มันมาอีกแล้ว โรคมือเท้าปาก ระบาดต่อเนื่อง ผู้ปกครองและครู ต้องระวัง

มันมาอีกแล้ว โรคมือเท้าปาก ระบาดต่อเนื่อง ผู้ปกครองและครู ต้องระวัง
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ป่วยประมาณ 40,000–76,000 รายต่อปี เสียชีวิต 2-3 รายต่อปี โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยสูงกว่าปกติเมื่อเทียบกับข้อมูล 5 ปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน พบรายงานเหตุการณ์โรคมือ เท้า ปากในศูนย์เด็กเล็กหลายแห่ง และมีรายงานผู้ป่วยสงสัยโรคมือ เท้า ปาก เสียชีวิต 2 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ
นายแพทย์เจษฎา กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ขอให้ผู้ปกครอง ครู และผู้ดูแลเด็ก หมั่นสังเกตอาการของเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด หากมีอาการไข้ร่วมกับแผลในปาก โดยอาจมีหรือไม่มีตุ่มน้ำที่มือหรือเท้าก็ได้ ในบางรายอาจมีเฉพาะไข้ ควรรีบพาไปพบแพทย์และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ และไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่นๆ ในครอบครัวหรือชุมชน หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
5 ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคมือเท้าปาก
1. โรคมือเท้าปาก เป็นแล้วสามารถเป็นซ้ำได้อีก
โรคมือเท้าปากต่างกับโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น หัด หรืออีสุกอีใส ที่เกิดจากไวรัสสายพันธุ์เดียว เมื่อเป็นแล้วมักจะไม่เป็นซ้ำอีกเพราะร่างกายมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคไว้ แต่โรคมือเท้าปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มที่เรียกว่า เอนเตอโรไวรัส (Enterovirus) ได้หลายชนิด หลายสายพันธุ์ แล้วทำให้แสดงอาการออกมาคล้ายกัน เช่น คอกแซคกีไวรัส เอนเตอโรไวรัส 71 ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่ง อาจไม่สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่น แม้จะจัดว่าอยู่ในกลุ่มของเอนเตอโรไวรัสเช่นเดียวกัน จึงสามารถเป็นแล้วเป็นซ้ำได้อีก โดยเฉพาะถ้าเกิดจากเชื้อไวรัสต่างชนิดกันค่ะ
2. โรคมือเท้าปากมีอาการได้ทั้งแบบรุนแรงและไม่รุนแรง
ผู้ป่วยโรคมือเท้าปากส่วนใหญ่ มักจะมีอาการไม่รุนแรง อาจมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้ ก็ได้ มีแผลในปากเหมือนแผลร้อนในที่บริเวณริมฝีปาก เหงือก เพดานปาก ลิ้น ด้านหลังของคอหอย กระพุงแก้ม มีผื่นสีแดง หรือตุ่มน้ำ บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า อาจพบที่หลังเท้าหรือก้นได้ด้วย ผื่นหรือตุ่มน้ำเหล่านี้จะหายไปภายในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ อาจมีอาการหนัก ดูซึม กินไม่ได้ อยู่เพียง 2-3 วัน จากนั้นจะดีขึ้นภายในเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์
นอกจากนี้โรคมือเท้าปากจากเชื้อคอกแซคกีไวรัส เอ16 ก็อาจทำให้เกิดอาการที่รุนแรงจากภาวะแทรกซ้อน คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และภาวะช็อกได้ แต่พบได้น้อยกว่าเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 มาก
3. หากมีการระบาดของโรคมือเท้าปากเกิดขึ้นอาจต้องมีการปิดโรงเรียน
หากลูกเป็นโรคมือเท้าปากคุณพ่อคุณแม่ควรรีบแจ้งให้ทางโรงเรียนทราบ เพราะหากมีการระบาดของโรคเกิดขึ้นหลายราย โรงเรียนจะพิจารณาปิดชั้นเรียนที่มีการระบาดนั้นเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หรือหากมีการระบาดเกิดขึ้นในหลายชั้นเรียน ควรปิดทั้งโรงเรียน เพื่อหยุดการระบาด
4. โรคมือเท้าปากไม่มียารักษาจำเพาะ
เนื่องจากโรคนี้ไม่มียารักษาจำเพาะ หลักการรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ ได้แก่ เช็ดตัวลดไข้ ทานยาลดไข้ หยดยาชาในปากเพื่อลดอาการเจ็บแผลในปาก ที่สำคัญคือการสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ซึมลง อาเจียนเยอะ ปวดหัวมาก พูดจาสับสน หายใจดูเหนื่อยๆ ชีพจรเบาเร็ว ปลายมือปลายเท้าดูซีดเย็น ต้องรีบนำผู้ป่วยมาโรงพยาบาลเพื่อการดูแลอย่างใกล้ชิดทันทีนะคะ
5.ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก
ในปัจจุบันยังไม่วัคซีนสำหรับเชื้อเอนเตอโรไวรัสอันเป็นสาเหตุของโรคมือเท้าปาก คุณพ่อคุณแม่จึงต้องเตรียมตัวเตรียมใจรับมือสำหรับการป่วยด้วยเชื้อนี้ในช่วงที่มีการระบาดทุกๆปีค่ะ
ที่มา : www.prachachat.net