ขวดนมลูกควรเปลี่ยนตอนไหน ของใช้แต่ละอย่างนั้น ก็ล้วนแล้วแต่มีอายุการใช้งานเสมอ ขวดนมและจุกนมลูกก็เช่นกัน เรามาดูกันว่า ขวดนมและจุกนมของลูกควรเปลี่ยนตอนไหน

อายุการใช้งานของขวดนมและจุกนม
ขวดนม
อายุการใช้งานของขวดนมนั้น จะขึ้นอยู่กับคุณภาพของผลิตภัณฑ์และการดูแลรักษา แต่โดยโดยปกติแล้ว ขวดนมทั่วไป หลังจากที่มีการผลิตออกมาแล้วยังไม่มีการใช้งาน จะมีอายุเสื่อมสภาพอยู่ที่ประมาณ 3 ปี
แต่สำหรับขวดนมที่นำมาให้ลูกใช้กินนมแล้ว ถ้าเป็นขวดนมสีขาวใสทั่วไป ก็อาจจะมีอายุการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 6 เดือน หรือถ้าเป็นขวดนมสีชา หรือสีน้ำผึ้ง ก็อาจจะใช้ได้นานหน่อย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับชนิดของขวดนม และสภาพการใช้งานด้วยนะ
ยิ่งถ้าใช้อยู่ขวดเดียว โดนความร้อนจากการทำความสะอาดบ่อย ๆ ก็อาจทำให้ตัวเลขข้าง ๆ ขวดจางลง หรือขวดนมมีการชำรุดเปลี่ยนแปลง เช่น บิดเบี้ยว มีรอยร้าว มีสีขุ่นลง ไม่ใสเหมือนเดิม หรือมีรอยขีดข่วนมาก ถ้าคุณพ่อคุณแม่เห็นแบบนี้ นั่นก็ถึงเวลาเปลี่ยนแล้วล่ะ
- ขวดนมสีขาวใส หรือ ขาวขุ่น ทนความร้อนได้ 100องศา มีอายุการใช้งาน6เดือน แต่ถ้ามีรอยขีดข่วนควรเปลี่ยนก่อน 6 เดือน
- ขวดนมสีชา หรือสีน้ำผึ้ง ทนต่อความร้อนได้ประมาณ 180องศา ซึ่งจะทนทานกว่าขวดนมสีขาวใส มีอายุการใช้งานประมาณ 2 ปี แต่ถ้ามีรอยขีดข่วน หรือชำรุด ก็ควรเปลี่ยนก่อน 2 ปีนะ
จุกนม
จุกนมนั้น ควรที่จะเปลี่ยนตามช่วงวัยของลูกน้อย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วควรจะเปลี่ยนทุก ๆ 2-3 เดือน ขึ้นอยู่กับประเภท สภาพการใช้งาน คุณภาพของผลิตภัณฑ์ และการเก็บรักษาทำความสะอาด แต่ถ้าหากจุกนมเริ่มบวม เนื้อยางเริ่มนิ่ม หรือจุกนมมีการเปลี่ยนสี เช่นสีซีดจางลง ก็แสดงว่าจุกนมเริ่มเสื่อมสภาพแล้วนะ เปลี่ยนใหม่ให้ลูกน้อยได้เลย
- จุกนมยาง ทนความร้อนได้ 100องศา มีอายการใช้งานประมาณ 3 เดือน และควรเปลี่ยนทุก ๆ 2-3 เดือน
- จุกนมซิลิโคน จะมีความยืดหยุ่นดีกว่าจุกนมยาง และทนทานกว่า ทนความร้อนได้ประมาณ 120 องศา โดยควรเปลี่ยนทุก ๆ 3 เดือน

สัญญาณเตือนจุกนมเสื่อม
จุกนมของลูกนั้น จะมีอายุการใช้งานที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับชนิดและการใช้งานของเราดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นตรวจดูสภาพของจุกนมอยู่เสมอนะ ถ้าจุกนมมีอาการแบบนี้ ก็อาจจะถึงเวลาที่ควรเปลี่ยนได้แล้ว
1. น้ำนมไหลออกมาเป็นสาย หรือไหลออกมาไม่สม่ำเสมอ
ปกติแล้ว น้ำนมจะไหลออกมาเป็นหยด ถ้าเมื่อไหร่ที่ไหลออกมาเป็นสายล่ะก็ แสดงว่าจุกนมเสื่อมสภาพ เพราะรูจุกนมนั้นใหญ่เกินไป
2. จุกยางเสื่อม บางลง เสียรูปทรง
