ท้องแล้วฟันผุ มีผลต่อลูกในท้อง จริงหรือ?

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่างๆ ในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ มีผลต่อปัญหาช่องปากแม่ท้อง เมื่อสุขภาพช่องปากไม่ดี ท้องแล้วฟันผุ มีผลต่อลูกในท้องจริงหรือไม่?
ไม่น่าเชื่อว่าการตั้งครรภ์ จะส่งผลต่อร่างกายแม่ท้องได้มากมาย หนึ่งในปัญหาสุขภาพของคนท้อง คือเรื่องในช่องปาก มาดูกันสิว่า ท้องแล้วฟันผุ มีผลต่อลูกในท้อง จริงหรือไม่
สุขภาพช่องปากคุณแม่ตั้งครรภ์ สำคัญอย่างไร
สุขภาพช่องปากคุณแม่ตั้งครรภ์ ที่พร้อมจะมีลูกน้อยเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากปล่อยให้ฟันผุ มีหินปูน หรือเหงือกอักเสบ อาจจะส่งผลกระทบถึงลูกน้อยในครรภ์ได้ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ส่งผลให้เหงือกและอวัยวะที่รองรับฟันอ่อนแอไปด้วย อาการแพ้ท้อง อาเจียนบ่อย ๆ รวมถึงการดูแลสุขอนามัยในช่องปากที่ไม่ดี ก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพช่องปากและสุขภาพทั่วไปของทั้งแม่และลูกที่จะเกิดมา
สุขภาพช่องปากในระหว่างตั้งครรภ์จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณแม่ควรเอาใจใส่ เพราะเกี่ยวข้องกับสุขภาพร่างกายโดยรวม ที่สามารถส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น คุณแม่ควรทราบถึงวิธีการดูแลช่องปาก และการป้องกันปัญหาเหงือกและฟันที่ถูกต้อง เพื่อสุขภาพที่ดีของตนเองและลูกน้อยในระยะยาวต่อไป
แบคทีเรียในช่องปากคุณแม่ มีผลทำให้ลูกในครรภ์เกิดโรคฟันผุได้หรือไม่?
การที่ภายในช่องปากของคุณแม่นั้นมีหินน้ำลาย (หินปูน) หรือฟันผุหลายซี่จะทำให้มีปริมาณเชื้อแบคทีเรียในช่องปากมาก และมีโอกาสสูงที่จะเกิดการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก ส่งผลให้ลูกมีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคฟันผุ อีกทั้งมีการศึกษาว่าภาวะโรคปริทันต์ในหญิงตั้งครรภ์ เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดและเด็กมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย
การตรวจฟันเพื่อทราบสภาวะช่องปาก และ รับความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพช่องปากของตนเองและลูก จึงมีความจำเป็นสำหรับหญิงมีครรภ์ ซึ่งหากพบปัญหาโรคในช่องปากก็ควรได้รับการรักษาตามความจำเป็นในช่วงที่เหมาะสม เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดีของแม่และลูกต่อไป
คุณแม่ตั้งครรภ์ จะหลีกเลี่ยงโรคฟันผุจากแม่สู่ลูกได้อย่างไร
คำแนะนำที่ดีที่สุดสำหรับหญิงตั้งครรภ์ คือ หมั่นตรวจเช็คสุขภาพฟันเป็นประจำ และ รับการรักษาปัญหาในช่องปากที่มีให้หายขาดก่อนที่จะตั้งครรภ์ จะช่วยลดการเกิดปัญหาทางทันตกรรมระหว่างการตั้งครรภ์ได้
ปัญหาสุขภาพช่องปากขณะตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง
ท้องแล้วฟันผุ มีผลต่อลูกในท้อง อาจเกิดโรคเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากได้หลายชนิด โดยภาวะที่มักพบบ่อย ได้แก่
- เหงือกอักเสบ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายและการเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรียเดิมที่อยู่ภายในช่องปาก
