2 ครั้ง พร้อมการตรวจรักษา รวมถึงค่าห้อง และค่ายา
การทำงานในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยระหว่างตั้งครรภ์
หากคุณแม่ทำงานอยู่ในพื้นที่ หรือตำแหน่งที่มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ เช่น ทำงานในโรงงาน หรือทำงานในตึกที่ต้องขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่ และทารกในครรภ์ คุณแม่มีสิทธิ์ขอย้ายแผนก หรือย้ายโต๊ะทำงานเป็นการชั่วคราวช่วงก่อน หรือหลังคลอด โดยยื่นเรื่องควบคู่กับใบรับรองแพทย์ ทั้งนี้ กฎหมายคุ้มครองคุณแม่ตั้งครรภ์ ยังห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างหญิงทำงานระหว่าง 22.00 - 06.00 น. รวมถึงห้ามทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกลที่มีความสั่นสะเทือน, งานขับเคลื่อน, งานแบกหาม หรือยกของหนักเกิน 15 กิโลกรัม หรืองานในเรืออีกด้วย
ในกรณีที่ต้องลางานเพื่อไปพบสูติแพทย์เพื่อตรวจครรภ์
สิทธิ์ในการลาคลอด 98 วันนั้น นับรวมวันหยุดราชการที่อยู่ในช่วงวันลา โดยคุณแม่มีสิทธิ์ได้รับเงินเดือนจากนายจ้างตามปกติ หากมีการเลิกจ้างเนื่องจากตั้งครรภ์ถือว่าผิดกฎหมาย
นอกจากสิทธิ์ในการลาคลอด ในโรงพยาบาลที่คุณแม่ฝากครรภ์มักมีบริการคอร์สเตรียมคลอดให้กับคุณแม่เรียนฟรี โดยส่วนใหญ่จะเรียนครั้งแรกช่วงระยะครรภ์ 3 เดือน และอีกครั้งช่วง 6 - 9 เดือน ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลอาจมีตารางเรียนที่แตกต่างกัน คุณแม่สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โรงพยาบาลที่คุณฝากครรภ์

กำหนดลาคลอด
ในความเป็นจริง 8 วัน ที่เพิ่มขึ้นมานั้น กฎหมายเล็งเห็นถึงการลา เพื่อการฝากครรภ์ หรือแม้กระทั่ง การลาเนื่องจาก พาลูกไปฉีดวัคซีนหลังคลอดนั่นเอง ส่วนอีก 90 วัน คือวันที่คุณแม่จะได้ใช้ช่วงเวลานั้น ในการพักคลอดได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลกับเรื่องอื่น
โดยมากคุณแม่ที่ทำงาน หลาย ๆ คน จะทำงานจนเกือบถึงวันที่กำหนดคลอด ก่อนล่วงหน้า 2 วัน แต่คุณแม่หลาย ๆ ท่านก็มักจะลาคลอดล่วงหน้าก่อนถึงวันกำหนดคลอดประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อใช้เวลาในช่วงนั้น ตระเตรียมของสำหรับลูกน้อย และสำหรับตัวคุณแม่เอง พร้อมกับพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ เมื่อคลอดแล้ว คุณแม่ก็จะมีเวลาอีกประมาณ 2 เดือนครึ่ง ในการปรับสภาพร่างกายของตัวคุณแม่เอง และดูแลลูกน้อย ก่อนจะกลับไปทำงาน ดูแล้วเหมือนจะง่ายมาก สำหรับใครหลาย ๆ คน แต่ในความเป็นจริงนั้น รายละเอียดในการตระเตรียม มีเยอะมาก จนช่วงเวลาที่ลา 98 วันนั้น อาจจะดูน้อยไปเลยก็เป็นได้
สิ่งที่คุณแม่ต้องคำนึงก่อนลาคลอด เพื่อให้การลามีความราบรื่น คือ
- การจัดเตรียมงานส่วนของคุณแม่ในที่ทำงานให้เกิดความเป็นระบบ และเข้าใจง่าย เมื่อคนอื่นต้องการหาข้อมูล หรือมารับช่วงงานต่อ
- การสอนงานบุคคลที่จะมารับช่วงงานต่อ ว่าสามารถจะหาข้อมูลเพิ่มเติม หรือต้องใช้ข้อมูลงานจากส่วนไหน
- พูดคุย หรือแลกไลน์ กับผู้ที่เกี่ยวข้อง เผื่อกรณีฉุกเฉินที่ต้องการหาข้อมูล หรือรายละเอียดเพิ่มเติมจากตัวคุณแม่
- คอยติดต่อประสานงาน และควรจะบอกกำหนดการลาคลอดให้เพื่อนร่วมงานทราบล่วงหน้า
- ขอความช่วยเหลือจากหัวหน้างาน เพื่อช่วยในการประสานงาน หรือตรวจสอบงานในช่วงที่คุณแม่ลางาน
เท่านี้ ตัวคุณแม่เอง ก็จะสามารถลาคลอดได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องคอยกังวล กับงานที่ต้องทำ เพราะแค่ตัวลูกน้อย และสุขภาพของคุณแม่เอง ก็เป็นสร้างความกังวลให้กับตัวคุณแม่มากพอแล้วนั่นเอง
ที่มา : tqm