พ่อแม่บางท่านคิดว่าเรื่องมารยาท การทักทายผู้ใหญ่ เป็นเรื่องไม่สำคัญ ไว้รอให้ลูกโตก็เรียนรู้ได้เอง หรือคิดว่า เป็นหน้าที่ของคุณครูที่จะเป็นผู้สอน ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ผิดมาก มารยาทการเข้าสังคมของเด็ก จะต้องเริ่มต้นตั้งแต่ในครอบครัว เริ่มตั้งแต่ลูกยังเป็นเด็กทารกกันเลยทีเดียวค่ะ
เราควรจะสอนให้เด็กรู้จัก ไหว้ผู้ใหญ่ ไหว้ขอบคุณ ไหว้ขอโทษ และควรเป็นการไหว้ ที่มีความตั้งใจ มีความเคารพด้วย หรือ เมื่อเห็นผู้ใหญ่นั่งอยู่ เด็กควรนั่งลงไม่ยืนค้ำหัวผู้ใหญ่ ถ้าจะต้องเดินผ่านผู้ใหญ่ หรือ พระสงฆ์ แม่ชี ครู อาจารย์ เด็กควรค้อมหลังลงเล็กน้อย แล้วค่อย ๆ เดินผ่านไปอย่างสุภาพ

สอนลูกไหว้ การทักทายผู้ใหญ่ ได้อย่างไร?
- ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
คุณพ่อคุณแม่สามารถ สอนให้ลูกรู้จักการไหว้ได้ตั้งแต่ลูกอายุ 1 – 3 ปี โดยเริ่มจากการที่คุณพ่อคุณแม่ไหว้ให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง ซึ่งในเด็กเล็กที่ยังพนมมือไม่เป็นนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสอนโดยจับมือลูก ให้พนมมือเข้าด้วยกันอย่างถูกต้อง โดยบอกให้ลูกรู้ว่า นี่คือการไหว้เป็นการแสดงออกที่สวยงามน่ารัก นอกจากนี้ เมื่อลูกได้เห็นคุณพ่อคุณแม่ยกมือไหว้ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย และผู้อาวุโสบ่อย ๆ ก็จะรู้ว่านี่เป็นพฤติกรรมที่ดี ที่ควรกระทำซึ่งจะทำให้ลูกเลียนแบบ และซึมซับพฤติกรรมนี้ได้ไม่ยาก
- สอนการไหว้อย่างถูกต้อง
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกไหว้ผู้อาวุโส และผู้มีพระคุณ ได้แก่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ญาติผู้ใหญ่ ครู อาจารย์ โดยการพนมมือนิ้วชิดกันพร้อมกับก้มศีรษะลง ให้หัวแม่มือจรดกับปลายจมูก ปลายนิ้วแนบระหว่างคิ้ว และการไหว้บุคคลที่มีอาวุโสกว่าเล็กน้อยที่เคารพนับถือ โดยการพนมมือนิ้วชิดกัน แล้วยกขึ้นพร้อมทั้งก้มศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดปลายคาง ปลายนิ้วแนบปลายจมูก
- อย่าปล่อย! เมื่อลูกไม่ยอมไหว้
ทุกครั้งที่ลูกมีท่าทีดื้อ หรือต่อต้านที่จะไหว้สวัสดี ทักทายผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ยอม ที่จะปล่อยตามใจลูก แต่ต้องเอาจริงเอาจังที่จะสอนให้ลูกตระหนักว่า การไหว้เป็นสิ่งสำคัญที่ลูกจะละเลยไม่ได้ และต้องปฏิบัติจนติดเป็นนิสัยความเคยชิน