เมื่อใช้ไปนาน ๆ หรือผ่านการต้มฆ่าเชื้อโรคบ่อย ๆ ยางจะบางลงและเสียรูปทรงได้ ซึ่งวิธีทดสอบคุณภาพจุกยางง่าย ๆ ทำได้โดยการดึงจุกนม ออกมาตรง ๆ แล้วก็ปล่อย ถ้าจุกนมหดกลับสู่สภาพเดิม ก็แสดงว่ายังใช้ได้ แต่ถ้าไม่กลับไปอยู่ในรูปเดิม ก็ควรเปลี่ยนใหม่นะ
3. สีซีด จุกนมบวม
คุณพ่อคุณแม่อาจจะสังเกตสีของจุกนมดูนะ เมื่อไรที่สีซีดลง จุกนมบวม เนื้อยางบวมนิ่ม เวลาที่ลูกดูด จุกนมจะแบนจนน้ำนมไม่ไหล นั่นก็แสดงว่าเสื่อมสภาพแล้ว
4. จุกนมมียางแตกหรือขาด
ถ้าพบว่าจุกนมมียางแตกหรือขาด ต้องเลิกใช้ทันที เพราะอาจจะมีเศษยางหลุดปนเข้าไปในปากลูกได้ หากลูกดูดนมแล้วมีเศษยางเข้าไปติดหลอดลม ก็จะทำให้เกิดอันตรายได้ ป้องกันไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัยจะดีที่สุด

จุกนมเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับทารกแรกเกิด พ่อแม่ควรเลือกใช้จุกนมที่เหมาะสม เพื่อให้ลูกรักได้ดื่มนมหรือน้ำจากขวดนมได้อย่างสะดวก รวมถึงควรศึกษาวิธีทำความสะอาดและเก็บรักษาจุกนมให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งาน เพื่อความปลอดภัยในสุขภาพของลูกน้อย
เลือกจุกนมให้ถูก เพื่อสุขภาพลูกรัก
เด็กแรกเกิดมักยังเคยชินกับการดื่มนมจากอกแม่ ดังนั้น ควรพิถีพิถันในการเลือกจุกนมที่เหมาะสมกับทารกมากที่สุด เพื่อช่วยให้เด็กดื่มนมหรือน้ำได้ดี ไม่มีปัญหาเด็กงอแงไม่ยอมดื่มจากขวดหรือสำลักนมขณะดื่ม และไม่เกิดอาการแพ้หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา
ปัจจุบันในท้องตลาดมีจุกนมวางขายอย่างหลากหลาย ซึ่งสามารถพิจารณาเลือกใช้จุกนมได้จากองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้
วัสดุที่ใช้ทำจุกนม
- ซิลิโคน จุกนมที่ทำจากซิลิโคนจะมีเนื้อแน่นและคงรูปเดิมได้นาน
- ยาง จุกนมยางจะนิ่มและยืดหยุ่นมากกว่าซิลิโคน แต่อายุการใช้งานสั้นกว่า และเด็กบางคนอาจแพ้ยางจากการใช้จุกนมชนิดนี้ได้
รูปร่างของจุกนม
- จุกนมปลายกลมมน เป็นจุกนมทั่วไปที่มีปลายจุกกลมมนรูปทรงคล้ายระฆัง
- จุกนมปลายแบนเรียบ เป็นจุกนมที่มีฐานกว้าง โดยมีปลายจุกแบนราบให้ความรู้สึกคล้ายดูดนมจากอกแม่ เป็นชนิดที่อาจเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนให้เด็กดื่มนมผงหรือนมที่ปั๊มไว้แทนการดื่มนมจากอกแม่
- จุกนมปลายแหลมแบน เป็นชนิดที่ถูกออกแบบมาให้รองรับเพดานปาก เหงือก และลิ้นของเด็ก โดยปลายที่แบนออกจะวางตัวพอดีบนลิ้นขณะเด็กดูดนม
ขนาดและการใช้งาน
จุกนมมีหลายขนาดตามการใช้งาน โดยทั่วไปจะมีการระบุไว้ในบรรจุภัณฑ์จุกนมว่าจุกแต่ละขนาดเหมาะกับเด็กอายุเฉลี่ยในวัยใด
โดยคำแนะนำสำหรับการเลือกใช้ขนาดจุกนมให้เหมาะสมกับลูกรัก มีดังนี้