- โรคปริทันต์ สตรีมีครรภ์ผู้ซึ่งมีการติดเชื้อที่เหงือกอย่างเรื้อรังอาจมีอาการรุนแรงขึ้น และหากไม่รับการรักษาอาจส่งผลให้สูญเสียฟันได้ในที่สุด
- ฟันผุ อาจเกิดจากการดูแลสุขอนามัยในช่องปากลดลง หรือการเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร เช่น รับประทานขนมมากขึ้นกว่าเดิมเมื่อรู้สึกหิว เป็นต้น
- เนื้อฟันกร่อนเมื่อตั้งครรภ์ อาการแพ้ท้องเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ซึ่งการอาเจียนจากการแพ้ท้องจะส่งผลให้กรดในกระเพาะอาหารขึ้นมาสะสมอยู่ภายในช่องปาก หากแปรงฟันทันทีก็อาจทำให้เนื้อฟันกร่อนได้
ดังนั้น ต้องไม่แปรงฟันหลังจากอาเจียนโดยเด็ดขาด แต่ควรแปรงฟันหลังจากอาเจียนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อทำความสะอาดกรดภายในช่องปาก - เนื้องอกในช่องปาก ผู้หญิงตั้งครรภ์บางราย อาจมีเนื้องอกผิดปกติเกิดขึ้นในช่องปากบริเวณเหงือก อาการนี้มักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์ และเนื้องอกสามารถยุบไปได้เองหลังจากคลอดบุตร แต่หากเนื้องอกมีเลือดออกหรือทำให้เคี้ยวอาหารลำบาก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที
การดูแลสุขภาพช่องปากระหว่างตั้งครรภ์
การเอาใจใส่สุขภาพช่องปากระหว่างตั้งครรภ์ ช่วยลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ โดยคุณแม่สามารถทำตามแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
- ไปพบทันตแพทย์
- แจ้งทันตแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้
- เปลี่ยนยาสีฟันที่เป็นสาเหตุของอาการแพ้ท้อง
- บ้วนปากอย่างสม่ำเสมอ
- เสริมแคลเซียม
- รับประทานวิตามินดีให้มากขึ้น
แม่ท้องน้ำลายมาก
ด้วยระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ ส่งผลให้แม่ท้องมีน้ำลายมากผิดปกติ ทั้งยังง่ายต่อการเกิดเหงือกอักเสบ ซึ่งเกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจนเช่นเดียวกัน ที่ทำให้มีเลือดมาคั่งค้างมาก แม้เพียงเศษอาหารเล็ก ๆ ที่ขีดบนเหงือก เศษเล็ก ๆ ที่ติดตามซอกฟัน ก็ทำให้ติดเชื้อ มีเลือดออก จนกลายเป็นเหงือกอักเสบได้
หญิงตั้งครรภ์ควรตรวจสภาพช่องปาก ตั้งแต่ตอนฝากครรภ์
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ส่งผลให้เหงือกและเนื้อเยื่ออ่อนต่าง ๆ ที่รองรับฟันอ่อนแอ โดยทันตแพทย์สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย อธิบายว่า อาการแพ้ท้อง อาเจียนบ่อย และการดูแลอนามัยช่องปากที่ไม่ดี จะทำให้หญิงตั้งครรภ์เกิดโรคฟันผุได้ ดังนั้น เพื่อลดปัญหาด้านสุขภาพช่องปากและสุขภาพทั่วไปต่อตัวมารดาและลูก แม่ท้องควรได้รับการตรวจฟัน ตั้งแต่ตอนมารับบริการฝากครรภ์ จะได้ทราบว่า ช่องปากของตนเองเป็นอย่างไร รวมถึงเรียนรู้วิธีดูแลสุขภาพช่องปากของตนเองและลูก ฝึกทักษะการแปรงฟัน การใช้ไหมขัดฟันที่ถูกวิธี
หากพบว่า มีปัญหาโรคในช่องปากก็ควรได้รับการรักษาตามความจำเป็น ในช่วงตั้งครรภ์เดือนที่ 4 - 6 ที่สำคัญต้องปรับทัศนคติของแม่ ให้เห็นความจำเป็นของการดูแลสุขภาพช่องปาก ลดการถ่ายทอดเชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุฟันผุจากแม่สู่ลูกเพื่อสุขภาพช่องปากที่ดีของลูก
เสี่ยงอย่างไรเมื่อแม่ท้องมีฟันผุหลายซี่