5 มารยาทในการเข้าสังคมที่เด็กควรมี (ขั้นพื้นฐาน)
1. การไหว้ เด็กต้องยกมือไหว้ผู้ใหญ่ก่อนเสมอ ทั้งต้องกล่าวคำทักทายเช่น สวัสดีครับ/สวัสดีค่ะ อย่างสุภาพอ่อนน้อม และเป็นการไหว้ที่มีความตั้งใจ ไม่ใช่แค่สักแต่ไหว้ส่ง ๆ ไป เมื่อจะลากลับ เด็กก็ควรไหว้สวัสดีเพื่อขอตัวลากลับด้วย เป็นการรู้จักคำว่า “ไปลา - มาไหว้” และมีสัมมาคารวะ
2. เมื่อต้องการสิ่งใดควรถาม หรือขออนุญาตก่อน เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ที่พ่อแม่ควรสอนลูก เพราะการมีมารยาทในการหยิบจับหรือใช้ของใด ๆ ก็ตามโดยเฉพาะของผู้อื่น ลูกต้องถาม หรือขออนุญาตเจ้าของให้เขาอนุญาตก่อนจึงใช้ได้ ห้ามถือวิสาสะเด็ดขาด
3. รู้จักขอโทษ และยอมรับผิด พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้จัก กล่าวคำขอโทษ ถ้าลูกทำผิดพลาดกับผู้อื่นด้วยความองอาจ เพราะการขอโทษเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่ง ของผู้ดีที่แท้จริงไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่อย่างใด
4. ควรรู้จักกาลเทศะ เด็ก ๆ ควรเรียนรู้เรื่องกาลเทศะให้มาก ๆ เช่น เมื่อผู้ใหญ่กำลังสนทนากัน เด็กก็ควรหลบไปเล่นที่อื่นก่อน แต่ไม่ไกลเกินไป เพราะเผื่อพ่อแม่จะเรียก ให้มาช่วยบางสิ่งบางอย่างได้ไม่ยากนัก ไม่ส่งเสียงดัง ไม่วิ่งซุกซน หรือเข้ามาแทรกกลางวงสนทนาของผู้ใหญ่ มีอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ หรือสามารถเห็นได้บ่อย ๆ คือ อย่าปล่อยให้ลูกวิ่งเล่น หรือส่งเสียงดังบนรถประจำทาง รถไฟฟ้า หรือเรือโดยสาร เพราะเป็นการรบกวนผู้อื่น และอาจเกิดอันตรายได้
5. เมื่อลูกต้องทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ควรสอนให้เด็กรู้จักวัฒนะธรรมของการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น นั่นคือ การมีน้ำใจไมตรีต่อหมู่คณะ ร่วมแรงร่วมใจสามัคคีกัน ไม่อิจฉาริษยา และไม่แบ่งแยกพรรคพวกแบ่งกลุ่มจนขาดความสามัคคี มีการแบ่งปัน และช่วยเหลือซึ่งกัน และกันอย่างดีเพื่อกิจกรรมของหมู่คณะจะได้สำเร็จลุล่วง เมื่อถึงเวลากินก็กินด้วยกันแต่เมื่อถึงเวลาต้องเก็บต้องล้าง ก็ช่วยกันทุกคนไม่หลบ ไม่อู้งาน เป็นเด็กดีมีน้ำใจนักกีฬา รู้จักการให้อภัย และมีความจริงใจต่อผู้อื่น

จะจัดกิจกรรมสอนลูกให้ปฏิบัติตนต่อญาติผู้ใหญ่ที่บ้านได้อย่างไร?
การอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่มีผลต่อการเสริมสร้างพัฒนาการเด็กในด้านต่าง ๆ เด็กปฐมวัยต้องการการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่ และผู้ที่อยู่ใกล้ชิด ซึ่งเด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูด้วยวิธีการที่เหมาะสม เด็กจะเติบโตอย่างมีคุณภาพ สุขภาพจิตดี และมีบุคลิกภาพที่ดี การปลูกฝังคุณธรรมด้านความสุภาพ การมีสัมมาคารวะ และมารยาทที่ดีต่อญาติผู้ใหญ่
พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้เกิดกับเด็กได้ตั้งแต่วัยแรกเริ่ม เด็กจะเรียนรู้ และซึมซับพฤติกรรมจากการอบรมเลี้ยงดู และการปฏิบัติของพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นกิริยามารยาท การพูด การแสดงท่าทางต่าง ๆ ที่เป็นการแสดงออกถึงการมีความสุภาพ การปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมต่อญาติผู้ใหญ่
นอกจากนี้การฝึกฝนให้เด็กปฏิบัติตนต่อญาติผู้ใหญ่จากสถานการณ์จริง เช่น เมื่อญาติผู้ใหญ่มาเยี่ยมเยียน พ่อแม่ควรฝึกให้เด็กปฏิบัติต่อญาติผู้ใหญ่ด้วยการกล่าวทักทาย การแสดงความเคารพด้วยการไหว้ การใช้คำพูดที่สุภาพ การบริการเล็ก ๆ น้อย ๆ ต่อญาติผู้ใหญ่ สิ่งเหล่านี้สามารถซึมซับ และรับรู้ได้ตั้งแต่วัยเด็ก และพฤติกรรมที่ได้รับ การปลูกฝังจะมีความมั่นคงถาวรมากเพียงใด ขึ้นอยู่กับการได้รับการฝึกฝนอย่าง สม่ำเสมอจากผู้ที่เป็นพ่อแม่ และผู้ใกล้ชิดเด็ก
ที่มา : (A) , (B) , (C)
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
สอนลูกให้มีมารยาทดี ต้องเริ่มต้นที่พ่อแม่ เป็นแบบอย่าง
5 วิธีสอนลูกไม่ให้ก้าวร้าว ดื้อด้าน เอาแต่ใจ พ่อแม่ต้องทำยังให้ลูกเป็นเด็กดี มีมารยาท
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!