- เด็กแรกเกิดที่อายุน้อยควรดื่มจากจุกนมขนาดเล็กที่สุดซึ่งนมหรือน้ำจะไหลออกมาจากจุกได้ช้าที่สุด
- เมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น ควรเลือกใช้จุกนมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและจุกที่ทำให้นมไหลเร็วขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก
- ในบางกรณี เด็กอาจดื่มจากจุกนมไม่สะดวกแม้เลือกใช้จุกนมตามวัยที่แนะนำ ซึ่งพ่อแม่ควรเปลี่ยนขนาดจุกนมใหม่ให้พอดีกับเด็ก จนกว่าเด็กจะสามารถใช้จุกนั้นดื่มนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เฝ้าสังเกตอาการขณะที่เด็กดื่มจากจุกนม หากเด็กสำลักหรือคายนมออกมาแสดงว่าจุกนั้นทำให้นมไหลออกมาเร็วเกินไป และควรเปลี่ยนไปใช้จุกนมใหม่เช่นกัน
วิธีการทำความสะอาดจุกนม
เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดกับลูกรัก ควรใส่ใจทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกชนิดที่ใช้กับทารกรวมทั้งจุกนม โดยมีวิธีล้างและเก็บรักษาจุกนม ดังนี้
- หลังซื้อจุกนมมาใหม่ ๆ ให้ฆ่าเชื้อจุกนมโดยนำไปต้มทิ้งไว้ในหม้อประมาณ 5 นาที จากนั้นล้างจุกนมด้วยสบู่และน้ำอุ่นแล้วผึ่งทิ้งไว้ให้แห้ง
- หลังการใช้งานให้ล้างจุกนมด้วยสบู่และน้ำอุ่นทันที โดยใช้แปรงล้างจุกนมเพื่อให้สามารถทำความสะอาดในบริเวณที่เข้าถึงได้ยาก และต้องระมัดระวังไม่ใช้แปรงนี้ทำความสะอาดผลิตภัณฑ์ชนิดอื่น
- หลังล้างจุกนมแล้ว ให้ผึ่งจุกนมจนแห้งสนิทก่อนนำไปใช้งานอีกครั้ง
- หากเป็นจุกนมชนิดที่สามารถล้างในเครื่องล้างจานได้ ให้วางจุกนมไว้ที่ชั้นบนสุดในเครื่องล้างจาน
- ห้ามใช้จุกนมที่มีสภาพบุบสลายหรือปลายจุกมีรอยแตก โดยทิ้งจุกนมนั้นทันทีหากพบปัญหาดังกล่าว
- เมื่อต้องนำจุกนมไปใช้งาน ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนหยิบจับจุกนมและขวดนม
คำแนะนำอื่น ๆ เกี่ยวกับการเลือกใช้จุกนม
นอกจากจุกนมทั่วไป ยังมีจุกนมแบบใช้แล้วทิ้งที่ถูกห่ออยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ฆ่าเชื้อแล้ว โดยสามารถโยนจุกนมทิ้งไปหลังใช้งานแล้วได้ทันทีและไม่ต้องนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งสะดวกต่อการใช้งานแบบเร่งด่วนหรือเมื่อครอบครัวต้องเดินทางไกล ๆ
นอกจากนี้ หากพ่อแม่ผู้ปกครองมีข้อสงสัยหรือพบปัญหาใด ๆ เกี่ยวกับการเลือกใช้และการทำความสะอาดจุกนม รวมถึงการป้อนนมผ่านจุกนม ควรไปปรึกษากุมารแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมในการดูแลลูกน้อยต่อไป
ล้างขวดนมอย่างไรให้สะอาดและปลอดเชื้อโรค
