จับตา 5 อาการ เมื่อลูกกินนมเยอะเกินไป ระวัง Overfeeding

ในช่วง 3 เดือนแรกหลังคลอด เป็นช่วงที่คุณแม่กับเจ้าตัวน้อย ค่อย ๆ ทำความรู้จักรู้ใจกัน คอยสังเกตว่าที่หนูร้องนี้ เพราะสาเหตุอะไร คุณแม่อาจคิดว่าลูกหิวตลอด จึงให้นมทุกครั้งที่ลูกร้อง หากลูกเริ่มแสดงอาการเหล่านี้ แสดงว่า ลูกถูก Overfeeding คือกินนมมากเกินไปแล้ว
Overfeeding คืออะไร
พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด โรงพยาบาลบีเอ็นเอช ได้อธิบายถึงการ Overfeeding ไว้ว่า

overfeedingคืออะไร
Overfeedingคือการที่ลูกกินนมเยอะเกินไป หรือกินจนล้นกระเพาะ จนแสดงอาการดังต่อไปนี้
- นอนร้องเสียงเป็นแพะ เป็นแกะ แอะๆ แอะๆ
- บิดตัวเยอะ ร้องเสียงเอี๊ยดอ๊าด คล้ายเสียงประตูไม่หยอดน้ำมัน
- มีเสียงครืดคราดในคอ คล้ายเสมหะในคอ แต่เป็นเสียงของนมที่ล้นขึ้นมาที่คอหอยแล้ว
- แหวะนม อาเจียนบ่อย ออกมาทางปากหรือจมูก
- พุงกางเป็นทรงน้ำเต้าตลอดเวลา
นอกจากนี้คุณแม่สามารถสังเกตเจ้าตัวน้อยได้จากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นมากเกินไป ซึ่งน้ำหนักของทารกปกติในแต่ละเดือนควรเพิ่มขึ้น ดังนี้
- 0-3 เดือน น้ำหนักควรเพิ่มขึ้น 600-900 กรัม/เดือน
- 4-6 เดือน น้ำหนักควรเพิ่มขึ้น 450-600 กรัม/เดือน
- 7-12 เดือน น้ำหนักควรเพิ่มขึ้น 300 กรัม/เดือน
หากเจ้าตัวน้อยของคุณแม่น้ำหนักเพิ่มมากกว่า 35 กรัมต่อวัน หรือ เกิน 1 กก./เดือน แสดงว่าถูก Overfeeding เขาจะอึดอัด ปวดท้อง โยเย ร้องไห้กวน แต่ไม่ใช่เพราะหิว หากคุณแม่ยังให้ลูกกินนมอีก เขาก็จะอาเจียนออกมา เพราะว่านมมันล้นกระเพาะของเขาแล้ว

Overfeeding
Overfeedingอันตรายอย่างไร
หากลูกกินนมแม่ การถูกOverfeeding นั้นไม่อันตราย แต่ลูกจะรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว นอกจากนี้การปล่อยให้ลูกอาเจียนบ่อยๆ กรดจากกระเพาะอาหารย้อนออกมาทำให้หลอดอาหารเป็นแผลได้ เพราะเป็นเยื่อบุที่ไม่ได้ทนทานต่อกรดเหมือนเยื่อบุที่กระเพาะอาหาร
หากลูกกินนมผง นอกจากลูกจะอึดอัด ไม่สบายตัว และอาเจียนบ่อย จากการถูกOverfeeding ยังจะทำให้ลูกมีพฤติกรรมกินจุ และนำไปสู่โรคอ้วนได้ในอนาคต

อาการOverfeeding
วิธีป้องกันการOverfeeding
- อย่าให้ลูกกินเยอะเกินไป หลักการให้นมแม่ คือชั่วโมงละ 1 ออนซ์ ถ้าให้ 4 ออนซ์แล้ว ลูกควรจะอิ่มท้องอยู่ไปได้ราว 4 ชั่วโมง
- ให้ประเมินว่าลูกอึครบ 2 ครั้ง โดยที่แต่ละครั้งมีปริมาณอึกว้างเท่ากับแกนของม้วนกระดาษชำระ คือ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 ซม. หรือจำนวนฉี่ครบ 6 ครั้ง ในหนึ่งวัน (24 ชม.) แสดงว่าได้รับนมเพียงพอ
- การที่ลูกไม่ยอมหลับไม่ยอมนอน หรือทำท่าขยับปากอยากดูดตลอดเวลาไม่ได้เป็นเพราะหิวเสมอไป คุณแม่ไม่จำเป็นต้องให้ลูกกินนมทุกครั้งที่ลูกร้อง ถ้าเห็นลูกพุงกางเป็นน้ำเต้าแล้ว ให้เบี่ยงเบนความสนใจลูกไปที่อื่น เช่น เล่นกับลูก อุ้มเดิน เคลื่อนไหวไปมา ใช้เปลไกว ดูดจุกหลอก ไม่ต้องกลัวติดมือ ติดเปล หรือติดจุกหลอก เพราะจะใช้แค่ช่วง 3-4 เดือนแรก ซึ่งลูกอยู่ในช่วงปรับตัวเท่านั้น
- หากลูกต้องการดูดเต้าให้ได้ ควรปั๊มนมออกก่อน เพื่อจะได้ไม่ได้รับปริมาณนมเข้าไปมากเกินไป เพราะจริงๆ แล้วลูกไม่ได้หิว แต่ต้องการดูดเพื่อความพึงพอใจ และรู้สึกผ่อนคลาย
ที่มา breastfeedingthai.com
บทความที่น่าสนใจอื่น ๆ
ถ้าไม่อยากดราม่า รู้ไว้ก่อนนำนมแม่ขึ้นเครื่อง
สำลักนมในเด็กเล็กอันตรายที่คาดไม่ถึง
ไวท์ดอท เรื่องที่ทำแม่ให้นมต้องนอนร้องไห้ เช็คหัวนมด่วน มีจุดขาวไหม