ทารกในครรภ์โตช้า อันตรายที่แม่ท้องต้องระวัง

สาเหตุที่ทำให้ทารกในครรภ์โตช้าคืออะไร และแม่ท้องควรทำอย่างไร
ทารกในครรภ์โตช้า เป็นอย่างไร
ทารกในครรภ์โตช้า หมายถึง การที่ทารกในครรภ์ไม่สามารถเจริญเติบโตได้เต็มศักยภาพอย่างที่ควรจะป็น โดยจะทำให้ทารกในครรภ์ตัวเล็กและมีน้ำหนักน้อยกว่าอายุครรภ์จริง
ภาวะทารกในครรภ์โตช้า อันตรายอย่างไร
สาเหตุการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดทั่วโลกนั้น กว่า 60 % มาจากการที่เด็กแรกคลอดมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดมาก ซึ่งก็เป็นผลมาจากภาวะทารกในครรภ์โตช้านั่นเอง
ภาวะทารกในครรภ์โตช้านั้นจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ และอายุครรภ์ โดยความรุนแรงจากภาวะทารกในครรภ์โตช้านั้นอาจส่งผลทำให้ทารกเสียชีวิตได้เลยทีเดียว
- หากเกิดจากรกเสื่อม ตั้งครรภ์เกินกำหนด หรือทารกมีภาวะขาดออกซิเจนไม่นาน เมื่อคลอดออกมาและได้รับอาหารที่เพียงพอ เด็กก็จะสามารถเติบโตได้ดีเหมือนเด็กปกติ
- หากเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม ทารกอาจมีชีวิตหลังคลอดหรือเสียชีวิตหลังคลอด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความผิดปกตินั้น
- หากเกิดจากการติดเชื้อตั้งแต่ในครรภ์ อาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิดได้
อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะทารกในครรภ์โตช้า
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะทารกในครรภ์โตช้านั้น เกิดขึ้นได้จากปัจจัยหลายประการเช่น
- มดลูกรูปร่างผิดปกติ รกเสื่อม รกลอกตัวบางส่วน รกเกาะต่ำ มีเนื้องอกของรก สายสะดือพันกัน หรือผูกเป็นปม ทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกไม่พอเพียง ทารกจึงเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่
- โครโมรโซมผิดปกติ เช่น กลุ่มดาวน์ซินโดรม มีความพิการแต่กำเนิด ทารกครรภ์แฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวที่มีการเชื่อมต่อผิดปกติของหลอดเลือด มีการติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์
- มารดามีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ภาวะซีด โรคหัวใจทำงานผิดปกติ ทำให้การส่งออกซิเจนไปยังลูกไม่เพียงพอ
- ระหว่างตั้งครรภ์ หากแม่ท้องมีอากาของโรคหัดเยอรมัน ซิฟิลิส หรือโรคทอกโซพลาสโมซิส ก็อาจทำให้ทารกในครรภ์โตช้าได้
- การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ หรือการใช้สารเสพติดระหว่างตั้งครรภ์ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ทารกในครรภ์โตช้า อีกทั้งยังทำให้ความดันในเลือดสูง การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และเป็นอีกสาเหตุของโรคหัวใจ
- การที่คุณแม่มีน้ำหนักตัวที่น้อยเกินไปก็อาจทำให้เกิดภาวะทารกในครรภ์โตช้าได้เช่นกัน
จะรู้ได้อย่างไรว่าทารกในครรภ์โตช้า
ไม่จำเป็นว่าทารกที่มีขนาดตัวเล็กจะมีภาวะทารกในครรภ์โตช้าเสมอไป โดยในช่วงแรกนั้น แม่ท้องอาจจะต้องสังเกตจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น หากว่ามีการผิดปกติ ควรไปพบคุณหมอเพื่อเข้ารับการวินิจฉัย
โดยคุณแม่ท้องสามารถติดตามเรื่องน้ำหนักตัวที่เหมาะสมตอนท้องได้จากบทความด้านล่างนี้ครับ
>>วิธีคำนวณน้ำหนักตัวคนท้องแบบละเอียด ช่วงไหนขึ้นเท่าไหร่ จึงจะเหมาะสม<<