การดูแลลูกน้อยของคุณให้มีสุขภาพแข็งแรง ได้รับสารอาหารครบถ้วน เพื่อพัฒนาการที่ดีเยี่ยมแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่จะละเลยไม่ได้เด็ดขาดคือความสะอาด นอกจากเสื้อผ้าจะต้องสะอาดปราศจากเชื้อโรค แล้วการดูแลทำความสะอาดขวดของนมลูกๆ ของคุณก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่คุณแม่หลายๆท่าน ต้องใส่ใจเรามีวิธีดูแลทำความสะอาดขวดนมลูกน้อยของคุณให้ปลอดภัยจากเชื้อโรคมาฝากกัน
การล้างขวดนม เป็นเรื่องสำคัญและ สิ่งที่จำเป็นที่พ่อแม่ทุกคนต้องใส่ใจเพราะหากเราล้างขวดนมไม่สะอาด หรือเก็บรักษาดูแลไม่ดี ทำความสะอาดผิดวิธี อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพลูกน้อยของคุณได้
ขั้นตอนการล้างขวดนมที่ถูกต้อง
- เริ่มต้นคุณต้องถอดชิ้นส่วนของขวดนมออกจากกัน เพื่อให้ทำความสะอาดได้ง่ายแล้วจุ่มอุปกรณ์ทุกชิ้นลงในอ่างขนาดพอเหมาะ และเติมน้ำร้อน เพื่อทำความสะอาดชิ้นส่วนต่าง ๆ ทิ้งไว้สักพัก แล้วจึงค่อยๆเทน้ำออก
- ผสมผลิตภัณฑ์ล้างขวดนมกับน้ำอุ่น แล้วใช้ฟองน้ำล้างชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้สะอาด แนะนำให้ล้างด้านในออกสู่ด้านนอก ในขณะล้างขวดนมคุณแม่ไม่ควรใช้ฟองน้ำขัดขวดนมแรง ๆ เพราะจะทำให้ขวดนมเป็นรอย และ มีอายุการใช้งานน้อยลง
- การล้างน้ำสะอาดควรล้างอย่างน้อย 2 รอบ โดยการใช้นิ้วมือถูขวดนมเบา ๆ เพื่อทดสอบว่ายังมีคราบนมหรือมีผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดตกค้างอยู่หรือไม่ ถ้าจะให้ดีต้องลองดมขวดดูว่า ยังมีกลิ่นนมหรือกลิ่นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหลงเหลืออยู่หรือไม่ขวดนมที่สะอาดจะต้องไม่มีกลิ่นแปลกปลอมใดหลงเหลืออยู่
- คว่ำผึ่งขวดนมบนตะแกรงวางภาชนะ แล้วยกไปผึ่งลมให้แห้งเน้นว่าอุปกรณ์ทุกชิ้นต้องแห้ง เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย และ เชื้อโรคต่าง ๆ
- หลังจากล้างขวดนมแล้ว คุณต้องการนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อแนะนำให้นำอุปกรณ์ทุกชิ้นยกเว้นจุกยาง จุ่มในน้ำเดือดประมาณ 15 นาที หรือถ้าใช้เครื่องล้างนึ่งขวดนมก็ให้ทำตามคำแนะนำที่ระบุเอาไว้ในเอกสารแนะนำการใช้งานซึ่งปกติแล้วจะต้องใช้เวลานึ่งอย่างน้อย 10 นาที
ฆ่าเชื้อทุกครั้งก่อนใช้
คุณควรทำความสะอาดฆ่าเชื้อกับอุปกรณ์ให้นมลูกทั้งหมดก่อนนำมาใช้ทุกครั้งตลอด 6 เดือนแรก เพราะในช่วงนี้ร่างกายของลูกน้อยยังไม่มีภูมิต้านทานเพียงพอคุณต้องให้ความสำคัญ และ ใส่ใจในเรื่องนี้เป็นสิ่งแรก
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
ประโยชน์ของขวดนม สีชา ดีกว่าขวดนมอื่นยังไงนะ
แผ่นป้องกันหัวนม คืออะไร ควรใช้หรือไม่ระหว่างให้นมลูก?
ปั๊มนมอย่างไรให้ได้น้ำนม ไม่ต้องกลัวลูกไม่พอกิน

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!