มารดาที่มีฟันผุหลายซี่จะมีปริมาณเชื้อแบคทีเรียในช่องปากมาก จึงมีโอกาสสูงที่จะถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูกมากขึ้น ทำให้ลูกมีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคฟันผุ ทั้งนี้ ยังมีการศึกษาที่พบว่าโรคปริทันต์ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด และเด็กมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยได้ การได้รับบริการขูดหินน้ำลายและทำความสะอาดช่องปากจะช่วยลดภาวะเหงือกอักเสบ และการอุดฟันช่วยลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียในช่องปากหญิงตั้งครรภ์
การดูแลฟันในระหว่างตั้งครรภ์
การดูแลฟันเป็นประจำเป็นส่วนสำคัญของการรักษาสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ หากคุณกำลังตั้งครรภ์ ต้องแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบก่อนเข้ารับการทำฟันตามที่ได้นัดหมายไว้ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคเหงือกอักเสบและฟันผุ ทันตแพทย์ควรเน้นเรื่องความสำคัญของสุขอนามัยช่องปากที่ดีในทุก ๆ วัน แปรงฟันวันละ 2 ครั้งด้วยแปรงขนอ่อนนุ่มเป็นเวลา 2 นาที โดยใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ และสนับสนุนให้มีการทำความสะอาดระหว่างซอกฟันวันละครั้ง
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือกรดจากการอาเจียนที่ทำให้เคลือบฟันของคุณเสื่อมลง หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการแปรงฟันในทันทีหลังจากที่อาเจียน เพราะจะทำให้ฟันถูกกรดในกระเพาะอาหาร พวกเขาควรเลือกที่จะบ้วนปากด้วยสารละลายที่เจือจางมาจากน้ำ 1 ถ้วยและเบกกิ้งโซดา 1 ช้อนชา เพื่อช่วยให้กรดภายในปากมีสภาพเป็นกลางให้ได้มากที่สุด
ปลอดภัยไหมที่จะรับบริการทันตกรรม นอกเหนือจากการทำความสะอาด ?
มันจะดีกว่าที่จะได้รับการอุดฟัน ครอบฟัน รักษารากฟัน หรือแม้กระทั่งการถอนฟัน ก่อนที่มันจะพัฒนาไปเป็นการติดเชื้อที่สามารถทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด เนื่องจากยาชาอย่าง Lidocaine สามารถเดินทางผ่านรกได้ เป็นการดีที่สุดที่จะเข้ารับบริการทางทันตกรรมประเภทนี้ในไตรมาสที่สอง เพราะยามีโอกาสน้อยกว่าที่จะส่งผลต่อการพัฒนาของทารกในครรภ์ และงดงานทันตกรรมเพื่อความสวยงามไปจนกว่าคุณจะคลอด
จะเอ็กซ์เรย์ฟันได้หรือไม่ ?
ทันตแพทย์แนะนำการเอ็กซ์เรย์ฟันสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ประสบกับภาวะฉุกเฉินทางทันตกรรมเท่านั้น เช่น ปวดฟันอย่างรุนแรง ซึ่งอาจต้องใช้การรักษารากฟัน ไม่ต้องตื่นตระหนกหากคุณต้องเข้ารับการเอ็กซ์เรย์ เพราะรังสีที่ใช้ในงานทันตกรรมอยู่ในระดับต่ำมาก และผ้ากันเปื้อนที่ช่วยป้องกันตะกั่วจะช่วยลดการสัมผัสลงอย่างมาก
แม้ว่าการดูแลสุขภาพจะสำคัญกับทุกคนอยู่แล้วในสภาวะปกติ แต่การดูแลรักษาให้ดียิ่งขึ้นในระหว่างที่คุณตั้งครรภ์ก็จะยิ่งเป็นการช่วยให้คุณและลูกน้อยปลอดภัยและมีสุขภาพที่สมบูรณ์
แปรงฟันด้วยสูตร 222
แม่ท้องควรหมั่นแปรงฟันแท้ด้วยการแปรงฟันตามสูตร 222 คือ แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ นานครั้งละ 2 นาที วันละ 2 ครั้ง หลังแปรงฟันควรงดขนมหวาน น้ำอัดลม 2 ชั่วโมง และทำความสะอาดซอกฟันด้วยไหมขัดฟัน เพื่อลดโอกาสที่จะสูญเสียฟันเพิ่มขึ้น
การแปรงฟันอย่างถูกวิธี