หากคุณแม่สงสัยว่าจะมีภาวะทารกในครรภ์โตช้า ในระหว่างที่ไปพบคุณหมอ คุณหมอมักจะทำการวินิจฉัยจากน้ำหนักตามอายุครรภ์ของทารก และซักประวัติโรคประจำตัว หรืออาการต่าง ๆ ของคุณแม่ เช่น
- คุณแม่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องหรือไม่
- คุณแม่เคยอยู่ในภาวะโตช้าในครรภ์มาก่อนหรือไม่
- นี่เป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรกหรือไม่
- คุณแม่ตั้งครรภ์ก่อนอายุ 19 ปีหรือไม่
- คุณแม่ตั้งครรภ์มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไปหรือไม่
- คุณแม่ตั้งครรภ์มากกว่า 5 ครั้งขึ้นไปหรือไม่
หลังจากนั้นคุณหมอก็อาจจะตรวจดูจากการอัลตราซาวนด์ โดยคุณหมอจะทำการอัลตร้าซาวนด์โดยวัดขนาดของอวัยวะสำคัญ ได้แก่ ความกว้างของศีรษะ เส้นรอบวงศีรษะ เส้นรอบท้อง ความยาวกระดูกต้นขา เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยที่แม่ยำว่าทารกในครรภ์อยู่ในภาวะโตช้าหรือไม่ นอกจากนั้นแล้วการทำอัลตราซาวนด์ยังสามารถวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับรก และปริมาณน้ำคร่ำได้อีกด้วย
นอกเหนือจากนั้นก็อาจจะมีการตรวจในเรื่องของการติดเชื้อต่างๆ อัตราการเต้นของหัวใจ หรืออาจมีการเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจสอบสภาวะของทารกในครรภ์ เพื่อหาสาเหตุต่าง ๆ ต่อไปครับ
ทำอย่างไรดีหากทารกในครรภ์โตช้า
ในช่วงเวลาที่คุณแม่ยังมีอายุครรภ์ไม่ถึง 34 สัปดาห์ คุณแม่ควรใส่ใจสุขภาพมากเป็นพิเศษด้วยวิธีการง่าย ๆ เช่น
- พักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 8 – 10 ชั่วโมง และควรนอนกลางวันอย่างน้อย ครึ่งชั่วโมง ถึง 1 ชั่วโมงต่อวัน
- กินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ โดยเพิ่มพลังงานจากอาหารวันละ 300 กิโลแคลลอรีเพื่อให้เพียงพอที่จะไปเสริมสร้างการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์
- ไม่ใช้สารเสพติด งดบุหรี่ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ปรับเปลี่ยนท่าทางและพฤติกรรม เพื่อให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ลูกได้รับออกซิเจนมากขึ้น เช่น คุณแม่ควรนอนตะแคงซ้าย เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงมดลูกและรกมากที่สุด
- ควรนับลูกดิ้น โดยลูกควรจะดิ้นไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง ภายในเวลา 12 ชั่วโมง
- ระวังหากมีโรคประจำตัวและควรไปตรวจหาโรคต่าง ๆ อย่างละเอียด
- ระหว่างนี้แม่ท้องควรอยู่ในการดูแลของคุณหมออย่างใกล้ชิด ไปตามที่คุณหมอนัดอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการผิดปกติควรไปพบคุณหมอทันที ไม่ต้องรอครบกำหนดนัดครั้งต่อไป
ภาวะทารกในครรภ์โตช้า เป็นเรื่องอันตรายแต่ก็สามารถป้องกันได้ การใส่ใจสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่มีอีกหนึ่งชีวิตอยู่ในท้องกับคุณแม่ด้วยแล้ว ยิ่งต้องดูแลเป็นพิเศษ หากคุณแม่กังวลหรือพบว่ามีอาการผิดปกติต่าง ๆ เกิดขึ้น อย่าลังเลที่จะรีบไปพบคุณหมอนะครับ
ที่มา momjunction
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
คนท้องห้ามกินอะไรบ้าง ห้ามดื่มอะไรบ้าง อะไรคือของแสลงที่คนท้องต้องระวัง
ชื่อมงคล 176 รายชื่อมงคล ตั้งชื่อพร้อมความหมาย เป็นศิริมงคล ทั้งลูกชายลูกสาว
การนอนของทารกในครรภ์ ลูกในท้องนอนกี่ชั่วโมง ตื่นตอนไหน หิวตอนไหน