พูด "ไม่" แบบไหนที่ทำให้ลูก ไม่รู้สึกแย่

พูด "ไม่" แบบไหนที่ทำให้ลูก ไม่รู้สึกแย่
กว่าจะพูดไม่กับลูกแต่ละที ก็ต้องคิดแล้วคิดอีก เพราะกลัวว่าลูกจะรู้สึกแย่กับเรา หมดห่วงค่ะ เพราะวันนี้เรามีวิธีการพูดกับลูก มาแนะนำกันค่ะ

คิดก่อนพูด
ก่อนที่จะพูดปฏิเสธลูกหรือจะพูดอะไรที่เป็นเหตุทำให้ลูกต้องรู้สึกเสียใจนั้น เราควรที่จะสูดหายใจลึก ๆ ก่อน อย่าพูดด้วยอารมณ์โกรธ ไม่พอใจ หรือโมโหลูกเด็ดขาด เพราะสิ่งเหล่านั้นนี่แหละ เป็นต้นเหตุทำให้เราพูดอะไรไปโดยปราศจากการยับยั้งชั่งใจ และบั่นทอนความรู้สึกของพวกเขาในที่สุด

คิดค้นคำใหม่
การปฏิเสธลูกหรือห้ามลูกทำอะไรนั้น ไม่จำเป็นเลยที่เราจะใช้แต่คำว่า “ไม่” เราสามารถสรรหาคำอื่นมาพูดก็ได้ ยกตัวเหตุการณ์ เวลาที่ลูกจะกระโดดจากที่สูง ปกติแล้ว เราก็มักจะพูดว่า “ไม่กระโดด”กันใช่ไหมคะ ทำไมเราไม่ลองเปลี่ยนคำพูดใหม่มาเป็น “ตกมาแล้วเจ็บนะ” อะไรแบบนี้เป็นต้นแทน

สร้างความสมดุล
เราสามารถสร้างความสมดุลได้ระหว่างการปฏิเสธลูกกับความรักที่เรามีให้ เพราะการปฏิเสธลูกเพียงอย่างเดียว จะทำให้ลูกรู้สึกว่าเราต่อต้านพฤติกรรมของเขา ไม่เข้าใจ และไม่รักเขาอีกต่อไป ดังนั้นเราควรสร้างความสมดุลโดยการให้เหตุและผล ยกตัวอย่างเช่น “แม่ไม่ชอบที่ลูกทำแบบนี้เลย เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นกับลูก แม่คงจะเสียใจ เพราะแม่รักลูกมากนะ” เป็นต้น

เป็นตัวอย่างที่ดี
การปฏิเสธลูกที่ดีที่สุดคือ การทำให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง โดยเฉพาะตัวอย่างที่ดี หากเราไม่ชอบหรือไม่อยากให้ลูกทำอะไร เราก็ควรที่จะไม่ทำสิ่งนั้นให้ลูกดู

เรียนรู้สิ่งที่ลูกชอบและสนใจ
บ่อยครั้งที่การปฏิเสธหรือการห้ามของพ่อแม่นั้นทำให้ลูกรู้สึกแย่ ยกตัวอย่างเช่น ลูกชอบทานช็อกโกแลต แต่ด้วยความเป็นห่วงของพ่อกับแม่ ก็มักจะสั่งห้ามไม่ให้ลูกทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนกลางคืน ดังนั้น ในเมื่อเรารู้ว่าลูกเราชอบ เราก็ควรที่จะหาวิธีการห้ามปรามลูกโดยใช้คำพูดในเหตุและผล เช่น “แม่รู้ว่าลูกชอบ แต่ถ้าลูกทานตอนนี้ มันจะทำให้ลูกฟันผุนะจ้ะ” เป็นต้น

ค่อย ๆ บอกและค่อย ๆ อธิบาย
เวลาจะอธิบายอะไรให้ลูกฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กในวัยเล็ก พ่อแม่ควรที่จะใจเย็น ๆ และค่อย ๆ บอกลูก ยกตัวอย่างเหตุการณ์ในขณะที่ลูกชอบโยนอาหารลงพื้นมากกว่าทาน แทนที่เราจะบอกว่า "อย่าโยนอาหารลงพื้น!" เราก็สามารถอธิบายให้ลูกฟังได้ว่า “อาหารนี้มีไว้รับประทานนะจ้ะ ไม่ได้มีไว้โยนลงพื้น ถ้าหนูอยากเล่น ก็รีบทานให้เรียบร้อยแล้วเดี๋ยวเราไปเล่นกัน” เป็นต้น
ถัดไป
บทความโดย
Muninth
แชร์ :