ระวังเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก
กรมควบคุมโรค เตือนผู้ปกครองและสถานศึกษา ระวังเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก โดยเฉพาะเด็ก 1-3 ปี เน้นสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด
กลุ่มเด็ก 1-3 ปี ต้องระวังโรคมือ เท้า ปาก
กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ปกครองและสถานศึกษาระวังเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก 1-3 ปี เน้นสังเกตอาการบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หมั่นทำความสะอาดของใช้ของเล่น ถ้าเด็กป่วยให้หยุดรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหาย หากมีอาการ ซึม อ่อนแรง ชักกระตุก มือสั่น เดินเซ หอบ อาเจียน ให้รีบพบแพทย์ทันที เพราะอาจติดเชื้อชนิดรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้เข้าสู่ช่วงฤดูฝนของประเทศไทย อากาศที่เย็นและชื้น เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆ ประกอบกับโรงเรียนได้เปิดเทอมแล้ว ดังนั้น โรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี คือ โรคมือ เท้า ปาก
จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 21 พฤษภาคม 2562 มีรายงานผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก จำนวน 11,107 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 1 ปี รองลงมา คือ 2 ปี และ 3 ปี ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก คือ สุราษฎร์ธานี รองลงมา คือ เชียงใหม่ ภูเก็ต ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ ตามลำดับ
กรมควบคุมโรคเตือนพ่อแม่ระวังเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก
การติดต่อของโรคมือ เท้า ปาก
โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พบมากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ และสามารถติดต่อจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าทางปากโดยตรง โดยเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน
วิธีสังเกตอาการโรคมือ เท้า ปาก
- ผู้ป่วยได้รับเชื้อจะมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย
- 1-2 วัน มีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็ก ๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้าตุ่มแผลในปาก ที่เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น
- ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น ๆ
- หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชัก เกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจติดเชื้อโรคมือ เท้า ปากชนิดรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
วิธีป้องกันโรคมือ เท้า ปาก
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ผู้ปกครองดูแลและสังเกตอาการของบุตรหลาน เนื่องจากเด็กเล็กอาจบอกอาการเจ็บป่วยของตนเองไม่ได้ ใช้วิธีป้องกันโรคมือ เท้า ปาก มีดังนี้
- ลดการสัมผัสเชื้อ โดยเชื้อโรค มือ เท้า ปากจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย ซึ่งมักจะติดอยู่บนมือแล้วนำเข้าปากหรือจับของเล่น ของใช้ ทำให้กระจายสู่ผู้อื่นได้
- หมั่นทำความสะอาดของใช้และของเล่นของเด็กเป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม
- หมั่นให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลัง รับประทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำ เพื่อลดเชื้อสะสมบนมือและลดการแพร่สู่ผู้อื่น
- หากบุตรหลานป่วย ควรแยกของใช้ส่วนตัวและไม่ให้คลุกคลีกับคนอื่น ๆ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ขอเน้นย้ำผู้ปกครองและสถานศึกษา ช่วยกันดูแลสังเกตอาการเด็กในความปกครองอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่าบุตรหลานมีอาการข้างต้น ให้พิจารณาหยุดเรียนและรักษาจนหาย และควรแจ้งให้ทางโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กทราบ เพื่อทำการค้นหาเด็กที่อาจป่วยเพิ่มเติม สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ที่มา : https://ddc.moph.go.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ระวังป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ คนท้อง ทารก เด็กเล็ก วัยเรียน กลุ่มเสี่ยงไข้หวัดใหญ่ โรคร้ายเสียชีวิตได้
ตรวจคัดกรองโรคตาในเด็ก ทารกอายุ 3-6 เดือน จำเป็นไหม โรคตาของเด็ก โรคตาของทารก ที่พบบ่อย
ลูกดูดนิ้ว กัดเล็บ ข้อดีของการดูดนิ้ว ทารกดูดนิ้ว ดีอย่างไร ต้องจับลูกเลิกหรือไม่ วิธีเลิกดูดนิ้ว วิธีเลิกกัดเล็บ
โรคต้อหินในเด็ก ทารกเป็นโรคต้อหิน ลูกเป็นโรคต้อหินได้ตั้งแต่เล็ก ถ้าแม่ไม่ระวัง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!