1. ฟันด้านนอก
- วางขนแปรงเข้าหาฟันให้ปลายขนแปรงอยู่บริเวณขอบเหงือก
โดยเอียงทำมุม 45 องศา กับตัวฟันและขนานกับแนวฟัน - ขยับขนแปรงไปมาในแนวหน้าหลัง เป็นระยะสั้นๆ ไม่เกินครึ่งซี่ฟัน
- ปัดขนแปรงขึ้นในฟันล่างและปัดลงสำหรับฟันบน
- ในแต่ละตำแหน่งควรแปรงประมาณ 10 ครั้ง
2. ฟันด้านใน
- วางขนแปรงบริเวณขอบเหงือกและแปรงฟัน
เช่นเดียวกับการแปรงฟันด้านนอก
3. ฟันด้านบดเคี้ยว
- วางขนแปรงบริเวณด้านบดเคี้ยวของฟัน
โดยวางแปรงให้หน้าตัดขนแปรงอยู่ด้านบนของฟันบดเคี้ยว
ถูไปมาในแนวหน้าหลังทั้งฟันบนและฟันล่าง
4. ฟันหน้าด้านใน
- วางแปรงสีฟันในแนวตั้ง
ใช้ปลายแปรงสีฟันแปรงด้านหลังของฟันหน้าแต่ละซี่
โดยขยับและปัดปลายขนแปรงมาทางปลายขอบฟัน
ทั้งฟันหน้าบนและฟันหน้าล่าง
5. แปรงลิ้น
- อย่าลืมแปรงที่ลิ้นเพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์และป้องกันไม่ให้เกิดกลิ่นปาก
โดยการปัดขนแปรงสีฟัน จากโคนลิ้นมาทางปลายลิ้นประมาณ 10 ครั้ง
ใช้ไหมขัดฟันอย่างไรให้ฟันสะอาดยิ่งขึ้น?
- ดึงไหมขัดฟันออกมา ความยาวประมาณ 18 นิ้ว ให้พันที่นิ้วกลาง ทั้ง 2 ข้าง ดึงให้ไหมขัดฟันตึง
- ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้จับไหมขัดฟันแล้วค่อยๆ เลื่อนเส้นไหมลงระหว่างซอกฟัน
- โอบไหมขัดฟันรอบตัวฟันแต่ละซี่และเลื่อนเส้นไหมลงใต้เหงือกแล้วเคลื่อนไหมขึ้นไปทางปลายฟัน ทำซ้ำ 4 – 5 ครั้ง
แปรงสีฟัน ยาสีฟัน
- ควรเลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม
- เลือกยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์
- แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน
- การแปรงฟันควรใช้เวลาอย่างน้อยครั้งละ 2 นาที
- ควรเปลี่ยนแปรงสีฟันทุก 3 เดือน
แม่ท้องควรเลือกน้ำยาบ้วนปากแบบไหน?
เนื่องจากน้ำยาบ้วนปากเป็นตัวช่วยที่สำคัญสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ควรเลือกน้ำยาบ้วนปากที่มีประสิทธิภาพในการลดเชื้อแบคทีเรียได้มีประสิทธิภาพ โดยสารที่พบในท้องตลาดมี 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มน้ำมันสกัดจากสมุนไพรธรรมชาติ 4 ชนิด (4 Essential Oils: 4 EOs) และกลุ่มซีพีซี (Cetylpyridinium Chloride: CPC) จากงานวิจัยเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของสารทั้ง 2 กลุ่ม
โดยเทียบกับการแปรงฟันเพียงอย่างเดียว พบว่าน้ำยาบ้วนปากประเภท 4 EOs ช่วยลดการสะสมของคราบพลัคหรือไบโอฟิล์มได้สูงที่สุด โดยให้ผลดีกว่าการแปรงฟันเพียงอย่างเดียวถึง 3 เท่า และดีกว่า สารประเภท CPC ถึง 1.6 เท่า นอกจากนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเลือกใช้สูตรที่มีฟลูออไรด์ ช่วยเสริมความแข็งแรงของผิวฟัน ป้องกันฟันผุ จึงจะดูแลได้ครบปัญหาสุขภาพช่องปาก เพื่อการดูแลสุขภาพช่องปากที่ดีของคุณแม่สำหรับช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของคุณและลูก
แหล่งอ้างอิงจาก: www.paolohospital.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
ฟันและเหงือกแข็งแรงทั้งแม่และลูก ด้วยอาหารบ้านๆ 5 อย่าง
ฝากเนอสเซอรี่ VS เลี้ยงลูกเอง 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 95
20 สิ่งที่แม่ท้องต้องเจอ ตั้งครรภ์ไตรมาสแรก-สุดท้าย คนท้องเจออะไรบ้าง?